สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

อาการระบายลมหายใจเกิน (Hyperventilation syndrome)

โรคหอบจากอารมณ์ เป็นการหายใจผิดปกติร่วมกับอาการทางกายหลายระบบ ที่เกิดจากปัญหาทางจิตใจและอารมณ์โดยไม่มีความผิดปกติทางกายแต่อย่างใด ไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง ผู้ป่วยมักหายใจหอบและเจ็บหน้าอกอย่างฉับพลันทำให้เข้าใจว่าเป็นภาวะร้ายแรงหอบจากอารมณ์

พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักเป็นกันมากในช่วงอายุ 15-55 ปี ยังไม่พบว่าโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกันทางกรรมพันธุ์แต่พบว่าพ่อแม่หรือบุตรของผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจพบโรคนี้ร่วมกับโรคแพนิกได้

สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด พบว่าผู้ป่วยหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าอกแทนกะบังลมและกล้ามเนื้อท้อง จึงทำให้การหายใจไม่มีประสิทธิภาพหายใจได้ไม่เต็มที่ และมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการสำคัญ เช่น ความเครียดทางอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ ความกลัว วิตกกังวล โกรธ ขัดใจ น้อยใจ เสียใจ เป็นต้น หรืออาจถูกกระตุ้นด้วยอาการเจ็บปวดรุนแรงจากการปวดท้องหรือปวดศีรษะ ทำให้เกิดอาการหายใจหอบ ลึก และเร็ว ร่างกายจึงขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง แคลเซียมในเลือดต่ำ และความผิดปกติทางกายหลายอย่างพร้อมๆ กัน

อาการ
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะหายใจลึก ถี่ หรือทั้งลึกและถี่ซึ่งเป็นอาการระบายลมหายใจเกิน หลังจากมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจหรือมีความเครียดทางอารมณ์มักเกิดขึ้นทันที หรืออาจเกิดหลังจากมีอาการเจ็บปวดรุนแรงในบางราย ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ใจสั่น เจ็บหน้าอก แน่นอึดอัดในหน้าอก ชารอบปาก ชาปลายมือปลายเท้า มีลมในท้อง ท้องอืดเฟ้อ หรืออาจมีอาการดิ้นไปมา สับสน ประสาทหลอน เอะอะโวยวาย นอนนิ่งเหมือนเป็นลม หลับตามิดขมิบหนังตาแน่น

การเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำจากปฏิกิริยาการระบายลมหายใจเกิน จึงทำให้เกิดอาการชักเกร็งของมือและเท้า ลักษณะมือและเท้าจะจีบเกร็งทั้ง 2 ข้างคล้ายเป็นตะคริว

ถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมตัวเองให้กลับมาหายใจได้เป็นปกติอาการต่างๆ จะทุเลาไปได้เอง อาการจะมีอย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ จนทำให้ญาติตกใจกลัวจนต้องส่งโรงพยาบาลหากผู้ป่วยยังมีการหายใจผิดปกติอยู่

ในรายที่เป็นเรื้อรัง มักไม่มีอาการเด่นชัดของอาการหายใจผิดปกติหรือมือเท้าจีบเกร็ง แต่ผู้ป่วยมักจะบ่นว่าอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก รู้สึกหายใจไม่อิ่มหรือแน่นอึดอัดในหน้าอก นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เวียนศีรษะ ศีรษะโล่งๆ รู้สึกโคลงเคลง ชาหรือเสียวรอบปากหรือปลายมือปลายเท้า มีลมในท้อง คลื่นไส้ มักมีอาการหาวหรือถอนหายใจบ่อยๆ มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ กลัวอย่างไม่มีเหตุผล มีปมด้อย ขาดความอบอุ่นทางจิตใจหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น

สิ่งตรวจพบ
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน อาจพบอาการเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อหน้าอก หน้าซีด มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลึก หายใจถี่ มือเท้าจีบ

ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจพบอาการหาวหรือถอนหายใจบ่อยๆ เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก มักทำให้เกิดอาการมือเท้าจีบเกร็งเมื่อให้ผู้ป่วยหายใจลึกเร็ว 30-40 ครั้งต่อนาที และอาการจะทุเลาลงเมื่อให้ผู้ป่วยหายใจในกรวยกระดาษ หรืออาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

