สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การแพทย์แผนแอนโธรโพโซฟี(Anthroposophical Medicine)

เป็นระบบการแพทย์แบบองค์รวม หรือโฮลิสติค(Holistic) ตามแนวคิดของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาชาวออสเตรีย ผู้ก่อตั้งแอนโธรโพโซฟี(anthroposophy) ซึ่งเป็นรากฐานของการแพทย์แผนแอนโธรโพโซฟี

คำ “แอนโธรโพโซฟี” ที่สไตน์เนอร์คิดขึ้นมาใช้ มาจากคำในภาษากรีก แอนโธร(anthro) ซึ่งแปลว่า “มนุษย์” กับ โซเฟีย(Sophia) ซึ่งแปลว่า ความรู้

สไตน์เนอร์เชื่อว่า โครงสร้างและการทำงานของร่างกายของสิ่งมีชีวิตไม่อาจอธิบายโดยใช้เงื่อนไขทางกายภาพหรือทางเคมีได้ สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตต่างมีร่าง “อีเธอริค”(etheric) หรือร่างที่ไร้ตัวตน ซึ่งต่อต้านแรงดึงดูดของโลก ทำให้ร่างกายสามารถเติบโตขึ้นไปเบื้องบนให้ห่างออกไปจากโลกได้ เขาคิดว่า สัตว์และมนุษย์ต่างมี “แอสทรัล” ซึ่งเป็นตัวแทนของอารมณ์ต่างๆ และมนุษย์เท่านั้นที่มีแกนที่เป็นจิตวิญญาณเฉพาะตัว สไตน์เนอร์ เรียกแกนจิตวิญญาณนี้ว่า อีโก(ego)

การร่วมมือกันระหว่างสไตน์เนอร์ กับนานแพทย์ชาวดัทช์ ชื่อ อิตา เวกแมน (Ita Wegman) จึงได้เกิดการแพทย์แผนแอนโธรโพโซฟีขึ้น ทั้งสองได้ร่วมกันวางรากฐานของการรักษาโรคตามแผนแอนโธรโพโซฟิคอล ในเมือง อาร์ลสไฮม์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และร่วมกันเขียนหนังสือชื่อ Fundamentals of Therapy(หลักเบื้องต้นของการบำบัด)

สี่แง่มุมของชีวิตมนุษย์ คือ ร่างที่มีตัวตน ร่างที่ไม่มีตัวตน แอสทรัล และอีโก การแพทย์แผนแอนโธรโซฟีของสไตน์เนอร์เปรียบว่าตรงกับธาตุทั้ง 4 ของกรีกโบราณ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งทั้ง 4 ธาตุนี้จะเกี่ยวพันซึ่งกันและกันด้วยวิถีของระบบการทำงานของร่างกาย 3 ระบบ ที่มีการแทรกตัวเข้าไปภายในร่างกาย ได้แก่ ระบบการย่อยอาหาร/การเคลื่อนไหว ระบบประสาท/การรับรู้ และระบบจังหวะ

ร่างที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนจะควบคุมระบบการย่อย/เคลื่อนไหวเป็นหลัก รวมทั้งควบคุมกระบวนการอย่างเช่นการขับ การทำงานของระบบต่อม และกระบวนการฟื้นฟูและเสริมสร้างที่เกิดขึ้นในร่างกายโดยที่เราไม่ทราบหรือไม่รู้สึกตัว

ระบบประสาท/การรับรู้นั้นตรงกันข้าม คือ ถูก “อีโก” กับ “แอสทรัล” ควบคุมอยู่ “อีโก” กับ “แอสทรัล” ควบคุมกระบวนการที่อยู่ในจิตสำนึก ได้แก่ การคิด การสำเหนียกและการรับรู้สภาวะของตนเอง มันควบคุมร่างกายในตอนกลางวัน แต่ในตอนกลางคืน ก็ปล่อยให้ระบบการย่อย/การเคลื่อนไหวเข้ามารับช่วง ทำให้ร่างที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสียหายที่เกิดขึ้นในตอนกลางวันเพราะกิจกรรมในยามหลับของแอสทรัลและอีโก

ระบบจังหวะก่อตัวขึ้นด้วยการสลับกันของอีกสองระบบที่กล่าวมาแล้ว และควบคุมกระบวนการอย่างเช่น การหมุนเวียนโลหิตและการหายใจ สไตน์เนอร์เชื่อว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมทั้ง 2 ประเภท เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันจะดำเนินไปจนถึงเวลาตาย สุขภาพที่ดีเป็นสัญลักษณ์ที่บอกถึงความสมดุลชั่วคราวระหว่างสองภาวะ แต่ความสมดุลนี้ไม่อาจจะดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมันจะทำให้บุคคลนั้นหยุดพัฒนา แพทย์แผนแอนโธรโพโซฟีเชื่อว่า จะทำให้บุคคลสามารถเริ่มเข้ารับผิดชอบต่อการพัฒนาตนเองและต่อครรลองของชีวิตของตนได้หากรับรู้ถึงกระบวนการที่ตรงกันข้ามกันนี้ ในบางกรณีกุญแจสำคัญที่ทำให้กระบวนการนี้เริ่มต้นขึ้นได้ก็คือความเจ็บไข้ได้ป่วย

หลักแอนโธรโพโซฟี ตั้งอยู่บนความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด ผู้ให้การบำบัดถือว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วยทุกชนิดต่างมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าที่ปรากฏ คือ มีแง่มุมของชีวิตในอดีตชาติ หรือมีการตระเตรียมการสำหรับชิตในอนาคตหรือชาติหน้า รวมอยู่ด้วย โดยไม่เคยมองว่ามันเป็นเพียงปัญหาทางร่างกายธรรมดาๆ

