สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โซริอาซิส/โรคเกล็ดเงิน(Psoriasis)

หรือที่เรียกกันว่าโรคเกล็ดเงิน สะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง มักมีผื่นหรือปื้นและมีเกล็ดเงินปกคลุม มีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรังนานแรมปีหรือตลอดชีวิต โดยไม่ติดต่อสู่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย ในช่วงอายุ 10-40 ปีมักจะเริ่มมีอาการเป็นครั้งแรก อาจพบว่าผู้ป่วยบางรายมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน และพบว่าความเครียดมักเป็นสาเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบขึ้นได้

สาเหตุ
สาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด
ในคนปกติเซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าจะมีการงอกใหม่จากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาแทนเซลล์ผิวหนังบนชั้นนอกสุดที่แก่ตัวและหลุดออกไปเป็นวัฏจักรโดยเซลล์ผิวหนังที่งอกใหม่จะใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาที่ชั้นนอกสุดของผิวหนังประมาณ 26 วัน แต่ในผู้ป่วยโรคนี้บริเวณรอยโรคจะมีการแบ่งตัวหรืองอกของเซลล์ผิวหนังใหม่เร็วกว่าปกติ และใช้เวลาเคลื่อนตัวขึ้นมาชั้นนอกสุดของผิวหนังเพียงประมาณ 4 วัน ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดออกในอัตราความเร็วไม่ทันกับการงอกของเซลล์ใหม่ จึงทำให้เกิดการหนาตัวของผิวหนังกลายเป็นตุ่มหรือปื้น และมีเกล็ดสีเงินปกคลุมซึ่งหลุดลอกออกง่าย

สันนิษฐานว่าความผิดปกตินี้มีความเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกัน คือ ลิมโฟไซต์ ที่ชื่อ T cell ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไปเมื่อเคลื่อนตัวมาที่ชั้นใต้ผิวหนังก็จะทำงานร่วมกับสารอื่นๆ กระตุ้นให้เซลล์หนังกำพร้าเกิดการแบ่งตัวและเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ ทำให้ผิวหนังทั้งในชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้เกิดการอักเสบทันที

เชื่อว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์ร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะซับซ้อนมีความเกี่ยวข้องกับกลไกของการเกิดโรคโซริอาซิส

โรคนี้ในปัจจุบันพบว่ามียีนผิดปกติอยู่มากกว่า 8 ชนิด อาการของโรคที่มีหลากหลายรูปแบบก็เนื่องจากในผู้ป่วยแต่ละรายจะมียีนผิดปกติที่ไม่เหมือนกัน และในผู้ป่วยบางรายอาจมียีนของโรคนี้แฝงอยู่โดยที่ไม่ได้แสดงอาการ ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการด้วย เช่น ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ การติดเชื้อ การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง การใช้ยาปิดกั้นบีตาหรือลิเทียม ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้โรคกำเริบเป็นครั้งแรก

ส่วนปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบซ้ำหรือรุนแรงมากขึ้น เช่น ความเครียด การติดเชื้อต่างๆ การขูดข่วนแกะเกาที่ผิวหนัง ถูกแมลงกัดต่อย แพ้แดดหรือถูกแดดมาก อากาศที่หนาวเย็น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยา ความอ้วน การหยุดกินยาสตีรอยด์ หรืออาจไม่พบสาเหตุอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบก็ได้

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงได้หลายชนิด ซึ่งอาจจะเป็นเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดร่วมกัน ดังนี้

-โซริอาซิสชนิดปื้นหนา ที่บริเวณผิวหนังของผู้ป่วยจะมีตุ่มแดง ขอบเขตชัดเจน มีขุยสีขาวหรือสีเงิน ซึ่งเป็นอาการตอนเริ่มกำเริบใหม่ๆ และตุ่มนั้นจะค่อยๆ ขยายออกจนกลายเป็นปื้นใหญ่และหนาในเวลาต่อมา และขุยสีขาวที่ผิวจะค่อยๆ หนาตัวขึ้นเป็นเกล็ดสีเงิน ชาวบ้านจึงชอบเรียกกันว่า โรคเกล็ดเงิน หรือสะเก็ดเงิน เวลาถอดเสื้อหรือเดินไปไหนมาไหนเกล็ดนี้ก็จะร่วง มักพบว่าตามเก้าอี้หรือที่นอนจะมีเกล็ดนี้ร่วงอยู่ และเกล็ดนี้ถ้าขูดออกจะทำให้มีเลือดออกซิบๆ ผู้ป่วยจะมีอาการคันหรือเจ็บจากรอยโรค ซึ่งคล้ายอาการของโรคกลาก หรือผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้

