สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคลมชัก(Seizures/Epilepsy) หรือลมบ้าหมู(Grand mal)

เป็นโรคเรื้อรังทางสมอง มักทำให้หมดสติ เคลื่อนไหวผิดปกติ มีพฤติกรรมผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันชั่วขณะแล้วก็หายไป มีอาการกำเริบเป็นบางคราว เมื่อมีอาการกำเริบตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปแพทย์ถึงจะพิจารณาว่าเป็นโรคลมชัก สามารถพบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย พบมากในช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือมากกว่า 65 ปีโรคลมชัก

มีการแบ่งโรคลมชักออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ โรคลมชักเฉพาะส่วน และโรคลมชักทั่วไป แต่ในที่นี้จะได้กล่าวเฉพาะโรคลมชักทั่วไปแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวหรือแกรนด์มาล จะมีอาการชักร่วมกับหมดสติหรือที่เรียกกันว่า ลมบ้าหมู มักพบโรคนี้ได้บ่อย มีความรุนแรงและเป็นอันตรายกว่าชนิดอื่นๆ มีโอกาสเสียชีวิตและพิการค่อนข้างสูงถ้ากลายเป็นโรคลมชักต่อเนื่อง

สาเหตุ
การปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติของเซลล์สมองจะกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคลมชัก ซึ่งลักษณะของโรคลมชักที่เกิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณของเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ผิดปกติ ในผู้ป่วยโรคลมชักเฉพาะส่วนจะเริ่มจากเซลล์สมองส่วนเล็กๆ เพียงส่วนเดียวที่ปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติจำกัดเพียงส่วนนั้น หรืออาจกระจายทั่วสมองจนกลายเป็นโรคลมชักทั่วไป ที่เรียกว่า โรคลมชักทั่วไปแบบทุติยภูมิ เกิดขึ้นได้ในเวลาต่อมา

ในผู้ป่วยโรคลมชักทั่วไป การปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติเกิดขึ้นทั่วเซลล์สมองตั้งแต่เริ่มแรก เรียกว่า โรคลมชักทั่วไปแบบปฐมภูมิ

โรคลมชักที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เรียกว่า โรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีบางอย่างในการควบคุมกระแสไฟฟ้าในสมองโดยที่โครงสร้างของสมองยังเป็นปกติดี ทำให้เกิดอาการลมชักขึ้นจากการเสียสมดุลของสมองในการทำหน้าที่ มักพบโรคนี้ครั้งแรกในคนอายุ 5-20 ปี ซึ่งมีประวัติความผิดปกตินี้ทางกรรมพันธุ์มาก่อน

โรคลมชักที่ตรวจพบสาเหตุชัดเจน เรียกว่า โรคลมชักชนิดทราบสาเหตุ มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปีที่ชักเป็นครั้งแรก มักมีสาเหตุตามกลุ่มอายุดังนี้

-ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีสาเหตุจากไข้ โรคติดเชื้อในสมอง สมองพิการ ความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด สมองได้รับความกระทบกระเทือนระหว่างคลอด หรือภาวะที่กระทบต่อสมอง เช่น แคลเซียม หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น

-ในวัยกลางคนหรือวัยทำงาน อาจมีสาเหตุจากการใช้ยาเกินขนาด พิษสุรา ยาเสพติด

-ในผู้สูงอายุ อาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง โรคสมองเสื่อม ไตวายหรือตับวายระยะสุดท้าย ความดันโลหิตสูงชนิดร้ายแรง
-ในคนทุกวัยอาจมีสาเหตุจากโรคติดเชื้อ เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง หรือมีสาเหตุจาก เนื้องอกสมอง ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เลือดออกในสมอง เป็นฝีหรือพยาธิในสมอง ภาวะแทรกซ้อนหลังจากผ่าตัดสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ พิษจากการใช้ยาเกินขนาด เช่น ยาแก้ซึมเศร้า ทีโอฟิลลีน ซาลิโดเคน เป็นต้น

-ในหญิงตั้งครรภ์ อาจเกิดจากสาเหตุของครรภ์เป็นพิษ

อาการ
สำหรับโรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวหรือลมบ้าหมู ผู้ป่วนจะหมดสติเป็นลมล้มพับลงอย่างกะทันหัน กล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัว หายใจลำบาก หน้าเขียว มักเป็นอยู่ประมาณไม่เกิน 20 วินาที และจะมีอาการชักกระตุกของกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นระยะๆ ในเวลาต่อมา มีตาค้าง ตาเหลือก จะมีอาการเป็นแบบถี่ๆ แล้วค่อยลดลงตามลำดับจนหยุดกระตุก ในช่วงนี้อาจมีน้ำลายฟูมปาก เลือดออกจากการกัดริมฝีปากหรือลิ้นตัวเอง อาจปัสสาวะหรืออุจจาระราดร่วมด้วย