วิธีการช่วยเหลือคนไข้ในแบบการแพทย์แผนแอนโธรโพโวฟี มีอยู่ด้วยกันหลายแบบและกว้างขวาง ซึ่งอาจใช้ตามแบบเฉพาะของแอนโธรโพโซฟีเอง และการแพทย์แนวธรรมชาติ หรือ “นอกระบบ” แบบอื่นๆ นับตั้งแต่การใช้สมุนไพร ใช้หลักโฮมีโอพาธี รวมทั้งการแพทย์ในระบบของแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น การใช้ยา หรือการผ่าตัด

วิธีการที่เป็นแบบเฉพาะของเทคนิคนี้มีอยู่หลายแบบ มีทั้งที่เป็นวิธีของสไตน์เนอร์เอง และที่สาวกของเขาพัฒนาขึ้นมา รวมทั้งวิธีใหม่ๆ ที่ได้พัฒนาเพิ่มเติมกันมาเรื่อยๆ

สิ่งที่นำมาใช้เป็นยา ซึ่งคิดว่าจะต้านความสมดุลของโรคบางอย่าง ได้แก่ สารจากแร่ธาตุ พืชและสัตว์

สไตน์เนอร์เชื่อว่า แง่มุมต่างๆ ของสุขภาพร่างกายมีสารตามธรรมชาติบางอย่างเกี่ยวข้องอยู่ ซึ่งตรงกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น โลหะ 7 ชนิด (ตะกั่ว ดีบุก เหล็ก ทอง ทองแดง ปรอท และเงิน) ดังนั้น แพทย์แผนแอนโธรโพโซฟีก็อาจจะสั่งยารับประทาน และยาทาตามแผนโฮมีโอพาธี เช่น ยาที่ทำจากดีบุกให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาที่ไต หรือสั่งยาที่ทำจากทองแดงเพื่อกำกับควบคุมการทำงานอย่างถูกต้องของไต เป็นต้น

เพื่อปรับปรุงการหมุนเวียนโลหิตหรือทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสังขารอย่างเช่น มะเร็ง มัลติเพิล สเคลอโรซิส(multiple sclerosis) หรือเบาหวาน ก็ได้นำเอาน้ำมันสกัดจากพืชต่างๆ มาใช้

รูดอลฟ์ สไตน์เนอร์ ได้คิดการรักษาอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า ยูริธมี(Eurhythmy)ขึ้นมา ซึ่งเป็นระบบการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นจังหวะจะโคนโดยประสามนกับคำพูดที่มีจังหวะสอดคล้องกัน เนื่องจากเสียงสระและพยัญชนะต่างก็มีลักษณะการเคลื่อนไหวตามแบบของมันเอง

การแพทย์แผนนี้ มีหลักในการแบ่งโรคภัยไข้เจ็บออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่มีไข้หรือมีการอักเสบที่มักจะเป็นกันมากในวัยเด็ก กับกลุ่มที่มีโรคเกี่ยวข้องกับความเสื่อมหรือการแข็งตัว ซึ่งมักจะเกิดกับผู้สูงอายุ

เชื่อกันว่า เมื่อระบบการย่อย/เคลื่อนไหวเข้มแข็งมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดความร้อนขึ้นและมีผลในเชิงทำละลายแก่ร่างกาย จึงทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบขึ้น เช่น หัด สุกใส ที่เชื่อกันว่าจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของเด็กและป้องกันกระบวนการชราวัยมิให้เกิดขึ้นเร็วเกินไปนัก แพทย์แผนแอนโธรโพโซฟี จึงมิได้พยายามลดไข้ให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเสมอไปก็เพราะเหตุนี้

โรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของสังขารร่างกายนั้นเกิดขึ้นมาจากอิทธิพลการแข็งตัวและการหดตัวของแอสทรัส หรืออีโก ส่งผลต่อระบบประสาท/การรับรู้ โรคเหล่านี้ได้แก่ มะเร็ง การแข็งของเส้นโลหิต และโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมักจะมีควบคู่มากับอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย และอุณหภูมิในร่างกายต่ำ โดยแพทย์แผนนี้เชื่อว่า อาการเหล่านี้มีสาเหตุเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานในชีวิตของผู้ป่วย

ในศตวรรษที่ 20 ลักษณะของความเจ็บไข้ได้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงมาก โดยที่โรคเกี่ยวกับการอักเสบมีน้อยลง แต่อาการเกี่ยวกับความเสื่อมกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เนื่องจากในการศึกษาและสังคมมีการเน้นในเรื่องภูมิปัญญา และเรื่องวัตถุกันมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเสริมพลังแอสทรัลและพลังอีโก ในขณะเดียวกันก็ทำให้พลังการเยียวยาของร่างทั้งที่มีและไม่มีตัวตน ทั้งของคนและของโลกโดยรวมลดน้อยถอยลงไป ผลก็คือ มนุษยชาติกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติ และเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์เอง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณาถึงโรคภัยไข้เจ็บและสุขภาพในแบบใหม่

เกี่ยวกับการแพทย์แผนแอนโธรโพโซฟี และผู้ให้การบำบัดในด้านนี้ สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก สมาคมรูดอล์ฟ สไตน์เนอร์ ในออสเตรเลีย ตามที่อยู่ดังนี้
Rudolph Steiner Society Ltd.,
307 Sussex Street, Sydney
NSW 2000
Australia.

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า