ที่ผิวหนังทุกส่วนอาจเกิดความผิดปกติดังกล่าวขึ้นได้ทั้งนั้น แต่พบได้บ่อยที่หนังศีรษะ และผิวหนังส่วนที่เป็นปุ่มนูนของกระดูก เช่น ข้อศอก ข้อเข่า หรืออาจพบได้ที่ ก้นกบ หน้าแข้ง และจะมีขนาดต่างๆ กันของรอยโรค อาจเป็นเพียงไม่กี่แห่งหรือมีการกระจายทั่วไปก็ได้ ซึ่งตามบริเวณผิวหนังที่เคยได้รับบาดเจ็บหรือชอกช้ำ เช่น รอยบาดแผล รอยขีดข่วน เป็นต้น มักมีรอยโรคลักษณะดังกล่าวขึ้นอยู่ หรืออาจมีรอยโรคภายในเยื่อบุช่องปากหรือบริเวณอวัยวะเพศก็ได้ในบางราย รอยโรคดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นปื้นหนาๆ ขึ้นๆ ยุบๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่หายขาด

-โซริอาซิสชนิดตุ่มเล็ก มักพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี หลังจากเป็นคออักเสบจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัสมักจะทำให้เกิดอาการเป็นครั้งแรก ตามลำตัว แขน ขา หนังศีรษะ ของผู้ป่วยจะมีลักษณะของตุ่มหรือผื่นแดงเล็กๆ รูปร่างคล้ายหยดน้ำ ปกคลุมไปด้วยเกล็ดเงินเล็กๆ อาจจะเป็นครั้งเดียวแล้วหายขาดไปเลย หรือกำเริบซ้ำได้เมื่อมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ ซึ่งรอยโรคอาจดูคล้ายผื่นพีอาร์ ซิฟิลิส หรือผื่นแพ้ยา

-โซริอาซิสชนิดรอยพับ พบว่าที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ใต้นม ข้อพับต่างๆ และรอบๆ อวัยวะเพศ ของผู้ป่วยมักมีลักษณะเป็นรอยแดง ผิวราบเรียบ มีขอบเขตชัดเจน ไม่มีเกล็ดเงิน มักพบได้บ่อยในคนอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน เมื่อมีเหงื่อออกหรือมีการเสียดสีก็จะทำให้อาการกำเริบมากขึ้น รอยโรคอาจดูคล้ายๆ กับโรคสังคัง โรคเชื้อราแคนดิดา

-โซริอาซิสชนิดตุ่มหนอง เป็นภาวะที่พบได้น้อย โดยพบว่าที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า หรือทั่วทั้งตัวของผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำขุ่นแบบตุ่มหนองขึ้นมา แต่ไม่มีการติดเชื้อ มักจะเป็นผื่นแดงเจ็บก่อนในระยะแรก และจะพุเป็นหนองขึ้นในไม่กี่ชั่วโมง และภายใน 1-2 วันก็จะหายไปได้เอง และทุกๆ 2-3 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์ อาการก็อาจกำเริบขึ้นได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลด และคันมากร่วมด้วย ลักษณะของรอยโรคดูคล้ายผิวหนังอักเสบที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือพุพอง

-โซริอาซิสชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุดในผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งตามผิวหนังทั่วตัวของผู้ป่วยจะมีผื่นแดงและมีเกล็ด คัน ปวดแสบปวดร้อนขึ้นกระจายอยู่ อาจเป็นเพราะผู้ป่วยควบคุมอาการได้ไม่ดีเมื่อเป็นโซริอาซิสชนิดปื้นหนามาก่อน เมื่อมีความเครียด เกิดบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แพ้ยา หรือติดเชื้อ หรือหยุดยาสตีรอยด์ที่เคยกินเป็นประจำ มักทำให้มีอาการกำเริบขึ้น และอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนแบบบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เช่น ภาวะขาดน้ำ หรือการติดเชื้อ เกิดขึ้น

-โซริอาซิสชนิดเกิดที่หนังศีรษะ ผู้ป่วยมักมีผื่นแดงหนา ขอบเขตชัดเจน และมีเกล็ดเงินขึ้นตามแนวไรผม หรืออาจลามมาที่หน้าผาก มีอาการคัน อาจมีเกล็ดหนังร่วงเกาะตามผมและไหล่ลักษณะคล้ายรังแค หรือโรคกลากที่ศีรษะเมื่อมีการเกาหนังศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นก่อนจะมีผื่นตามตัว