อาการชักมักจะเป็นอยู่ประมาณ 1-3 นาที หลังจากนั้นจะฟื้นคืนสติมาด้วยความรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย หรืออาจหลับไปนานเป็นชั่วโมงในบางราย ผู้ป่วยมักจำไม่ได้ว่าตัวเองได้ล้มลง เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง สับสน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง หาวนอน ลืมตัว หรือทำอะไรที่จำไม่ได้ในภายหลัง

ผู้ที่ป่วยจากโรคลมชักเฉพาะส่วนมาเป็นโรคลมชักแบบทุติยภูมิ จะมีอาการเตือนนำมาก่อนจะหมดสติ เช่น ชาตามแขนหรือขา หรือกระตุกเพียงข้างเดียว เห็นแสงวาบ ได้กลิ่น รสหรือได้ยินเสียงแปลกๆ รู้สึกกลัวโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นอาการของ โรคลมชักเฉพาะส่วนแบบธรรมดา

อาการชักอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันหรือกลางคืน หรือแม้แต่ไม่มีสิ่งมากระตุ้น แต่พบสาเหตุที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยชักได้ เช่น อดนอน หิวข้าว กินอาหารมากเกินไป ทำงานเหนื่อยเกินไป คิดมาก ดื่มแอลกอฮอล์ กินยากระตุ้นประสาท ท้องผูก มีประจำเดือน มีไข้สูง มีเสียงดัง มีแสงจ้า แสงวอบแวบ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ การหายใจเร็วๆ เป็นต้น

ผู้ป่วยมักมีอาการชักอยู่นาน 1-3 นาที อาจนานถึง 5-15 นาทีในบางราย แล้วจึงหยุดและฟื้นสติขึ้นมา แต่บางครั้งอาจเกิดอันตรายร้ายแรงจากโรคลมชักต่อเนื่อง ที่ผู้ป่วยมีอาการชักต่อเนื่องกันนานกว่า 20 นาทีในเด็ก หรือ 30 นาทีในผู้ใหญ่ หรือชักซ้ำๆ หลายครั้งติดกัน โดยเว้นระยะชักเป็นพักๆ โดยที่ผู้ป่วยยังหมดสติ ภาวะนี้มักเกิดกับผู้ที่เคยใช้ยารักษาโรคลมชักมาก่อนแล้วหยุดกินทันที แต่ถ้าเป็นการชักครั้งแรกภาวะเช่นนี้อาจเป็นโรคลมชักชนิดทราบสาเหตุ เช่น โรคติดเชื้อของสมอง เนื้องอกสมอง สมองพิการ ตกเลือดในสมอง พิษยาเกินขนาด ภาวะถอนแอลกอฮอล์ในผู้ป่วยที่ติดสุรา ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
ผู้ป่วยมักหยุดชักแล้วเมื่อไปถึงโรงพยาบาลซึ่งอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ เว้นแต่บาดแผลตามลิ้นหรือร่างกาย หรือในกรณีที่เกิดบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุแทรกซ้อน ขณะที่ผู้ป่วยมีอาการมักจะหมดสติ ชักเกร็ง กระตุก น้ำลายฟูมปาก หน้าเขียว

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยอาจได้รับบาดเจ็บจากอาการหมดสติ ล้มฟุบ เช่น บาดแผลตามร่างกาย แผลจากการกัดลิ้นตัวเอง กระดูกหัก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็น ต้น หรืออาจได้รับอุบัติเหตุขณะขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ขณะเล่นน้ำ ขณะปีนป่ายในที่สูง ขณะอยู่ใกล้เตาไฟ อยู่ใกล้น้ำร้อนหรือของร้อน ซึ่งอาจอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ อาจทำให้เกิดการสำลักอาหารลงปอดทำให้เกิดปอดอักเสบ

อาจทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงานได้หากมีอาการชักบ่อยๆ

อาจถึงแก่ความตายหรือพิการได้ในรายที่เป็นโรคลมชักต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที

