สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เอดส์(AIDS)

โรคกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเอชไอวี ซึ่งอยู่ในกลุ่ม retrovirus เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะไปเจริญอยู่ในเม็ดเลือดขาว มีชื่อว่า “CD4 lymphocyte” เมื่อเม็ดเลือดขาวถูกทำลายก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงจึงเกิดมะเร็งบางชนิด และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่มีการติดเชื้อรุนแรงของโรคต่างๆ ขึ้น

ในอดีตผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงจากการรักษาโรคนี้ด้วยยาต้านไวรัส เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสและเสียชีวิตในเวลาไม่นาน แต่ในปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสความแรงสูง ที่มีการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกันตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป ซึ่งสามารถลดอัตราการตายลงได้มาก และลดการดำเนินของโรคที่จะกลายเป็นเอดส์เต็มขั้นในผู้ติดเชื้อลงได้อย่างได้ผล โดยยานี้ช่วยลดจำนวนเชื้อเอชไอวีลงและทำให้ CD4 lymphocyte เพิ่มมากขึ้นจนลดการติดเชื้อฉวยโอกาสทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งในปัจจุบันโรคเอดส์ที่เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งสามารถให้ยาควบคุมจนผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุยืนยาวได้

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งพบได้มากในเลือด น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่เชื้อได้โดย

1. ทางเพศสัมพันธ์ ทั้งในคนต่างเพศและเพศเดียวกัน

2.ทางเลือด โดยการถ่ายเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะที่มีเชื้อ ผลิตภัณฑ์ที่แปดเปื้อนเลือด หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น และอาจมีโอกาสแปดเปื้อนเลือดที่มีเชื้อได้จากการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อ การสัก การเจาะหู เป็นต้น แต่โอกาสติดโรคในกรณีเช่นนี้นั้นมักจะต้องเป็นแผลเปิดที่มีปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายเป็นจำนวนที่มากพอ

3. การติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อทารก โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อจากมารดามีประมาณ 20-50% ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ระยะอยู่ในครรภ์ ระยะคลอด และระยะเลี้ยงดูหลังคลอด

พบว่าโรคนี้จะไม่มีการติดต่อกันโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน การกินอาหาร และดื่มน้ำร่วมกัน การว่ายน้ำในสระ หรือเล่นกีฬาร่วมกัน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การอยู่ในห้องเรียน ห้องทำงาน ยานพาหนะ หรือการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ การสัมผัส โอบกอด การใช้ครัว ภาชนะเครื่องครัว จาน แก้ว หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน หรือการถูกยุงหรือแมลงกัด

เชื้อเอชไอวีจะมีการเพิ่มจำนวนเมื่อเข้าสู่ร่างกาย หลังจากติดเชื้อได้ 2-6 สัปดาห์จะสามารถแยกเชื้อไวรัสหรือตรวจพบสารก่อภูมิต้านทาน และหลังจากติดเชื้อได้ 3-12 สัปดาห์ มักจะตรวจพบสารภูมิต้านทาน

ผู้ที่ตรวจพบสารภูมิต้านทานในเลือดร้อยละ 90 จะมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในกระแสเลือด แม้จะไม่มีอาการอะไรเลยแต่ก็สามารถแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นได้

อาการ
มักจะมีการเปลี่ยนของร่างกายแตกต่างกันไปในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละคน ซึ่งสามารถแบ่งโรคนี้ออกได้เป็น 4 ระยะ คือ

1. ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี (primary HIV infection หรือ acute retroviral syndrome) ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 1-6 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อคือนับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเอชไอวีจนกระทั่งร่างกายเริ่มสร้างสารภูมิต้านทาน ระยะนี้ผู้ป่วยมักจะมีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด มีฝ้าขาวในช่องปาก ซึ่งมักจะมีอาการอยู่นาน 1-2 สัปดาห์แล้วจะหายไปได้เอง ผู้ป่วยอาจซื้อยามากินเองหรือไม่ได้รับการตรวจเลือดแม้จะไปพบแพทย์แล้วเนื่องจากมักมีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้ทั่วๆ ไปจนอาจทำให้เข้าใจผิดได้ หรือบางรายมีการติดเชื้อแล้วแต่ไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติออกมาให้เห็นจึงมักไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค

ผู้ป่วยอาจมีอาการที่รุนแรงจากการติดเชื้อ เช่น อาการสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย และมักดำเนินโรคเข้าสู่ระยะเอดส์เต็มขั้นภายในเวลาสั้นๆ ในผู้ป่วยที่มีอาการอยู่นานหรือรุนแรง และอาจเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ถ้ามีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

2. ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ป่วยมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไปหากมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการหรือมีเพียงเล็กน้อยชั่วขณะ แต่สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ และเมื่อตรวจเลือดก็จะพบเชื้อเอชไอวีและสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้ ในระยะนี้เชื้อเอชไอวีจะแบ่งตัวเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ และทำลาย CD4 จนมีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 50-75 เซลล์/ลบ.มม. จากระดับปกติแม้จะไม่มีอาการแสดงใดๆ ให้เห็นในช่วงนี้ และมักทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเมื่อลดต่ำลงมากๆ ซึ่งอัตราการลดของ CD4 จะเร็วหรือช้ามักขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ และสภาพระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ซึ่งอาจใช้เวลาในระยะนี้อยู่นาน 5-10 ปี หรือมากกว่าก็ได้ หรืออาจเพียงแค่ 2-3 เดือนในบางราย

3. ระยะติดเชื้อที่มีอาการ อาการของผู้ป่วยจะมีมากน้อยมักขึ้นอยู่กับจำนวนของ CD4 ดังนี้

ก. อาการเล็กน้อย เมื่อตรวจ CD4 จะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์/ลบ.มม. ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้

-ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย

-โรคเชื้อราที่เล็บ

-แผลอัฟทัส

-ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก

-ฝ้าขาวที่ลิ้นที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีบีวี มักพบเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้นและขูดไม่ออก

-โรคโซริอาซิส ที่เคยเป็นอยู่เดิมมีการกำเริบ

ข. อาการปานกลาง เมื่อตรวจ CD4 จะพบมีจำนวนระหว่าง 200-500 เซลล์/ลบ.มม. อาจมีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปากแบบข้อ ก. หรือไม่ก็ได้ แต่อาการที่อาจพบได้ เช่น

-เริมบริเวณริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ มีอาการกำเริบบ่อย และมักเป็นแผลเรื้อรัง

-งูสวัด มักมีอาการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 แห่ง

-โรคเชื้อราในช่องปาก หรือช่องคลอด

-ท้องเดินบ่อย หรือมีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน

-มีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส อาจเป็นแบบเป็นๆ หายๆ หรือเป็นติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน

-บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ อาจพบมีต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 แห่ง ซึ่งมีอาการอยู่นานเกิน 3 เดือน

-น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุเกินกว่าร้อยละ 10

-มีอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ

-เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง

-เป็นปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่มักเป็นซ้ำได้บ่อย

4. ระยะป่วยเป็นเอดส์ ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยจะเสื่อมลงอย่างเต็มที่ในระยะนี้ เมื่อตรวจ CD4 จะพบมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ซึ่งเป็นผลทำให้เชื้อโรคต่างๆ ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว วัณโรค เป็นต้น ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อที่รักษาได้ค่อนข้างยาก อาจติดเชื้อเดิมซ้ำ หรือติดเชื้อชนิดใหม่ หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกันก็ได้ และมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้

-ตอนกลางคืนจะมีเหงื่อออกมาก

-มีไข้ หนาวสั่น หรือไข้สูงเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน

-จากภาวะวัณโรคปอด หรือปอดอักเสบ จึงอาจทำให้มีอาการไอเรื้อรัง หรือหายใจหอบเหนื่อย

-จากเชื้อราหรือโปรโตซัว อาจทำให้มีอาการท้องเดินเรื้อรัง

-มีน้ำหนักลด ผอมแห้ง อ่อนเปลี้ยเพลียแรง

-จากการติดเชื้อในสมองอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติ

-มีอาการแขนขาชา หรืออ่อนแรง
-ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

-เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อราอาจทำให้กลืนลำบาก หรือเจ็บเวลากลืน

-จอตาอักเสบ จนทำให้สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด หรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปมา

-มีอาการตกขาวบ่อย

-มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง

-ภาวะซีด

-จากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือไอทีพี อาจทำให้มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออก

-เนื่องจากความผิดปกติของสมองจึงทำให้เกิดอาการสับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม

