สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

เป็นลม (Syncope/Fainting

เป็นอาการหมดสติที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และสามารถฟื้นคืนสติได้ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิตทำให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองน้อยลงชั่วขณะ มักพบได้ในคนทุกวัย จะพบได้บ่อยเมื่อมีอายุมากขึ้น คนที่อายุต่ำกว่า 30 ปีมักมีสาเหตุที่ไม่รุนแรง แต่มีโอกาสเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงได้หากพบในผู้สูงอายุเป็นลม

สาเหตุของอาการเป็นลม
1. กลุ่มที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความตึงตัวของหลอดเลือด หรือปริมาตรเลือด ได้แก่

ก. เป็นลมจากหลอดเลือดและประสารทเวกัส เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง จึงเรียกว่า เป็นลมธรรมดา มักพบได้ในคนทุกวัย มักพบในวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว มักเป็นขณะอยู่ในท่ายืน จากสาเหตุกระตุ้น เช่น อยู่ในที่แออัด อากาศร้อนอบอ้าว อยู่กลางแดดที่ร้อนจัด ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อดนอน หิวข้าว ยืนนานๆ การเจ็บปวดรุนแรง ความตื่นเต้น ตกใจ กลัว หรือเสียใจกะทันหัน ทำให้หลอดเลือดขยายเลือดจึงคั่งอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจึงทำให้ขึ้นไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง

ข. เป็นลมทันทีขณะที่มีอากัปกิริยาบางอย่าง เช่น
– ขณะไอรุนแรง ผู้ป่วยมักเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
-ขณะกลืนอาหาร ผู้ป่วยมักเป็นโรคเกี่ยวกับคอหอย หรือหลอดอาหาร
-ขณะถ่ายปัสสาวะ เมื่อปวดถ่ายสุดๆ และมีปัสสาวะเต็มกระเพาะ ผู้ป่วยมักเป็นผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด
-ขณะถ่ายอุจจาระ พบในผู้ป่วยที่เบ่งถ่ายแรงๆ เนื่องจากท้องผูก
-ขณะหันคอ โกนหนวดด้วยเครื่องไฟฟ้า หรือใส่เสื้อรัดคอ มักพบในผู้ป่วยที่มีความไวของคาโรคติดไซนัส(carotid sinus hypersensitivity) ในผู้สูงอายุ

ค. เป็นลมจากความดันตกในท่ายืน ขณะอยู่ในท่านอนราบผู้ป่วยจะเป็นปกติดีแต่เมื่อลุกขึ้นยืนความดันจะลดลงทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจึงเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมเกิดขึ้นทันที พบได้ในผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะตกเลือด ภาวะขาดน้ำ เป็นต้น

2. กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจ เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้น้อยลงเนื่องจากหัวใจสูบฉีดได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดเป็นลมที่เรียกว่า เป็นลมจากโรคหัวใจ อาจมีหลายสาเหตุ เช่น
-หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นผิดจังหวะไม่สม่ำเสมอ เต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ
-โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
-ภาวะหัวใจวาย
-โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ
-โรคลิ้นหัวใจตีบ
-ภาวะสิ่งอุดตันหลอดเลือดแดงปอด ทำให้เกิดไตวายซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเป็นลม

3. กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตกทำให้เลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่พอ ทำให้เกิดอาการเป็นลม ที่เรียกว่า เป็นลมจากโรคสมอง สาเหตุที่มักพบได้บ่อยๆ ได้แก่ หลอดเลือดแดงขาดเลือด โรคไมเกรนที่หลอดเลือดแดงตีบชั่วขณะ

4. กลุ่มโรคที่หมดสติชั่วขณะคล้ายอาการเป็นลม มีอาการจากเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเซลล์สมองขาดเลือด เช่น
-อาการชัก เช่น โรคลมชัก ซึ่งจะหมดสติชั่วขณะเมื่อเกิดอาการชัก
-ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจเกิดอาการเป็นลมชั่วขณะแล้วฟื้นคืนสติได้เอง หรืออาจหมดสติไปเลยในบางราย
-ภาวะซีด
-โรคทางจิตประสาท เช่น โรคกังวล โรคซึมเศร้า กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน และอาจมีอาการเป็นลมแน่นิ่งชั่วขณะร่วมด้วย

5. กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจมีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจนในบางราย

อาการ
เป็นลมธรรมดา มักเป็นขณะอยู่ในท่ายืน มีอาการใจหวิว แขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ล้มลงกับพื้น อาจหมดสติอยู่เพียง 1-2 นาที แล้วมักฟื้นคืนสติได้เอง อาจมีอาการเตือนล่วงหน้าก่อนเป็นลมในบางคน เช่น ศีรษะเบาหวิว ตัวโคลงเคลง มองเห็นภาพเป็นจุดดำ ตามัวลง คลื่นไส้ มีเสียงดังในหู เป็นอยู่ประมาณ 2-3 นาทีก่อนเป็นลม

เป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง มักเกิดจากสาเหตุที่มากระตุ้นชัดเจน เช่น ไอ ขณะกลืนอาการ เบ่งถ่าย หันคอ เป็นต้น

เป็นลมจากความดันตกในท่ายืน ขณะลุกขึ้นยืนจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมทันที อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อยครั้ง ผู้ป่วยอาจเคยมีประวัติเป็นเบาหวานหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง กินยาก่อนเป็นลม มีภาวะขาดน้ำหรือเลือดออก

เป็นลมจากโรคหัวใจ พบบ่อยในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ หรือในผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งอาจมีอาการนำมาก่อนล่วงหน้าก่อนเป็นลม เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หรือขณะที่ทำงานหนัก ยกของหนัก ซึ่งการเป็นลมจากโรคหัวใจนี้อาจเป็นลมในท่านอน ท่านั่ง หรือท่ายืนก็ได้

เป็นลมจากโรคสมอง พบในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเรื้อรังหรือสูบบุหรี่ ผู้สูงอายุ ก่อนเป็นลมหมดสติอาจมีอาการนำมาก่อนล่วงหน้าเช่น ปวดศีรษะ บ้านหมุน เห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้หรือไม่ชัด กลืนลำบาก เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง

สิ่งตรวจพบ
เป็นลมธรรมดา และเป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง ขณะเป็นลมมักมีอาการหน้าซีด มือเท้าเย็น ทั่วใบหน้าและลำตัวมีเหงื่อออกเป็นเม็ดๆ ชีพจรเต้นต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที รูม่านตาทั้ง 2 ข้างขยายเท่ากันและเมื่อถูกแสงจะหดลงทันที

เป็นลมจากความดันตกในท่ายืน การวัดความดันโลหิตในท่ายืนเมื่อเทียบกับท่านอน พบได้ว่าความดันช่วงบนลดลงมากกว่า 20 มม.ปรอทในท่ายืน หรือความดันช่วงล่างลดลงมากกว่า 10 มม.ปรอท หรืออาจจะเกิดร่วมกันทั้งสองอย่าง

หากมีปริมาตรเลือดลดลงจากการขาดน้ำ เสียเลือด ชีพจรในท่ายืนอาจเพิ่มมากกว่า 20 ครั้ง/นาที ผู้ป่วยจะมีภาวะซีด ขาดน้ำ ร่วมด้วย

เป็นลมจากโรคหัวใจ ชีพจรจะเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ หรือเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ เมื่อตรวจฟังหัวใจอาจได้ยินเสียงฟู่ อาจพบภาวะหัวใจวายในบางราย

เป็นลมจากโรคสมอง อาจพบอาการแขนขาอ่อนแรง ความดันโลหิตสูง ใช้เครื่องฟังตรวจบริเวณหลอดเลือดแดงที่คอได้ยินเสียงฟู่

ภาวะแทรกซ้อน
อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นและเป็นอันตรายได้ขณะเป็นลมหมดสติ เช่น เมื่อขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ว่ายน้ำ อาจล้มฟุบได้รับบาดเจ็บ ตกจากที่สูงกระดูกหัดหรือศีรษะได้รับบาดเจ็บได้

การรักษา
ต้องตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด โดยการตรวจทางร่างกาย ซักประวัติ หรืออาจตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด คลื่นหัวใจ เอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นต้น

ถ้าเป็นลมบ่อยๆ แต่หาสาเหตุไม่ได้ อาจต้องทำการทดสอบที่เรียกว่า “Head-up tilt table test” โดยกระตุ้นให้เกิดอาการเป็นลมจากการใช้โต๊ะตรวจเฉพาะจัดผู้ป่วยยืนทำมุม 70 องศานาน 45 นาที ซึ่งเป็นการวินิจฉัยอาการเป็นลมจากหลอดเลือดและประสาทเวกัส

