สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อิทธิพอของกรรมพันธุ์ที่มีเหนือพฤติกรรม

สมัยเมื่อนักวิจัยกลุ่มหนึ่งริเริ่มบรรยายถึงอิทธิพลของยีนที่มีเหนือพฤติกรรมของมนุษย์ กลุ่มนักวิจัยที่นิยมว่า สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมได้อภิปรายโต้แย้ง เป็นการอภิปรายทางวิชาการที่ยาวนาน ต่างฝ่ายต่างก็หาเหตุผลมาสนับสนุนทัศนะของตน นักศึกษาที่เป็นกลางฟังความทั้งสองข้างก็เห็นว่ามีความสมจริงพอรับฟังได้ทั้งสองฝ่าย ประมวญ ดิคคินสัน (2520, หน้า 84) กล่าวถึงการถกเถียงถึงอิทธิพลของ พันธุกรรม (ยีน) กับสิ่งแวดล้อม เป็นคติและคำชี้แนะที่น่าฟังดังนี้

“เราจะไม่ถกเถียงให้เสียเวลาว่าอะไรสำคัญกว่ากัน พันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม? เราทราบแล้วว่า พันธุกรรมได้ให้คุณสมบัติอันวิเศษแก่เรา และเราก็มิได้เกิดมาท่ามกลางความว่างเปล่า เราเกิดมาท่ามกลาง สิ่งแวดล้อม เนื่องจากคุณสมบัติอันวิเศษของสมอง เราเรียนจากสิ่งแวดล้อม เรากลมกลืนเอาสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตัวเรา และปรับตัวเราเข้าหาสิ่งแวดล้อม แต่เราหาได้กลายเป็นสิ่งแวดล้อมไปไม่ ดังที่เพียเจท์ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ แทนที่จะปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อมโดยสิ้นเชิงเช่นสัตว์อื่นๆ มนุษย์กลับเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับตน ที่สามารถทำได้เช่นนี้ก็ต้องอาศัยพัฒนาการต่อจากวิวัฒนาการ”

Gormly & Brodzinsky (1989, หน้า 52-56) มีความเห็นในแนวเดียวกัน ได้กล่าวว่าในปัจจุบันเราเข้าใจหน้าที่ของยีนและโมเลกุลของ DNA มากพอจะรู้ได้ว่า สิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบกำหนดการของยีน ในด้านชีวเคมีที่อำนวยการเจริญเติบโตของคน ปัญหาที่น่าถามกลายเป็นว่า ทำอย่างไรดียีนจึงจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเพื่อเกิดผลเป็นพฤติกรรม? กรณียีนมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมไม่ได้หมายความว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นคุณ เขายกตัวอย่างทารกที่เกิดอาการ PKU (ดังกล่าวข้างต้นว่าเป็น อันตรายแก่สมองจนถึงตายได้ เพราะทารกย่อยโปรตีน Phenylalanine ไม่ได้) ถ้าได้รับการแก้ไขแต่เนิ่นๆ หลังเกิดไม่กี่วัน โดยให้อาหารที่มีโปรตีนชนิดนี้แต่น้อยๆ จนกระทั่งสมองพัฒนามากพ้นจากพิษภัยของ PKU นี้เป็นตัวอย่างที่เราใช้พฤติกรรมแก้ไขยีน PKU จนพ้นอันตรายได้โดยวิธีการเพียงเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม คือจัดอาหารให้เหมาะสม

ผู้เขียนตำราที่กล่าวแล้วข้างต้นนี้ ได้กล่าวถึงการวิจัยเพื่อตอบปัญหาระหว่างยีนและสิ่งแวดล้อมอีกหลายแง่หลายมุม ซึ่งผู้เขียนขอย่อความนำมาเรียบเรียงไว้ต่อไปจนจบหัวข้อนี้