-โซริอาซิสชนิดเกิดที่เล็บ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งที่เล็บมือและเล็บเท้า อาจมีอาการได้หลายลักษณะ เช่น ใต้เล็บจะมีจุดสีน้ำตาล เล็บเป็นหลุม เล็บขรุขระ เล็บแยกตัวออกจากเนื้อใต้เล็บ ผิวใต้เล็บหนา ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดร่วมกับเนื้อเยื่อขอบเล็บอักเสบ ซึ่งอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยในบางครั้ง จนอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกลากที่เล็บ โรคเชื้อราแคนดิดาที่เล็บ และอาจทำให้เนื้อเล็บเปื่อยยุ่ยและถูกทำลายได้ในรายที่เป็นแบบรุนแรง

-ข้ออักเสบจากโซริอาซิส มักพบร่วมกับรอยโรคที่ผิวหนังเรื้อรัง ที่มีอาการข้ออักเสบนำมาก่อน ก่อนที่จะเกิดอาการที่ผิวหนัง ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย มักพบเป็นที่ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ทำให้มีอาการปวด บวม และข้อแข็ง คล้ายโรคปวดข้อรูมาตอยด์ หรืออาจมีการอักเสบของข้อเข่า สะโพก และข้อกระดูกสันหลัง อาจเป็นเพียงข้อเดียวหรือหลายข้อร่วมกันก็ได้ อาการมักจะค่อยๆ เป็นรุนแรงขึ้นจนทำให้ข้อพิการในที่สุด

ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง และกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการออกสังคมได้ เนื่องจากมีรอยโรคเรื้อรังและแลดูน่าเกลียด หรืออาจเกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในรายที่มีอาการคันมาก หรืออาจทำให้เกิดภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่และการติดเชื้อรุนแรงได้ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น โซริอาซิสชนิดตุ่มหนองแพร่กระจายทั่วไป หรือโซริอาซิสชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว หรืออาจทำให้ข้อพิการได้ในรายที่เป็นข้ออักเสบ หรือเกิดเล็บพิการในรายที่เป็นที่เล็บ

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค ควรส่งให้แพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยจากประวัติและอาการแสดงของโรค หรืออาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อโดยการตัดชิ้นเนื้อเยื่อผิวหนังส่งพิสูจน์ในรายที่อาการไม่ชัดเจน

แนวทางในการรักษาซึ่งแพทย์มักจะให้การรักษาตามชนิดและความรุนแรงของโรคดังนี้

1. สำหรับรอยโรคที่ผิวหนัง ให้ทาด้วยครีมสตีรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิไนโลนอะเซโทไนด์ หรือขี้ผึ้งน้ำมันดิน หรือโคลทาร์ ชนิด 1-5% หรือใช้สลับกันทั้งสองอย่างเพื่อป้องกันการดื้อยา ในรายที่เป็นน้อยและมีรอยโรคเพียงไม่กี่แห่ง ในรายที่เป็นมากอาจหลีกเลี่ยงการใช้ครีมสตีรอยด์หรือทาเฉพาะที่เป็นปื้นหนา หรือให้ผู้ป่วยอาบแดด โดยเริ่มอาบด้านละ 5-10 นาทีก่อนและค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นทำให้เกิดรอยแดงเรื่อๆ ที่ผิวหนังหลังอาบแดด 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรอาบแดดประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อช่วยให้ผื่นยุบลงได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ไม่ควรอาบแดดนานเกินไป และเพื่อมิให้ผิวหน้าถูกแดดมากไปควรใช้ผ้าคลุมเพื่อป้องกันผิวหน้าด้วย ซึ่งถ้าแพ้แดดอาจทำให้อาการกำเริบได้ในบางราย

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทาขี้ผึ้งแอนทราลินพร้อมกับการอาบแดดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นโซริอาซิสชนิดปื้นหนา หรืออาจใช้วิธีฉายแสงอัลตราไวโอเลตบีแทนการอาบแดดก็ได้ และผื่นมักจะยุบภายใน 3-4 สัปดาห์ถ้าได้ผล แต่ยานี้อาจทำให้ระคายเคืองจึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และควรหยุดใช้ถ้ามีความระคายเคืองเกิดขึ้น และไม่ควรใช้ยานี้ทาบนใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ

บางรายแพทย์อาจเลือกใช้ยาทาชนิดอื่น เช่น calcipotriene ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินดี tazarotene ซึ่งเป็นกลุ่มเรตินอยด์ เป็นต้น อาจใช้เพียงเดี่ยวๆ หรือร่วมกับยาอื่น หรือฉายแสงอัลตราไวโอเลตร่วมด้วยก็ได้ และให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ทาด้วย petroleum liquid paraffin เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังในกรณีที่ผิวหนังแห้ง หรือให้ยาละลายขุยถ้าเกล็ดหนามาก หรือให้ยาแก้แพ้ถ้ามีอาการคัน หรือให้ยาแก้ปวดลดไข้ถ้ามีไข้หรือมีอาการปวด เป็นต้น

