สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หืด(Asthma)

เป็นโรคเรื้อรังของทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นจากหลอดลมตีบเป็นครั้งคราว ทำให้หายใจหอบเหนื่อย เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง มักไม่มีอันตรายร้ายแรง เว้นแต่ในรายที่เป็นมากหรือได้รับการรักษาอย่างไม่ถูกต้องก็อาจเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร หรือตายได้โรคหืด

พบโรคนี้ได้ในทุกวัย พบบ่อยในช่วงอายุ 10-12 ปี อาการมักเกิดขึ้นครั้งแรกก่อนอายุ 5 ปี มีน้อยที่เกิดครั้งแรกในวันหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ ในวัยเด็กพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง พบโรคนี้มากขึ้นในทุกประเทศโดยเฉพาะในเขตสิ่งแวดล้อมมีมลพิษและสารก่อภูมิแพ้ และการดำรงชีวิตที่ก่อให้เกิดโรคนี้

สาเหตุ
เกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น กรรมพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมทำให้ไวต่อสิ่งเร้ามากกว่าคนปกติ เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหลอดลมหดเกร็ง เนื้อเยื่อผนังหลอดลมบวม การหลั่งเสมหะในหลอดลม ทำให้หลอดลมตีบแคบลงทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นชนิดผันกลับได้  ซึ่งอาจเป็นปกติได้เองหรือหลังให้ยารักษา

บางรายเกิดการอักเสบของหลอดลมนานเป็นแรมปี โครงสร้างของหลอดลมจะค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จนมีความผิดปกติชนิดไม่ผันกลับ  ทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร

ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หวัด ภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ และมักเป็นหืดหรือโรคภูมิแพ้มาจากกรรมพันธุ์

ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่มารดาสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อไวรัสตั้งแต่เล็กๆ  เช่น ไวรัสอาร์เอสวี การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ปริมาณมากในขวบปีแรก

สาเหตุกระตุ้น
สาเหตุกระตุ้นที่ทำให้อาการกำเริบที่พบบ่อยได้แก่
-สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่นบ้าน วัชพืช ละอองหญ้า ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา แมลงสาบหรือสัตว์เลี้ยงในบ้าน อาหาร
-สิ่งระคายเคือง เช่น ฝุ่นละออง มลพิษในอากาศ ควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันธูป สเปรย์ ยาฆ่าแมลงหรือวัชพืช อากาศที่เปลี่ยนแปลง กลิ่นฉุน สารเคมี
-ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยาแอสไพริน
-การติดเชื้อของทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ เป็นต้น
-การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไปอาจทำให้เกิดอาการหอบหืดกำเริบในผู้ป่วยบางราย
-ความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ การงาน ครอบครัว อารมณ์ซึมเศร้า การสูญเสียคนอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็นความเครียดทางด้านจิตใจ
-ฮอร์โมนเพศ โรคหืดมักกำเริบในหญิงระยะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หญิงก่อนมีประจำเดือน หญิงขณะตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 24-36
-โรคกรดไหลย้อน กรดที่ไหลไปในหลอดลมอาจทำให้โรคกำเริบได้บ่อย

อาการ
มักมีอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยร่วมกับเสียงวี้ดคล้ายเสียงนกหวีด มีอาการไอมีเสมหะใสร่วมด้วย

บางรายอาจมีเพียงแน่นหน้าอก ไอ คล้ายไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบในระยะเริ่มแรก มีอาการไอมากตอนกลางคืนหรือเช้ามืด ช่วงอากาศเปลี่ยน หรือเหนื่อยมากๆ เด็กเล็กอาจไอจนอาเจียนมาเป็นเสมหะเหนียวๆ และจะรู้สึกสบายหลังจากอาเจียน

ผู้ป่วยอาจมีอาการคัดจมูก คันคอ เป็นหวัด จาม หรือมีผื่นคันร่วมด้วย หรือมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน

อาการที่เข้าข่ายเป็นโรคหืด
-มีเสียงหายใจดังวี้ดคล้ายเสียงนกหวีดมากกว่าเดือนละครั้ง
-มีอาการไอ เหนื่อยง่าย มีเสียงหายใจดังวี้ดเมื่อออกกำลังกาย
-ไอในตอนกลางคืนโดยที่ไม่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
-มีอาการต่อเนื่องหลังอายุ 3 ปี
-มีอาการกำเริบมากขึ้นเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ ไรฝุ่นบ้าน ขนสัตว์ สเปรย์ ละอองเกสรดอกไม้ การติดเชื้อทางเดินหายใจ การออกกำลังกาย และความเครียด
-มีอาการไข้หวัดนานเกิน 10 วัน ไอรุนแรงนานกว่าปกติ
-มีอาการดีขึ้นเมื่อใช้ยารักษาโรคหืด
-มีโรคหวัดภูมิแพ้ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ที่เกิดจากกรรมพันธุ์

ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางจะมีอาการเป็นครั้งคราว มักกำเริบเมื่อมีสาเหตุกระตุ้น ผู้ป่วยที่หายใจลำบากจะลุกขึ้นนั่งฟุบกับโต๊ะหรือเก้าอี้และหอบตัวโยน

รายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการตลอดทั้งวันจนกว่าจะได้ยารักษาจึงรู้สึกโล่งสบายขึ้น

ผู้ป่วยจะปกติเหมือนคนทั่วไปหากไม่มีอาการกำเริบ

ผู้ป่วยที่เคยเป็นหอบรุนแรงจนต้องรักษาในห้องฉุกเฉินด้วยเครื่องช่วยหายใจ ใช้ยาสตีรอยด์ชนิดกินหรือฉีด ใช้ยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้นสูดมากกว่า 1-2 หลอด/เดือน หากไม่ได้รับยาหรือขาดการรักษาอาจมีอาการต่อเนื่องเป็นวันๆ แม้จะได้รับยาตามปกติแต่ก็ไม่ได้ผล ซึ่งเรียกว่า ภาวะหืดดื้อ หรือหืดต่อเนื่อง ผู้ป่วยจะหายใจลำบาก ร่างกายจะขาดออกซิเจนและมีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด มีอาการสับสน หมดสติ หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

สิ่งตรวจพบ
มักไม่พบสิ่งผิดปกติหากไม่มีอาการหอบ
ในขณะมีอาการหอบตรวจฟังปอดได้ยินเสียงวี้ดเมื่อหายใจออกจากปอดทั้งสองข้าง ถ้ามีอาการหอบมากจะได้ยินเสียงวี้ดทั้งเมื่อหายใจเข้าและหายใจออก ชีพจรเต้นเร็ว ไม่มีไข้ หากมีไข้มักเกิดจากโรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบร่วมด้วย หรือมีปอดอักเสบแทรกซ้อน

ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีอาการหอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม แอ่งไหปลาร้าบุ๋ม ตัวเขียว สับสน หมดสติ ฟังปอดอาจไม่ได้ยินเสียงวี้ดเนื่องจากมีการอุดกั้นรุนแรงจนลมหายใจผ่านเข้าออกน้อย

ในรายที่เป็นหืดเรื้อรังหน้าอกจะมีความหนากว่าปกติ หรือที่เรียกว่า อกโอ่ง ลักษณะเหมือนอกไก่

ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะหมดแรง ขาดน้ำ ปอดแฟบ การติดเชื้อ
ที่ร้ายแรงคือ ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
ภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ภาวะปอดทะลุ ภาวะมีอากาศในประจันอกและใต้หนัง ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นลมจากการไอ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง
โรคหืดที่ไม่สามารถควบคุมได้ในหญิงตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด  ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกตายใกล้คลอดและหลังคลอด

การรักษา
1. เมื่อมีอาการกำเริบเฉียบพลัน ให้สูดยากระตุ้นบีตา 2ทันที  หรือใช้ฉีดใต้ผิวหนัง และสามารถใช้ยานี้ซ้ำได้ 1-2 ครั้งทุก 20 นาทีหากอาการยังไม่ทุเลา