คลี่ปมสายใยยีน (กรรมพันธุ์)
ต่อคำถามที่ว่าพฤติกรรมหลากหลายของมนุษย์มากเพียงไหนถือว่ามาจากกรรมพันธุ์ และมากเพียงไหนมาจากสภาพแวดล้อม คำถามนี้ซับซ้อนมากเพราะคำตอบมีมากหลายขึ้นอยู่กับว่าเราจะศึกษาพฤติกรรมประการใด และถ้านักวิจัยจะหาคำตอบโดยการทดลองก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย มีการทดลองอย่างธรรมดาทำกันมาแล้ว โดยกรีกอร์ เมนเดล นักบวชผู้ค้นพบกฎแห่งกรรมพันธุ์จากการเพาะผสมถั่วระหว่างพันธุ์ต่างๆ แล้วเขียนรายงานไว้อย่างละเอียดเมื่อ ค.ศ. 1866 (ท่านผู้นี้ได้รับการยกย่องจากนักศึกษาว่าเป็นผู้ริเริ่มค้นคว้าวิทยาศาสตร์ สาขานี้ในสมัยและในสังคมที่ไม่มีใครเห็นคุณค่าของวิทยาการนี้เลย    ตำราทุกเล่มได้กล่าวถึงท่านไว้ด้วยความนิยม-ผู้เขียน) แต่การวิจัยแนวเพาะผสมพันธุ์แบบนี้เอามาทำกับมนุษย์ก็มีปัญหาขัดข้องในแง่ศีลธรรมและ แง่ปฏิบัติจริง นักวิจัยจึงหันไปทดลองกับสัตว์

วิธีที่สอง เพื่อศึกษาผลของกรรมพันธุ์ ได้แก่การศึกษาลักษณะถาวรที่ปรากฏในวงศ์ตระกูลบางตระกูล โดยเฉพาะเจาะจง คือศึกษาเครือญาติและลูกหลานเหลนที่สืบสายโลหิตลงมา วิธีนี้ต้องสำรวจตรวจสอบประวัติของวงศ์ตระกูลมากมาย ซึ่งอาจหาไม่ได้ครบถ้วน หรือที่ได้มาก็ไม่ค่อยถูกต้องก็เป็นได้ ยิ่งกว่านั้นสภาพแวดล้อมอาจเป็นตัวกำหนดความเหมือนกันในวงศ์ตระกล เพราะญาติทั้งหลายมักอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เช่นเดียวกับสืบสายจากกรรมพันธุ์ที่เหมือนๆ กัน

วิธีที่สาม คือศึกษาฝาแฝด Identical และ Fraternal ได้กล่าวถึงแล้วในข้อการผสมพันธุ์ที่ทำให้เกิดลูกฝาแฝด ความยากลำบากของการศึกษาวิธีนี้คือ เป็นการยากที่จะพบฝาแฝด ผู้ถูกแยกไปเลี้ยงดูคนละแห่งตั้งแต่เกิดให้ได้จำนวนพอศึกษา แล้วยังต้องติดตามดูลักษณะที่ต้องการศึกษาจนตลอดชีวิตของฝาแฝดนั้น

ยังมีการศึกษาอีกวิธีหนึ่งคือ ศึกษาจากเด็กที่มีผู้รับไปเลี้ยงดู ผู้รับไปเลี้ยงดูนี้ต้องไม่มีความสัมพันธ์กับเด็กทางกรรมพันธุ์เลย ผู้วิจัยจะสำรวจดูว่าเด็กผู้นั้นมีลักษณะ (ที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา) ปรากฏความคล้ายไปทางผู้เลี้ยงดูหรือคล้ายไปทางพ่อแม่ผู้บังเกิดเกล้า ถ้าเปรียบเทียบได้ว่าเด็กคล้ายไปทางผู้เลี้ยงดูก็แปลความหมายได้ว่า สภาพแวดล้อมมีพลังเหนือกรรมพันธุ์ในลักษณะนั้นๆ

รูปโฉมทางกายภาพและความผิดปกติ
กรรมพันธุ์มีอิทธิพลมากในด้านรูปโฉมและร่างกาย สีของผิวหนัง ของดวงตา ของเส้นผม กลุ่มเลือด โครงสร้างของกระดูกและการย่อยอาหารบำรุงร่างกาย เพราะเป็นกำหนดการทางยีนที่อยู่ในโมเลกุลของ DNA อย่างไรก็ดีลักษณะทางกายบางอย่างอาจเปลี่ยนไปด้วยอิทธิพลสิ่งแวดล้อม เช่น สีของผมเปลี่ยนไปได้ด้วย เหตุที่ไม่ได้รับประทานอาหารที่ดีพอ หรือได้รับรังสีบางอย่างแรงเกินไป

