สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เวียนศีรษะ(Dizziness) บ้านหมุน(Vertigo)

เป็นอาการวิงเวียนศีรษะตื้อๆ โหวงๆ รู้สึกโคลงเคลง หน้ามืดตาลายเหมือนจะเป็นลม รู้สึกเหมือนบ้านหมุน สิ่งรอบข้างหมุน อาการบ้านหมุนอาจเป็นเพียงช่วยสั้นๆ เป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือสัปดาห์ก็ได้ พบอาการเหล่านี้ได้บ่อยในคนทุกวัย พบมากในผู้สูงอายุ มีสาเหตุและความรุนแรงที่แตกต่างกันไปเวียนศีรษะ

สาเหตุ
การเคลื่อนไหวและการทรงตัวของร่างกายจะเป็นปกติได้ ต้องอาศัยการทำหน้าที่ที่เป็นปกติและประสานงานได้ดีของ ตา ประสาทการรับรู้ที่ผิวหนัง กล้ามเนื้อและข้อ หูชั้นใน และสมอง ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดบกพร่องก็จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนได้ สาเหตุของโรคแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

1. บ้านหมุน มักเกิดจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถ เมารถเมาเรือ หรือไมเกรน ส่วนสาเหตุอื่นที่พบได้ เช่น หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ โรคเมเนียส์ เนื้องอกประสาทหู เนื้องอกสมอง โรคหลอดเลือดสมอง ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ กระดูกคอเสื่อม จากการใช้ยา การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

2. หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม มักเกิดจากความดันตกในท่ายืน ภาวะซีดจากสาเหตุต่างๆ ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่พอ ความหิว อยู่ในที่แออัด การตั้งครรภ์ การลุกขึ้นเร็วๆ ภาวะขาดน้ำ

ที่อาจพบได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น หัวใจวาย โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจพิการ ภาวะตกเลือด การสูบบุหรี่ น้ำตาลในเลือดต่ำ ผลข้างเคียงจากยา เป็นต้น

3. โคลงเคลง คล้ายทรงตัวไม่อยู่ มักเกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยานอนหลับ ยาโรคลมชัก ยากล่อมประสาท หรือสาเหตุอื่นที่อาจพบได้ เช่น โรคเกี่ยวกับสมองน้อย เนื้องอกสมอง ความผิดปกติของหูชั้นใน โรคพาร์กินสัน ปลายประสาทอักเสบ ในผู้สูงอายุอาจเกิดจากภาวะสูญเสียการทรงตัวเนื่องจากความเสื่อมของอวัยวะที่เกี่ยวกับการทรงตัว เช่น สายตามัวหรือเลือนรางจากต้อกระจกหรือต้อหิน หูชั้นในและเซลล์ประสาทหูเสื่อม เซลล์สมองเสื่อม ปลายประสาทเสื่อม ข้อเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น อาการมักเป็นปกติในท่านอน นั่ง หรือยืนอยู่เฉยๆ แต่จะรู้สึกโคลงเคลง เดินเซ หรือหกล้ม เมื่อเคลื่อนไหวจะเดิน ถ้าเดินในทางที่ไม่คุ้นเคย ทางขรุขระ ทางที่สลัวๆ จะมีอาการเป็นมากกว่า

4. ศีรษะตื้อหรือโหวงๆ มักเกิดจากโรคทางจิตประสาท เช่น โรคกังวล โรคซึมเศร้า กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน

ภาวะแทรกซ้อน
อาจหกล้มบาดเจ็บ เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคสาเหตุของอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน

การรักษา
1. ถ้าสงสัยว่าจะเกิดจากภาวะฉุกเฉิน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะช็อก โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะตกเลือดรุนแรง เป็นต้น ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล

2. เมื่อมีอาการข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ควรตรวจหาสาเหตุโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
-อาเจียนรุนแรง กินอาหารไม่ได้ เกิดภาวะขาดน้ำ
-ใบหน้าชา เป็นอัมพาตครึ่งซีก
-เดินเซ ซึม ชัก คอแข็ง หรือรูม่านตาไม่เท่ากัน
-มีอาการชาหรือปวดเสียวลงแขนข้างหนึ่ง
-ปวดแน่นลิ้นปี่ร้าวไปขากรรไกร คอหรือแขน
-ชีพจรเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
-ฟังหัวใจมีเสียงฟู่
-เป็นๆ หายๆ บ่อย มีอาการนานเกิน 1 สัปดาห์

3. หากไม่มีอาการใดๆ ให้รักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น บ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า ไมเกรน เมารถเมาเรือ ความดันตกในท่ายืน น้ำตาลในเลือดต่ำ โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก การตั้งครรภ์ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น

4. หากไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน และมีอาการเพียงเล็กน้อยให้รักษาตามอาการดังนี้
-ให้นั่งท่าคอตรง อย่าเคลื่อนศีรษะในทิศทางที่ทำให้เกิดอาการขณะบ้านหมุน
-ให้รีบนั่งหรือนอนลงในขณะมีอาการหน้ามืดจะเป็นลม ถ้าจะลุกให้ลุกขึ้นนั่งหรือยืนช้าๆ
-ให้ใช้ไม้เท้า อุปกรณ์ช่วยเดิน หรือที่เกาะเดินขณะมีอาการโคลงเคลง
-ให้กินหรือฉีดไดเมนไฮดริเนตเมื่อมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
-ให้ไดอะซีแพม หากเครียดหรือนอนไม่หลับ
-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ อย่าปล่อยให้หิว งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ

5. ในรายที่มีอาการหูตึงหรือมีเสียงดังในหูแพทย์จะทำการทดสอบการได้ยิน คือ การทดสอบดิกซ์ฮอล์ไพก์ ในรายที่มีอาการบ้านหมุน ในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติทางสมอง มักจะตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดหรือภาวะซีด ตรวจคลื่นหัวใจ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และให้การรักษาตามอาการของสาเหตุที่พบ

หากมีอาการเวียนศีรษะรุนแรง ควรนอนพักจนกว่าจะทุเลา หลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร จนกว่าจะหายดี

ข้อแนะนำ
1. ควรซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยให้ละเอียดแม้โรคนี้จะไม่มีอันตรายร้ายแรง เพื่อค้นหาสาเหตุให้แน่ชัดและให้การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

2. อาการหน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืนมักเกิดจากร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า นอนไม่พอ ความเครียด ความดันต่ำทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวล หากการวัดความดันในท่ายืนเทียบกับท่านอนแล้วไม่พบว่าเป็นความดันตกในท่ายืน ภาวะนี้ก็ไม่มีอันตราย ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา เพียงแต่พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด หมั่นออกกำลังกาย แล้วอาการจะทุเลาไปเอง ภาวะความดันต่ำในลักษณะนี้อาจมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่มีภาวะความดันสูง

3. ภาวะสูญเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ ควรตรวจหาโรคที่เป็นสาเหตุซึ่งมักมีมากกว่า 1 อย่างเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม ต้อกระจก เป็นต้น และให้รักษาตามอาการ หากไม่สามารถแก้ไขอาการโคลงเคลงได้ผู้ป่วยควรยอมรับและปรับตัว ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเพื่อไม่ให้หกล้ม ปรับสภาพแวดล้อมที่อาศัยให้ปลอดภัย มีแสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า