สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หูด(Warts)

เป็นเนื้องอกที่เกิดกับผิวหนังแต่เป็นชนิดที่ไม่ร้ายแรง เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกวัย พบบ่อยในเด็กวัยเรียน แต่ในคนอายุมากกว่า 45 ปีมักพบได้น้อยหูด

หูดมักเป็นที่มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า ฝ่ามือฝ่าเท้า หรืออาจที่ผิวหนังส่วนอื่น รวมทั้งที่อวัยวะเพศ ซึ่งมีอยู่หลายชนิด และอาจมีความแตกต่างกันไปขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น อาจขึ้นเป็นเม็ดเดี่ยวๆ หรือหลายอันก็ได้

หูด นอกจากจะทำให้ดูน่าเกลียดน่ารำคาญ หรืออาจมีอาการปวดในบางครั้ง แต่ภายหลังที่เป็นอยู่หลายเดือน หรืออาจเป็นปีๆ แม้จะไม่ได้รักษาก็อาจยุบหายเองได้ตามธรรมชาติ และอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก และมักไม่พบว่ามีอันตรายแต่อย่างใด

สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อว่า เอชพีวี(human papilloma virus) เมื่อเชื้อเข้าไปในเซลล์ผิวหนังก็จะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหูดงอกออกจากผิวหนังส่วนที่ปกติ การสัมผัสถูกคนที่เป็นหูดโดยตรงสามารถติดโรคนี้ได้ ซึ่งเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-18 เดือน

อาการ
หูดชนิดพบเห็นทั่วไป มักขึ้นตรงที่ถูกเสียดสีง่าย เช่น นิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อศอก ข้อเข่า ใบหน้า หนังศีรษะ เป็นต้น หรืออาจแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ มักจะมีลักษณะเป็นตุ่มกลมแข็ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มม. ผิวหยาบ สีเทาๆ เหลืองๆ หรือน้ำตาล

หูดที่เป็นที่ฝ่ามือฝ่าเท้า จะมีลักษณะเป็นไตแข็งๆ หยาบๆ แต่จะแบนราบเท่าระดับผิวหนังปกติซึ่งเกิดจากแรงกดดันขณะเดินหรือใช้งานลักษณะคล้ายๆ ตาปลา แต่หูดถ้าใช้มีดฝานอาจมีเลือดไหลซิบๆ และมีอาการเจ็บปวดได้

หูดที่เป็นติ่ง มักจะมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ขึ้นที่หนังตา ใบหน้า ลำคอ หรือริมฝีปาก

การรักษา
1. หูดที่ฝ่าเท้า ให้ฝานหูดจนมีเลือดซิบแล้วใช้ปลาสเตอร์ที่มีกรดซาลิไซลิกชนิด 40% ปิด เมื่อครบ 1 สัปดาห์ก็ให้ทำซ้ำแบบนี้อีกจนกว่าจะหาย หรือทาด้วยยากัดตาปลาหรือหูด ซึ่งมีกรดซาลิไซลิกผสมอยู่ เช่น คอนคอน ดูโอฟิล์ม เวอร์รูมาล เป็นต้น ใช้ทาทุกวัน อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเพื่อให้ยาค่อยๆ กัดเนื้อหูดให้หลุดออก

2. หูดที่เป็นติ่ง ให้ใช้ยาชาพ่นแล้วใช้กรรไกรตัดออก

3. หูดที่เป็นตุ่มหรือไตขนาดใหญ่ ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดและขูดออก ในบางรายอาจใช้ไฟฟ้าจี้ร่วมด้วยก็ได้ และกว่าแผลจะหายอาจใช้เวลานานประมาณ 4 สัปดาห์ หรืออาจรักษาด้วยกรดซาลิไซลิกชนิด 10% และกรดแล็กติกชนิด 10% ในคอลลอยเดียนเบสทา หรือใช้กรดไตรคลอโรอะซิติก ชนิด 30-50%ทา

การรักษาในโรงพยาบาลบางแห่งอาจใช้ไนโตรเจนเหลว หรือคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง โดยจี้ทุกๆ 2 สัปดาห์ นาน 3 เดือน หรืออาจใช้แสงเลเซอร์หรือเครื่องจี้ไฟฟ้าก็ได้

แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการให้กิน ไซเมทิดีน ในขนาดสูง ในรายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว โดยให้ยานาน 6-8 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและจะช่วยให้หูดยุบหายหมดได้ หรือแพทย์อาจจะใช้ยาต้านไวรัส เช่น ครีมอิมิควิมด ชนิด 5% ทาก่อนนอนวันละครั้ง ให้ทาวันเว้นวันจนกระทั่งหายสำหรับรายที่เป็นหูดบริเวณอวัยวะเพศ

ข้อแนะนำ
1. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่เป็นหูดเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรค

2. ผู้ป่วยไม่ควรเกาบริเวณที่เป็นหูด เพราะอาจทำให้เกิดการลุกลามแพร่กระจายไปตามส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

3. ผู้ป่วยมักจะเป็น หูดข้าวสุก ถ้าหูดนั้นขึ้นเป็นตุ่มกลม ผิวเรียบเป็นมัน ตรงกลางมีรอยบุ๋ม ซึ่งจะมีความแตกต่างและเกิดจากไวรัสต่างชนิดกันกับโรคหูด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า