ยีนอำนวยการจัดลำดับและรูปแบบพัฒนาการทางกายภาพตลอดชีวิต ความสูง รูปดวงหน้า สัดส่วน ร่างกาย แม้วัยที่ผมจะหงอกก็อยู่ใต้ควบคุมของยีน เรื่องเหล่านี้ใครๆ ก็สังเกตเห็นมานานแล้ว มีโรคและอาการผิดปกติหลายชนิดที่มีกำเนิดเบื้องต้นมาจากยีน เช่น ที่ได้กล่าวถึงโรค hemophilia และ PKU เป็นต้น

บุคลิกภาพ
บุคลิกภาพคือกระสวนอันเป็นเอกลักษณ์ของบุคคลแต่ละคนที่แสดงออกเพื่อปรับตัวและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมตัวเขา ในการสำรวจอิทธิพลของกรรมพันธุ์ที่มีอยู่เหนือพฤติกรรมซับซ้อน เช่นบุคลิกภาพ และสติปัญญา มีความยากลำบาก คือสิ่งแวดล้อมก็มีอิทธิพลสำคัญมากเหนือพฤติกรรมด้วยเหมือนกัน เช่น ถ้าเราสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกในประเด็นจำเพาะสักประเด็นหนึ่ง เช่น ความก้าวร้าว เราจะพบว่า พ่อมีนิสัยก้าวร้าว ก็มีลูกนิสัยก้าวร้าว เราไม่อาจแน่ใจว่าความเหมือนกันนี้มาจากกรรมพันธุ์ หรือมาจากกรณีพ่อแสดงตัวเป็นตัวอย่าง ชักจูงให้ลูกมีนิสัยเช่นนั้นบ้าง (Gormly & Brodzinsky, 1989; Lefrancois, 1990)

ยิ่งกว่านี้ลักษณะถาวรเช่น บุคลิกภาพ เป็นลักษณะถาวรที่เกิดพัฒนาการและเปลี่ยนไปได้ตลอดชั่วชีวิต อิทธิพลจากกรรมพันธุ์อาจเกิดขึ้น ณ จุดใดๆ และเกิดขึ้นหลายๆ ครั้งก็ได้ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ผมหงอกเกิดจากการกระตุ้นโดยกรรมพันธุ์ ณ จุดหนึ่งในวัยผู้ใหญ่ตอนกลางหรือตอนปลาย กระสวนการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวและการตอบโต้ต่อสภาพแวดล้อม ก็มักเป็นผลของบุคลิกภาพที่สะท้อนจากอิทธิพลของกรรมพันธุ์

การศึกษาฝาแฝดประเภท Identical (จะย่อว่า MZ จาก Monozygote) กับประเภท Fraternal (จะย่อว่า DZ จาก Dizygote) มีประโยชน์ที่สามารถแยกแยะให้เห็นผลของการฝึกฝนและสภาพแวดล้อมออกจากผลของกรรมพันธุ์ชัดเจนดี ถ้าฝาแฝดทั้งสองประเภทนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมเหมือนกันคือ รับการเลี้ยงดูอยู่ด้วยกัน ความแตกต่างขั้นมูลฐานคือ MZ มีโครงสร้างยีนร่วมกัน ส่วน DZ นั้นโครงสร้างยีนแยกกัน ถ้าเปรียบเทียบ ระดับความเหมือนกันในลักษณะถาวร(ที่ต้องการศึกษา) ก็อาจพบข้อสรุปได้ว่าถ้า MZ มีความคล้ายกัน และกันมากกว่า DZ ก็เห็นได้ว่ากรรมพันธุ์มีอิทธิพลสูง ถ้าฝาแฝดทั้งสองประเภทมีระดับความเหมือนเท่าเทียมกัน ก็เห็นได้ว่าในลักษณะถาวรนั้นๆ ประสบการณ์จากสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลสูง

นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตาสหรัฐ ได้ศึกษาฝาแฝด MZ ที่ถูกแยกตั้งแต่เกิด นำไปเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมต่างกัน เขารายงานว่าฝาแฝดทั้งสองคนนี้เหมือนกันในประวัติการเจ็บป่วย คะแนนทดสอบ สติปัญญา อารมณ์ และความกลัว ในบางกรณีผลการทดสอง MZ ในแง่จิตวิทยาและสมรรถภาพ พบว่าทั้งคู่มีความใกล้เคียงกันมากยิ่งกว่าคนคนเดียวกัน ถูกทดสอบด้วยข้อสอบเดียวกัน 2 คราวเสียอีก (Gormly & Brodzinsky, 1989, หน้า 50-56)

ได้มีการค้นพบว่าลักษณะถาวรทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพอยู่ใต้อิทธิพลกรรมพันธุ์ ยกตัวอย่าง เช่น อารมณ์ของทารก ด้านความกระปรี้กระเปร่า แบบการหลับนอน ความขี้โกรธ การชอบคบคนง่าย-ยาก ได้รับอิทธิพลอย่างแรงจากกรรมพันธุ์ มีรายงานการศึกษาชี้ให้เห็นว่ากรรมพันธุ์เป็นรากฐานของลักษณะบุคลิกภาพในแง่เป็นคนเปิดเผย (Extrovert) ได้แก่ ชอบมีเพื่อน ไม่ขัดคอคน เข้ากับคนได้ และมีอิทธิพล แก่ลักษณะบุคลิกภาพในแง่เป็นคนเก็บตัว (Introvert) ได้แก่ ขี้อาย ถดถอยห่าง ครั่นคร้ามที่จะคบคน

นักวิจัยหลายท่านเชื่อว่าอาการ Schizophrenia (โรคจิตชนิดความรู้สึกนึกคิดและการกระทำไม่ประสานกันหรือไม่ปะติดปะต่อ) ก็มีรากฐานจากกรรมพันธุ์ โรคนี้ในประชากรทั่วไปมีร้อยละ 1 ถ้าพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวเป็นโรคนี้ อาจติดต่อถึงลูกได้ร้อยละ 12 ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคนี้โอกาสลูกจะติดโรคเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39 ฝาแฝด MZ ติดโรคนี้เหมือนๆ กันร้อยละ 47 (ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขในประเทศของผู้เขียนตำรา คือสหรัฐอเมริกา) (Gormly & Brodzinsky, 1989, หน้า 50-56)

สติปัญญา
สติปัญญาถ่ายทอดถึงลูกได้หรือ? ความสามารถในการแก้ปัญหานามธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผ่านกรรมพันธุ์ได้ไหม? ศักยภาพของสติปัญญาเป็นเรื่องหนึ่งที่ได้มีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างกว้างขวาง และมีการอภิปรายถกเถียงกันมากในวงการจิตวิทยา มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าชนชั้นผู้นำในประชาคมมักจะมีความเป็นผู้นำสืบเนื่องต่อไปในวงศ์ตระกูล คนปราดเปรื่องเด่นๆ มักมีลูกที่ปราดเปรื่องเด่นๆ ด้วยความเข้าใจ โดยประมาณเอาของเราๆ ก็มักเห็นว่าการมีสติปัญญาสูง-ตํ่าเป็นกรรมพันธุ์ อย่างไรก็ดีถ้ามีคำถามว่าสติปัญญาประเภทไหน อิทธิพลถ่ายทอดมีมากน้อยเพียงไร คำถามนี้ตอบได้ยาก ส่วนหนึ่งของความยากก็คือมีแนวคิดหลายแนวแตกต่างกันในประเด็นว่า สติปัญญามีความหมายจริงๆ อย่างไร รายงานการศึกษาส่วนมากใช้มาตรฐาน IQ เป็นเครื่องวัดสติปัญญา ผลการทดลองต่างๆ ดูเหมือนจะชี้ว่าสติปัญญาได้รับอิทธิพลจากกรรมพันธุ์ การศึกษาฝาแฝดก็มีส่วนเป็นพื้นฐานของข้อสรุปนี้

มีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบคะแนน IQ ของเด็กที่เป็นลูกบุญธรรมกับพ่อแม่บังเกิดเกล้า และกับผู้รับเขาไปเลี้ยงดู ก็สนับสนุนอิทธิพลของกรรมพันธุ์อีก โดยทั่วไปวิจัยพบว่าสติปัญญาของลูกบุญธรรมสัมพันธ์กับพ่อแม่บังเกิดเกล้าใกล้ชิดกว่าสัมพันธ์กับผู้รับไปเลี้ยงดู ทั้งกรรมพันธุ์และสภาพแวดบ้อมในครอบครัวพ่อแม่บุญธรรมมีส่วนให้สมรรถภาพที่จะคิด (Cognitive ability) แก่ลูกบุญธรรม การสนองตอบของแม่บุญธรรมที่มีต่อเด็กเป็นสหสัมพันธ์ที่เด่นมาก

สรุป
พัฒนาการแห่งการผสมพันธุ์คือ ไข่ในหญิงและสเปิมในชาย ไข่มีในตัวหญิงตั้งแต่กำเนิดในวัยแรกรุ่น จะชุกครั้งละ 1 ฟอง ไหลเลื่อนออกจากรังไข่มาพบสเปิมของชายในท่อ Fallopian tube สเปิมจะฝังหัวของมัน เข้าไปในไข่แล้วจึงเลื่อนตัวมาเกาะติดอยู่ที่มดลูก สเปิมเป็นคล้ายสัตว์มีหัวมีหาง ชายวัยแรกรุ่นผลิตขึ้นมากมาย แล้วขับออกจากกายตัวในเวลามีเพศสัมพันธ์ สเปิมเป็นตัวกำหนดเพศของลูกว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ในบางกรณีไข่มากกว่า 1 ฟอง และสเปิมมากกว่า 1 ตัว ผสมพันธุ์ในเวลาเดียวกัน ดังนี้ทำให้เกิดเด็กฝาแฝด นอกจากนี้ไข่และสเปิม 1 ตัวที่ผสมกันเรียบร้อยแล้ว แตกแยกออกเป็น 2 ส่วน ก็ทำให้เกิดเด็กฝาแฝดได้อีกรูปแบบหนึ่ง มีคู่สมรสบางรายไม่สามารถมีลูกได้โดยวิธีทางธรรมชาติเช่นที่กล่าวมาโดยมีอุปสรรคหลายอย่าง ในสมัยปัจจุบันแพทย์ช่วยให้มีลูกได้

ไข่ที่รับผสมพันธุ์แล้ว มาเติบโตในมดลูกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกทวีจำนวนเซลล์ขึ้นมากและรวดเร็ว เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วเข้าสู่ระยะที่สองเซลล์ทวีจำนวนเร็วมากเกิดระบบใหญ่ๆ ของร่างกายเช่น ระบบหายใจ ระบบประสาท จนสิ้นสัปดาห์ที่ 8 ต่อจากนั้นเข้าสู่ระยะที่สามจนถึงเดือนที่ 9 เป็นการพัฒนาส่วนต่างๆ ของร่างกายให้สมบูรณ์เพื่อมีชีวิตนอกครรภ์ได้

เมื่อได้เวลาใกล้คลอดแม่รู้สึกได้รับสัญญาณเตือนมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือน มดลูกหดตัวลงเรื่อยๆ เด็กในครรภ์จะถูกดันให้ออกมาทางช่องคลอด โดยปกติจะเอาศีรษะออกก่อน \ ผู้ช่วยทำคลอดจะรับ เด็กออกมานำไปตัดสายสะดือและทำความสะอาด แม่คลอดลูกแล้วไม่ช้าสายสะดือและรกที่ติดกันก็จะออกตามมา

ในขณะคลอดนั้นเด็กมีประสบการณ์ Birth trauma น่าตกใจจนร้องลั่น นอกจากนี้จะต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมนอกครรภ์ที่สำคัญหลายอย่างเช่น การหายใจ และการกินดื่มอาหาร การคลอดนั้น บางรายคลอดยากเป็นการได้รับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานแก่แม่มาก มีผู้คิดค้นวิธีที่จะทำให้การคลอดง่าย และเป็นธรรมชาติ