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น
1. ถ้าเป็นลมธรรมดา
-ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น ไม่อยู่ในอากาศร้อน ในที่แออัด การอยู่กลางแสงแดดจัดๆ การยืนนานๆ การอดนอน เป็นต้น
-หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด ตื่นเต้น ตกใจ กลัง เช่น การเห็นเลือด การเจาะเลือดขณะอยู่ในท่านั่งหรือยืน อาการเจ็บปวด เรื่องน่ากลัวหรือน่าตื่นเต้น เป็นต้น
-หากมีอาการเตือน เช่น ศีรษะเบาหวิว ตัวโคลงเคลง คลื่นไส้ ให้รีบนั่งลงหรือนั่งบนเก้าอี้แล้วก้มศีรษะลงซุกระหว่างหัวเข่าทั้ง 2 ข้างเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นลมหมดสติ
-แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งสำหรับผู้ที่เป็นลมบ่อย เช่น ยากลุ่มปิดกั้นบีตา เช่น อะทีโนลอล 25-50 มก. วันละครั้ง หรือเมโทโพรลอล 25-50 มก. วันละ 2 ครั้ง ยากลุ่ม mineralocorticoid เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน 0.1-0.2 มก. วันละ 1 ครั้ง ยาหดหลอดเลือด เช่น เอฟีดรีน 15-30 มก. หรือไมโดดรีน 2.5-10 มก. วันละ 3 ครั้ง ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors เช่น ฟลูออกซีทีน 20 มก. วันละครั้ง หรือเซอร์ทราลีน 25-50 มก.วันละครั้ง

2. เป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง ให้หลีกเลี่ยงหรือควบคุมอากัปกิริยาที่เป็นสาเหตุ เช่น การไอ การเบ่งถ่าย หากเกิดจากความไวของคาโรติดไซนัสควรใส่เสื้อผ้าและรัดเข็มขัดที่ไม่คับจนเกินไป ใช้มีดโกนไฟฟ้าแทนมีดโกนธรรมดา

3. ถ้าเป็นลมจากความดันตกในท่ายืน ก็ให้แก้ไขตามสาเหตุที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนอย่างช้าๆ การขยับขาก่อนลุกขึ้นก็อาจทำให้เกิดอาการน้อยลงจากการเพิ่มปริมาตรเลือดไปสู่หัวใจ การนอนศีรษะสูงหรือใช้ถุงรัดน่องก็อาจช่วยลดอาการได้ ยาที่ใช้สำหรับผู้ที่เป็นบ่อยๆ เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน เอฟีดรีน หรือไมโดดรีน

4. ถ้าเป็นลมจากโรคหัวใจหรือโรคสมอง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสตายหรือพิการได้จึงควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง

ข้อแนะนำ
1. อาการเป็นลมกับโรคลมชักมีอาการคล้ายๆ กัน อาการเป็นลมหมดสติมักเป็นอยู่เพียง 1-2 นาที เมื่อรู้สึกตัวจะเป็นปกติทันที ส่วนโรคลมชักจะหมดสติค่อนข้างนาน มักมีอาการชักเกร็งที่แขนขา ตาเหลือก น้ำลายฟูมปาก เมื่อฟื้นสติมักมีอาการสับสน หาวนอน หากไม่แน่ใจว่าเกิดโรคควรส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นสมอง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นต้น

2. สาเหตุการเป็นลมมีหลายประการ ความรุนแรงก็แตกต่างกันไป ควรตรวจร่างกายและซักถามประวัติอย่างละเอียดถี่ถ้วน หรืออาจต้องตรวจพิเศษต่างๆ ในบางครั้ง โดยเฉพาะถ้าพบในผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจหรือโรคสมอง ดังนั้นหลังจากปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นลมจนฟื้นคืนสติแล้ว ก็ควรส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล ยกเว้นในกรณีที่มั่นใจว่าเป็นลมธรรมดา

3. มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในผู้เป็นลมที่ไม่มีสาเหตุจากโรคหัวใจและโรคสมอง ควรหลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้นเพื่อป้องกันการเป็นลมซ้ำ ควรหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุหากมีอาการเป็นลมบ่อยๆ เช่น การขับรถ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร การว่ายน้ำ การอยู่ในที่สูง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์และวินิจฉัยโรคให้แน่ชัดเพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

4. ขั้นตอนการปฐมพยาบาลที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำอันดับแรกคือ การจับผู้ป่วยให้นอนหงายศีรษะต่ำเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองให้เพียงพอจะช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นสติได้ในเวลาสั้นๆ วิธีการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การดมแอมโมเนีย การเรียกดังๆ การบีบนวด การใช้ผ้าเย็นเช็ดตามหน้าและคอ การพัดลม ก็อาจเป็นการช่วยกระตุ้นผู้ป่วยได้ แต่ไม่ใช่วิธีที่สำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสติ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า