ให้ประเมินสาเหตุกระตุ้น และประวัติการรักษาอย่างละเอียดเมื่อผู้ป่วยรู้สึกหายดีแล้ว

หากมีประวัติเป็นโรคหืดและมียารักษาประจำ ถ้ามีอาการไม่เกิน 2 ครั้ง/สัปดาห์ในตอนกลางวัน ไม่มีอาการในตอนกลางคืน ใช้ชีวิตได้ตามปกติก็ให้รักษาตามกลุ่มอาการที่ควบคุมโรคได้ โดยใช้ยาที่เคยใช้อยู่เดิมต่อไป

ในกรณีมีอาการครั้งแรกและไม่เคยได้รับยารักษามาก่อน ควรรักษาขั้นที่ 2 หากมีอาการรุนแรงก็ให้รักษาตามขั้นที่ 3 ควรตรวจสมรรถภาพของปอดให้คำแนะนำการปฏิบัติดูแลรักษาตัว การใช้ยาที่ถูกต้อง และการหลีกเลี่ยงจากสาเหตุกระตุ้นให้เกิดการกำเริบของโรค

ควรติดตามผู้ป่วยเพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมทุก 1-3 เดือน

2. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากมีอาการกำเริบหรือมีลักษณะดังต่อไปนี้
-ไม่ตอบสนองต่อการรักษาภายใน 1-2 ชม. มีอาการหอบเหนื่อยนานหลายชั่วโมง หรือมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย
-หอบรุนแรง ซี่โครงบุ๋ม ปากเขียว สับสน ซึม พูดไม่เป็นประโยค
-มีประวัติเป็นโรคหืดรุนแรง เคยรักษาจากกรณีฉุกเฉินจากโรคหืดมาก่อน กำลังกินหรือเพิ่งหยุดกินยาสตีรอยด์ หรือใช้ยาบีตา 2 ออกฤทธิ์สั้นสุดบ่อยกว่าทุก 3-4 ชม.
-มีอาการหอบเหนื่อยที่สงสัยว่าจะเกิดจากสาเหตุร้ายแรง เช่น
*มีไข้ตรวจฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ สงสัยว่าเป็นปอดอักเสบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ
*เท้าบวม หลอดเลือดคอโป่ง ความดันโลหิตสูง หรือสงสัยภาวะหัวใจวาย
*เจ็บหน้าอกรุนแรง มีประวัติเป็นโรคหัวใจ สงสัยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

ในรายที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แพทย์จะรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น

ในรายที่เป็นโรคหืดกำเริบรุนแรงหรือต่อเนื่องมีแนวทางรักษาดังนี้
-ให้ออกซิเจนและน้ำเกลือ
-ให้ยาขยายหลอดลม คือ ยากระตุ้นบีตา 2 ออกฤทธิ์สั้น ชนิดสูด 2-4 หนทุก 20 นาทีในชั่วโมงแรก ต่อไป 2-4 หน ทุก 3-4 ชั่วโมงในรายที่เป็นรุนแรงเล็กน้อย หรือ 6-10 หน ทุก 1-2 ชั่วโมงในรายที่เป็นรุนแรงปานกลางถึงมาก
-ให้สตีรอยด์ชนิดสูดในขนาดสูงกว่าเดิม
-ในรายที่อาการรุนแรงปานกลางและมากให้ให้สตีรอยด์ชนิดฉีดหรือกิน อาจให้เมทิลเพร็ดนิโซโลน 40-60 มก. เด็ก 1 มก./กก. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโม หรือให้กินเพร็ดนิโซโลน 40-60 มก. วันละครั้ง เด็กให้ 1-2 มก./กก/วัน เมื่ออาการดีขึ้นให้กินเพร็ดนิโซโลนต่อจนครบ 5 วัน
-ในรายที่อาการรุนแรงจนภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวอาจใช้เครื่องช่วยหายใจพร้อมไปกับการแก้ไขอาการผิดปกติต่างๆ เมื่อควบคุมอาการได้ แพทย์จะนัดเพื่อดูอาการใน 2-4 สัปดาห์

