สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การแพทย์แผนออสทีโอพาธี(Osteopathy)

เป็นระบบการดูแลสุขภาพที่ประสานการนวดเข้ากับการแพทย์ในแนวรักษาตามอาการ หรือการแพทย์ประเภทที่อยู่ภายในระบบของการแพทย์แผนปัจจุบัน เน้นที่ความสัมพันธ์ของโครงสร้างของร่างกายกับหน้าที่ของร่างกาย การแพทย์แผนนี้มุ่งประเด็นไปที่การรักษาตัวบุคคล มิใช่รักษาเพียงแค่โรค

คำว่า “ออสทีโอพาธี”(Osteopathy) ได้มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า ออสทีออน(osteon)ซึ่งแปลว่า “กระดูก” และพาธอส(pathos) ซึ่งแปลว่า “ความรู้สึก” ในปี ค.ศ.1874 นายแพทย์แอนดรูว์ เทย์เลอร์ สทิล(Andrew Taylor Still) เป็นผู้ที่ได้พัฒนาการแพทย์แผนออสทีโอพาธี ขึ้นมา สทิลเกิดในปี ค.ศ.1828 ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา มารดาเป็นชาวสก็อต และบิดาเป็นลูกครึ่งอังกฤษ-เยอรมัน เขาทำงานอยู่ในกองทัพของฝ่ายยูเนียนในช่วงสงครามกลางเมือง ในตำแหน่งศัลยแพทย์

สทิลเป็นผู้ที่เรียนรู้จากธรรมชาติเสมอมา เขาปักใจเชื่อว่า ร่างกายเป็นกลไกที่สมบูรณ์ซึ่งทำงานได้อย่างราบรื่นหากไม่มีอะไรมาขัดขวาง เขาไม่พอใจกับประสิทธิผลของการแพทย์ในสมัยศตวรรษที่ 19 และการใช้ยาในการเยียวยารักษาโรค รวมทั้งวิธีการอื่นๆ ด้วย

นายแพทย์สทิลยืนยันว่า แพทย์ทั้งหลายต่างมองเห็นผลที่เกิดจากโรคอยู่แล้ว และจะต้องหาสาเหตุของมันเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของคนไข้ เพราะโรคภัยไข้เจ็บทุกอย่างมีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ และผล อยู่

ความสัมพันธ์ของโครงกระดูกกับเนื้อเยื่อต่างๆ ชักนำให้เขาเชื่อว่า การทำงานของร่างกายถูกกำหนดมาจากโครงสร้างของมัน หากโครงสร้างเกิดบิดเบี้ยวขึ้นมา ร่างกายส่วนอื่นๆ ก็จะทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

นายแพทย์สทิลทำงานเป็นหมอดัดกระดูก หรือคนจัดกระดูก(bonesetter) มาเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว และได้เปิดคลินิกขึ้นที่เคิร์คสวิล(Kirksvill) ในรัฐมิสซูรี ในปี ค.ศ.1887 เขาได้สอนศิลปะนี้ให้กับลูกชายทั้ง 4 คนของเขา และได้ก่อตั้งสภาบันออสทีโอพาธีของอเมริกันขึ้นมาในปี ค.ศ.1892

นายแพทย์สทิล เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่อง “ความสบายดี”(wellness) เพื่อช่วยคนไข้ในการพัฒนาสไตล์การดำเนินชีวิตอย่างที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั้งหลาย หลักการออกกำลังกาย กับอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมจะทำให้เรื่องนี้สำเร็จขึ้นได้ ปรัชญานี้เป็นพื้นฐานของวิชาชีพออสทีโอพาธีมานานกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว

แพทย์แผนออสทีโอพาธี หรือที่ใช้อักษรย่อว่า ดีโฮ (ย่อมาจาก Doctor of Osteopathy) ทุกวันนี้ จะต้องเรียนจบได้ปริญญาเอ็มดี(M.D. หรือ พ.บ. หรือแพทย์ศาสตร์บัณฑิต) ต้องผ่านการเรียนการฝึกทำนองเดียวกับแพทย์แผนปัจจุบันทั่วไป ประกอบด้วยการเรียนตามหลักสูตรแพทย์ระดับปริญญาตรี 4 ปี เป็นแพทย์ฝึกหัด 1 ปี กับโปรแกรมการเป็นแพทย์ประจำบ้านในสาขาเฉพาะทางตามแต่จะเลือกอีก 2-6 ปี

