สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การดูเเลเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

บางท่านอาจจะเคยพบเห็นหรือได้รับคำบอกเล่าอยู่บ่อยๆ ว่า “ผู้เป็นโรคเบาหวาน ไม่ช้าก็ต้องถูกตัดขา” การเป็นโรคเบาหวานกับการถูกตัดขามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร และจะมีวีธีป้องกันอย่างไร มาเรียนรู้เรื่องนี้กัน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานร้อยละ 50 จะประสบปัญหาระบบประสาทส่วนปลายเสื่อมภายใน 25 ปี หลังจากเป็นโรค ทำให้มีอาการชาบริเวณเท้าและสูญเสียความรู้สสึก ก่อให้เกิดบาดแผลได้ง่าย ซึ่งลักษณะของแผลเบาหวานมักจะเป็นแผลเรื้อรัง รักษาหายยาก เนื่องจากมีการเสื่อมของหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้ขาดสารอาหารและขาดออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงบริเวณแผล        แผลจึงมีลักษณะซีดเป็นหลุมลึก มีเนี้อตาย และแผลที่เท้ามักเกิดการติดเชื้อร่วมด้วย ทำให้ยากแก่การรักษา มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากมักลงเอยด้วยการถูกตัดขา ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะถ้ามีการดูแลตนเองที่ดีเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

การดูแลเท้าและการป้องกันการเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยจะต้องเรียนรู้ ผู้ป่วยเบาหวานควรมีการดูแลเท้าอย่างสมํ่าเสมอ ควบคู่ไปกับการดูแลตนเองในด้านอื่นๆ โดยปฏิบัติดังนี้

 

1.  ตรวจดูส่วนต่างๆ            ของเท้าอย่างละเอียดทุกวันโดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า ฝ่าเท้าบริเวณที่เป็นจุดรับนํ้าหนัก บริเวณรอบเล็บเท้า เพื่อดูว่ามีรอยช้ำ บาดแผล หรือการอักเสบหรือไม่ การตรวจควรไข้กระจกช่วยส่องบริเวณฝ่าเท้า จะช่วยให้มองเห็นบริเวณฝ่าเท้าและซอกนิ้วได้ดีขึ้น

2.  ทำความสะอาดเท้า         และซอกนิ้วเท้าด้วยสบู่อ่อน ล้างและซับให้แห้ง ไม่ควรใช้หินขัด หรือแปรงที่มีขนแข็งขัดเท้า ตรวจดูส่วนต่างๆ ของเท้าอย่างละเอียด ทุกวันว่ามีบาดแผล ตุ่มพอง รอยชํ้า รอยแดง รอยแตกหรือไม่ ถ้ามีควรปรึกษาแพทย์

3.  สวมรองเท้าตลอดเวลา  ห้ามเดินเท้าเปล่า โดยเลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดีมีการระบายอากาศเพียงพอ ไม่ควรสวมรองเท้าที่มีส้นสูงเกิน 1 นิ้ว เพราะทำให้นํ้าหนักกดลงบริเวณเท้าส่วนหน้ามากเกินไป  ซึ่งอาจทำให้เกิดบาดแผลได้ เมื่อใช้รองเท้าคู่ใหม่ต้องคอยตรวจสอบว่ารอยถลอกเกิดขึ้นหรือไม่ รองเท้าใหม่ควรสวม วันละ 2 ชั่วโมงต่อวันในสัปดาห์แรก และ 4 ชั่วโมงต่อวันในสัปดาห์ที่ 2 สลับกับคู่เดิม เพื่อให้รองเท้าใหม่ขยายตัว ป้องกันรองเท้ากัด การซื้อรองเท้าควรชื้อในช่วงบ่าย หรือเย็น เพราะในช่วงบ่ายเท้าจะขยายตัวมากกว่าในช่วงเช้า ก่อนสวมรองเท้าควรตรวจดูภายในรองเท้าก่อนว่ามีเศษวัสดุ เช่น หิน กระดุม เมล็ดผลไม้ ติดอยู่ในรองเท้าหรือไม่ เพราะวัสดุเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดบาดแผลได้

4.  การตัดเล็บเท้า     ควรตัดเล็บเท้าตรงๆ ให้ห่างจากผิวพอสมควร เพื่อป้องกันการเกิดเล็บขบ และไม่ควรแคะซอกเล็บ หรือดึงหนังแข็งที่เท้าออก เพราะทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ ควรตัดเล็บหลังอาบนํ้าใหม่ๆ เพราะเล็บจะอ่อน ทำให้ตัดง่าย ถ้าสายตาไม่ดีควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้

5.  หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง หรือนั่งพับเพียบ เพราะทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี

 

6.  ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดกับเท้า  เช่น การถูกของแหลมตำเท้า การถูกของร้อนจัดทำให้เป็นแผลไหม้พอง เป็นต้น ผู้ป่วยที่รู้สึกเท้าชา ไม่ควรวางกระเป๋านํ้าร้อนที่เท้าเพราะไม่ช่วยให้อาการชาดีขึ้น แต่อาจเกิดแผลไหม้พองได้ ถ้ามีแผลขนาดเล็กให้ใช้นํ้ายาโพวิดีนป้ายบริเวณแผลและถ้าตรวจพบบาดแผลขนาดใหญ่ หรือลึก มีการอักเสบ ควรทำความสะอาดด้วยนํ้าต้มสุกและควรไปพบแพทย์ ไม่ควรใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน ยาแดง ยาเหลือง ใส่แผล เพราะจะทำลายชั้นผิวหนังได้

7.  ถ้าผิวแห้งเกินไป ควรทาโลชั่นเพื่อป้องกันส้นเท้าแตก โดยเว้นตามซอก นิ้วเท้า เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้

8.  บริหารเท้าวันละ 15 นาที เป็นอย่างน้อย จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดไปที่ขาและเท้าดีขึ้น โดยยืนตรงเขย่งส้นเท้าขึ้นทั้ง 2 ข้าง นับ 1 2 3 แล้ว วางส้นเท้าราบลง หรือนั่งให้เท้าลอยจากพื้น แล้วบิดข้อเท้าให้ปลายเท้าชี้ขึ้นไปทางซ้ายและขวาสลับกันไปมา และหมุนปลายเท้าเป็นวง

9.  สวมถุงเท้าเพื่อช่วยให้เท้าอบอุ่น          โดยเฉพาะเวลากลางคืน ควรเลือกถุงเท้าที่มีการระบายอากาศ และซับเหงื่อได้ดี ถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้ายจะดีกว่าถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์

10.  ปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีความผิดปกติที่เท้า ได้แก่ มีแผลธรรมดานาน

2 สัปดาห์แล้วยังไม่หาย เล็บขบ ติดเชื้อรา ปวดกล้ามเนื้อที่น่องหรือส้นเท้า ผิวหนัง บริเวณเท้าดำ ผิวหนังที่เท้าบวม แดง ร้อน และปวด

การดูแลเท้าไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ผู้ป่วยเบาหวาน ให้ความเอาใจใส่และหมั่นดูแลอย่างต่อเนื่อง การดูแลนั้นก็จะเป็นความเคยชินโดยผู้ป่วยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระเลย

ภาวนา  กีรติยุตวงศ์

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า