สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เริม(Herpes simplex)

เป็นภาวะที่ผิวหนังและเยื่อเมือกต่างๆ มีลักษณะพุขึ้นเป็นตุ่มเล็กๆ ใสๆ แล้วแตกเป็นแผลตกสะเก็ด ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มักจะหายไปได้เองแต่จะมีอาการเป็นๆ หายๆ กำเริบซ้ำได้บ่อย พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงในการติดเชื้อเริม แต่สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ และมักเริ่มติดเชื้อครั้งแรกตั้งแต่วัยเด็กเริม

มักมีอาการกำเริบได้บ่อยและรุนแรงกว่าปกติ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจมีอาการรุนแรงจนเชื้อสามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ และเสียชีวิตได้ในทารกและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริม หรือเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์(herpes simplex virus/HSV) ซึ่งมี 2 ชนิด คือ ไวรัสเริมชนิดที่ 1 กับไวรัสเริมชนิดที่ 2 เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้มักทำให้เกิดการติดเชื้อทั้งบริเวณผิวหนัง ช่องปาก อวัยวะเพศ และเยื่อเมือกต่างๆ จากการสัมผัสโดยตรง จากผิวหนังที่มีรอยถลอก หรือทางเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก องคชาต ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก จึงมีโอกาสติดเชื้อเริมได้ง่ายในผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกัน เช่น เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน สามีภรรยา สมาชิกในครอบครัว เป็นต้น

โรคเริมที่อวัยวะเพศถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการเป็นแผลที่อวัยวะเพศ

ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-20 วัน สำหรับการติดเชื้อครั้งแรก

เชื้อเริมจะเข้าไปหลบซ่อนที่ปมประสาทบริเวณใต้ผิวหนังหรือเยื่อบุ และแฝงตัวอยู่อย่างสงบหลังจากหายจากโรคแล้ว แต่ก็สามารถเกิดการติดเชื้อซ้ำได้อีกเมื่อเชื้อที่แฝงตัวอยู่เกิดการแบ่งตัวเจริญเติบโตเกิดการปลุกฤทธิ์คืนมา และทำให้เกิดอาการกำเริบขึ้นได้บ่อยๆ จากปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น เป็นไข้ ถูกแดดจัด ร่างกายอิดโรย อารมณ์เครียด วิตกกังวล การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ ได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัดบริเวณใบหน้า การทำฟัน ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น เชื้อที่ทำให้เกิดอาการกำเริบที่ปากมักเป็นเชื้อไวรัสเริมชนิดที่1 และเชื้อที่ทำให้เกิดอาการกำเริบที่อวัยวะเพศก็มักจะเป็นเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2

อาการ
อาการของโรคมักขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ติดเชื้อ อายุ ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและชนิดของเชื้อ ผู้ป่วยมักมีอาการทั่วไป เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรกโดยไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้มาก่อน และมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ระยะเวลาของอาการแสดง และรอยโรคได้มากกว่าการติดเชื้อซ้ำหรือผู้ที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน

อาการของโรคเริมที่พบได้บ่อย เช่น
1. เริมที่ผิวหนัง มักมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือปวดเสียวนำมาก่อน ½ -48 ชั่วโมงบริเวณรอยโรค ส่วนใหญ่มักเป็นการติดเชื้อซ้ำ มีตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มม.ขึ้นเป็นกลุ่มมีผื่นแดงโดยรอบ ตุ่มนี้จะกลายเป็นสีเหลืองขุ่นและแตกกลายเป็นสะเก็ดในระยะต่อมา และจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ชาวบ้านมักเรียกตุ่มน้ำใสที่ขึ้นกันอยู่เป็นกลุ่มนี้ว่า ขยุ้มตีนหมา ผื่นนี้มักจะขึ้นที่ตำแหน่งที่เคยเป็นหรือบริเวณใกล้เคียง ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น อวัยวะเพศ เป็นต้น