-มีอาการของโรคมะเร็งแทรกซ้อน เช่น มะเร็งผนังหลอดเลือด ที่เรียกว่า Kaposi’s sarcoma มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

ในเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจมีอาการน้ำหนักตัวไม่ได้ตามเกณฑ์ในระยะแรก และต่อมาอาจมีอาการเดินลำบากหรือพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติเมื่อโรคลุกลามมากขึ้น และจะมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสเช่นเดียวกับผู้ใหญ่เมื่อเป็นเอดส์เต็มขั้น และมักมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติถ้าเป็นโรคที่พบทั่วไปในเด็ก เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ
มักจะตรวจพบว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ไข้ ซูบผอม ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่ง ซึ่งมักเป็นที่บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ มีภาวะซีด จุดแดง จ้ำเขียว เป็นต้น เกิดขึ้นในระยะที่มีอาการป่วยเป็นเอดส์แล้ว

อาจพบว่าผู้ป่วยมีอาการลิ้นหรือช่องปากเป็นฝ้าขาวจากเชื้อราแคนดิดา รอยฝ้าขาวข้างลิ้น แผลเริมเรื้อรัง แผลแอฟทัส ปากเปื่อย ก้อนเนื้องอก เป็นต้น หรืออาจพบวงผื่นของโรคเชื้อราลุกลามเป็นบริเวณกว้างและเรื้อรัง เริม งูสวัด แผลเรื้อรัง พุพอง ก้อนเนื้องอก หูดข้าวสุก ผื่นหรือตุ่มสีน้ำตาล สีแดง หรือสีม่วง ตุ่มหนองหรือตุ่มคล้ายหูดข้าวสุก ขึ้นกระจายทั่วไปบริเวณผิวหนังจากเชื้อราเพนิซิลเลียมมาร์เนฟไฟ (Penicillium marneffei) มีผิวหนังแห้ง คันเป็นเกล็ดขาว เป็นตุ่มคัน เป็นต้น หรืออาจมีอาการหายใจหอบ ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบในรายที่เป็นปอดอักเสบ หรืออาจมีอาการซึม เพ้อ ชัก หมดสติ ในรายที่เป็นโรคติดเชื้อของสมอง หรือตรวจพบอาการคอแข็งถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือจากไขสันหลังอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ ข้ออักเสบบวมแดงร้อน อาจตรวจพบว่ามีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง หรือจากโรคไตทำให้เกิดอาการบวม หรือจากตับอักเสบทำให้มีภาวะดีซ่านเกิดขึ้น เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ การติดเชื้อฉวยโอกาส อาจมีความรุนแรง และเป็นเหตุให้เสียชีวิต มักพบในผู้ป่วยเอดส์ที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของภาวะแทรกซ้อนมากกว่าอาการของโรคเอดส์เอง

โรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่มักพบได้บ่อย เช่น

-วัณโรคปอด วัณโรคต่อมน้ำเหลือง วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง วัณโรคเยื่อหุ้มปอด วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ วัณโรคชนิดแพร่กระจาย ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงและดื้อต่อยารักษาวัณโรคหลายชนิด

-ปอดอักเสบ จากเชื้อรา นิวโมซิสติสจิโรเวซิ (Pneumocystis jiroveci) เรียกว่า “ปอดอักเสบจากนิวโมซิสติส(pneumocystis pneumonia/PCP)”

-เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อราคริปโตค็อกคัส มักพบในผู้ป่วยเอดส์ที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 50 เซลล์/ลบ. มม.

-หลอดอาหารอักเสบจากเชื้อราแคนดิดา ทำให้กลืนลำบาก เจ็บเวลากลืน มีอาการเจ็บบริเวณหลังกระดูกลิ้นปี่ และมีโรคเชื้อราในช่องปากร่วมด้วย หรืออาจพบหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบจากเชื้อแคนดิดา

-ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียทั่วไป ใน 1 ปี มักจะเป็นมากกว่า 1 ครั้ง

-โรคติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นๆ เช่น จอตาอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (cytomegalovirus/CMV retinitis ทำให้สายตามัว อาจรุนแรงถึงตาบอดได้ และมักพบในผู้ป่วยที่มี CD4 ต่ำกว่า 50 เซลล์/ลบ.มม. หรือจากเชื้อซัลโมเนลลาทำให้ท้องเดินรุนแรง ตับอักเสบจากไวรัส อาจทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หรืออาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมองที่เรียกว่า “Progressive multifocal leukoencephalopathy” จากการติดเชื้อไวรัสโพลีโอมา ซึ่งทำให้มอาการพูดลำบาก ตาบอดข้างหนึ่ง แขนขาชาและอ่อนแรงซีกหนึ่ง ความจำเสื่อม หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium avium complex เชื้อโปรโตซัว-Toxoplasma gondii และเชื้อรา –Histoplasma capsulatum จนทำให้มีการติดเชื้อรุนแรงชนิดแพร่กระจายทั่วร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในผู้ป่วย เช่น
-มะเร็ง ที่พบได้บ่อย เช่น มะเร็งผนังหลอดเลือดที่มีชื่อว่า Kaposi’s sarcoma มะเร็งต่อมน้ำเหลืองกลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก

-ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและสมอง ที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะ AIDS dementia complex ซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อนทางสมองแต่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของสมองจากเชื้อเอชไอวีโดยตรง จึงทำให้มีอาการผิดปกติทางสมองและจิตประสาทซึ่งมักพบในผู้ป่วยเอดส์ระยะท้ายๆ เช่น ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย สับสน ขาดสมาธิ พูดลำบาก เคลื่อนไหวเชื่องช้า เดินเซ สั่น แขนขาเป็นอัมพาต กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ไร้อารมณ์ ซึม กระสับกระส่าย ฟุ้งพล่าน ไม่ยอมพูด ในปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยเอดส์จึงทำให้พบภาวะนี้ได้น้อยลง หรืออาจพบโรคไขสันหลังอักเสบ ปลายประสาทอักเสบเกิดขึ้นได้ด้วย

-น้ำหนักลดลงอย่างมากจนผอมแห้ง ไข้เรื้อรัง ท้องเดิน และอ่อนเพลียร่วมด้วย

-ภาวะโลหิตจาง

-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากไอทีพี

-ปวดข้อ ข้ออักเสบ

-ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

-ถุงน้ำดีอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

โรคไตเนโฟรติก ภาวะไตวายเรื้อรัง

การรักษา
1. ในรายที่มีความเสี่ยง ควรให้คำปรึกษาในการตรวจเลือดพิสูจน์บนพื้นฐานของความสมัครใจ และต้องรักษาความลับในกรณีตรวจพบเลือดบวก เช่น หญิงบริการ ผู้ที่ชอบเที่ยวหรือมีเพศสัมพันธ์เสรี ผู้ฉีดยาเสพติด แม่บ้านที่สามีมีพฤติกรรมเสี่ยง ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น

การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีทำได้ดังนี้
-การตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อเอชไอวีโดยวิธีอีไลซ่า(ELISA) เป็นการตรวจกรองขั้นต้น หลังติดเชื้อ 3-12 สัปดาห์มักจะตรวจพบสารภูมิต้านทาน และถ้าพบเลือดบวกต้องทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีอีไวซ่าที่ผลิตจากอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ซ้ำกับครั้งแรก หรืออาจตรวจด้วยวิธี particle agglutination test ถ้าให้ผลบวกก็สามารถวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าให้ผลลบก็ต้องตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยวิธีเวสเทิร์นบลอต (Western blot) ซึ่งหลังจากติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์มักจะให้ผลบวก 100%

-การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจน หลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ มักจะพบแอนติเจนด้วยการตรวจโดยวิธี PCR ถ้าตรวจเลือดแล้วพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีแน่ชัด แต่ไม่มีอาการก็ถือว่าเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการแต่เป็นพาหะ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำและวิธีปฏิบัติตัวเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

2. ในรายที่มีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นเอดส์ ควรส่งไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดหรือตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ในรายที่สงสัยจะเป็นวัณโรคปอดให้ทดสอบทูเบอร์คูลิน ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ หรือในรายที่สงสัยเป็นปอดอักเสบให้ตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอด หรือในรายที่สงสัยเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบให้เจาะหลัง หรือในรายที่สงสัยจะมีการติดเชื้อราแคนดิดาให้ตรวจดูทางเดินอาหาร หรือในรายที่สงสัยเป็นมะเร็งก็ให้ตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น

การตรวจยืนยันการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากการตรวจเลือดแล้วยังมีการตรวจนับ CD4 ทุก 3-6 เดือน และตรวจวัดปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดเป็นระยะ เพื่อใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรค การให้ยารักษา การดำเนินของโรค และเพื่อปรับวิธีในการรักษา ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

หลักการรักษาคร่าวๆ ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์

ก. ให้ยาต้านไวรัส ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี สามารถลดจำนวนของเชื้อเอชไอวี ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ชะลอการเกิดโรคเอดส์และลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยให้หายจากโรคแต่ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาวขึ้นได้

แพทย์มักจะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้
-ให้เมื่อมีอาการแสดงของโรคทั้งในระยะแรกเริ่มและระยะหลัง ซึ่งจะสามารถชะลอการดำเนินของโรคไม่ให้เข้าสู่ระยะที่รุนแรงได้จากการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก

-ให้เมื่อยังไม่มีอากรแสดง แต่ตรวจเลือดพบว่ามีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

-ให้เมื่อยังไม่มีอาการแสดง แต่มีค่า CD4 200-350 เซลล์/ลบ.มม. ซึ่งอาจพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่น ในรายที่มีเชื้อไวรัสปริมาณสูง มีอัตราการลดลงของ CD4 รวดเร็ว หรือความพร้อมของผู้ป่วย เป็นต้น

เพื่อป้องกันการดื้อยา หากกินยาต้านไวรัสอย่างไม่ต่อเนื่อง จึงควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบถึงความจำเป็นที่ต้องกินยาให้ตรงเวลาและต่อเนื่องทุกวัน และร่วมกันหามาตรการในการปฏิบัติให้กับผู้ป่วย

โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสความแรงสูงด้วยยาต้านไวรัส 3 ชนิดร่วมกัน เช่น GPO-vir S30, GPO-vir S40 เป็นต้น และจะทำการตรวจจำนวน CD4 และปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด 2 ครั้งเพื่อใช้เปรียบเทียบ
ก่อนให้ยา และทำการเจาะเลือดซ้ำหลังจากให้การรักษาแล้ว 4-8 สัปดาห์ ถ้าการรักษาได้ผลดีจะเจาะเลือดทุก 2-4 เดือน แต่อาจต้องเจาะถี่ขึ้นถ้ามีการลดลงของ CD4 หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนสูตรยาใหม่ถ้าพบว่าเชื้อดื้อยา

ควรติดตามดูผลข้างเคียงจากการใช้ยา ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หรืออาจทำให้กินยาได้ไม่ต่อเนื่อง

ผลข้างเคียงของยาแต่ละตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น

-Indinavir อาจทำให้เกิดนิ่วไต โรคกรดไหลย้อน

-Nelfinavir อาจทำให้ถ่ายเหลว ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาในสัปดาห์แรกๆ

-Ritonavir อาจทำให้เกิดอาการชารอบปาก และมีเอนไซม์ตับสูง

-Saquinavir อาจทำให้ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้น

ข. ให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่อาจพบได้บ่อย เช่น

-วัณโรค ให้ยารักษาวัณโรคตามที่ตรวจพบ แต่ไม่ควรใช้ยาวัณโรคที่มี ไรแฟมพิซินอยู่ เพราะจะทำให้ไปต้านฤทธิ์ยาต้านไวรัสกลุ่ม NNRTI และ PI แต่ถ้าใช้ยาสูตรที่มีไรแฟมพิซินก็ต้องใช้ยาต้านไวรัสกลุ่ม NRTI ล้วนๆ เพียงกลุ่มเดียว

ควรทำการทดสอบทูเบอร์คูลินในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีแต่ไม่มีอาการแสดงของวัณโรค และควรให้ยาไอเอ็นเอชกินป้องกันนานอย่างน้อย 12 เดือนหากพบว่ามีตุ่มขนาดมากกว่า 5 มม.ขึ้นไป

-ปอดอักเสบ จากเชื้อรา นิวโมซิสติสจิโรเวซิ ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตม็อกซาโซล กินหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ในขนาดของไตรเมโทพริม 15 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หรือให้เพนทาไมดีนฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 4 มก./กก./วัน หรือให้โคไตรม็อกซาโซล กินในขนาดของไตรเมโทรพริม 15 มก./กก./วัน ร่วมกับแดปโซน กินในขนาด 100 มก./วัน โดยให้ยาขนานใดขนานหนึ่งนาน 21 วัน