3. ในผู้ป่วยโรคหืดแพทย์จะให้การรักษาระยะยาวเพื่อป้องกันการกำเริบรุนแรงเฉียบพลัน ฟื้นฟูสมรรถภาพของปอด ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ป้องกันภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างถาวร โดย

ก. ประเมินความรุนแรงของโรคจากอาการแสดงร่วมกับการตรวจสมรรถภาพของปอด
ข. ให้ยารักษาโรคหืด ตามระดับของการควบคุมโรค ดังนี้

1. กลุ่มควบคุมได้ รักษาตามขั้นตอนต่อเนื่อง 3 เดือน แล้วค่อยปรับลดทีละน้อยจนถึงขั้นต่ำสุดที่ยังสามารถควบคุมอาการได้

2. กลุ่มควบคุมได้บางส่วน และกลุ่มควบคุมไม่ได้  ควรปรับขั้นตอนตนกว่าจะสามารถควบคุมได้ภายใน 1 เดือน ก่อนปรับยาควรทบทวนการใช้ยาอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงสาเหตุกระตุ้นของผู้ป่วยหรือไม่

หลังจากควบคุมอาการได้แล้ว ควรติดตามผลการรักษาต่อไปทุก 1-3 เดือน ปรับขั้นตอนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

ยาที่ใช้รักษาโรคหืดแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
-ยาบรรเทาอาการ มักใช้ยากระตุ้นบีตา 2 ออกฤทธิ์สั้นชนิดสูด ออกฤทธิ์ขยายหลอดลมได้เร็ว มีผลข้างเคียงน้อย ใช้สูดเมื่อมีอาการและให้ซ้ำเมื่ออาการกำเริบแต่ไม่เกินวันละ 3-4 ครั้ง

ในรายที่สูดไม่ได้อาจใช้ชนิดกิน หรือทีโอฟิลลีนออกฤทธิ์สั้นชนิดกินแทน ส่วนยากระตุ้นบีตา 2 ชนิดฉีดจะใช้เฉพาะเมื่อมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน

ยาสูดชนิดนี้อาจให้ผลไม่เต็มที่ ต้องใช้ยาขยายหลอดลมกลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก ได้แก่ ไอพราโทรเพียมโบรไมด์ชนิดสูดแทนหรือใช้ร่วมกัน ซึ่งจะเสริมให้ควบคุมอาการได้ดีขึ้น

-ยาควบคุมโรค ผู้ป่วยที่ต้องรักษาตั้งแต่ขั้นที่ 2 ถึง 5 แพทย์จะให้ยาควบคุมโรค ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอักเสบ ลดอักเสบ การบวมของผนังบุหลอดลม ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาหืดเรื้อรัง หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้ควบคุมและลดการกำเริบของโรคได้ ยากลุ่มนี้ ได้แก่

1. สตรีรอยด์ชนิดสูด เช่น บีโคลเมทาโซนไดโพรพิโอเนต บูดีโซไนด์ ฟลูนิโซไลด์ ฟลูทิคาโซน ไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ เป็นต้น มักใช้เดี่ยวๆ ในการรักษาขั้นที่ 2 และ 3 หรือใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาขั้นที่ 3-5

2. ยากระตุ้นบีตา 2 ออกฤทธิ์นาน เช่น formoterol หรือ salmeterol ชนิดสูด bambuterol ชนิดกิน มักใช้ร่วมกับสตีรอยด์ชนิดสูดในการรักษาขั้นที่ 3-5

3. ยาต้านลิวโคทรีน เช่น montelukast  หรือ zafirlukast ชนิดกิน ใช้เดี่ยวในการรักษาขั้นที่ 2 หรือใช้ร่วมกับยาอื่นในขั้นที่3-5  ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่เป็นหืดจากยาแอสไพริน หรือการออกกำลังกาย รวมทั้งในรายที่มีโรคหวัดจากภูมิแพ้ร่วมด้วย