ผู้ป่วยมักจะมีอาการอักเสบรุนแรงในกรณีที่เป็นการติดเชื้อครั้งแรก จะมีอาการบวมเจ็บบริเวณรอยโรค มักมีตุ่มน้ำใสๆ ขึ้นมาในระยะแรกและกลายเป็นตุ่มหนองหรือฝีในระยะต่อมา ภายในตุ่มหนองจะเป็นน้ำและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ซึ่งเรียกว่า ตะมอยเริม ผู้ป่วยมักจะมีอาการอยู่ประมาณ 7-10 วัน ผู้ป่วยที่มีอาการไข้และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอักเสบร่วมด้วยมักพบได้เป็นส่วนน้อย ที่นิ้วชี้จะพบได้บ่อย รองลงมาคือนิ้วหัวแม่มือ หรืออาจพบบริเวณฝ่ามือในบางราย ในทารกและเด็กเล็กมักเกิดจากการดูดนิ้วในขณะที่ปากติดเชื้อเริม หรือจากผู้ใหญ่ที่เป็นเริมที่ปากไปจูบมือ ในผู้ใหญ่อาจติดเชื้อระหว่างมีเพศสัมพันธ์หรือการต่อสู้กับผู้ที่มีรอยโรค หรือการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยเริมในบุคลากรทางการแพทย์

2. เริมในช่องปาก ผู้ที่ติดเชื้อเริมชนิดที่1 เป็นครั้งแรกจะพบอาการนี้ได้บ่อย มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-3 วัน และพบภาวะนี้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะเป็นเริ่มในช่องปากชนิดเฉียบพลันในกรณีติดเชื้อเป็นครั้งแรก ซึ่งจะมีอาการดังนี้

ถ้าเป็นในเด็กเล็กมักจะมีไข้ ร้องกวน ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ที่เยื่อบุของริมฝีปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปากจะมีตุ่มน้ำพุขึ้นแล้วแตกเป็นแผลตื้นๆ สีเทาบนพื้นสีแดงขนาด 1-3 มม. เหงือกจะบวมแดงหรืออาจมีเลือดซึมและมีกลิ่นปากในบางครั้ง เนื่องจากเด็กดื่มนมและน้ำได้น้อยจึงอาจมีภาวะขาดน้ำขึ้นได้ ต่อมน้ำเหลืองใต้คางจะโตและเจ็บเมื่อตรวจดู ในช่วง 4-5 วันแรกมักจะมีอาการมาก แต่ภายใน 10-14 วันแผลก็มักจะหายไปได้เอง

อาการระยะแรกที่เกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่มักจะมีอาการเจ็บคอ เมื่อตรวจบริเวณผนังคอหอยหรือแผลบนทอลซิลจะมีหนองเกิดขึ้น และจะพบแผลที่ลิ้น กระพุ้งแก้มและเหงือกในเวลาต่อมา หรืออาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย ซึ่งภายใน 7-10 วันอาการต่างๆ นี้มักจะหายไปได้เอง

เมื่อหายแล้วเชื้อมักหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาทของสมองคู่ที่ 5 ในรายที่เป็นเริมในช่องปาก และอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำได้เมื่อเชื้อมีการเจริญเติบโตแบ่งตัวขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแผลเริมที่ริมฝีปาก เรียกว่า เริมที่ริมฝีปาก ซึ่งจะทำให้บริเวณริมฝีปากมีตุ่มน้ำเล็กๆ พุขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม และภายใน 2-4 วันจะแตกกลายเป็นแผลตกสะเก็ด ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแสบหรือคันบริเวณรอยโรคก่อนมีตุ่มขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือหลายวัน

อาจเกิดแผลเปื่อยในช่องปาก มักเป็นแผลเดียวที่เหงือก หรือเพดานแข็ง เรียกว่า เริมในช่องปากชนิดเป็นซ้ำ(recurrent intraoral herpes simplex) มักจะเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ ในระยะแรก และต่อมาจะแตกเป็นแผลเป็นสะเก็ดสีเหลืองปกคลุมอยู่บนพื้นสีแดง และจะกลายเป็นแผลตื้นพื้นสีแดงเมื่อลอกออก หรืออาจมีแผลเริมขึ้นที่ใบหน้าหรือจมูกในบางราย ภายใน 5-10 วัน แผลเริมเหล่านี้มักจะหายได้เอง แต่จะกำเริบซ้ำได้อีกในเวลาต่อมา ซึ่งอาจมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ขณะมีประจำเดือน ถูกแดด เครียด ได้รับการกระทบกระเทือนจากการถอนฟัน ผ่าตัดบริเวณใบหน้า เป็นไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ มาลาเรีย ไข้กาฬหลังแอ่น สครับไทฟัส เป็นต้น

3. เริ่มที่อวัยวะเพศ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 เป็นส่วนใหญ่ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 มักพบได้เป็นส่วนน้อย