การคลอดที่มีปัญหาได้แก่การแท้ง การคลอดในท่าที่ผิดธรรมชาติ นอกจากนี้ปัญหาอาจเกิดจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมเช่น แม่มีอายุสูงเกินควร มีอารมณ์วุ่นวาย ได้รับอาหารไม่เหมาะสม กินยาที่อาจมีอันตราย ดื่มแอลกอฮอล์ ติดโรคที่ถ่ายทอดไปถึงลูก ได้รับรังสีที่เป็นพิษภัย

เด็กในครรภ์มีสมองมาตั้งแต่เดือนแรกแล้วมีการพัฒนาอย่างเร็วมาก เกิดระบบประสาทส่วนกลาง ภายในเดือนที่สองสมองเริ่มทำงานแล้ว เมื่อแรกคลอดสมองก็มีน้ำหนักร้อยละ 25 ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีสมรรถภาพอีกหลายอย่างเช่น ได้ยินเสียงดังๆ ใกล้ครรภ์ มีความอ่อนไหวตามสถานการณ์ของแม่ รู้จักดิ้นและสามารถเรียนรู้

เซลล์ในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยส่วนสำคัญคือ นิวเคลียส โครโมโซม ยีน และในยีนมี DNA เซลล์ทวีจำนวนตัวมันเอง 2 วิธีคือ (1) Mitosis ได้แก่การจำลองตัวเองแล้วแยกออกเป็น 2 เซลล์แล้วทวีตาม แบบเรขาคณิต (2) Meiosis ได้แก่การขยายตัวของเซลล์เพศ ครั้งแรกมันจำลองตัวเอง แล้วแบ่งตัวเป็นครั้งที่สอง คราวนี้เหลือโครโมโซมแค่ครึ่งเดียว ต่อเมื่อมีการผสมพันธุ์จะได้รับอีกครึ่งจากเซลล์เพศของหญิงหรือชายอีกฝ่ายหนึ่ง เซลล์ก็จะกลับมีจำนวนโครโมโซมเต็มจำนวนตามปกติ

โครโมโซมเป็นส่วนหนึ่งในเซลล์ เมื่อคนเราสามารถศึกษามันได้ละเอียดขึ้น ก็เพิ่มความรู้สามารถเข้าใจและอธิบายปัญหาที่ตอบไม่ได้ในอดีต เช่นการมีโครโมโซมผิดปกติกลายเป็นคนพิกลพิการมาแต่กำเนิด

ยีนเป็นสายใยที่อยู่ในโครโมโซม มันมีบทบาทสำคัญในการกำหนดลักษณะของบุคคลที่ได้รับผ่านกรรมพันธุ์เช่น ความสูง สีผม สีดวงตา ฯลฯ ลึกลงไปในยีนเราได้พบ DNA ซึ่งเป็นสารเคมีพื้นฐานแห่งกรรมพันธุ์ เมื่อเซลล์แบ่งตัวออก DNA ก็มีการแบ่งตัวตามเหมือนกัน

ในการถ่ายทอดยีนจากพ่อและแม่ไปสู่ลูกนั้น ยีนบางคู่อาจแตกต่างกัน เช่น พ่อให้ยีนตาสีน้ำตาล แม่ให้ยีนตาสีฟ้า ดังนี้ลูกจะมีสีตาแบบหนึ่งจากยีนที่เป็นตัวข่ม ยีนอีกตัวเป็นตัวถูกข่มแฝงอยู่ในลูกต่อไป ยีนอาจถ่ายทอดโรคบางอย่างจากพ่อแม่ผ่านไปให้ลูกได้เช่น PKU เป็นต้น บางเรื่องตัวพ่อหรือแม่ไม่มีอาการผิดปกติ แต่เป็นพาหะของความผิดปกติที่แฝงอยู่ในยีน ถ้ามีการถ่ายทอดไปยังลูกเราเรียกว่า Sex link

ในวงการศึกษาเคยมีปัญหาว่าพฤติกรรมของคนอยู่ใต้อิทธิพลของกรรมพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อม ในสมัยนี้เราสามารถเข้าใจหน้าที่ของยีนและโมเลกุลของ DNA มาก จึงพอสรุปได้ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบกำหนดการของยีนในด้านชีวเคมีที่อำนวยความเติบโตของคน

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า