สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จากอาหารแมคโครไบโอติกมาเป็นอาหารชีวจิต

เนื่องจากในช่วงระยะ 15 ปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่อาหารชีวจิตและการนำไปใช้ อย่างแพร่หลายทั่วไปในประเทศไทย คนส่วนใหญ่อาจจะมีความสับสนว่า อาหารชีวจิตคืออะไร? แตกต่างกันกับอาหารแมคโครไบโอติกอย่างไร? และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากน้อยอย่างไร? เพื่อให้ได้คำตอบดังกล่าว จึงนำข้อมูลที่เกี่ยวกับอาหารชีวจิตมาเสนอเปรียบเทียบกัน

อาหารชีวจิต คือ อาหารที่มีแนวความคิดในเรื่องสุขภาพแบบองค์รวมที่ดัดแปลง มาจากอาหารแมคโครไบโอติก ซึ่งจอร์จ โอซาว่า เป็นผู้ต้นคิด ค้นคว้า และรวบรวมอาหารของพระเซนในญี่ปุ่นมาดัดแปลงผสมผสานกับโภชนาการสมัยใหม่ และปรับปรุงให้เหมาะสมกับวิถี ชีวิตและสุขภาพของคน เป็นการบริโภคอาหารประเภทผักพื้นบ้าน ธัญพืชไม่ขัดสี ไม้สดตามฤดูกาล ไม่ผ่านการปรุงแต่งด้วยสารเคมีใดๆ เป็นอาหารที่ได้มาจากท้องถิ่น และเป็นการบริโภคอย่างสมดุล คำว่า ชีวจิต มาจากคำว่า ชีวะ ที่หมายถึง ชีวิต หรือ ร่างกาย (Body) และคำว่า จิต ซึ่งหมาายถึง จิตใจ (Mind) ชีวจิต คือ ร่างกายและจิตใจ (Body and Mind) นั่นเอง

อาหารชีวจิตมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2539 โดย ดร.สาทิส ิอินทรกำแหง นักโภชนาการอาวุโส ซี่งมีประสบการณ์ในอาหารแมคโครไบโอติกมานาน ท่านได้ เล็งเห็นว่าคนไทยได้หันไปรับประทานอาหารกลุ่มขยะที่ไร้คุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ทำให้คนไทยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานมากขึ้นด้วย ดร.สาทิส อินทรกำแหง จึงได้ดัดแปลงหลักการของอาหารแมคโครไบโอติกซึ่งแพร่หลายในกลุ่มคนใน ประเทศอเมริกาและยุโรปมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมสำหรับการดำเนินชีวิตและวิถีสุขภาพของคนไทยมากขึ้น จนเป็นที่ยอมรับและแพร่หลายอย่างกว้างขวาง เพราะว่าจัดหาได้ง่าย การปรุงไม่ผ่านขั้นตอนมาก และสะดวกต่อการรับประทาน จึงเป็นที่ยอมรับในประชาชนนคนไทยมาตลอด

หลักการและความรู้พื้นฐานของชีวจิต

ชีวจิต คือ ร่างกายและจิตใจ จุดประสงค์หลักของชีวจิตก็คือ ความสุขสมบูรณ์ทั้งกาย และจิตใจ โดยยึดเอาวิธีปฏิบัติและความคิดในแนวธรรมชาติเป็นหลัก ในด้านร่างกายและจิตใจนั้น ชีวจิตถือว่าร่างกายและจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกกันไม่ได้ ร่างกายมีผลกระทบต่อจิตใจ และจิตใจก็มีผลกระทบต่อร่างกายด้วย ความสุขที่สมบูรณ์จะต้องมาจากร่างกายและจิตใจ โดยถือแนวทางว่า ทุกส่วนดีทั้งหมดคือสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุด (Wholeness as Perfection)

ดังกล่าวข้างต้น อาหารชีวจิตมีพื้นฐานและองค์ความรู้ที่อาศัยหลักการคล้ายคลึงกับอาหารแมคโครไบโอติก คือ การปรุงอาหารสุขภาพ ควรใช้เครื่องมืออุปโภคที่มาจากธรรมชาติ หรือใกล้กับธรรมชาติมากที่สุด และมีการแนะนำอาหารส่งเสริมสุขภาพที่ควรกิน 4 กลุ่ม และอาหารทำลายสุขภาพที่ควรงด 4 กลุ่ม ดังนี้

อาหารชีวจิตที่ควรกิน เพื่อสุขภาพ ควรกินอาหาร 4 กลุ่ม ดังนี้

1.  อาหารกลุ่มแป้งที่ไม่ขัดสีจนขาว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ขนมปัง โฮลวีท มันเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง เป็นต้น เป็นแหล่งของสารอาหารประเภทคารโบไฮเดรต กลุ่ม วิตามิน B และวิตามิน E และแร่ธาตุ ปริมาณที่ใช้กินประมาณ 50% ของแต่ละมื้อ

