สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคพยาธิปากขอ (Hookworm infection)

โรคพยาธิลำไส้ที่พบบ่อย
INTESTINAL PARASITES

โรคพยาธิลำไส้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากโรคพยาธิลำไส้เป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพของประชาชน และบั่นทอนเศรษฐกิจของชาตินับเป็นมูลค่ามหาศาล จากรายงานของกองโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2523-2524 พบว่าประชาชนในชนบทของประเทศไทยมีพยาธิลำไส้ ร้อยละ 54 .65 พยาธิที่พบบ่อยที่สุดคือ พยาธิปากขอ รองลงมาคือ พยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis viverrini), พยาธิแส้ม้า (Trichuris trichiura), พยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricoides), พยาธิเข็มหมุด (Enterobius vermicularis) พยาธิสตรองจลอยด์ (Strongyloides stercoralis) และ พยาธิตัวตืด (Taenia saginata, Taenia solium และ Hymenolepis nana) ดังแสดงในตารางข้างล่างนี้

ความชุกชุมของโรคพยาธิลำไส้ของประเทศไทย ที่ตรวจพบพ.ศ. 2523-2524 (ตรวจโดย Kato’s thick smear technique)
health-0081 - Copy

โรคพยาธิปากขอ (Hookworm infection)
โรคพยาธิปากขอในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากพยาธิ Necator americanus โดยมีความชุกชุมมากที่สุดทางภาคใต้ของประเทศ คนเป็นโรคนี้ได้โดยพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อ (filariform larva) ที่อาศัยอยู่ตามผิวดินไชผ่านผิวหนังคนเข้าไป พยาธิตัวอ่อนเดินทางผ่านปอด และสุดท้ายกลายเป็นพยาธิตัวแก่อาศัยอยู่ที่ลำไส้เล็กส่วนต้น โดยเกาะติดเยื่อเมือกของลำไส้ทำให้เยื่อเมือกเป็นแผล และมีเลือดออก พยาธิยังดูดเลือด และปล่อยสารกันเลือดแข็งออกมา ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียเลือด การที่ผู้ป่วยจะมีอาการซีดมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่มีอยู่ ระยะเวลาของการเป็นโรคนี้ ปริมาณเหล็กที่ได้รับ และเหล็กที่สะสมอยู่ในร่างกาย

อาการโรคที่พบ
ถ้ามีพยาธิอยู่น้อย ผู้ป่วยก็อาจไม่มีอาการใดๆ ทั้งสิ้น อาการทางลำไส้ที่พบได้คือ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ถ้ามีพยาธิอยู่เป็นจำนวนมาก และผู้ป่วยได้รับเหล็กไม่เพียงพอก็จะเกิดภาวะซีดจากการขาดเหล็กอย่างช้าๆ

การวินิจฉัยโรค
ทำได้โดยตรวจอุจจาระพบไข่พยาธิปากขอ

การรักษา
ในคนที่มีพยาธิอยู่น้อย ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา    เนื่องจากจุดประสงค์ของการรักษาคือ ลดจำนวนพยาธิลงไปโดยไม่ต้องกำจัดพยาธิให้หมด    เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วย มีโอกาสเกิดการติดเชื้อพยาธิปากขอได้อีกโดยง่าย

ยาที่ใช้รักษาโรคพยาธิปากขอได้ผลดี มีอยู่หลายชนิดคือ
1. Mebendazole เป็น benzimidazole derivative ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการ uptake glucose ของพยาธิ ทำให้พยาธิขาด glycogen แล้วตายไป ขนาดยาที่ใช้คือ 100 มก. เช้า-เย็น นาน 3 วัน ยานี้ยังได้ผลในการรักษาโรคพยาธิไส้เดือน, พยาธิแส้ม้า และพยาธิเข็มหมุดอีกด้วย สำหรับผลข้างเคียงนั้นแทบไม่มีเลย

2. Albendazole เป็น benzimidazole derivative อีกตัวหนึ่ง ซึ่งได้ผลดีในการรักษาโรคพยาธิปากขอ โดยใช้ยาขนาด 400-800 มก.ครั้งเดียว ยานี้มีฤทธิ์ต่อพยาธิกว้างขวาง เช่นเดียวกับ mebendazole

3. Pyrantel pamoate ได้ผลต่อพยาธิ N.americanus ไม่ดีนัก ต้องใช้ ยาขนาดสูงคือ 10-20 มก./กก./วัน ติดต่อกัน 2-3 วัน นอกเหนือจากพยาธิปากขอแล้ว ยานี้ยังมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิไส้เดือนและพยาธิเข็มหมุด แต่ไม่ได้ผลต่อพยาธิแส้ม้า

4. มะเกลือ (Diospyros mollis) ขนาดที่ใช้คิดตามอายุคือ ใช้ผล มะเกลือ 1 ผลสำหรับอายุ 1 ปี จนถึงขนาดสูงสุดคือ 25 ผล นำผลสีเขียวมาตำแล้วคั้นเอาน้ำมาผสมน้ำมะนาวหรือน้ำกะทิ 15-30 มล.แล้วดื่ม อย่างไรก็ตามมีรายงานผู้ป่วยที่เกิด optic atrophy ภายหลังจากดื่มน้ำคั้นมะเกลือที่เก็บไว้ค้างคืน

ในการรักษาโรคพยาธิปากขอ นอกเหนือจากการใช้ยาขับพยาธิแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยซีดก็ควรให้เหล็กไปด้วย ยาที่กล่าวมาแล้วล้วนมีข้อห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ ดังนั้นในหญิงมีครรภ์ที่มีพยาธิปากขออยู่ ควรให้การรักษาด้วยเหล็ก และให้อาหารโปรตีนทดแทนจนกระทั่งคลอดบุตรแล้วจึงให้ยาขับพยาธิ

ที่มา:พรรณทิพย์  ฉายากุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า