จะมีระยะฟักตัว 2-10 วันในกรณีเป็นการติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และบริเวณอวัยวะเพศเกิดผื่นตุ่มขึ้นและมีอาการแสบๆ คันๆ นำมาก่อน ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำ หรือแผลแดงๆ คล้ายรอยถลอก อาจมีอาการเจ็บหรือคัน ในผู้ชายอาจขึ้นที่หนังหุ้มปลายองคชาต ที่ตัวหรือที่ปลายองคชาต ถุงอัณฑะ ต้นขา ก้น รอบทวารหนักหรือในท่อปัสสาวะ ส่วนในผู้หญิงอาจขึ้นที่ปากช่องคลอด ก้น รอบทวารหนัก ในช่องคลอด หรือที่ปากมดลูก เมื่อแผลแห้งอาจมีสะเก็ดหรือไม่มีก็ได้ มักเป็นอยู่นาน 2-3 สัปดาห์ แล้วจะหายไปได้เอง

ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด ช่องคลอดและท่อปัสสาวะอาจมีหนองไหล ที่ขาหนีบจะพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตและเจ็บร่วมด้วย และในสัปดาห์ที่ 2 ยังอาจพบรอยโรคที่ก้น ขาหนีบ หน้าขา นิ้วมือ หรือตา ได้ด้วย

เชื้ออาจหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาทหลังจากอาการหายดีแล้ว และอาจมีการติดเชื้อซ้ำแบบเป็นๆ หายๆ ได้บ่อยๆ ในเวลาต่อมา ในช่วง 6 เดือนแรกหลังจากติดเชื้อครั้งแรกอาจพบมีอาการเกิดขึ้นได้บ่อยและค่อยๆ ลดลงไป มีร่างกายทรุดโทรม เครียด มีประจำเดือน หรือมีเพศสัมพันธ์มักทำให้เกิดอาการกำเริบ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบๆ คันๆ ที่รอยโรคนำมาก่อนในผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ และต่อมาที่อวัยวะเพศจะมีตุ่มน้ำใสเล็กๆ หลายตุ่มพุขึ้นกันเป็นกลุ่ม มักเป็นที่รอยโรคเดิม อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะแสบขัด ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตและเจ็บ ภายใน 4-5 วันตุ่มมักจะตกสะเก็ด และหายไปได้เองภายใน 10 วัน อาจมีไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วยในบางราย ในบางรายอาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นจากการติดเชื้อซ้ำโดยไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้

สิ่งตรวจพบ
มักพบว่าผู้ป่วยมีตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มม. อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือตุ่มที่ตกสะเก็ดหรือแผลเล็กๆ คล้ายรอยถลอกที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของผิวหนัง ที่ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโตและเจ็บ หรืออาจมีไข้ร่วมด้วยในบางราย และในช่องปากอาจตรวจพบแผลที่ขึ้นพร้อมกันหลายแห่งโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่เป็นเริมในช่องปาก

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อน เช่น ตุ่มหรือแผลกลายเป็นหนองพุพองจากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย มักพบได้เป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แล้วกำเริบซ้ำได้เป็นครั้งคราว

อาจมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากดื่มนมและน้ำไม่ได้ในเด็กที่เป็นเริมในช่องปาก และอาจทำให้กระจกตาอักเสบจนสายตาพิการได้ในผู้ที่เป็นเริมบริเวณตา หรืออาจทำให้กลายเป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกหรืออัมพาตเบลล์ได้ ในรายที่ติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1ที่บริเวณใบหน้าจนทำให้เส้นประสาทใบหน้าอักเสบ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ในผู้หญิงที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ

ในทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ มักจะพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจพบได้ เช่น
-อาจมีผื่นตุ่มขึ้นแบบกระจายทั่วไปในเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้เมื่อติดเชื้อเริม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ เรียกว่า Eczema herpeticum”

-การติดเชื้อเริมชนิดแพร่กระจาย เชื้ออาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ปอด ระบบทางเดินอาหาร ตับ ม้าม ไต ต่อมหมวกไต ไขกระดูก เป็นต้น ซึ่งมักพบในทารกแรกเกิด หรือผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ผู้ที่ใช้สตีรอยด์นานๆ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้มีผื่นตุ่มกระจายทั่วไป ตุ่มพองใหญ่และมีเลือดออกอยู่ภายในตุ่ม อาจมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ หรืออาจทำให้ตาบอดได้จากเนื้อเยื่อคอรอยด์และจอตาอักเสบในบางราย