2.  อาหารกลุ่มผัก ใช้ผักดิบสดและผักสุกประมาณอย่างละครึ่ง เป็นแหล่งของสารอาหารที่หลากหลาย คือ วิตามิน แร่ธาตุ และเส้นใยอาหาร ควรใช้ผักอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมี และปลอดสารฆ่าแมลงจะดีที่สุด แต่ถ้าซื้อจากตลาดควรเลือกผักปลอดสาร แช่น้ำนานๆ และ แช่ด่างทับทิมด้วยปริมาณที่ใช้กินประมาณ 25% ของแต่ละมื้อ

3.  อาหารกลุ่มถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วดำ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นํ้าเต้าหู้ เต้าส่วน เต้าทึง เป็นต้น เป็นแหล่งของสารอาหารโปรตีนไขมัน และเส้นใยอาหาร ปริมาณที่กินประมาณ 15% ของแต่ละมื้อ จะใช้ปลาหรืออาหารทะเลได้ ประมาณอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง

4.  อาหารกลุ่มเมล็ดพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม ผลไม้เขียว และผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน แต่มีรสฝาด เช่น ฝรั่ง มะม่วงดิบ เป็นต้น เป็นแหล่งของสารอาหารหลายชนิด เช่น โปรตีน แร่ธาตุและสารสำคัญทางชีวภาพอื่นๆ ที่หาได้ยากในอาหารทั่วไป เช่น สังกะสี และสารแอนติออกซิแดนท์ ปริมาณที่ใช้ราวๆ 10% ของแต่ละมื้อ

นอกจากนี้ มีการใช้รูปแบบอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ได้แก่ นํ้าอาร์ซี (RC = Rejuvena­tion Concoction) ที่ได้จากนํ้าจากการต้มข้าวและธัญพืชชนิดต่างๆ นํ้าแกง หรือนํ้าซุป เช่น แกงจืด หรือ แกงเลียง ซึ่งควรรับประทานก่อนอาหาร รวมทั้งสาหร่ายทะเล งาสด และงาคั่ว

อาหารชีวจิตที่ควรงด เป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพ จึงสมควรงดหรือลดให้น้อยที่สุด ได้แก่ อาหาร 4 กลุ่ม

1.  อาหารที่ได้มาจากเนื้อสัตว์เช่น เนื้อหมูไก่ เป็นต้น

2.  อาหารรสหวานจากนํ้าตาลขาวทุกชนิด ขนม และเครื่องดื่มที่ทำจากนํ้าตาล เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง เค้ก ไอศกรีม นํ้าหวานต่างๆ เป็นต้น

3.  อาหารที่ใช้นํ้ามัน นม เนย กะทิ เป็นต้น

4.  ข้าวที่ขัดสี หรือ แป้งขาวทุกชนิด เช่น ข้าวขาว ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ขนมปังขาว

สำหรับการงดการดื่มนม ทางชีวจิตได้ส่งเสริมการใช้โยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการหมักด้วยเชื้อนมเปรี้ยว (Lactobacillus bacteria) ทดแทนได้ และการกินปลาก็กินได้ทั้งก้างเพื่อจะได้แร่ธาตุ เช่น แคลเซียมและฟอสเฟตด้วย

ในด้านทางโภชนาการ การกินอาหารชีวจิตเป็นการดัดแปลงรูปแบบอย่างเหมาะสม กับรสนิยมของคนไทย โดยไม่มีการขัดแย้งกับข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี เช่นเดียวกับ อาหารธรรมชาติอื่น เช่น อาหารแมคโครไบโอติก อาหารมังสวิรัติ แต่อาหารชีวจิตมีการระบุสัดส่วนของอาหารในกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ได้รับสารอาหารทุกกลุ่มตามที่ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการแนะนำไว้ รวมถึงการงดอาหารบางอย่างที่เป็นพิษและทำลายสุขภาพ ถ้ามีการนำอาหารชีวจิตไปปฏิบัติจริง เหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและ น่าจะลดความเสี่ยงต่อโรคแห่งความเสื่อมทั้งหลาย

สำหรับการปฏิบัติทางด้านจิตใจ ด้านจิตใจมีเป้าหมายสำคัญที่สุดคือความสงบ ซึ่งอาศัยธรรมชาติเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตใจเกิดความสงบ เกิดปัญญา มองเห็นสัจธรรมของโลกและชีวิต จุดสูงสุดของสัจธรรมนี้คือความหลุดพ้น ซึ่งแต่ละคนย่อมมีหนทางและแนวทางเป็นของตนเอง ในขณะเดียวกัน ชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องไปตามธรรมชาติ คือใช้ชีวิตที่บริสุทธิ์และเรียบง่าย

การดำรงชีวิตจึงควรพักอยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ ไม่มีความแออัด ควรออกกำลังกายหรือกายบริหารอย่างสมํ่าเสมอ มีการดื่มนํ้าสะอาดและนํ้าชาสมุนไพร มีการขับสารพิษ (“ดีท็อกซ์”, detoxification) โดยการสวนทางทวารหนักด้วยนํ้ากาแฟ นํ้ามะขาม นํ้ามะนาว หรือ นํ้าอุ่น เป็นวิธีการกำจัดสารพิษหรือท็อกซิน (toxin) ที่คั่งค้างอยู่ในลำไสัใหญ่ออกจากร่างกาย มีการพักผ่อนจิตใจและการฝึกสมาธิ ชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติจะเป็นชีวิตที่มีอายุยืน แข็งแรง มีความสุขตลอดเวลา

วิถีชีวจิต เป็นวิถีการดำรงชีวิตและการบริโภคอาหารที่เน้นหลักการของความเป็นธรรมชาติ มีพื้นฐานองค์ความรู้มาจากวิถีชีวิตแบบแมคโครไบโอติก ซึ่งมีการดัดแปลงให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของคนไทย

อาหารชีวจิต เป็นการบริโภคพืชผัก เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้สดตามฤดูกาล ไม่ผ่านการปรุงแต่ง พืชหัวไม่ปอกเปลือก ดื่มนํ้าสะอาดและชาสมุนไพรหรือนํ้าผลไม้ งดเนื้อสัตว์ทุกชนิด ยกเว้นปลาและอาหารทะเลบริโภคได้เป็นครั้งคราว งดนํ้าตาลฟอกขาว กะทิ นม และไข่

คำถามที่ว่า อาหารชีวจิตแตกต่างกันกับอาหารแมคโครไบโอติกอย่างไร? คำตอบคือ ในด้านหลักการและเหตุผลที่เกี่ยวกับอาหารชีวจิตกับอาหารแมคโครไบโอติกไม่มีความแตกต่างแต่อย่างไร นั่นคือ

1. การรักษาสุขภาพด้วยความสมดุลทางโภชนาการ โดยเน้นอาหารที่ได้มาจากธัญพืช ผักและผลไม้เป็นหลัก ส่วนประกอบของอาหารจะต้องคงอยู่ในรูปสภาพเดิมตามธรรมชาติ ไม่มีการนำมาขัดสีหรือปรุงแต่ง และวัสดุที่นำมาประกอบอาหารจะต้องปลูกในท้องถิ่นและ มีตามฤดูกาล

2.  การดูแลด้านจิตใจให้มีความสุขนั้นจะต้องมีเป้าหมายสำคัญ คือความสงบภายใน ซึ่งอาศัยธรรมชาติเป็นปัจจัย ความหลุดพ้น ในแนวทางของตนเอง และขณะเดียวกันควรใช้ชีวิตที่บริสุทธิ์และเรียบง่าย ทั้งนี้จะต้องพยายามรักษาสภาพของร่างกายและจิตใจให้กลมกลืนกันด้วย

ในด้านการนำหลักการมาใช้ปฏิบัตินั้นย่อมมีความแตกต่างกัน เนื่องจาก จอร์จ โอซาว่า เป็นผู้พลิกฟื้นความคิดของหลักการอาหารของอิชิซูกะมาเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ ผู้ปฏิบัติแนวทางแมคโครไบโอติกจึงคงยึดหลักการของ จอร์จ โอซาว่า อย่างแนบแน่น แต่ทางชีวจิตได้ยึดแนวทางของ ดร.สาทิส อินทรกำแหง ผู้ริเริ่มดัดแปลงวิธีการของแมคโครไบโอติกมาใช้ในประเทศให้เหมาะสมกับอาหารไทย ได้นำมาเขียนเป็นตำราเพื่อถ่ายทอดให้แก่ ผู้สนใจสุขภาพในประเทศจนเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ทั้งอาหารแมคโครไบโอติกและอาหารชีวจิตก็ถือว่าเป็นอาหารทางเลือกหนึ่งของคนไทย เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันความเจ็บป่วยได้อย่างดี แต่เนื่องจากอาหารแมคโครไบโอติกและอาหารชีวจิตยังขาดข้อมูลใหม่ๆ ทางงานวิจัยพื้นฐานและ การวิจัยทางคลินิกในคน ดังนั้น ในการพัฒนาอาหารแมคโครไบโอติกและอาหารชีวจิตเพื่อให้มี การยอมรับในหมู่นักวิชาการ โดยเฉพาะบุคลากรทางสุขภาพให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้าน ทางการวิจัย จึงเสนอแนะให้มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและทางคลินิกต่อไป

ที่มา : กองการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า