สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดูแลตนเองเมื่อต้องเข้าเฝือก

การเข้าเฝือกและกาบเฝือกเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับ กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อวิธีหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ พักนิ่งและอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขและป้องกันความพิการผิดรูปอวัยวะ ส่วนนั้นกลับคืนสู่สภาพปกติหรือใกล้เคียงกับสภาพปกติให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับการดูแลตนเองเมื่อเฝือกยังไม่แห้ง ประกอบด้วย

1.  ทำให้เฝือกแห้ง เฝือกจะแห้งสนิทต้องใช้เวลา 1 – 3 วัน ทั้งนี้ขึ้นกับ อุณหภูมิและความชื้นของอากาศ ดังนั้นควรทำให้เฝือกแห้งโดยเร็วที่สุดโดยผู้ที่ได้รับการเข้าเฝือกไม่ควรสวมเสื้อผ้าหรือใช้ผ้าห่มปิดคลุมบริเวณที่เข้าเฝือก และหมั่นพลิก ตะแคงตัวหรือเปลี่ยนท่านอน เพื่อให้ทุกส่วนของเฝือกมีโอกาสแห้งทั่วถึงกัน

2.  ทำความสะอาดเศษปูนที่ติดผิวหนังออกหลังเข้าเฝือกใหม่ๆ

3.  ดูแลขอบเฝือกไม่ให้มีความคมที่จะระคายผิวหนังโดยใช้เทปติดรอบ ขอบเฝือก นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันเศษเฝือกหลุดเข้าไปในเฝือกได้

4.  ระมัดระวังไม่ให้เฝือกกระทบกระแทกของแข็งหรือวางของหนักทับเพราะ จะทำให้เฝือกแตกร้าวหรือบุบสลายได้

5.  หลีกเลี่ยงการกดที่เฝือกเพื่อป้องกันเฝือกที่ยังไม่แห้งยุบตัว    เช่น การใช้ ปลายนิ้วกำหรือจิกบนเฝือกแล้วยกขึ้น การวางเฝือกพาดบนของแข็ง เป็นต้น หากต้องการเคลื่อนย้ายอวัยวะส่วนที่เข้าเฝือกขณะยังไม่แห้งสนิท ควรใช้ฝ่ามือช้อน ส่วนล่างของเฝือกไม่ให้อวัยวะห้อยตกลงแล้วยกพร้อมกันในระดับเดียวกัน ห้ามใช้ นิ้วหรือของแหลมขูดเฝือกเพราะจะทำให้เกิดรอยย่นหรือแหว่งจนทำให้เฝือก เสียหน้าที่และอาจเกิดแรงกดทับบนผิวหนังได้ ถ้าต้องการพลิกตะแคงตัว ควรพลิก ตัวไปทางด้านที่ไม่ใส่เฝือกหรือพลิกตัวให้ด้านที่ใส่เฝือกอยู่ด้านบน

6.  เฝือกปูนเสริมที่เท้าที่ยังไม่แห้งสนิทนั้น   ไม่ควรเดินลงนํ้าหนักก่อนกำหนด ถ้าจำเป็นต้องลุกเดิน ควรใช้ไม้คํ้ายันช่วย โดยไม่ลงนํ้าหนักขาข้างที่เข้าเฝือก

7.  ยกส่วนที่เข้าเฝือกให้สูงกว่าระดับลำตัวในขณะนอน   โดยวางบนหมอน ตลอดความยาวของเฝือกหากเป็นการเข้าเฝือกแขนหรือขาท่อนล่าง เมื่อเข้าเฝือก ลำตัวให้สอดหมอนบริเวณใต้เอวและต้นขา และหากใส่เฝือกถึงศีรษะควรสอดหมอน บริเวณใต้คอ

8.  ไม่ห้อยแขนขาข้างที่เข้าเฝือกเป็นเวลานานๆ      เพราะแขนขาข้างนั้น จะบวม ภายหลังนั่งหรือยืนแล้วควรยกแขนขาให้สูงเพื่อให้ยุบบวม

9.  ให้เคลื่อนไหวอวัยวะส่วนที่อยู่นอกเฝือกบ่อยๆ  เช่น กำ เหยียดนิ้วมือ กระดิกนิ้วมือและนิ้วเท้า กระดกข้อเท้า เป็นต้น

10.ให้เกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่ในเฝือกเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยเกร็งแล้ว ค่อยๆ คลายเป็นจังหวะ