4. ทีโอฟิลลีนออกฤทธิ์นานชนิดกิน ใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาขั้นที่ 3-5

5. เพร็ดนิโซโลนชนิดกิน ใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาขั้นที่ 5 ขนาด 5-10 มก. วันละครั้งจนกว่าอาการจะดีขึ้นจึงหยุดยา

6. ยาต้านไอจีอี เช่น omalizumab ฉีดใต้ผิวหนัง ใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษาขั้นที่ 5
ถ้าผู้ป่วยรักษาขั้นที่ 3 แล้วยังควบคุมอาการไม่ได้ ควรส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม

ในเด็กที่มีสาเหตุจากสารก่อภูมิแพ้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ อาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยา ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วย การจัดภูมิไว เพื่อลดอาการแพ้ ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ผลดีในเด็ก และต้องใช้เวลาในการรักษายาวนาน

ค. รักษาโรคที่พบร่วมกัน เช่น หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น

ง. หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าและสาเหตุกระตุ้นของโรค

จ. ติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง ตรวจสมรรถภาพปอดเป็นระยะๆ ในรายที่รุนแรงควรให้ผู้ป่วยใช้มาตรวัดการไหลของลมหายใจออกสูงสุด ไปตรวจเองที่บ้านทุกวัน เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและปรับยาให้เหมาะสม กลุ่มนี้ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง
ส่วนใหญ่การรักษาสามารถควบคุมอาการได้ดี
ถ้ามีอาการตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาวอาการจะทุเลาลงจนสามารถหยุดยาได้ หรืออาจมีอาการกำเริบขึ้นอีกในบางราย

ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีการอักเสบของหลอดลมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีอาการหอบเหนื่อยแล้ว หากไม่ได้รับยาควบคุมโรคอาจเกิดภาวะทางเดินหายใจผิดปกติและอุดกั้นระยะยาวได้ จึงควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องแม้อาการจะทุเลาลงแล้ว

ในรายที่เป็นหนักมาก ต้องได้รับยาอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาสตีรอยด์มาก่อนอาจมีอาการกำเริบรุนแรงเฉียบพลันถึงขั้นเป็นภาวะหืดดื้อ เป็นอันตรายได้หากขาดยา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราตายต่ำลงเนื่องจากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

ขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยโรคหืด(สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 5 ปี)*

ขั้นที่ 1

ขั้นที่ 2

ขั้นที่ 3

ขั้นที่ 4

ขั้นที่ 5

ให้สุขศึกษา ให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจธรรมชาติของโรค และหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าหรือสาเหตุกระตุ้น

