สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke/Cerebrovascular accident/CVA)
สมองขาดเลือดชั่วขณะ(TIA)
อัมพาตครึ่งซีก(Hemiplegia)
โรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาตครึ่งซีก เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดงในสมอง ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก ตีบ หรือตัน ทำให้สมองส่วนที่ตายไปไม่ทำงานทำให้เกิดเป็นอัมพาตของร่างกายส่วนนั้นๆ โรคนี้พบได้บ่อย มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป อาการมักเกิดขึ้นฉับพลันทันที เรียกว่า โรคลมอัมพาต โรคลมปัจจุบัน หรือสโตร๊กอัมพาตครึ่งซีก

สาเหตุ
สามารถแบ่งโรคนี้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งมีอาการแสดง ความรุนแรง และวิธีการรักษาต่างกันดังนี้
1. สมองขาดเลือดจากการอุดตัน แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

ก. หลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการแข็งและตีบของหลอดเลือดแดงทีละน้อยจนทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดทำให้เซลล์สมองตายเพราะขาดเลือดไปเลี้ยง มักพบมากในผู้ที่เป็น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และผู้ที่สูบบุหรี่ คนกลุ่มนี้มักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเร็วกว่าปกติทำให้มีโอกาสเกิดภาวะนี้ก่อนวัยสูงอายุ และผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ เช่น ผู้ชายที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ดื่มแอลกอฮอล์จัด ผู้หญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิด คนอ้วน ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นอัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบเป็นสาเหตุอัมพาตครึ่งซีกที่พบได้บ่อย แต่ก็มีอันตรายน้อยกว่าหลอดเลือดสมองแตก

ข. ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง เช่น ลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจซึ่งหลุดลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดที่เลี้ยงสมองทำให้เซลล์สมองตายเพราะขาดเลือด ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว โรคหัวใจรูมาติก กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคลิ้นหัวใจพิการ ผู้ป่วยที่ผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม ภาวะเม็ดเลือดแดงมาก ผู้ที่มีไขกระดูกหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง

2. หลอดเลือดสมองแตก/เลือดออกในสมอง ถือเป็นภาวะร้ายแรงที่ทำให้เนื้อสมองโดยรอบตาย ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว มักมีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ความผิดปกติของหลอดเลือดแดงมาแต่กำเนิด เช่น หลอดเลือดโป่งพอง หลอดเลือดฝอยผิดปกติ เป็นต้น อาการอัมพาตมักเกิดจากหลอดเลือดที่ผิดปกติเหล่านี้แตก ขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนก็ได้ หรืออาจเกิดการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง เช่น ตับแข็ง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคเลือดบางชนิด หรือการได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาเสพติด การดื่มแอลกอฮอล์จัด เนื้องอกสมอง ภาวะเลือดออก ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ก็อาจเป็นสาเหตุของโรคนี้ได้ในบางราย

อาการ
1. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ มักเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือเป็นโดยทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยจะสังเกตพบว่ามีอาการแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรงลงทันทีทันใดขณะตื่นนอน ขณะเดิน หรือขณะทำงาน อาการที่เกิดร่วมด้วย เช่น ชาตามแขนขา ตามัว เห็นภาพซ้อน พูดไม่ได้หรือพูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว หรือกลืนลำบาก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือมีความรู้สึกสับสนนำมาก่อนอาการอัมพาตของแขนขา เป็นต้น

ถ้าการตีบตันเกิดขึ้นที่สมองซีกซ้ายอาการอัมพาตจะเกิดที่ซีกขวา อาจทำให้ผู้ป่วยพูดไม่ได้เนื่องจากศูนย์ควบคุมการพูดอยู่ในสมองซีกซ้าย และถ้าการตีบตันเกิดขึ้นที่สมองซีกขวาก็จะเกิดอัมพาตที่ซีกซ้าย ซึ่งจะเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ผู้ป่วยจะซึมลงเล็กน้อยแต่ยังมีความรู้สึกตัวดี เว้นแต่ในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้หมดสติได้

อาการอัมพาตมักเป็นอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมงขึ้นไป อาจนานเป็นเดือนเป็นปีหรือตลอดชีวิตก็ได้

ในผู้ป่วยอัมพาตบางรายอาจมีแขนขาชาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ตามัว เวียนศีรษะ บ้านหมุน เป็นอยู่ประมาณ 2-30 นาทีแต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากมีการอุดตันของหลอดเลือดแดงในสมองเพียงชั่วคราวทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงและร่างกายสามารถสร้างเอนไซม์ละลายลิ่มเลือดเปิดทางไหลของเลือดได้เร็ว เรียกว่า โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ หรือ ทีไอเอ ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นๆ หายๆ ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี แล้วจะเกิดอาการอัมพาตอย่างถาวรตามมาในภายหลัง

2. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง จะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ แต่อาการอัมพาตจะเกิดขึ้นฉับพลันทันที มักอาจมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ผ่าตัดหัวใจหรือกระดูกหักมาก่อน

3. ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดสมองแตก มักเกิดขึ้นทันทีทันใดโดยไม่มีเหตุล่วงหน้า อาจเกิดอาการขึ้นได้ในขณะทำงานใช้แรงมากๆ หรือร่วมเพศ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรงหรือปวดซีกเดียว คลื่นไส้ อาเจียน ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง อาจชักและหมดสติในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ป่วยมักมีอาการหมดสติ ตัวเกร็ง รูม่านตาหดเล็กทั้ง 2 ข้างถ้าตกเลือดรุนแรง ซึ่งมักจะเสียชีวิตภายใน 1-2 วัน แต่อาจมีโอกาสฟื้นและค่อยๆ ดีขึ้น หรือเมื่อได้รับการผ่าตัดทันเวลาถ้าตกเลือดไม่รุนแรง

ในกรณีเกิดการแตกของหลอดเลือดโป่งพอง หรือหลอดเลือดฝอยผิดปกติอาจมีเลือดรั่วซึมเล็กน้อยนำมาก่อนและทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะต่อเนื่อง อาจทำให้ปวดใบหน้าและเห็นภาพซ้อนอาจเป็นอยู่นานเป็นนาทีหรือสัปดาห์ แต่เมื่อหลอดเลือดแตกจะปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันและหมดสติ อาจหมดสติอย่างต่อเนื่องหรือหมดสติอยู่ระยะหนึ่งแล้วฟื้นคืนสติขึ้นมาแต่จะมีอาการสับสน ง่วงนอน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน

สิ่งตรวจพบ
พบอาการอัมพาตของแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ซึม ความดันโลหิตสูง รีเฟล็กซ์ของข้อไวกว่าปกติ การหายใจอาจช้าหรือไม่สม่ำเสมอ

การตรวจร่างกายอาจพบความผิดปกติของหัวใจ เช่น ฟังได้เสียงฟู่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นแผ่วระรัวร่วมด้วยหากเกิดจากภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดสมอง

รายที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก มักไม่ค่อยรู้สึกตัว หมดสติ คอแข็ง ความดันโลหิตสูงรุนแรง รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือพบรูม่านตาหดเล็กทั้ง 2 ข้างถ้าเป็นรุนแรง

ภาวะแทรกซ้อน
อาจตายด้วยโรคแทรกทางสมอง โรคหัวใจ ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด ปอดอักเสบ ในรายที่เป็นรุนแรง

อาจเกิดแผลกดทับที่ก้น หลัง ข้อต่างๆ ในรายที่เป็นอัมพาตเรื้อรังลุกนั่งไม่ได้ อาจเกิดภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจจากการสำลักอาหาร ปอดอักเสบ โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ กระจกตาเป็นแผลถลอก หรือเป็นโรคซึมเศร้า

การรักษา
ผู้ป่วยที่เกิดอาการอัมพาตครึ่งซีกฉับพลัน หรือปวดศีรษะรุนแรงนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ ควรส่งโรงพยาบาลด่วนไม่ว่าจะมีอาการหมดสติหรือไม่ก็ตาม แพทย์อาจตรวจหาสาเหตุด้วยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ คลื่นหัวใจ เจาะหลัง เป็นต้น
ให้การรักษาตามสาเหตุดังนี้

1. ในรายที่เป็นโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ แพทย์มักให้ยาควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ ยาต้านเกล็ดเลือด หากพบว่าหลอดเลือดแดงที่คอตีบมากกว่าร้อยละ 70 อาจต้องทำการผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อรักษา อาจใช้บัลลูนขยายหลอดเลือดและใส่หลอดลวดตาข่ายในบางราย

2. ในรายที่เกิดจากสมองขาดเลือดจากการอุดตัน ให้การรักษาตามอาการ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือด ได้แก่ recombinant tissue-type plasminogen activator(tPA) เข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อเปิดทางให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองไม่ให้เซลล์สมองตาย ผู้ป่วยจะเป็นปกติได้เร็ว หลังมีอาการกำเริบภายใน 3 ชั่วโมงการให้ยานี้จะได้ผลดี แต่ผู้ป่วยต้องไม่มีภาวะหมดสติ ชัก ความดันโลหิตสูงกว่า 185/110 มม.ปรอท เกล็ดเลือดต่ำ ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด การแข็งตัวของเลือดบกพร่อง มีภาวะเลือดออก เป็นต้น

ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว โรคลิ้นหัวใจพิการ เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดซ้ำ แพทย์อาจให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม ได้แก่ เฮพาริน ควรทิ้งช่วงให้ห่างอย่างน้อย 24 ชั่วโมงขึ้นไปถ้าให้ตามหลังยาละลายลิ่มเลือด

