สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โบทูลิซึม (Botulism)

เกิดจากพิษของแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า คลอสตริเดียม โบทูลินัม ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อบาดทะยัก เชื้อมีลักษณะเป็นสปอร์ พบได้ตามดินทราย ตะกอนในน้ำ ฝุ่นละออง ปลิวกระจายในอากาศ ทนทานอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหลายปี เมื่อเชื้อทำลายระบบประสาททำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต โรคนี้เป็นโรคอันตรายร้ายแรง พบได้ในคนทุกวัย อาจพบการเจ็บป่วยพร้อมกันจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนพิษ หรือที่เรียกว่า อาหารเป็นพิษโบทูลิซึม

สาเหตุ
เมื่อสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ตกอยู่ที่ที่มีความชื้นมีสารอาหารและขาดออกซิเจน เช่น ในลำไส้ บาดแผลลึกและแคบ อาหารที่บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด ก็จะทำให้เชื้อเจริญเติบโต และปล่อยสารพิษที่มีชื่อว่า โบทูลิน ออกมา

สารพิษโบทูลินออกฤทธิ์ไปจับกับปลายประสาทบริเวณรอยเชื่อมต่อกับเส้นใยกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดพิษต่อประสาท ทำให้ปลายประสาทไม่หลั่งอะเซทิลโคลิน ซึ่งเป็นสัญญาณประสาทที่สั่งกล้ามเนื้อให้ทำงาน เมื่อกล้ามเนื้อทั่วร่างกายไม่หดตัวเกิดการอ่อนแรงเป็นอัมพาต และยังยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทของระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติกที่อาศัยอะเซทิลโคลีนเป็นตัวนำสัญญาณประสาท ทำให้อวัยวะภายในทำงานผิดปกติ เช่น รูม่านตาขยาย น้ำลายออกน้อย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น ปลายประสาทจะถูกพิษทำลายอย่างถาวร ระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะฟื้นและทำหน้าที่ได้ก็ต่อเมื่อปลายประสาทงอกขึ้นมาใหม่ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง 2-4 เดือน

ลักษณะที่ผู้ป่วยรับพิษของเชื้อชนิดนี้คือ
1. โบทูลิซึมจากอาหารเป็นพิษ มักเกิดจากการกินอาหารที่บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิดมีความเป็นกรดไม่มาก เช่น หน่อไม้ เห็ด ถั่ว ข้าวโพด แตง ปลา อาหารทะเล สัตว์ป่า เป็ด ไก่ นม ที่บรรจุอยู่ในกระป๋อง ปี๊บ หรือขวดแก้ว ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดสปอร์ของเชื้อปนเปื้อนในอาหารและปล่อยพิษเจือปนอยู่ในอาหารนั้น

2. โบทูลิซึมจากการติดเชื้อทางบาดแผล การติดเชื้อลักษณะนี้พบได้น้อย และมักเป็นบาดแผลที่แคบและลึกขาดออกซิเจนรวมทั้งการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดในผู้ใช้ยาเสพติด สปอร์ที่เข้าไปแบ่งตัวในบาดแผลแล้วปล่อยพิษเข้าสู่กระแสเลือดไปทำลายระบบประสาททั่วร่างกาย

3. โบทูลิซึมในทารก มักพบในทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี จากการกินอาหารที่ปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ สปอร์จะเข้าไปแบ่งตัวในลำไส้และปล่อยพิษเข้าสู่กระแสเลือดไปทั่วร่างกายเนื่องจากลำไส้ของทารกยังไม่มีจุลินทรีย์ที่สามารถป้องกันการแบ่งตัวของสปอร์ได้

อาการ
โบทูลิซึมจากอาหารเป็นพิษ พบอาการหลังจากกินอาหารเข้าไป 8-36 ชั่วโมง อาจพบเร็วสุดภายใน 4 ชั่วโมง และนานสุด 14 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่รับเข้าไป หากมีอาการเกิดขึ้นหลังกินอาหาร 24 ชั่วโมงมักมีอาการรุนแรง

จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเดินร่วมด้วยในระยะเริ่มแรก ในระยะต่อมาจะมีอาการอิดโรย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มึนงง กระหายน้ำ ปากแห้ง คอแห้ง เจ็บคอ น้ำลายเหนียว หนังตาตก ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก พูดอ้อแอ้หรือเสียงค่อยมาก ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก

จะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายในรายที่เป็นรุนแรง โดยอาการจะเริ่มจากบริเวณลำตัวไปยังแขนขา คือจะมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อหน้าอก กะบังลม หน้าท้อง ทำให้หายใจลำบากก่อนอาการอัมพาตของแขนขา มักเสียชีวิตภายใน 3-7 วัน หากไม่ได้รับการรักษา

ส่วนโบทูลิซึมจากการติดเชื้อทางบาดแผล หลังเกิดบาดแผล 4-14 วัน มักจะมีอาการเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักมีประวัติการมีบาดแผลตามผิวหนังหรือฉีดยาเสพติด จะมีอาการแบบเดียวกับโบทูลิซึมจากอาหารเป็นพิษแต่ไม่มีอาการทางระบบทางเดินอาหารเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน

สำหรับโบทูลิซึมในทารก หลังกินอาหารที่มีสปอร์เข้าไปประมาณ 3-30 วัน มักจะมีอาการเริ่มแรกที่เกิดขึ้น เช่น ท้องผูก ง่วงซึม เฉยเมย ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร หนังตาตก กลืนลำบาก ร้องไม่มีเสียง คอพับคออ่อน ตัวอ่อนปวกเปียก หายใจลำบาก

สิ่งตรวจพบ
มักพบกล้ามเนื้อมีอาการอ่อนแรง เช่น อาการหนังตาตก พูดเสียงค่อยหรือพูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก หายใจลำบาก แขนขาเป็นอัมพาต ส่วนในทารกมักพบอาการคอพับคออ่อน ตัวอ่อน หายใจลำบาก

จะพบรูม่านตาขยาย และไม่มีปฏิกิริยาต่อเสียง มีเฟล็กซ์ของข้อลดลงหรือไม่มีเลย อาการนี้พบได้ทั้งเด็กทารกและผู้ใหญ่

พิษของโบทูลินไม่มีผลต่อสมองและประสาทรับความรู้สึกผู้ป่วยจึงรู้สึกตัวดี และไม่มีอาการชาของแขนขา

มักไม่มีไข้ในผู้ป่วย เว้นแต่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนในช่วงหลัง

ภาวะแทรกซ้อน
สาเหตุการตายของผู้ป่วยที่ร้ายแรงคือ ภาวการณ์หายใจล้มเหลว
จากการสำลักอาจทำให้มีโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมแทรกซ้อนได้
อาจมีอาการอ่อนเพลีย อิดโรย ปากแห้ง ตาแห้ง เหนื่อยง่าย นานเป็นปีๆ ในบางราย

การรักษา
หลังจากกินอาหารที่ชวนให้สงสัยว่าจะเกิดโรคแล้วผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ปากแห้ง หนังตาตก พูดลำบาก กลืนลำบาก เป็นต้น ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หากผู้ป่วยหยุดหายใจควรใช้เครื่องช่วยหายใจหรือให้การช่วยเหลือด้วยการเป่าปากจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเจ็บป่วยเป็นหลัก เช่น ประวัติการกินอาหาร การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ไปที่หน้าอก หน้าท้อง และแขนขา

ในบางครั้งแพทย์อาจต้องวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคให้แน่ชัดด้วยวิธีการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เจาะหลังตรวจน้ำไขสันหลัง ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ตรวจพิษโบทูลินในเลือดหรืออุจจาระ ตรวจเพาะเชื้อจากอุจจาระหรือเศษอาหารในกระเพาะอาหาร และตรวจหาพิษจากอาหารที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุ

การรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากอาหารเป็นพิษต้องขับเอาอาหารที่ตกค้างในกระเพาะลำไส้ออกมาให้มากที่สุดเพื่อลดการดูดซึมพิษ เช่น การทำให้อาเจียน ล้างท้อง สวนทวาร ให้กินผงถ่านกัมมันต์ แต่ถ้าติดเชื้อทางบาดแผลก็จำเป็นต้องตัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกไป ให้การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำและอาหารทางหลอดเลือดดำ คาสายสวนปัสสาวะ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงด้วยการทำกายภาพบำบัด ป้องกันการติดเชื้อจากภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น

ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจะฉีดเซรุ่มต้านพิษหลังจากมีอาการภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อทำลายและป้องกันการกระจายของพิษที่หลงเหลืออยู่ในเลือด ส่วนในทารกการใช้เซรุ่มต้านพิษไม่สามารถทำลายสปอร์ได้จึงไม่ควรใช้กับทารก การรักษาจะได้ผลดีหากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคด้วย การรักษาที่รวดเร็วและถูกต้องมักทำให้หายขาดจากโรคได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ กว่ากล้ามเนื้อจะทำงานได้เป็นปกติ ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หรือหยุดหายใจ หลังมีอาการ 3-7 วันอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ข้อแนะนำ
1. มักมีอาการแบบอาหารเป็นพิษนำมาก่อนในระยะแรก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน หนังตาตก พูดลำบาก กลืนลำบาก หากพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษควรซักประวัติการกินอาหารของผู้ป่วย และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด เช่น มีอาการปากแห้ง คอแห้ง พูดเสียงค่อย เป็นต้น หากไม่แน่ใจควรนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

2. ผู้ป่วยที่หนังตาตกแบบตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้ เช่น พิษงูเห่า โบทูลิซึม ไมแอสทีเนียเกรวิส เป็นต้น แต่ถ้าพบหนังตาตกทั้งสองข้างและเกิดขึ้นพร้อมกันหลายคนและมีอาการแบบอาหารเป็นพิษนำ ก็ควรสงสัยว่าเกิดโรคโบทูลิซึม

3. ควรนำอาหารที่เป็นต้นเหตุไปตรวจพิสูจน์ที่โรงพยาบาลด้วยหากสงสัยว่าเกิดการเจ็บป่วยด้วยอาหารชนิดนั้น

4. ผู้ป่วยที่ได้รับพิษอย่างรุนแรง ควรให้อยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผู้ป่วยมักหายใจไม่ได้จากการอัมพาตของกล้ามเนื้อหายใจต้องให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีโดยใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าจะปลอดภัย

5. อาการกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตและหยุดหายใจของโรคนี้มีอาการคล้ายพิษปลาปักเป้าและแมงดาถ้วย

การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการกินอาหารจากกระป๋องที่บู้บี้ บวมป่อง หมดอายุ บูดเน่า ควรเลือกกินอาหารกระป๋องที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้ออย่างถูกต้องและสะอาด

2. หลีกเลี่ยงการกินอาหาร เช่น หน่อไม้ปี๊บ เนื้อสัตว์ป่า ที่บรรจุในภาชนะมิดชิดและผลิตแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือนซึ่งมักผลิตไม่ถูกวิธีและไม่ได้รับการฆ่าเชื้อ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรนำไปปรุงให้สุกและเดือดนาน 30 นาที แม้ว่าเชื้อโบทูลินจะถูกทำลายในอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เมื่อต้มเดือดนานแค่ 10 นาทีเท่านั้นก็ตาม เพราะการต้มนาน 30 นาทีเป็นการเผื่อเวลาที่ความร้อนต้องส่งผ่านจากภายนอกเข้าสู่ภายในของชิ้นอาหารด้วย

3. ควรนำอาหารที่เหลือเพื่อกินมื้อต่อไปเก็บไว้ในตู้เย็นไม่ควรทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง และควรปรุงให้ร้อนก่อนกินครั้งใหม่เสมอ

4. หากเกิดบาดแผลควรล้างทำความสะอาดไม่ให้สกปรก และควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

5. หลีกเลี่ยงการฉีดยาด้วยเข็มที่ไม่สะอาด ยังไม่ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อ

6. ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรหลีกเลี่ยงการป้อนน้ำผึ้งแก่ทารก เพราะอาจมีสปอร์ของเชื้อนี้ปนเปื้อนอยู่

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า