-สมองอักเสบ พบมากในทารกแรกเกิด มีอัตราตายสูงในผู้ป่วยอายุ 5-30 ปี และอายุเกิด 50 ปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริ่มชนิดที่ 1

-เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดอะเซปติก เป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ที่อวัยวะเพศครั้งแรก ในไม่กี่วันอาการจะทุเลาและหายไปได้เองโดยไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่

-หลอดอาหารอักเสบ มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บขณะกลืน กลืนลำบาก น้ำหนักลด ซึ่งพบในผู้ป่วยเอดส์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

-ตับอักเสบ ถ้าพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงมักจะไม่รุนแรง แต่ถ้าพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือหญิงตั้งครรภ์ก็อาจกลายเป็นตับอักเสบชนิดร้ายได้

-การติดเชื้อเริมในผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจเกิดภาวะทารกเป็นโรคเริมแต่กำเนิดแทรกซ้อน ทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อย ศีรษะเล็ก ชัก ปอดอักเสบ ตับโต ตาเล็ก ต้อกระจก เนื้อเยื่อคอรอยด์และจอตาอักเสบ มีผื่นตุ่มตามผิวหนังหรือนิ้วมือ ซึ่งเกิดจากเชื้อเริมได้ทั้ง 2 ชนิด และอาจทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า หรือคลอดก่อนกำหนดได้ถ้ามารดาติดเชื้อเริมในไตรมาสสุดท้าย หรืออาจทำให้ทารกติดเชื้อขณะคลอดกลายเป็นโรคเริมชนิดรุนแรง เช่น โรคเริมชนิดแพร่กระจาย สมองอักเสบ กระตาอักเสบ จอตาอักเสบ ได้ถ้ามารดาเป็นโรคเริมที่ช่องคชลอดหรือปากมดลูกในระยะใกล้คลอด

การรักษา
ให้การรักษาตามอาการร่วมกับยาต้านไวรัสถ้ามีอาการแสดงชัดเจน เช่น ให้ยาแก้ปวดลดไข้-พาราเซตามอล ให้สารน้ำในรายที่มีภาวะขาดน้ำ เป็นต้น เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค ช่วยให้หายเร็วขึ้น และลดโอกาสการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ควรให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย แต่จะไม่มีผลในการป้องกันการกำเริบซ้ำของโรค

ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวินิจฉัยในรายที่อาการไม่ชัดเจน ซึ่งแพทย์อาจจะตรวจหาเชื้อด้วยวิธีต่างๆ เช่น การขูดแผลนำเนื้อเยื่อไปย้อมสี การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทาน หรือดีเอ็นเอของเชื้อเริมจากแผลหรือสิ่งคัดหลั่ง การตรวจหาระดับสารภูมิต้านทานจากการทดสอบทางน้ำเหลือง เป็นต้น

การให้ยาต้านไวรัสคือสิ่งสำคัญในการรักษา ซึ่งควรปฏิบัติดังนี้
1. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วในรายที่สงสัยมีภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ เยื่อสมองอักเสบ ตับอักเสบ หรือมีการติดเชื้อในทารกแรกเกิด หรือเป็นโรคเริมชนิดแพร่กระจาย แพทย์มักรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้อะไซโคลเวียร์นาน 10-14 วัน โดยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ

2. ควรปรึกษาจักษุแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงในรายที่มีเริมขึ้นที่บริเวณตา แพทย์อาจจะให้ยาต้านไวรัสชนิดหยอดตาหรือป้ายตา เช่น ยาหยอดตาไตรฟลูริดีน ชนิด 1% หยอดวันละ 9 ครั้ง ครั้งละ 1 หยด หรือขี้ผึ้งป้ายตาไวดาราบีน ชนิด 3% ป้ายวันละ 5 ครั้ง นาน 21 วัน ถ้าพบว่ามีกระจกตาอักเสบจากเชื้อเริม หรืออาจต้องให้อะไซโคลเวียร์กินครั้งละ 200-400 มก. วันละ 5 ครั้ง นาน 10 วันในรายที่เป็นรุนแรง

3. ควรให้อะไซโคลเวียร์กินครั้งละ 200 มก. วันละ 5 ครั้ง ทุก 4 ชั่วโมง หรือครั้งละ 400 มก. วันละ 3 ครั้ง ทุก 8 ชั่วโมง นาน 10-14 วัน ในเด็กให้ขนาด 15 มก./กก. วันละ 5 ครั้ง นาน 7 วัน ในรายที่ติดเชื้อครั้งแรกในช่องปากหรืออวัยวะเพศ