2. สำหรับรอยโรคที่หนังศีรษะ ให้ผู้ป่วยสระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน หรืออาจใช้โลชั่นที่เข้าสตีรอยด์ทาวันละ 1-2 ครั้งในรายที่มีขุยที่ศีรษะมาก

3. สำหรับอาการข้ออักเสบ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบควรให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์

4. ในรายที่เป็นรุนแรง หรือดื้อต่อการรักษา อาจต้องใช้ยากิน เช่น ให้กินยาซอลาเรน ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ การให้กินยา
กลุ่มเรตินอยด์ เมโทเทรกเซต หรือไซโคลสปอรีน และเนื่องจากยานี้อาจมีผลข้างเคียงและข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ที่แตกต่างกันไป จึงควรให้แพทย์โรคผิวหนังเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อต้องรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้

ในปัจจุบันมียาใหม่ เช่น etanercept, infliximab เป็นต้น ซึ่งยานี้เป็นสารชีวภาพออกฤทธิ์ต้านอักเสบโดยยับยั้งการทำงานของลิมโฟไซต์ มีผลข้างเคียงน้อย แต่ราคาแพง ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผลหรือมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ร้ายแรงของยาอื่น

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ซึ่งในบางช่วงอาจหายดีเป็นปกติ แต่ต่อมาก็อาจกำเริบขึ้นมาได้อีกโดยเฉพาะเมื่อมีภาวะเครียดทางร่างกายและจิตใจ ผู้ป่วยควรรักษากับแพทย์คนเดิมอย่างต่อเนื่องไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือโรงพยาบาลบ่อย

2. โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแม้จะเป็นแบบเรื้อรัง ไม่เป็นโรคติดต่ออย่างเชื้อราหรือโรคเรื้อน แม้จะมีรอยโรคที่ดูน่าเกลียด สามารถอยู่ร่วมอย่างใกล้ชิดกับผู้อื่นได้ จึงควรให้ความรู้ความเข้าใจ ให้การดูแลและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีปมด้อยด้วยการแสดงความรังเกียจต่อผู้ป่วย

3. อาการและความรุนแรงมักจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งอาจมีอาการเพียงชนิดเดียว หรือมากกว่า 1 ชนิด หรือเปลี่ยนชนิดไปมาก็ได้ บางรายผื่นอาจไม่ลุกลามออกไปจะเป็นอยู่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง แต่บางรายก็อาจกระจายรุนแรงไปเรื่อยๆ อาการมักรุนแรงมากขึ้นในผู้ที่เริ่มมีอาการครั้งแรกตอนอายุยังน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถรักษาด้วยการใช้ยาสตีรอยด์ทาเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

4. โรคนี้มีอาการได้หลายแบบและอาจคล้ายกับโรคผิวหนังอื่นๆ เช่น กลาก โรคเชื้อราแคนดิดา ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นพีอาร์ รังแค เป็นต้น ถ้าให้การรักษาโรคเหล่านี้แล้วไม่ได้ผลก็ควรนึกถึงโรคโซริอาซิส

5. ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้เพื่อป้องกันมิให้โรคกำเริบ
-ไม่ควรกินยาหม้อที่มีสารหนู ซึ่งเมื่อกินติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เป็นมะเร็งได้แม้จะทำให้อาการทุเลาลง

-ไม่ควรซื้อยาชุด ยาสมุนไพร และยาลูกกลอนมากินเอง เพราะอาจแพ้ยาและทำให้โรคกำเริบได้ หรือได้รับสตีรอยด์ที่ผสมอยู่ในยาเหล่านั้น แม้จะใช้แล้วอาการทุเลาลงแต่ก็อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้เมื่อหยุดยา ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์มักจะใช้สตีรอยด์ชนิดทาหรือชนิดฉีดเข้าเฉพาะที่

-ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน หรือตรากตรำงานหนัก

-ควรออกกำลังกาย ฝึกโยคะ รำมวยจีน ทำสมาธิ ทำงานอดิเรก เพื่อผ่อนคลายความเครียด

-หลีกเลี่ยงการขีดข่วนถูกผิวหนัง

-ไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์

-ควรให้ผิวหนังถูกแดดแต่ไม่ควรนานเกินไป แต่ในรายที่แพ้แดดก็ควรเลี่ยงการถูกแสงแดด

6. ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยพบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดูแลตนเอง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หรือจัดให้มีกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัดขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า