11 .การเข้าเฝือกที่แขนในระยะแรกหากพบว่ามีอาการปวดแขน ควรใช้ ผ้าสามเหลี่ยมคล้องแขนที่เข้าเฝือก

12.ประเมินภาวะแทรกซ้อนในขณะเฝือกยังไม่แห้งและรีบรายงาน ศัลยแพทย์หากพบความผิดปกติ ดังต่อไปนี้

–  เฝือกชำรุด หลังเข้าเฝือกใหม่ๆ เฝือกจะยังเปียกชื้น ไม่มีความแข็งแรง เต็มที่ จึงเสียรูปทรงหรือแตกร้าวง่าย

–  เฝือกกดรัด มักเกิดจากการบวมอันเนื่องมาจากการอักเสบของอวัยวะ ที่บาดเจ็บและจะบวมมากขึ้นถ้าปฎิบัติตัวไม่ถูกต้อง เฝือกที่เข้าไว้พอดีอาจจะคับ แน่น ทำให้เกิดการบีบกดเส้นเลือดหรือเส้นประสาทบริเวณดังกล่าวได้ จะปรากฏ อาการบวมที่มือหรือเท้า ผิวหนังเย็น ซีด เขียวคลํ้า มีแผลที่เกิดจากการกดรัด เจ็บปวดมาก เคลื่อนไหวนิ้วมือนิ้วเท้าไม่ได้ หากอาการรุนแรงมากอาจมีผลทำให้ กล้ามเนื้อขาดเลือด บางครั้งถึงกับต้องตัดแขนขาหรือเกิดความพิการของแขนขา ที่เข้าเฝือกนั้นได้ ภาวะนี้พบได้ไม่มาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง การทดสอบเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือดในอวัยวะแขนขาส่วนปลายที่เข้าเฝือกปูนหรือ บริเวณแขนขาที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ควรใช้นิ้วกดที่เล็บมือหรือเล็บเท้าของผู้ป่วย สีของเล็บจะซีด แต่เมื่อปล่อยมือที่กดออกและเล็บที่ถูกกดจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู แสดงว่า การไหลเวียนกลับของเลือดดีขึ้น ถ้าปล่อยมือที่กดเล็บมือเล็บเท้าออกแล้วยังซีด เหมือนเดิมหรือเลือดไหลกลับช้าแสดงว่าการไหลเวียนของเลือดไม่ดี อาจมีสาเหตุ มาจากหลอดเลือดแดงถูกทำลายหรือถูกบีบรัด เป็นต้น

 

การดูแลตนเองเมื่อเฝือกแห้ง

1.  พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเหมือนปกติถ้าทำได้ ในกรณีเข้าเฝือกปูน เสริมที่เท้าก็ให้เดินตามกำหนดเมื่อเฝือกแข็งแห้งดีแล้ว ถ้าไม่ใส่เฝือกปูนเสริมที่เท้า ไม่ควรใช้เท้าเหยียบ ให้ใช้ไม้คํ้ายันช่วยในการเดิน

2.  บริหารแขนขาส่วนที่อยู่นอกเฝือกอยู่เสมอๆ และเคลื่อนไหวข้อใกล้เคียง ที่อยู่นอกเฝือกบ่อยๆ เช่น เข้าเฝือกตลอดแขนก็ให้เคลื่อนไหวข้อไหล่และข้อนิ้วมือ บ่อยๆ

3.  เกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่ในเฝือกบ่อยๆ   ดังนี้

3.1  ในกรณีเข้าเฝือกแขนให้กำมือแล้วเกร็ง นับ 1 – 3 แล้วแบมือ จะช่วยให้กล้ามเนื้อปลายแขนที่อยู่ในเฝือกทำงานอยู่เสมอ

3.2  หากผู้ป่วยเข้าเฝือกขาให้เกร็งขาทำท่าเหมือนจะเหยียดขาตรงพร้อมกระตุกลูกสะบ้าขึ้น นับ 1 – 3 แล้วคลาย

3.3  กรณีที่เข้าเฝือกลำตัวให้แขม่วท้องหรือแอ่นตัวและขมิบก้น

บ่อยๆ

4.  เมื่อเกิดอาการคัน       อย่าพยายามงัดหรือถ่างให้เฝือกฉีกหลวม เพื่อลอดนิ้ว หรือวัตถุยาวๆ เข้าไปเกา อาจทำให้ผิวหนังเป็นแผลหรือถลอกพร้อมกับติดเชื้อขึ้น บางครั้งวัตถุที่เกาอาจหลุดเข้าไปอยู่ภายใต้เฝือก ทำให้เกิดแรงกดบนผิวหนังและเกิดแผลได้