แพทย์แผนออสทีโอพาธี จะรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ และรักษาทั้งคนไม่ใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือเฉพาะอาการที่ปรากฏ ซึ่งเป็นการยึดมั่นอุดมคติของฮิปโปเครตีส ในเรื่องการแพทย์โดยมีการพิจารณาแบบองค์รวม และแพทย์แผนนี้จะมีการพิจารณาเลยไปถึงภาวะทางอารมณ์ และความคิดจิตใจของคนไข้ รวมทั้งระบบกล้ามเนื้อ-โครงกระดูกด้วย คือเป็นการรักษาที่สภาพอาการที่ก่อให้เกิดโรคทั้งภายในและภายนอก

การกระตุ้นความสามารถตามธรรมชาติของบุคคลเพื่อที่จะรักษาเยียวยา หรือทำให้กลับไปสู่สภาพของความมีสุขภาพที่ดีที่สุด คือการรักษาในแบบของแพทย์แผนออสทีโอพาธี แพทย์แผนนี้ยังสามารถรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของคนไข้ได้ด้วยการสั่งยา ให้การผ่าตัด ใช้วิธีการวินิจฉัยและการรักษาทุกอย่างที่เป็นที่ยอมรับกัน และที่ใช้กันอยู่ในการแพทย์สมัยใหม่ด้วย

ที่ระบบกล้ามเนื้อ-โครงกระดูก ซึ่งสะท้อนและส่งอิทธิพลถึงภาวะของอวัยวะและระบบอื่นๆ ทั้งหมดของร่างกาย การแพทย์แผนออสทีโอพาธีนี้จะเน้นเป็นพิเศษ แพทย์แผนนี้ยังใช้วิธีกายภาพบำบัด การนวดและการลูบคลำเบาๆ เพื่อเป็นการวินิจฉัยและรักษาโรคบางอย่างที่เกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น เนื้อเยื่อและข้อกระดูกสันหลังด้วย

โรคต่างๆ เหล่านี้รักษาด้วยการใช้กระบวนการต่างๆ หลายอย่าง การนวดที่ใช้ในการแพทย์แผนออสทีโอพาธี จะใช้คำว่า การระดมพลังเนื้อเยื่อนุ่ม หรือ soft-tissue mobilization เทคนิคการนวดระบายน้ำเหลืองก็ถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของของเหลวในระบบน้ำเหลืองด้วยเช่นเดียวกัน

มีการนวดอีก 2 แบบ ที่เป็นการนวดตามแบบแผนของออสทีโอพาธี คือ การบำบัดด้วยการนวดให้ตึงและต่อต้านความตึง หรือสเตรน-เคาน์เทอร์สเตรน เธราพี(Strain-Counterstrain Therapy) กับการนวดกะโหลกศีรษะ หรือ Cranio-Sacral Therapy

แพทย์แผนออสทีโอพาธี ที่ชื่อ ลอว์เรนซ์ โจนส์(Lawrence Jones) เป็นผู้ที่พัฒนาการนวดบำบัดแบบตึง-ต่อต้านความตึง หรือสเตรน-เคาน์เทอร์สเตรน เธราพี ขึ้นมา วิธีการนี้เป็นเทคนิคที่เกี่ยวกับประสาท-กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการระบุจุดทริกเกอร์ ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดความตึงและความคลายตัว สาเหตุของความเจ็บปวดที่มาจากจุดทริกเกอร์ก็สามารถบรรเทาได้ด้วยเทคนิคนี้ นายแพทย์จอห์น อี. อัพเลดเจอร์(John E. Upledger) คือผู้ที่ค้นพบวิธีการบำบัดรักษาแบบนวดกะโหลกศีรษะซึ่งเป็นระบบทางสรีระระบบหนึ่งในร่างกายมนุษย์ขึ้นมา โดยใช้เทคนิคการนวดที่อ่อนโยนไม่ทำให้ร่างกายบอบช้ำ เพื่อรักษาความไม่สมดุลที่รอยต่อของกะโหลกศีรษะ

ปัจจุบันในที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ มีสถาบันแพทย์ศาสตร์แนวออสทีโอพาธีตั้งอยู่ 15 แห่ง และคาดว่าในอนาคตจะมีแพทย์แผนออสทีโอพาธีที่รับรักษาโรคอยู่ในสหรัฐฯ มากกว่า 45,000 คน

มีองค์การอยู่ 2 แห่งในสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวแทนของการแพทย์แผนออสทีโอพาธี นั่นก็คือ American Osteopathic Association และ American Academy of Osteopathy

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า