การรักษา
1. ในรายที่มีอาการเฉียบพลัน ถ้าซักถามอาการและตรวจร่างกายจนแน่ใจแล้วว่าไม่ได้เกิดอาการหายใจเกิน มือเท้าจีบจากโรคที่เป็นสาเหตุทางกาย ก็ให้การรักษาด้วยการแนะนำผู้ป่วยให้หายใจช้าลง หรือให้กินยากล่อมประสาทเช่น ไดอะซีแพม ขนาด 5 มก. 1-2 เม็ด แต่ถ้าผู้ป่วยกินยาไม่ได้ หรือไม่ตอบสนอง ก็ให้ฉีดไดอะซีแพม 5-10 มก.เข้าหลอดเลือดดำช้าๆ หรือใช้กระดาษกรวยที่มีรูขนาด 0.5-1 ซม. ครอบปากและจมูกแล้วให้ผู้ป่วยหายใจหรือจะใช้ถุงกระดาษก็ได้เพื่อสูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปทำปฏิกิริยากับน้ำให้มีฤทธิ์เป็นกรดเพื่อเข้าไปแก้ภาวะเลือดเป็นด่างเป็นการแก้ภาวะแคลเซียมต่ำในเลือด อาการต่างๆ ก็จะได้ทุเลาลง มักจะได้ผลใน 10-15 นาที

ถ้าสงสัยว่าผู้ป่วยมีสาเหตุจากโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ โรคหืด เบาหวาน โลหิตจาง มีไข้ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือมีประวัติการสูบบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงวิธีการหายใจในกรวยหรือถุงกระดาษ

ควรให้ยากล่อมประสาทต่อเมื่ออาการดีขึ้น แต่ถ้าสงสัยว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่นหรือภายใน 24 ชั่วโมงอาการยังไม่ดีขึ้นควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ

2. ในรายที่เป็นเรื้อรัง ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุถ้าสงสัยว่าจะเกิดจากโรคทางกายหรือผลการรักษาไม่ดีขึ้น แต่ถ้าทดสอบจนมั่นใจแล้วว่าเป็นโรคนี้ก็ให้รักษาด้วยยาทางจิตประสาท ฝึกให้ผู้ป่วยหายใจด้วยท้อง และให้รู้จักผ่อนคลายความเครียด แพทย์อาจต้องตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ปอด และตรวจพิเศษอื่นๆ หากมีอาการไม่ชัดเจนหรือสงสัยมีสาเหตุจากโรคทางกาย ถ้าพบมีโรคแพนิก ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ก็จะให้การรักษาไปพร้อมๆ กัน อาจจำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์ในบางราย

ข้อแนะนำ
1. เพื่อลดความวิตกกังวลและความเข้าใจผิดว่าเป็นโรคร้ายแรงควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงสาเหตุและการปฏิบัติตัวต่อโรคนี้ ผู้ป่วยและญาติอาจไม่พอใจและย้ายที่รักษาไปเรื่อยๆ ได้จากแพทย์พูดว่าผู้ป่วยไม่เป็นอะไร หรือผู้ป่วยแกล้งทำ

2. ผู้ป่วยควรฝึกหายใจด้วยท้อง ฝึกสมาธิ ออกกำลังกาย รู้จักผ่อนคลายความเครียด ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัดและอย่างต่อเนื่อง ให้รู้จักแก้ไขเมื่อเกิดอาการกำเริบเฉียบพลัน เช่น หายใจในกรวยหรือถุงกระดาษ หรือคลุมโปงแล้วหายใจในผ้าห่ม เป็นต้น

3. โรคนี้มักมีอาการประหลาดๆ และเกิดขึ้นฉับพลัน ที่ไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ คนบางกลุ่มจึงเชื่อว่าเกิดจาก ผีเข้า พาผู้ป่วยไปรักษาทางไสยศาสตร์ตามความเชื่อ วิธีการนี้อาจทำให้ผู้ป่วยหายเครียดและกลับมาหายใจได้ปกติจึงทำให้อาการทุเลาลง จึงควรทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคเพื่อหลีกเลี่ยงพิธีกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

4. ภาวะแคลเซียมต่ำเนื่องจากภาวะขาดพาราไทรอยด์มักทำให้เกิดอาการมือจีบเกร็ง อาจพบได้ในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ในกรณีเช่นนี้แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินแคลเซียมหรือฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพื่อเป็นการทดแทน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า