ควรให้ยาป้องกันโคไตรม็อกซาโซลวันละ 1-2 เม็ด หรือ 2 เม็ด 3วัน/สัปดาห์ หรอืแดปโซน 100 มก. ทุกวัน ในผู้ป่วยที่เคยเป็นปอดอักเสบ PCP มาก่อน หรือมีประวัติโรคเชื้อราในช่องปาก หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาส หรือมี CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. และโคไตรม็อกซาโซลยังสามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อท็อกโซพลาสมา ได้อีกด้วย

-เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตค็อกคัส ควรให้ยาฆ่าเชื้อราแอมโฟเทอริซินบี 0.7-1 มก./กก./วัน หยดเข้าหลอดเลือดดำช้าๆ นาน 14 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นฟลูโคนาโซล หรือไอทราโคนาโซล ขนาด 400 มก./วัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย หรือจนกระทั่งผลการเพาะเชื้อราในน้ำไขสันหลังให้ผลลบอย่างน้อย 2 ครั้ง ในระยะห่างกัน 1 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย และควรให้กินฟลูโคนาโซล 200 มก.ไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำถ้าให้การรักษาขั้นต้นหายแล้ว ยานี้ยังสามารถป้องกันโรคเชื้อราแคนดิดา ซึ่งมักจะให้ในรายที่มีการติดเชื้อราชนิดนี้บ่อยๆ

-โรคติดเชื้อราเพนิซิลเลียมมาร์เนฟไฟ ควรให้ไอทราโคนาโซลเพื่อการรักษาและป้องกัน

-โรคเริมที่ปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก ให้ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ ในการรักษา และอาจต้องให้กินติดต่อกันเป็นเวลานานถ้ามีอาการกำเริบบ่อยๆ

-ผู้ป่วยที่มีค่า CD4 ต่ำกว่า 50 เซลล์/ลบ.มม. เพื่อป้องกันการติดเชื้อ Mycobacterium avium complex แพทย์จะให้กินอะซิโทรไมซิน หรือคาริโทรไมซิน

ค. ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ทุก 5 ปีผู้ป่วยควรฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อปอดบวมหรือนิวโมค็อกคัส และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีถ้ายังไม่เคยฉีดมาก่อน

ง. ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ รู้สึกไม่มั่นคง จึงควรให้คำปรึกษาแนะแนวเพื่อเสริมสภาพจิตใจ ให้กำลังใจ ให้การสงเคราะห์ตามความจำเป็น หรือให้มีการเข้าร่วมกลุ่มเพื่อให้กำลังใจในกลุ่มผู้ป่วยด้วยกัน

ข้อแนะนำ
1. สำหรับผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีสุขภาพแข็งแรงเช่นคนทั่วไป สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางรายกว่าจะป่วยเป็นเอดส์อาจใช้เวลานาน 5-10 ปี หรืออาจจะแข็งแรงดีแม้จะติดเชื้อเกิน 10-15 ปีขึ้นไปแล้วในผู้ป่วยบางราย ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดงจึงควรปฏิบัติตัวดังนี้

-ไปพบแพทย์และตรวจเลือดเป็นระยะๆ ตามแพทย์แนะนำ และเมื่อมีค่า CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.ก็ให้กินยาต้านไวรัส ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานกว่า 10 ปีขึ้นไปจากการกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง และควรไปพบแพทย์ก่อนนัดหากสงสัยมีอาการข้างเคียงจากยาเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ยาโดยพยายามอย่าให้ขาดยา

-ทำงาน เรียนหนังสือ คบค้าสมาคมกับผู้อื่น และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะแพร่เชื้อให้คนอื่นโดยการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดหรือหายใจรดผู้อื่น

-หากมีความกังวลเป็นทุกข์ใจ ควรเล่าความในใจให้ญาติสนิทมิตรสหายฟัง หรือขอคำปรึกษาจากแพทย์พยาบาล นักจิตวิทยา หรืออาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชน

-เรียนรู้ธรรมชาติของโรค การรักษา การดูแลตนเอง จนมีความเข้าใจในโรคนี้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ไม่มีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และมีกำลังใจที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มีสุขภาพที่แข็งแรงได้ เพราะอาจเกิดโรครุมเร้าได้ถ้าเสียกำลังใจจนมีสุขภาพที่ทรุดโทรมลง

