สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สิว(Acne/Acne vulgaris)

มักพบภาวะนี้ได้ในคนทุกวัย พบได้บ่อยในช่วงอายุ 12-24 ปี มักเป็นครั้งแรกหลังเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ส่วนใหญ่เมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไปก็มักจะหายไปได้เอง แต่ในผู้หญิงบางรายอาจเป็นอยู่นานถึงอายุ 40-50 ปีก็ได้ หรือเป็นครั้งคราวขณะมีประจำเดือน ขณะตั้งครรภ์ หรือใช้ยาคุมกำเนิด มักพบว่าผู้ชายมีโอกาสเป็นสิวที่รุนแรงกว่าในผู้หญิงสิว

สาเหตุ
ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเพศที่สำคัญเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ได้แก่ ฮอร์โมนเพศชายที่มีชื่อว่า เทสโทสเทอโรน ซึ่งสร้างโดยอัณฑะ และต่อมหมวกไต ฮอร์โมนชนิดนี้จะกระตุ้นให้ต่อมไขมันที่ผิวหนังสร้างไขมันออกมามาก และระบายออกมาตามรูขุมขน หากหนังกำพร้าชั้นนอกมีการหนาตัวก็จะทำให้เกิดการคั่งของไขมันในขุมขนจนเกิดการอุดตันและเป็นสิวขึ้น หรือเกิดคอมีโดน(comedone) ที่เรียกว่า สิวเสี้ยน เป็นลักษณะสิวหัวขาวและหัวดำ และเมื่ออุดตันมากขึ้นก็เกิดการสะสมไขมันมากยิ่งขึ้นจนพองโตและแตก ทำให้สารที่อยู่ภายในต่อมไขมันกระจายไปยังหนังกำพร้าและหนังแท้บริเวณใกล้เคียงจนกลายเป็นสิวอักเสบขึ้น

เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในต่อมไขมัน ที่ชื่อว่า พีแอกเนส์ (Propionibacterium acnes/P.acnes) ก็ทำให้เกิดการอักเสบของหัวสิวได้ จากการย่อยไขมันที่เป็นกรดไขมันอิสระร่วมกับสารต่างๆ ที่เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้หลั่งออกมา ซึ่งสิวที่อักเสบจะมีลักษณะเป็นสิวหัวแดงหรือตุ่มหนอง และหัวสิวอาจปูดโปนเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่ เรียกว่า สิวหัวช้าง หรือเป็นถุงขนาดใหญ่และอยู่ลึกได้ถ้ามีการอักเสบรุนแรง มักพบว่าผู้ป่วยมีความเกี่ยวข้องทางกรรมพันธุ์จากประวัติคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน

นอกจากนี้สิ่งที่กระตุ้นให้สิวกำเริบขึ้นอาจพบว่ามีจากหลายสาเหตุ เช่น ความวิตกกังวลหรืออารมณ์เครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ในระยะ 2-7 วันก่อนมีประจำเดือน การใช้ยา การระคายเคืองผิว การเสียดสี การใช้เครื่องสำอาง การใช้สบู่ การใช้น้ำมันใส่ผม การใช้ครีมทาฝ้าลอกฝ้า หรือการทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนชื้อ มีเหงื่อออกมาก เป็นต้น

อาการ
ในระยะเริ่มเป็นที่บริเวณหน้าผากและแก้มจะพบสิวหัวขาวหรือสิวหัวดำขนาดเท่าหัวเข็มหมุด หรือบางรายสิวอาจขึ้นที่คอ หน้าอกและหลังด้วยก็ได้ และในระยะต่อมาสิวนี้ก็จะมีการอักเสบกลายเป็นตุ่มแดงและตุ่มหนอง ขนาด 1-5 มม. ในบางรายอาจเป็นรอยสีน้ำตาลดำเมื่อสิวยุบไปแล้วและเป็นอยู่นานหลายเดือนกว่าจะจางหายไป ซึ่งในคนผิวคล้ำมักจะพบได้บ่อย

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากๆ สิวมักจะปูดโปนเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่กว่า 0.5 ซม. คลำได้ลึกและเจ็บ หรือเป็นถุงใหญ่ขนาด 0.5-1 ซม. อยู่ค่อนข้างลึก คลำได้ก้อนมีหนองปนเลือดอยู่ข้างใน เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นหลุมหรือแผลเป็น หรืออาจกลายเป็นคีลอยด์ในบางราย แต่ถ้าเป็นไม่มากอาจไม่มีการอักเสบของหัวสิวเกิดขึ้น และอาจยุบหายไปได้เองแต่จะทิ้งรอยแผลเป็นเล็กๆ ไว้

