สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หัดเยอรมัน/เหือด

พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อัตราสูงสุดในการป่วยอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี มีอาการคล้ายหัดแต่ความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนมีน้อยกว่า โรคมักหายได้เองเพราะโรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง โรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี ติดต่อโดยสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรค แต่ระบาดน้อยกว่าหัดและอีสุกอีใส ถ้าเกิดโรคนี้กับหญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนรก เชื้ออาจแพร่เข้าสู่ทารกในครรภ์ ทำให้แท้งบุตร ทารกพิการ หรือตายในครรภ์ได้

สาเหตุ
หัดเยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ รูเบลลา(rubella) ซึ่งอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะผู้ป่วย สามารถติดต่อได้โดยการสูดเอาละอองเสมหะเมื่อผู้ป่วยไอ จาม จากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้ออยู่ หรือจากการสัมผัสมือ สัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 14-21 วันหัดเยอรมัน

อาการที่สำคัญ
ลักษณะของผื่นจะขึ้นทั่วตัวคล้ายหัด เด็กเล็กมักมีผื่นขึ้นโดยไม่มีอาการอย่างอื่นให้เห็นเด่นชัด บางรายก่อนผื่นขึ้นอาจมีน้ำมูกหรือถ่ายเหลวเล็กน้อย

เด็กโตและผู้ใหญ่ จะมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตา เจ็บคอ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรืออาการคล้ายเป็นหวัด จะเป็นอยู่ 1-5 วันก่อนผื่นขึ้น เมื่อผื่นขึ้นแล้วอาการเหล่านี้จะค่อยทุเลาลง

ผื่นมีขนาดเล็กๆ ลักษณะเป็นผื่นราบสีชมพูไม่แผ่รวมกัน มักจะเริ่มขึ้นบริเวณชายผม รอบปาก ใบหู  ลงมาที่คอ แขน ลำตัว และขาภายใน 1-3 วัน ผื่นมักจะหายภายใน 24 ชั่วโมง จากส่วนใบหน้าลงมาที่ขา บางครั้งผื่นที่ลำตัวอาจแผ่รวมกันเป็นแผ่นใหญ่ขึ้น ผื่นทั้งหมดจะหายได้ในเวลาประมาณ 3 วัน (three-day measles) โดยไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ เว้นแต่รายที่เป็นผื่นมากอาจลอกเป็นขุย โดยทั่วไปมักไม่มีอาการคันยกเว้นบางรายอาจมีอาการได้บ้าง

ผู้ป่วยที่เป็นหัดเยอรมันบางรายอาจไม่มีผื่นขึ้นเลยก็ได้ แต่เชื้อจากผู้ป่วยสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้

สิ่งตรวจพบ
ผื่นราบขนาดเล็กสีชมพู ขึ้นอยู่ตามใบหน้า ลำคอ ลำตัว และแขนขา
บางครั้งอาจไม่มีไข้ ถ้ามีประมาณ 37.5-38.5 องศาเซลเซียส มีตาแดงเล็กน้อย

วันแรกที่ผื่นขึ้นหรือก่อนผื่นขึ้น อาจพบจุดแดงที่เพดานอ่อนขนาดเท่าปลายเข็ม เป็นอยู่ประมาณ 24 ชั่วโมง

ลักษณะเฉพาะ คือ ตรงหลังหู หลังคอท้ายทอย และข้างคอทั้ง 2 ข้าง พบมีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นเม็ดตะปุ่มตะป่ำ อาจอยู่ได้นานหลายสัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อน
1. หญิงมีครรภ์เชื้อสามารถแพร่ไปสู่ลูกในระยะไตรมาสแรก อาจทำให้แท้งบุตร ตายคลอด หากรอดชีวิตจะมีความพิการแต่กำเนิด เรียกว่า โรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด(congenital rubella) ทารกจะน้ำหนักแรกเกิดน้อยการเจริญเติบโตช้า ต้อกระจกอาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง จอประสาทตาพิการ(retinopathy) นัยน์ตาเล็ก (microphthalmia) หูหนวกทั้งสองข้าง หัวใจพิการ(patent ductus arteriosus) ปัญญาอ่อน ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ตับโต ม้ามโต โรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น ต้อหิน ศีระเล็กผิดปกติ ผนังหัวใจรั่ว (ASD,VSD) ซีด ดีซ่าน ตับอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น ซึ่งทารกบางรายอาจเสียชีวิตหลังคลอดได้

ความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ขณะติดเชื้อ หากแม่เป็นโรคนี้ขณะตั้งครรภ์ 2 เดือนแรก ทารกจะมีความผิดปกติถึงร้อยละ 60-85 ถ้าเป็นขณะตั้งครรภ์เดือนที่ 3 ทารกจะมีความผิดปกติประมาณ 1ใน 3

2. ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ทั่วไป
-ข้ออักเสบ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในเด็กโตกับวัยผู้ใหญ่ และมักจะหายได้เอง

-พบสมองอักเสบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ประมาณ 1 ใน 6,000 เกิดหลังผื่นขึ้น 2-4 วัน หรือพร้อมกับผื่นขึ้น อัตราการตายมีถึงร้อยละ 20-50

-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ประสาทตาอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ ตับอักเสบ เยื่อบุหัวใจหรือกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น

การรักษา
1. ผู้ป่วยทั่วไปให้รักษาตามอาการ ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพรินในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 19 ปี เพราะเสี่ยงต่อโรคเรย์ซินโดรม ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่มีสตีรอยด์ถ้าเกิดข้ออักเสบ ใช้ยาแก้ผดผื่นหากมีอาการคัน อาการเหล่านี้มักจะหายใน 3-5 วัน หรือ 1 สัปดาห์

2. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะตกเลือด เป็นต้น

การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อตรวจหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อ หรือการเพาะเชื้อจากจมูกและคอหอยเพื่อใช้เป็นการยืนยันในการตรวจวินิจฉัยโรคนี้

3. ควรแนะนำไปโรงพยาบาลหากพบหญิงมีครรภ์มีผื่นขึ้นหรือสงสัยเป็นหัดเยอรมัน หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ แพทย์มักจะเจาะเลือดเพื่อทดสอบทางน้ำเหลืองอย่างน้อย 2 ครั้ง

หญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก หากพบว่าเป็นหัดเยอรมัน แพทย์จะยุติการตั้งครรภ์ ระยะครรภ์ 4-6 เดือน ทารกอาจพิการแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าควรยุติการตั้งครรภ์หรือไม่เพราะจะมีโอกาสพิการได้น้อยกว่าระยะ 3 เดือนแรก ส่วนครรภ์ระยะ 7-9 เดือน ทารกมักปลอดภัย

แพทย์อาจฉีดอิมมูลโกลบูลินแก่ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ วิธีนี้จะช่วยลดความรุนแรงของโรคที่เกิดกับทารกได้แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อของทารกในครรภ์ได้ก็ตาม

ข้อแนะนำ
1. ควรแยกผู้ป่วยในระยะติดต่อตั้งแต่ 5 วันก่อนผื่นขึ้นจนถึง 6 วันหลังผื่นเริ่มขึ้น

2. โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่จะสร้างปัญหาต่อหญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรกเท่านั้น เพราะอาจทำให้ทารกพิการได้

3. โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก เพราะจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต

4. ควรมีการคุมกำเนิดไว้ 3 เดือน ในหญิงที่เป็นหัดเยอรมัน เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์

5. หากเกิดการระบาด ควรคุมกำเนิดไว้ก่อนจนกว่าจะพ้นระยะนี้ไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันและคุมกำเนิดต่อไปอย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน

การป้องกัน
1. เด็กทุกคนควรฉีดวัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน(MMR) เข็มแรกฉีดเมื่ออายุ 9-12 เดือน และฉีดซ้ำเมื่ออายุได้ 4-6 ปี

เด็กหญิงวัยรุ่น หรือหญิงวัยเจริญพันธุ์ ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันเดี่ยวๆ หรือวัคซีนรวม 1 เข็ม ถ้ายังไม่เคยฉีดมาก่อน

แนะนำให้ฉีดวัคซีนระยะที่มีประจำเดือนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่แต่งงานแล้ว และคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน  ถ้าหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันภายใน 3 เดือนแล้วเกิดตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ เพราะไม่มีรายงานการได้รับอันตรายต่อทารกจากการฉีดวัคซีนนี้

2. หากมีการระบาดหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคนี้ ควรหลีกเลี่ยงที่ที่มีผู้คนแออัด ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ เช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อ ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย สัมผัสมือผู้ป่วย ผู้ป่วยควรแยกตัวออกห่างจากผู้อื่น  ใช้ผ้าปิดจมูกและปากเมื่อไอหรือจาม ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องไปในที่ชุมชน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า