-ส่งเสริมสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติดต่างๆ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

-เสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยการฟังเพลง ร้องเพลง เล่นกีฬา อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ฝึกสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์หรือภาวนาตามลัทธิศาสนาที่นับถือ หมั่นทำความดีช่วยเหลือผู้อื่น สร้างบุญกุศล หรือเข้าร่วมกลุ่มเพื่อช่วยเพื่อนในหมู่ผู้ติดเชื้อด้วยกัน

-หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น โดย
*เมื่อมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และงดการร่วมเพศทางปากหรือทวารหนัก

*ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

*งดการบริจาคเลือดและอวัยวะต่างๆ เช่น ดวงตา ไต เป็นต้น

*ให้รีบทำความสะอาดและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีถ้าร่างกายเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง โดยนำไปแยกซักและตากให้แห้ง ควรระวังไม่ให้ผู้อื่นสัมผัสถูกเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ป่วย

*ไม่ใช้ของมีคม เช่น ใบมีดโกน ร่วมกับผู้อื่น

-หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ โดยใช้วิธีการคุมกำเนิดเพื่อป้องการรับเชื้อจากมารดาสู่เด็กในครรภ์

-มารดาที่มีการติดเชื้อ ไม่ควรเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง

2. สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นเอดส์ ควรปฏิบัติตัวดังนี้
-ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ โดยปรับให้เหมาะกับสภาพของร่างกาย เช่น ทำงานและออกกำลังกายแต่พอเหมาะ

-กินยาและรับการรักษาพยาบาลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ควรกินยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นคนปกติทั่วไป

-เมื่อมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน ควรป้องกันมิให้มีการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น เช่น

*เมื่อไอ หรือจาม ควรใช้กระดาษหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกด้วย

*ถ้วย ชาม จาน แก้วน้ำที่ใช้แล้ว ก่อนนำไปใช้ใหม่ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาล้างจานหรือลวกด้วยน้ำร้อน และทิ้งไว้ให้แห้งก่อน

*ควรระมัดระวังมิให้น้ำมูก น้ำลาย น้ำเหลืองจากแผล ปัสสาวะ และสิ่งขับถ่ายต่างๆ ไปเปรอะเปื้อนถูกผู้อื่น

*ควรมีภาชนะใส่ให้เป็นที่เป็นทางสำหรับการบ้วนน้ำลายหรือเสมหะ รวมทั้งการทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว และสามารถนำไปทิ้งหรือทำความสะอาดได้สะดวก

*ผู้ป่วยสามารถใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ควรระวังไม่ให้สิ่งขับถ่าย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ อาเจียน เป็นต้น เปรอะเปื้อนพื้นโถส้วม และอ่างล้างมือ ควรล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีส่วนผสมของคลอรอกซ์เป็นประจำ และหลังจากขับถ่ายควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

3. สำหรับญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรปฏิบัติดังนี้
-ควรศึกษาให้มีความรู้ความเข้าเกี่ยวกับโรคเอดส์อย่างถ่องแท้

-ให้กำลังใจ ดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความอบอุ่น เช่น การพูดคุย การสัมผัสโอบกอด และกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต้านไวรัสควรกินให้ตรงเวลาทุกวันอย่าได้ขาด

-ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสถูกโดยตรงหากผู้ป่วยมีบาดแผลหรือเปรอะเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลืองที่ร่างกายหรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย ถ้าจะสัมผัสให้ความถุงมือยาง หรือใช้ถุงพลาสติกที่ไม่มีรูรั่ว 2-3 ชั้น แทนก็ได้

-ไม่ต้องแยกซักต่างหากในกรณีที่เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยที่ไม่เปื้อนเลือดหรือน้ำเหลือง แต่ถ้าเปื้อนเลือดหรือน้ำเหลืองควรใช้ถุงมือยางจับต้องและนำไปแช่ในน้ำผสมผงซักฟอกขาวประมาณ 30 นาทีเสียก่อน แล้วจึงค่อยซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ

-ทุกคนสามารถใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม ร่วมกับผู้ป่วยได้ แต่ควรสวมถุงมือแล้วใช้น้ำยาล้างห้องน้ำทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อเสียก่อน