4. ควรให้อะไซโคลเวียร์กินครั้งละ 400 มก. วันละ 3 ครั้ง ทุก 8 ชั่วโมง นาน 5 วันสำหรับการติดเชื้อเริมช้ำในบริเวณช่องปาก หรืออวัยวะเพศ

5. ควรให้อะไซโคลเวียร์กินครั้งละ 400 มก. วันละ 2 ครั้งทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 1 ปี สำหรับผู้ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศซ้ำบ่อยๆ เพื่อลดการเป็นซ้ำ และลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นจากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดง

6. ควรใหอะไซโคลเวียร์กินครั้งละ 400 มก. วันละ 5 ครั้ง นาน 10-14 วันสำหรับผู้ที่ติดเชื้อเริ่มครั้งแรกที่บริเวณทวารหนัก

7. ควรให้อะไซโคลเวียร์กินครั้งละ 400 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน สำหรับผู้ที่เป็นตะมอยเริม

8. แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่น เช่น ฟามซิโคลเวียร์ กินครั้งละ 250 มก. หรือวาลาไซโคลเวียร์กินครั้งละ 500 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 7-10 วัน ในผู้ป่วยโรคเริมที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

9. แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง เพื่อป้องกันการติดเชื้อของทารกขณะผ่านช่องคลอดในหญิงตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อเริมครั้งแรกที่ช่องคลอดหรือปากมดลูกในระยะใกล้คลอด

ข้อแนะนำ
1. แม้โรคจะหายเร็วขึ้นจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่ก็ไม่มีผลในการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ โรคนี้อาจสร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้ป่วยจากการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง โดยเฉพาะถ้าเป็นที่อวัยวะเพศ จึงควรแนะนำและให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าโรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ ในผู้ที่แข็งแรงดี แต่อาจเกิดภาวะติดเชื้อเริมแบบร้ายแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทารกแรกเกิด เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เป็นต้น ผู้ป่วยโรคเริมจึงไม่ควรสัมผัสใกล้ชิดบุคคลดังกล่าวนี้

2. ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลเริมจะหายถ้าเป็นเริมที่อวัยวะเพศ หรือใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และควรตรวจกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นด้วย เช่น เอดส์ ซิฟิลิส ที่อาจพบร่วมด้วยถ้าเป็นการติดเชื้อเริมครั้งแรก

3. ควรตรวจกรองมะเร็งปากมดลูกระยะแรก ปีละครั้งในผู้ที่เป็นโรคเริมที่ปากมดลูก และควรแจ้งให้แพทย์ทราบถ้าพบว่าเป็นเริมที่อวัยวะเพศขณะตั้งครรภ์หรือใกล้คลอด เพื่อจะได้ให้การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

4. ควรตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี เพราะอาจพบว่าเป็นเอดส์ได้ในผู้ที่เป็นโรคเริมกำเริบถี่มาก หรือเป็นรุนแรงหรือเป็นแผลเริมเรื้อรังเกิน 1 เดือน

5. สามารถรักษาเริมที่อวัยวะเพศที่เป็นครั้งแรกได้ผลพอๆ กับครีมอะไซโคลเวียร์ในครีมพญายอ ซึ่งทำจากสมุนไพรเสลดพังพอนตัวเมีย แต่ไม่สามารถป้องกันการกำเริบซ้ำได้ และใช้ไม่ได้ผลกับเริมที่กำเริบซ้ำใหม่

การป้องกัน
ผู้ติดเชื้อเริมสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้แต่มักไม่มีอาการแสดง จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการป้องกันการติดเชื้อเริม เพราะไม่มีทางแยกได้ว่าใครบ้างที่เป็นผู้ติดเชื้อ โดยเชื้ออาจมีอยู่ในน้ำตา น้ำลาย คอหอย อวัยวะเพศ ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เป็นต้น

เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อควรปฏิบัติดังนี้
-หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ มีดโกน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า เป็นต้น

-ไม่ควรสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีตุ่มตามผิวหนังหรือเยื่อเมือก หรือผู้ที่มีแผลเปื่อยในช่องปาก

-หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง หรือหญิงบริการ และควรใช้ถุงยางอนามัยหากเลี่ยงไม่ได้ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางปากที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า