ภาวะแทรกซ้อน
มักไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงในโรคนี้ แต่ในบางรายก็อาจทำให้ขาดความเชื่อมั่นและเสียบุคลิกภาพได้ถ้าสิวเกิดอักเสบรุนแรงและกลายเป็นแผลเป็น หรือแผลคีลอยด์ หรือผิวหน้าขรุขระ เกิดขึ้น

การรักษา
1. ผู้ที่เป็นสิวควรปฏิบัติตัวดังนี้
-ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการและอาจช่วยให้สิวทุเลาลงได้ เช่น ความเครียด การอดนอน อากาศที่ร้อนชื้น เหงื่อออกมาก การใช้เครื่องสำอาง การใช้ยาบางชนิด การระคายเคืองผิว การเสียดสี เป็นต้น

-ควรล้างหน้าวันละ 1-2 ครั้ง ด้วยน้ำสะอาด หรือใช้สบู่เด็กฟอกหน้าวันละครั้งแล้วล้างให้สะอาด ซับหน้าด้วยผ้าขนหนูเบาๆ ไม่ถูแรงๆ หรือล้างหน้าบ่อยเกินไปเพราะอาจทำให้สิวกำเริบมากขึ้นได้

-ควรออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียดเป็นประจำ เช่น ฝึกโยคะ รำมวยจีน ทำสมาธิ

-หลีกเลี่ยงการบริโภคสารที่กระตุ้นให้เกิดสิว เช่น น้ำตาล นมและผลิตภัณฑ์จากนม

-ไม่ควรบีบ เค้น กด หรือแกะสิวเอง เพราะอาจทำให้ติดเชื้อลุกลามได้

-หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีผลต่อผิวหนังและต่อมไขมัน เช่น ครีมบำรุงผม ครีมนวดหน้า ครีมแก้รอยเหี่ยวย่นที่มีสตีรอยด์ผสม หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรเลือกที่มีความชุ่มชื้นไม่มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดสิว หรือผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า “ไม่ก่อให้เกิดคอมีโดน”

2. ถ้าสิวเสี้ยนยังไม่มีการอักเสบเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนองควรให้การรักษาดังนี้

ก. ใช้ยาทากลุ่มกรดเรติโนอิกชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้
-เทรติโนอิน ชนิดเจนหรือครีม ชนิด 0.025%, 0.05% และ 0.1% มีชื่อทางการค้า เช่น เรติน-เอ ซึ่งอยู่ในกลุ่มกรดเรติโนอิกมีฤทธิ์ละลายขุยทำให้หัวสิวหลุดลอกและป้องกันการเกิดใหม่ของสิว โดยใช้ทาทั้งใบหน้ายกเว้นบริเวณรอบตาและซอกจมูก วันละครั้งก่อนนอน เมื่อใช้ไปนาน 3-4 เดือนก็จะเริ่มเห็นผล ผู้ที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดหรือทากันแดดในกลางวันเนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคือง หน้าแดง แสบ แห้ง ลอกและเกิดการแพ้แดดได้ หรือบางรายในช่วง 3-4 สัปดาห์แรกของการใช้ยาอาจทำให้เป็นสิวมากขึ้น

-ไอโซเทรติโนอิน ชนิดเจลหรือครีม ชนิด 0.05% มีชื่อทางการค้า เช่น ไอโซเทรกซ์ ใช้ทาวันละครั้งก่อนนอน มีฤทธิ์ทำให้การสร้างเคอราติน
กลับสู่สภาพปกติ และลดการอักเสบ มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้เทรติโนอิน

-อะดาฟาลีน ชนิดเจลหรือครีมชนิด 0.1% มีชื่อทางการค้า เช่น ดิฟเฟอริน เป็นกรดเรติโนอิกสังเคราะห์ ใช้รักษาได้ทั้งสิวเสี้ยนและสิวอักเสบ ยาจะมีความคงตัวมากกว่าเมื่อถูกแสงแดด ใช้ทาตอนเช้าได้ มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเทรติโนอิน

ข. ทำการกดสิว โดยใช้เครื่องมือกดสิว ในรายที่รูเปิดเล็กมากอาจขยายรูเปิดเพื่อช่วยให้การกดสิวเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้เข็มเบอร์ 25 หรือ 26 และควรทำอย่างถูกหลักวิธีและสะอาด จะทำให้หายได้เร็วขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดตุ่มอักเสบเห่อหลังการรักษา เนื่องจากวิธีนี้มักได้ผลเพียงชั่วคราวอาจเกิดสิวขึ้นมาได้ใหม่อีก จึงควรใช้ร่วมกับการทายาดังกล่าวข้างต้นร่วมด้วย

3. ถ้าเป็นสิวหัวแดงหรือตุ่มหนอง ควรรักษาดังนี้

ก. ใช้ยารักษาสิวชนิดทาตัวใดตัวหนึ่งต่อไปนี้
-เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ ชนิดเจนหรือครีมชนิด 2.5%, 5% และ 10% มีชื่อทางการค้า เช่น แอกซี(Aczee) เบนแซกเอซี(Benzac AC) พาโนซิล (Panoxyl) ควรเริ่มต้นใช้ยาในขนาดต่ำก่อน โดยทาทิ้งไว้ 5-10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน และค่อยๆ เพิ่มขนาดยาและเวลาให้มากขึ้นได้ทุก 1-2 เดือน ยานี้จะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อพีแอกเนส์ ลดการอักเสบ และลดปริมาณไขมันที่ผิวหนัง แต่อาจทำให้หน้าแดง แสบ แห้งเป็นขุย ได้ ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาทาอื่นๆ ที่กล่าวแล้ว โดยในตอนเช้าให้ทาด้วย เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ และตอนก่อนนอนทาด้วยกรดเรติโนอิกชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรให้สลับวันกันเมื่อเริ่มต้นใช้ และเมื่อคุ้นกับยาแล้วจึงค่อยปรับมาใช้ทุกวันในเวลาเดียวกันต่อไป

-ไอโซเทรติโนอิน ใช้ทาเดี่ยวๆ หรือร่วมกับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ หรือใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ

-ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทา เช่น คลินดาไมซิน ชนิดน้ำ 1% หรืออีริโทรไมซินชนิดน้ำหรือชนิดเจล 1-2% ทาวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น นาน 8-12 สัปดาห์ ผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองจนทำให้ผิวหนังแดง แห้ง ลอกและคันได้ เนื่องจากตัวยาที่ใช้ผสม จึงไม่ควรทาด้วยยาปฏิชีวนะเดี่ยวๆ ควรใช้ร่วมกับเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ หรือกรดเรติโนอิก เพื่อลดการเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา

ข. ให้ใช้ยาทาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์หรือกรดเรติโนอิกร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดกิน เช่น เตตราไซคลีน ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง นาน 1เดือน ในรายรักษาด้วยยาอื่นไม่ได้ผลหรือมีการอักเสบมาก และเมื่ออาการดีขึ้นในเดือนที่ 2 ให้ลดยาเหลือครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง และเดือนที่ 3 ให้ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง เดือนที่ 4 ให้ครั้งละ 1 แคปซูลวันละครั้ง ถ้ายังไม่ได้ผลให้กินดอกซีไซคลีน 100-200 มก./วัน หรือให้เปลี่ยนไปใช้อีริโทรไมซิน วันละ 1-2 กรัม แบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง หลังอาหาร หรือโคไตรม็อกซาโซล ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง นาน 4-6 สัปดาห์ถ้าแพ้เตตราไซคลีนหรือดอกซีไซคลีน หรือมีข้อห้ามใช้ยา 2 ชนิดนี้ หรือใช้ไม่ได้ผลตั้งแต่เดือนแรก ยาปฏิชีวนะจะช่วยฆ่าเชื้อพีแอกเนส์และลดปริมาณของกรดไขมันอิสระที่เป็นต้นเหตุของการอักเสบของสิว

4. ควรปรึกษาแพทย์ทางโรคผิวหนังถ้าการรักษายังไม่ได้ผล หรือมีการอักเสบรุนแรง หรือมีแผลเป็นหรือแผลปูด หรือผิวหน้าขรุขระมาก ซึ่งอาจต้องใช้วิธีปรับยารักษาใหม่ สำหรับผู้หญิงอาจให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีตัวยาไซโพรเทโรนอะเซเทต เช่น ไดแอน-35 นาน 6-12 เดือน ยานี้ออกฤทธิ์เป็นตัวต้านฮอร์โมนเพศชายช่วยลดขนาดของต่อมไขมันและปริมาณของไขมัน เหมาะผู้หญิงที่มีหน้ามันมากๆ หรือมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ

แพทย์อาจรักษาด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้าในรายที่เป็นสิวเสี้ยนขนาดใหญ่ที่ไม่ตอบสนองด้วยยาทา หรืออาจทำการเจาะระบายหนองออกเพื่อช่วยให้รอยโรคยุบเร็วขึ้นในรายที่เป็นสิวหัวช้างหรือเป็นหนอง หรืออาจรักษาโดยการฉีดสตีรอยด์ ได้แก่ ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์เข้าที่หัวสิว ในรายที่เป็นรุนแรง หรือขึ้นเป็นถุง หรือให้กินไอโซเทรติโนอินชนิดเม็ด ยากินชนิดนี้มีฤทธิ์ทำให้ต่อมไขมันเล็กลง ลดปริมาณไขมันจากต่อมไขมัน ลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ กินในขนาดวันละ 20-30 มก. แบ่งกินวันละ 1-2 ครั้ง นาน 16-20 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นผลใน 3-4 สัปดาห์ ผู้ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาอื่นๆ มักใช้ได้ผลดี แต่ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยานี้ เช่น ริมฝีปากอักเสบ ตาอักเสบ ตาแห้ง สู้แสงไม่ได้ ปากแห้ง จมูกแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ภาวะไขมันในเลือดสูง เอนไซม์ตับสูง ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับเตตราไซคลีนเพราะอาจทำให้เกิดภาวะความดันของน้ำในสมองสูงได้ หรืออาจทำให้ทารกพิการได้ถ้าหญิงที่ตั้งครรภ์กินยานี้ จึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ก่อนจะกินยานี้ ยาชนิดนี้จึงควรสั่งใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

เพื่อช่วยลดการอักเสบอาจใช้ไนโตรเจนเหลวในรายที่เป็นถุง โดยใช้แตะหัวสิวที่เป็นถุง ความเย็นจากสารชนิดนี้จะช่วยทำลายผนังของถุงเพื่อลดการอักเสบได้

ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทาและยากินรักษาสิว แพทย์อาจให้การรักษาด้วยแสง หรือแสงเลเซอร์ หรืออาจต้องแก้ไขด้วยการใช้เครื่องมือขัดผิวหน้าในรายที่เป็นแผลเป็น ผิวหนังขรุขระมาก หรือใช้สารเคมีกัดส่วนที่เป็นริ้วรอยแผลเป็นออกไป หรือการฉีดสารแก้ไขหลุมรอยแผลเป็น ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ข้อแนะนำ
1. เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ก็มักจะทำให้เกิดสิวขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งความรุนแรงของโรคมักขึ้นอยู่กับปัจจัยทางกรรมพันธุ์และอื่นๆ และเมื่ออายุมากขึ้นส่วนใหญ่ก็มักจะหายไปได้เอง

2. สาเหตุของการเกิดสิวอาจจะเป็นยาและเครื่องสำอาง จึงควรซักถามประวัติทางด้านนี้ถ้าพบว่าเกิดจากสาเหตุนี้ก็ควรงดใช้ยาหรือเครื่องสำอางนั้นๆ เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นได้

3. การเกิดสิวไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกทางเพศ หรือกิจกรรมทางเพศ

4. ต้องใช้เวลา 3-6 เดือนในการรักษาสิวแล้วจึงจะเห็นผล หรืออาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้ผลอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นผู้ป่วยจึงควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และรู้จักดูแลตนเองอย่างจริงจัง

5. อาจทำให้มีอาการตกขาวจากเชื้อราได้ในรายที่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ จึงควรหยุดใช้ยาแล้วกลับไปปรึกษาแพทย์ที่รักษาอยู่เดิม

6. ผู้หญิงที่เป็นสิวมากหรือรักษาไม่ค่อยได้ผล ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถ้ามีลักษณะหน้ามัน มีหนวดหรือขนขึ้นผิดปกติ มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนไม่มา มีบุตรยาก เพราะอาการเหล่านี้อาจเกิดจากกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุงได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า