สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

หลอดลมฝอยอักเสบ(Bronchiolitis)

เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของทางเดินหายใจส่วนล่าง พบมากในเด็กช่วงอายุ 2-8 ปี มักเป็นกันมากในฤดูฝน ทารกที่มารดาสูบบุหรี่มักพบเป็นโรคนี้หลอดลมฝอยอักเสบ

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสที่สำคัญคือ กลุ่มอาร์เอสวี(respiratory syncytial virus/RSV) มักทำให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก การติดต่อของโรคแบบเดียวกับไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัสผ่านวัตถุหรือสิ่งของต่างๆ เชื้อจะแพร่กระจายไปที่หลอดลมฝอย ทำให้เยื่อบุผิวอักเสบ บวม และหลั่งเสมหะออกมากอุดกั้นการหายใจ ทำให้ไอและหอบ ระยะฟักตัวของเชื้ออาร์เอสวี ประมาณ 2-5 วัน

อาการ
อาการเหมือนไข้หวัด อีกประมาณ 2-5 วันต่อมาอาการจะรุนแรง หายใจหอบ มีเสียงวี้ด ซึม กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาเจียนหลังการไอ มีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ มีอาการปากเขียวในรายที่หอบมากๆ

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ 38-39 องศาเซลเซียส หรือไม่มีก็ได้
รายที่เป็นรุนแรงจะหายใจเร็วมากกว่า 50-60 ครั้ง/นาที ชีพจรเต้นเร็ว ซี่โครงและลิ้นปี่บุ๋ม ปากเขียว พบภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น เคาะปอดมีเสียงโปร่ง ฟังปอดได้ยินเสียงวี้ดกระจายทั่วไป เสียงหายใจออกยาวกว่าปกติ และอาจมีเสียงกรอบแกรบ อาจพบหูชั้นกลางอักเสบร่วมด้วยในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีภาวะขาดน้ำ ปอดอักเสบประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วย ภาวะปอดแฟบจากการอุดกั้นของหลอดลม
บางรายมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย
กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักเกิดกับ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคเรื้อรังของปอด

การรักษา
เมื่อเด็กเล็กหายใจหอบหลังเป็นไข้หวัด หากไม่แน่ใจควรส่งให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและทดสอบเพื่อพิสูจน์เชื้อต้นเหตุด้วยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ทดสอบทางน้ำเหลือง เป็นต้น

รักษาโดยให้ยาลดไข้ ให้ออกซิเจน น้ำเกลือ ใช้เครื่องดูดเสมหะ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยาขยายหลอดลม ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนหรือหูชั้นกลางอักเสบร่วมด้วยจึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
ส่วนใหญ่จะหายจากโรคนี้ได้ใน 7-10 วัน มีอัตราการตายประมาณร้อยละ 2 ที่เป็นรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งพบมากในทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน

ข้อแนะนำ
1. เด็กเล็กจะมีอาการของโรคนี้คล้ายโรคหืด ปอดอักเสบ การสำลักสิ่งแปลกปลอม ควรซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดหากพบเด็กหายใจหอบ และนำส่งโรงพยาบาล
2. เด็กที่เป็นโรคนี้มากกว่า 2 ครั้ง มีโอกาสเป็นโรคหืดในภายหลัง จึงควรติดตามอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด
3. เด็กเล็กที่เป็นไข้หวัด หากพบว่ามีอัตราการหายใจเร็วกว่าปกติควรสงสัยว่าเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ ครู้ป ปอดอักเสบ หรือภาวะร้ายแรงอื่นๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า