-ไม่จำเป็นต้องแยกเครื่องครัว ถ้วย จาน ชาม ช้อน ส้อม กับผู้ป่วย และควรใช้ช้อนกลางทุกครั้งในการกินอาหารร่วมสำรับกัน เพื่อการมีสุขอนามัยที่ดี

4. การป้องกันโรคนี้อยู่ที่การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเป็นสำคัญ เพราะปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ยังอยู่ในขั้นศึกษาทดลองอยู่

5. การบริจาคเลือดที่คลังเลือด ไม่มีโอกาสจะติดเชื้อเอชไอวีจากการปนเปื้อนเลือดของผู้อื่น เพราะเจ้าหน้าที่จะใช้อุปกรณ์ชุดใหม่ทุกครั้ง

6. ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการใช้สมุนไพรรักษาโรคเอดส์จะได้ผลหรือทำให้หายจากโรคได้จริง หากจะใช้ควรศึกษาให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีโทษและราคาไม่แพงจนเกินไป ซึ่งบางครั้งอาจจะช่วยบรรเทาอาการให้สุขสบาย ช่วยเสริมสร้างกำลังใจและช่วยให้สุขภาพทั่วไปดีขึ้นชั่วขณะเท่านั้น

7. ควรตรวจเลือดพิสูจน์ในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หากมีอาการไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโตคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีอาการเป็นหวัด หรือน้ำมูกไหล เพราะอาจเป็นการติดเชื้อในระยะเริ่มแรกก็ได้ การได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่แรกๆ ที่พบโรค รวมทั้งการให้ยาต้านไวรัสจะมีส่วนช่วยชะลอไม่ให้โรคดำเนินสู่ระยะรุนแรงมากขึ้นได้

การป้องกัน
สำหรับประชาชนทั่วไป
-ควรยึดมั่นต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่มิใช่คู่ครอง

-หญิงบริการ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์เสรี หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ควรใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

-ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมาเพราะอาจชักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยได้

-ควรใส่ถุงมือยางหรือถุงพลาสติก 2-3 ชั้น เมื่อต้องสัมผัสถูกเลือดของผู้อื่น เช่น ขณะช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลเลือดออก ไม่ควรสัมผัสถูกเลือดโดยตรง

-ไม่ควรใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

-ไม่ควรใช้ของมีคม เช่น มีดโกน ร่วมกับผู้อื่น หรืออาจทำลายเชื้อด้วยการแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น แอลกอฮอล์ 70% โพวิโดนไอโอดีน 2.5% ทิงเจอร์ไอโอดีน ไลซอล 0.5-3% โซเดียมไฮโพคลอไรด์ 0.1-0.5% ควรใช้เวลานาน 10-20 นาทีในการฆ่าเชื้อ

-ควรปรึกษาแพทย์ในการตรวจเช็กโรคเอดส์ก่อนแต่งงาน เพื่อป้องกันมิให้มีการติดเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง

-ควรคุมกำเนิดและป้องกันการแพร่เชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งในคู่สมรสที่มีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ

-หญิงตั้งครรภ์ ที่ตัวเองหรือคู่สมรสมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือดตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสถ้าพบว่ามีการติดเชื้อ เพื่อลดการติดเชื้อของทารกในครรภ์

-เพื่อป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การเที่ยวหญิงบริการ การติดยาเสพติด เป็นต้น ควรมีมาตรการระยะยาวในการรณรงค์ให้เกิดค่านิยมใหม่และสร้างครอบครัวที่อบอุ่นขึ้น

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากผู้ป่วย ควรมีมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมถุงมือ การใช้ผ้าปิดจมูกหรือหน้ากาก การใส่เสื้อคลุม หรือการใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เมื่อต้องปฏิบัติงานที่มีโอกาสสัมผัสถูกเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่ง หรือสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วยทุกคน

ควรรีบตรวจเลือดโดยเร็วหากถูกเข็มที่ใช้กับผู้ป่วยแล้วตำ และควรตรวจซ้ำในระยะ 3 เดือน และ 6 เดือนต่อมา หรือควรให้ผู้ที่ถูกเข็มตำกินยาป้องกันโดยเร็วที่สุด โดยการใช้ยาต้านไวรัส 3 ตัวร่วมกัน นาน 4 สัปดาห์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติการติดเชื้อเอชไอวีชัดเจนหรือตรวจเลือดผู้ป่วยพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า