ให้ยาบรรเทาอาการ ยากระตุ้นบีตา 2 ออกฤทธิ์สั้นชนิดสูดเมื่อมีอาการ**

ยาควบคุมโรค

ไม่จำเป็นต้องให้

ให้ยาควบคุมโรค

-สตีรอยด์ชนิดสูดในขนาดต่ำหรือ

-ยาต้านลิวโคทรีนชนิดกิน

ให้ยาควบคุมโรค

-สตีรอยด์ชนิดสูดในขนาดต่ำร่วมกับยากระตุ้นบีตา 2 ออกฤทธิ์นานชนิดสูด

หรือ

-สตีรอยด์ชนิดสูดในขนาดสูง

หรือ

-สตีรอยด์ชนิดสูดในขนาดต่ำร่วมกับ ยาต้านลิวโคทรีน

หรือ

-สตีรอยด์ชนิดสูดในขนาดต่ำร่วมกับ ทีโอฟิลลีนออกฤทธิ์นานชนิดกิน

ให้ยาควบคุมโรค

-สตีรอยด์ชนิดสูดในขนาดปานกลางถึงสูงร่วมกับยากระตุ้นบีตา 2 ออกฤทธิ์นานชนิดสูด

-ถ้าไม่ได้ผล อาจเพิ่มยาขนานใดขนานหนึ่งหรือมากกว่าดังต่อไปนี้

1.ยาต้านลิวโคทรีนชนิดกิน

2.ทีโอฟิลลีนออกฤทธิ์นานชนิดกิน

ให้ยาควบคุมโรค

-ให้ยาแบบเดียวกับขั้นที่4 และเพิ่มยาขนานใดขนานหนึ่งหรือมากกว่าดังต่อไปนี้

1.สตีรอยด์ชนิดกินในขนาดต่ำ

2.การฉีดยาต้านไอจีอี

*สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี ควรเริ่มการรักษาขั้นที่ 2 ด้วยยาสตีรอยด์ชนิดสูดในขนาดต่ำ
**อาจใช้ยาชนิดอื่นแทน เช่น ยากระตุ้นบีตา 2 ออกฤทธิ์สั้นชนิดกิน ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (ไอพราโทรเพียมโปรไมด์) ชนิดสูด ทีโอฟิลลีนออกฤทธิ์สั้นชนิดกิน เป็นต้น ไม่แนะนำให้ใช้ยากระตุ้นบีตา 2 เป็นประจำ ยกเว้นในกรณีที่มีการใช้สตีรอยด์ชนิดสูดเป็นประจำ

การแบ่งระดับของการควบคุมโรค(หลังได้รับการดูแลรักษา)

ลักษณะ

กลุ่มควบคุมได้(มีลักษณะข้างล่างนี้ทุกข้อ)

กลุ่มควบคุมได้บางส่วน(มีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งในสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่ง)

กลุ่มควบคุมไม่ได้

อาการตอนกลางวัน ไม่มี(หรือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้ง/สัปดาห์) มากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ มีลักษณะแบบเดียวกับกลุ่มควบคุมได้บางส่วน มากกว่าหรือเท่ากับ 3 ข้อในสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่ง
การทำกิจกรรม ทำได้ปกติ ทำได้น้อยลง
อาการตอนกลางคืน/การรบกวนการนอนหลับ ไม่มี มี
การใช้ยาบรรเทาอาการ ไม่มี(หรือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้ง/สัปดาห์) มากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์
สมรรถภาพของปอด*(ค่า FEV หรือ PEF) ปกติ น้อยกว่า 80%ของค่ามาตรฐาน
อาการกำเริบรุนแรง(exacerbation) ไม่มี มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ครั้ง/ปี 1 ครั้งในสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่ง

*ในเด็กอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี ไม่ต้องใช้ค่า FEV และ PEF เนื่องจากยังไม่สามารถตรวจสมรรถภาพของปอดได้

ตัวอย่างยาสตีรอยด์ชนิดสูด

ชนิด

ขนาดที่ใช้(ไมโครกรัม/วัน)

ต่ำ

กลาง

สูง

บีโคลเมทาโซนไดโพรพิโอเนต(beclomethasone dipropionate)

100-200

>200-400

>400

บูดีโซไนด์(budesonide)

100-200

>200-400

>400

ฟลูนิโซไลด์(flunisolide)

500-750

>750-1250

>1250

ฟลูทิคาโซน(fluticasone)

100-200

>200-500

>500

ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์(triamcinolone acetonide)

400-800

>800-1200

>1200

ข้อแนะนำ
1. แม้โรคนี้จะเป็นโรคเรื้อรัง หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง ก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สามารถควบคุมอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

2. ผู้ป่วยบางรายมีเพียงอาการไอโดยไม่มีอาการหอบเหนื่อย หรือหายใจเสียงวี้ด ทำให้การวินิจฉัยโรคยากขึ้น หากผู้ป่วยไอตอนกลางคืนหรือเช้ามืด ในช่วงอากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยนหรือขณะออกกำลังกายควรคิดถึงโรคหืดระยะแรก โดยเฉพาะถ้ามีประวัติในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ก่อน

3. ผู้ป่วยอาจมีอาการกำเริบรุนแรงขณะตั้งครรภ์ หรือเข้ารับการผ่าตัด ควรปรับยาให้เหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา

4. ควรลดน้ำหนักหากอ้วน จะช่วยให้อาการทุเลาลงได้

5. อาจมีการวินิจฉัยโรคผิดหากได้รับยาแล้วยังไม่ดีขึ้น มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้องรัง ผู้ป่วยสูบบุหรี่ การใช้ยาไม่ครบ การสูดยาไม่ถูกวิธี ไม่ได้รักษาที่เกิดร่วมกัน การสัมผัสสาเหตุกระตุ้น การดื้อต่อสตีรอยด์ เป็นโรคหืดที่รุนแรง ค้นค้นหาและแก้ไขตามสาเหตุ

6.ผู้ป่วยที่หอบเหนื่อยรุนแรง ห้ามใช้ยานอนหลัง ยาละลายเสมหะ ซึ่งอาจทำให้อาการเลวลงได้

7. ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย
-ควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ ตรวจปอดเป็นระยะ ใช้ยาให้ถูกต้อง แม้จะรู้สึกสบายดีแล้วก็ตาม
-ควรพกยาติดตัวเป็นประจำ หากอาการกำเริบให้รีบสูดยา 2-4 หนทันที หากไม่ทุเลาให้สูดซ้ำทุก 20 นาที อีก 1-2 ครั้ง ถ้าไม่หายให้รีบไปพบแพทย์
-ดื่มน้ำอุ่นมากๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำโดยเฉพาะเวลาไอมีเสมหะเหนียวหรือมีอาการหอบเหนื่อย
-เมื่อสูดยาสตีรอยด์ทุกครั้งควรบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทันที เพื่อป้องกันยาตกค้างซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเชื้อราในช่องปาก
-อย่าซื้อยามารับประทานเองเพราะมีสตีรอยด์ผสมซึ่งมีผลข้างเคียงร้ายแรงจากการใช้เป็นเวลานาน ห้ามหยุดยาทันทีเพราะอาจทำให้หอบกำเริบรุนแรงหรือเกิดภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติได้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหาทางปรับลดยาลง
-ฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ โดยเป่าลมออกทางปากให้ลมในปอดออกให้มากที่สุด เป็นประจำ จะทำให้รู้สึกปลอดโปร่งสดชื่น และอาการดีขึ้น

การป้องกันไม่ให้โรคหืดกำเริบมีดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคือง ควรสังเกตว่าอาการกำเริบเวลาใด สถานที่ใด และหลังสัมผัสถูกอะไร เช่น
-กำจัดไรฝุ่นบ้าน ดูแลรักษาความสะอาดเสมอๆ
-หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง
-กำจัดแมลงสาบโดยกับดัก หากฉีดพ่นยาผู้ป่วยอาจสัมผัสสิ่งกระตุ้นทำให้หอบได้
-หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อราจากสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน และสิ่งแวดล้อม
-หลีกเลี่ยงละอองเกสรดอกไม้ และฝุ่นจากเครื่องปรับอากาศ ควรกินยาแก้แพ้เมื่อออกจากบ้าน หลังจากกลับมาให้อาบน้ำทำความสะอาดทันที
-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ หรือควันการแหล่งอื่นๆ
-หลีกเลี่ยงการดมกลิ่นสี น้ำหอม สเปรย์ กาว น้ำยาฆ่าเชื้อ สารเคมี เป็นต้น
-หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นสารเคมี โดยจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยและใช้อุปกรณ์ป้องกัน

2. ออกกำลังกายเป็นประจำแต่ไม่หักโหมเกินไป เตรียมยาขยายหลอดลมหากมีอาการเกิดขึ้น ถ้าเคยมีอาการหืดจากการออกกำลังกายควรสูดก่อนออกกำลัง 15-20 นาที ควรหยุดพักแล้วใช้ยาสูดหากกำเริบระหว่างออกกำลังกายจนกว่าอาการจะดีขึ้น

3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา หากไปพบแพทย์ด้วยโรคอื่นควรแจ้งเกี่ยวกับโรคหืด เพื่อหลีกเลี่ยงยาเหล่านี้

4. ควรป้องกันและผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ ตามชอบและถนัด

5. พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ระวังไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า