สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ิจิตบำบัดชั้นต้นชนิด Ignoring of Certain Symptoms and Attitudes

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 21 เรียกว่า Ignoring of Certain Symptoms and Attitudes
หมายถึง บางครั้งแพทย์จะต้องทำเป็น “ไม่สนใจ” กับอาการและทัศนคติบางอย่างของคนไข้ แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์จะต้องไม่แสดงอาการ “ดูหมิ่น” หรือ “ทอดทิ้ง” คนไข้ แพทย์เพียงแต่ “ไม่สนใจ” อาการบางอย่างเท่านั้น แต่ก็ต้องแสดงความมั่นคง สนใจคนไข้ และใช้ “บรรยากาศของการรักษา” ที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน

การที่แพทย์จะทำเป็น “ไม่สนใจ” อาการหรือพฤติกรรมบางอย่าง ของคนไข้นี้ แพทย์จะต้องตรวจคนไข้แล้วอย่างละเอียด จนเกิดความมั่นใจว่าไม่มีอะไรผิดปกติแน่นอน การที่แพทย์จะต้องทำเป็น “ไม่สนใจ” อาการหรือพฤติกรรมของคนไข้นั้น ก็เพราะว่าคนไข้บางคน “รู้มาก” ถือเอาประโยชน์จากการเจ็บป่วย เช่น เรียกร้องความสนใจ ข่มขู่แพทย์และญาติ เรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ ฯลฯ ซึ่งเรียกว่า Secondary Gain การที่แพทย์ “รู้ทัน” และ “ไม่เล่นด้วย” คือ เฉย ไม่สนใจนั้น จะทำให้คนไข้ผิดหวังและเลิกการกระทำดังกล่าว เพราะว่าขืนทำไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา

ขอเรียนให้แพทย์ฝ่ายกายทราบว่า การที่คนไข้มีพฤติกรรมเช่นนี้ ส่วนมากเนื่องมาจากผู้ป่วยเป็นคนไม่มีความสุข และต้องการความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยประเภทนี้ หลายคน จึงต้องการการรักษาแบบจิตบำบัดชั้นสูง

เราจะใช้จิตบำบัดชนิด “ไม่สนใจ” อาการของคนไข้ในกรณีดังต่อไปนี้ กรณีแรก ในผู้ป่วย Hysteria ที่มีอาการเป็นลม ชักกระตุก สาเหตุของอาการเหล่านี้ คือ มี Psychic Conflicts ในระดับจิตไร้สำนึก การที่แพทย์ “ไม่สนใจ” อาการเหล่านี้ ไม่ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคก็จริง แต่ถ้าแพทย์ให้ความสนใจต่ออาการเหล่านี้แล้ว ผู้ป่วยจะ “แต่งเติมเสริมต่อ”ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจต่างๆ นาๆ ไม่มีที่สิ้นสุด กรณีที่สอง คือ ในรายที่ผู้ป่วย “จงใจ” หรือมี “เจตนา” แกล้งทำซึ่งต่างกับกรณีแรก คือ ในกรณีผู้ป่วย Hysteria นั้น ผู้ป่วยมีพฤติกรรมดังกล่าว เนื่องมาจาก Motivation ในระดับจิตไร้สำนึก ส่วนในกรณีที่สอง ผู้ป่วย “จงใจ” หรือมี “เจตนา” หลอกลวงโดยตรง กรณีที่สามได้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียแบบ Hypochondriasis กรณีที่สี่ ได้แก่เด็กๆ แสดง Temper tantrums กรณีที่ห้า ได้แก่เด็กที่เอาแต่เล่น ไม่ยอมรับประทานอาหาร ถ้าบิดามารดา ให้ความสนใจมากเกินไปเด็กจะยิ่ง “ได้ใจ” และไม่ยอมเลิกพฤติกรรมดังกล่าว

การที่แพทย์มีท่าที่มั่นคง ยอมรับผู้ป่วย ให้โอกาสผู้ป่วยพูด แต่ไม่สนใจอาการของโรคที่มากเกินกว่าเหตุ หรือ “ต่อเติมเสริมแต่ง” นี้ มีผลต่อคนไข้หลายประการ ประการแรก ทำให้อาการที่เกิดขึ้นห่างลง ทั้งนี้ เพราะว่าการที่ผู้ป่วยเห็นแพทย์ไม่สนใจกับอาการที่เกิดขึ้น ไม่ได้รับประโยชน์หรือ Secondary Gain ผู้ป่วยก็จะไม่ใช้ “อาการ” ดังกล่าว เป็นเครื่องมือเรียกร้องความสนใจอีกต่อไป ในทางตรงกันข้ามถ้าแพทย์แสดงความสนใจ หรือตกใจ เมื่อผู้ป่วยมีอาการเกิดขึ้น ผู้ป่วยก็ย่อมจะใช้อาการต่างๆ เป็นเครื่องมือเรื่อยไป

ประการที่สอง เป็นการป้องกันไม่ให้คนไข้เกิดความหวาดกลัวซ้ำสอง โดยไม่มีเหตุผล (severe Secondary Fear) หมายความว่า ผู้ป่วยซึ่งมีความหวาดกลัวอยู่แล้ว จะ “ต่อ เติม เสริม แต่ง” อาการให้มากขึ้น แสดงความหวาดกลัวเพิ่มขึ้น ทำให้แพทย์ตัดสินใจผิดพลาด เพราะไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคมากเกินกว่าเหตุ ทำให้แพทย์ ตกใจกลัวไปด้วย เมื่อผู้ป่วยเห็นแพทย์ตกใจกลัวจึงเกิดความกลัวขึ้นมาใหม่อีก โดยคิดว่าตนต้องเป็นโรคร้ายแรงแน่ๆ วนเวียนกันไปเช่นนี้ ผลสุดท้ายผู้ป่วยจะเกิดความหวาดกลัวขึ้นมาจริงๆ ซึ่งไม่ใช่อาการ “ต่อ เติม เสริม แต่ง” อีกต่อไป

ขอเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งว่า การที่แพทย์แสดงความ “ไม่สนใจ”ต่ออาการที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องดูถูกดูหมิ่นหรือเลิกสนใจผู้ป่วย แพทย์จะต้องใช้ “บรรยากาศของการรักษา” ในการพูดกับคนไข้ ชี้แจงให้คนไข้เห็นว่า อาการที่ป่วยอยู่นั้น ไม่ได้เป็นมากตามที่ผู้ป่วยเข้าใจ ห้ามใช้วิธีข่มขู่คนไข้ เช่น “เรามันแกล้งป่วยนี่หว่า ไม่เห็นจะเป็น
อะไรเลย” หรือ “ผมบอกแล้วว่าคุณไม่เป็นอะไร ขืนกังวลแบบนี้ ไม่มีทางหาย” หรือ “คุณ ไม่เชื่อผม ก็เชิญเปลี่ยนไปรักษากับหมอคนอื่นเถอะ”

คำตอบที่ถูกต้อง ควรจะเป็นดังนี้ “ผมทราบว่าคุณไม่สบาย แต่ไม่มีอะไรร้ายแรง อย่างที่คุณกลัว” หรือ “คุณป่วยแน่ๆ แต่มีสาเหตุจากจิตใจ ร่างกายของคุณไม่มีอะไรผิดปกติ”

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า