5.  รักษาให้เฝือกสะอาดและไม่เปียกนํ้าอยู่เสมอ     อาจใช้ถุงพลาสติก คลุมเฝือกเวลาอาบนํ้าหรือขับถ่ายแล้วถอดถุงพลาสติกออกหลังจากเสร็จสิ้นกิจวัตร มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดการอับชื้น ระคายเคืองต่อผิวหนังและเกิดอาการคันได้ หากเฝือกเปียกนํ้าให้ใช้ผ้าซับเฝือกให้แห้ง ถ้าเฝือกสกปรก ควรใช้ผ้าชุบนํ้าสะอาด บิดให้หมาดแล้วเช็ดทำความสะอาดเฝือก

6.  ควรช่วยตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวันเพื่อให้ข้อต่างๆ     มีการ เคลื่อนไหวอยู่เสมอ

7.  หมั่นพลิกตะแคงตัวบ่อยๆ    ในกรณีลุกนั่งหรือเดินไม่ได้

8.  รับประทานผักผลไม้มากๆ   เพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการท้องผูก

9.  ดื่มนํ้าอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือ 2,500 – 3,000 มิลลิลิตร เพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการท้องผูกและนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

10.  ไปพบศัลยแพทย์ตามนัดหลังจากกลับไปอยู่บ้าน       เพื่อติดตามผลการ รักษาอย่างต่อเนื่องและประเมินผลการรักษาว่ามีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะได้ให้การรักษาแก้ไขได้ทันท่วงที ดังนั้นผู้ป่วยควรไปตรวจตามที่ศัลยแพทย์นัด ในการไปตรวจผู้ป่วยควรสวมเสื้อผ้าหลวมพอที่สามารถตรวจบริเวณที่เข้าเฝือกได้สะดวกด้วย

11.  ให้รีบไปพบศัลยแพทย์ หากพบสิ่งผิดปกติดังต่อไปนี้ มีอาการปวดบริเวณที่ใส่เฝือกมาก          แม้จะรับประทานยาบรรเทาปวดแล้วหรือรู้สึกคล้ายมีของแหลมทิ่มแทงอยู่ภายในเฝือก นิ้วมือนิ้วเท้าข้างที่เข้าเฝือกมีสีเขียวคลํ้า ซีดขาว บวมมากขึ้นหรือมีอาการชาหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวนิ้วได้ เฝือกแตก หัก หลวม หรือมีความรู้สึกว่าเฝือกกด มีเลือด นํ้าเหลืองหรือหนองไหลออกจากเฝือกหรือมีกลิ่นเหม็น เมื่อมีวัตถุแปลกปลอมหลุดเข้าไปในเฝือก

12.สังเกตภาวะแทรกซ้อนภายหลังที่เฝือกแห้งแล้ว ได้แก่

–  อาการคัน ผิวหนังส่วนที่อยู่ใต้เฝือกเมื่อหมักหมมเป็นเวลานาน ซึ่งมีสาเหตุจากเหงื่อเป็นผลให้เกิดอาการคัน มักเกิดเมื่อเข้าเฝือกแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ หรือมากกว่า อาจแก้ไขโดยการใช้ไม้เคาะเฝือกเบาๆ หรือรับประทานยา คลอเฟนนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือรายงานศัลยแพทย์เพื่อพิจารณาการ รักษาต่อไป

–  กล้ามเนื้อลีบ ข้อยึดติด เนื่องจากถูกจำกัดการเคลื่อนไหวอยู่เป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากความปวดและความหนักของเฝือกที่ทำให้ ผู้ป่วยเคลื่อนไหวน้อยลง ควรออกกำลังกายหรือเกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่ในเฝือก

–  ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ แผลกดทับ เบื่ออาหาร และท้องผูก เนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย

จะเห็นได้ว่าการดูแลตนเองเมื่อต้องเข้าเฝือกทั้งในระยะที่เฝือกยังไม่แห้ง และเฝือกแห้งแล้วนั้นมิใช่เรื่องที่ปฏิบัติได้ยากเลย หากท่านมีความรู้และความเข้าใจ

ดารัสนี  โพธารส

 

 

 

 

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า