อาจเกิดภาวะเสียชีวิตกะทันหันขณะมีอาการกำเริบในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักรุนแรงบางราย แม้จะเกิดขึ้นในที่ปลอดภัยเช่นเตียงนอนก็ตาม ซึ่งมักเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปอดบวมน้ำ ภาวะขาดอากาศหายใจขณะชัก มักเกิดกับผู้ที่ยังควบคุมอาการชักและขาดยารักษา

ความบกพร่องทางอารมณ์และสติปัญญามักไม่ได้เป็นผลจากโรคลมชักโดยตรง แต่มักเกิดจากสาเหตุความผิดปกติทางสมองที่พบร่วมกับโรคลมชักเท่านั้น

การรักษา
โรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว/ลมบ้าหมู

1. ในรายที่มีอาการชักติดต่อกันนานเกิน 10 นาที อาจเป็นอาการแสดงของโรคลมชักต่อเนื่องควรให้การปฐมพยาบาล และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินหาสาเหตุ หากสงสัยว่าเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรฉีดกลูโคสขนาด 50% 50-100 มล. เข้าหลอดเลือดดำ ถ้ายังไม่หยุดชักควรฉีดยาแก้ชัก เช่น ไดอะซีแพมขนาด 10 มก. ในผู้ใหญ่ และขนาด 0.3-0.5 มก./กก.ในเด็ก โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำช้าๆ ประมาณ 1 มก./นาที หลังจาก 20 นาทีถ้ายังไม่หยุดชักให้ฉีดซ้ำอีก 1 ครั้ง ควรระวังผลข้างเคียงของยาซึ่งอาจทำให้หยุดหายใจได้ ถ้าหยุดชักแล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลหากยังไม่หยุดชักแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาแก้ชักชนิดอื่น เช่น ลอราซีแพม ฟีโนบาร์บิทาล เฟนิโทอิน ไมดาซีแพม เป็นต้น และให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ ตรวจหาสาเหตุเพื่อจะได้ให้การรักษาตามสาเหตุต่อไป

2. ในรายที่ชักเพียงชั่วขณะ หรือหยุดชักจากการดูแลรักษาเบื้องต้น ถ้าเป็นการชักครั้งแรกควรไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษด้วยการตรวจคลื่นสมอง หรืออีอีจี ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เจาะหลัง เพื่อหาความผิดปกติของสมอง และหากสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคอื่นอาจต้องทำการตรวจนับเม็ดเลือด การตรวจระดับน้ำตาลและเกลือแร่ในเลือด การตรวจเลือดทดสอบการทำงานของตับและไต เป็นต้น

ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ หากเคยชักมาเพียง 1 ครั้งและเป็นโรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เฝ้าสังเกตอาการ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจไม่มีอาการชักอีกตลอดไปจึงไม่ต้องให้ยารักษาซึ่งเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นมากกว่า

แพทย์จะให้ยากันชักแก่ผู้ที่มีอาการกำเริบซ้ำครั้งที่ 2 ยาพื้นฐานที่ใช้ เช่น ฟีโนบาร์บิทาล เฟนิโทอิน จะเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งและปรับเพิ่มขึ้นที่ละน้อยจนควบคุมอาการได้ อาจเปลี่ยนไปใช้ยาพื้นฐานอีกชนิดหนึ่งหากยาดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล เช่น ยาโซเดียมวาลโพรเอต คาร์บามาซีพีน โทพิราเมต เป็นต้น มีน้อยรายที่ต้องให้ยาควบกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่มักควบคุมอาการได้ด้วยยาเพียงชนิดเดียว ยาที่ปรับจนสามารถควบคุมโรคได้แล้วผู้ป่วยต้องกินในขนาดนั้นไปเรื่อยๆ จนไม่มีอาการชักแล้วในเวลา 2-3 ปีในเด็ก หรือใน 5 ปี สำหรับผู้ใหญ่ จึงหยุดยาโดยค่อยๆ ลดทีละน้อย ถ้าหยุดยาทันทีอาจทำให้เกิดโรคลมชักต่อเนื่องเป็นอันตรายได้ เมื่อหยุดยาแล้วแต่มีอาการกำเริบอีกก็ควรกลับไปใช้ยาเดิมอีก อาจต้องกินยาคุมอาการตลอดไปในบางราย

3. สำหรับผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักและกินยารักษามาก่อน หากปรับลดยาเองหรือขาดการกินยาแล้วเกิดอาการชัก ก็ให้กลับไปกินตามขนาดเดิม แต่ถ้ายังชักอยู่อีกอาจต้องเพิ่มขนาดยา หรือปรับเปลี่ยนยาจนกว่าจะควบคุมอาการได้

4. ในรายที่ใช้ยารักษาไม่ได้ผลหรือทนต่อผลข้างเคียงไม่ได้ ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาตำแหน่งเนื้อสมองที่เป็นจุดกำเนิดการชัก เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดก็สามารถทำให้ลดความถี่และบรรเทาความรุนแรงของอาการชักลง หรือทำให้หายขาดได้ หลังผ่าตัดมักควบคุมอาการโดยให้ยากันชักต่อไป ในกรณีที่ผู้ป่วยดื้อยาและการผ่าตัด หรือไม่สามารถผ่าตัดได้ อาจต้องใช้เครื่องกระตุ้นประสาทสมองคู่ที่ 10 เพื่อเป็นการรักษา

ข้อแนะนำ
1. ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุมักรักษาให้หายขาด หรือใช้ยาควบคุมไม่ให้ชักได้ แต่ต้องกินยานานเป็นปีๆ หรือตลอดชีวิต ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาและไปตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

2. การใช้ยารักษาควรปฏิบัติดังนี้
-กินยาตามแพทย์สั่งทุกวัน ควรทำบันทึกการกินยาและการนัดของแพทย์เพื่อกันลืม

-อย่าหยุดหรือปรับเปลี่ยนขนาดยาเอง หรือซื้อยามากินเอง

-หากลืมกินยาในมื้อใดควรกินตามปกติในมื้อต่อไป

-ห้ามใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยากันชักโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะยาบางชนิดอาจไปต้านฤทธิ์ยากันชักทำให้อาการกำเริบได้ และบางชนิดอาจเข้าไปเสริมฤทธิ์ยากันชักทำให้เกิดพิษจากการทำปฏิกิริยากันได้

-ควรสังเกตผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ ผื่นคัน ผิวหนังผุพอง เหงือกบวม ดีซ่าน มีไข้ เป็นต้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการเหล่านี้เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม หรือตรวจเลือดเพื่อประเมินผลข้างเคียงต่อตับ ไต เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เป็นระยะๆ

-ยากันชักบางชนิดจะต้านฤทธิ์ยาเม็ดคุมกำเนิด ทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล หรือทำให้ทารกในครรภ์พิการ แท้งบุตร ผู้ที่กินยาคุมกำเนิดหรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสม เช่น ตั้งแต่ระยะก่อนและขณะตั้งครรภ์แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดกรดโฟลิก ขนาด 1 มก./วัน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดความพิการทางระบบประสาท เป็นต้น

-หากเจ็บป่วยอย่างอื่น และตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบและนำยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย

-ควรนำประวัติและยาที่กินไปให้แพทย์ดูด้วยในกรณีที่เปลี่ยนสถานที่รักษา

3. เมื่อรักษาอย่างถูกต้องจนควบคุมโรคได้แล้วผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

4. ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการชักและเพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าทำงาน หรือออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป อย่าใช้ความคิดมาก หลีกเลี่ยงภาวะเครียดทางจิตใจ ไม่อดอาหาร อย่าให้ท้องผูก ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือยากระตุ้นประสาท หลีกเลี่ยงที่ที่มีเสียงอึกทึก มีแสงจ้า แสงวอบแวบ เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ ควรหลีกเลี่ยงการกระทำและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย เช่น ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง อยู่ใกล้ไฟ ใกล้น้ำ ขับรถ ขับเรือ ทำงานกับเครื่องจักร เดินข้ามถนนตามลำพัง เป็นต้น

5. ผู้ป่วยควรเปิดเผยถึงโรคที่เป็น เพราะเมื่อเกิดอาการชักขึ้นจะได้ไม่ตกใจและมีการช่วยเหลือกันได้ทันเวลา ผู้ใกล้ชิดหรือสมาชิกในครอบครัวควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ไม่รังเกียจ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนทั่วไปได้

6. ควรวินิจฉัยในแน่ชัดก่อนจะสรุปว่าเป็นโรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ เพราะอาการชักอาจมีสาเหตุได้หลากหลาย โดยเฉพาะถ้าพบในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุอาจมีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางสมอง ส่วนในวัยรุ่นหรือวัยทำงานอาจเกิดจากพิษแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า