เมื่ออาการคงที่แล้วแพทย์มักให้ยาต้านเกล็ดเลือด ให้ยาควบคุมโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ ทำกายภาพบำบัดและใช้อุปกรณ์ช่วยในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย

อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดหลอดเลือดหรือใช้บัลลูนขยายหลอดเลือดในรายที่ตรวจพบมีหลอดเลือดแดงที่คอตีบ

ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยและได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกก็สามารถฟื้นสภาพได้จนเป็นปกติหรือเกือบปกติได้ สามารถช่วยตัวเองได้ พูดได้ เดินได้ แต่การใช้มืออาจจะไม่ถนัด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีหรือเป็นขั้นรุนแรงมักเกิดความพิการหรือความบกพร่องทางร่างกายที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือจากผู้อื่น ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน หรือนั่งรถเข็น หรืออาจเสียชีวิตได้

การฟื้นตัวของร่างกายถ้าอาการดีขึ้นจะเห็นภายใน 2-3 สัปดาห์ และค่อยฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถช่วยตัวเองได้หรือหายเกือบเป็นปกติ

หลังจาก 6 เดือนไปแล้วถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น มักทำให้เกิดการพิการอย่างถาวรจะเป็นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความรุนแรงของโรค

3. ในรายที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตก ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้น้ำเกลือ ใส่ท่อหายใจและเครื่องช่วยหายใจ ควบคุมความดันโลหิต อาจจำเป็นต้องผ่าตัดสมองแบบเร่งด่วนในรายที่มีก้อนเลือดในสมอง แต่ถ้ามีเลือดออกเล็กน้อยและไม่กดถูกสมองส่วนสำคัญก็อาจไม่ต้องผ่าตัด แล้วฟื้นฟูสภาพร่างกายต่อไป

ผลการรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณเลือดที่ออก สภาพของผู้ป่วย เช่น อายุ และโรคประจำตัว และภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น

มีอัตราตายสูงถ้าเกิดเลือดออกในก้านสมอง ภาวะนี้มักไม่สามารถให้การบำบัดรักษาได้ มีอัตราตายถึงร้อยละ 50 ถ้าก้อนเลือดมีขนาดใหญ่และแตกเข้าโพรงสมอง ถ้ามีเลือดออกบริเวณผิวสมองหรือก้อนเลือดขนาดเล็กและไม่แตกเข้าโพรงสมองก็จะมีอัตราการตายต่ำลง

ผู้ป่วยหากรอดชีวิตจากอาการรุนแรงมักมีความพิการอย่างถาวร อาจเป็นคนนิทราอยู่นานหลายปีในบางราย และมักเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ปอดอักเสบ โรคติดเชื้อต่างๆ
ผู้ป่วยที่อายุน้อย มักมีความผิดปกติของการแตกของหลอดเลือดมาแต่กำเนิด ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ ก็สามารถฟื้นฟูให้หายเป็นปกติได้

แม้ว่าร่างกายของผู้ป่วยบางรายจะฟื้นตัวได้ดีหลังผ่าตัด แต่จำเป็นต้องกินยากันชักควบคุมอาการตลอดไปเพราะอาจมีโรคลมชักแทรกซ้อนตามมาได้

ข้อแนะนำ
1. ถ้าแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรงขึ้นฉับพลัน ถ้าเป็นอยู่ไม่เกิน 30 นาทีแล้วหาย มักเกิดจากโรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ ควรไปพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาและป้องกันการเกิดซ้ำหรือกลายเป็นอัมพาตครึ่งซีกอย่างถาวร อาจมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีกภายใน 1 ปี หรือภายใน 48 ชั่วโมงในบางรายหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ควรรีบนำผู้ป่วยส่งให้ถึงมือแพทย์หากผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรงต่อเนื่องเกิน 30 นาที ซึ่งอาจต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการจึงจะได้ผลดี

2. เมื่อผู้ป่วยพ้นระยะอันตรายเริ่มรู้สึกตัวดี หายใจสะดวก กินอาหารได้ ควรดูแลดังนี้
-เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับที่ก้น หลัง ข้อต่าง ควรพลิกตัวผู้ป่วยไปมาทุก 2 ชั่วโมง
-ถ้าขาดน้ำ ผู้ป่วยจะซึมหรืออาการแย่ลงจึงควรให้อาหารและน้ำให้เพียงพอ ในช่วงแรกอาจต้องป้อนทางสายยางที่ใส่ผ่านจมูกเข้าไปที่กระเพาะอาหารในบางราย
-เพื่อป้องกันมิให้ข้อเกร็งแข็ง พยายามบริหารข้อโดยการเหยียดและงอแขนขาตรงทุกๆ ข้อต่อบ่อยๆ

3. เมื่ออาการดีขึ้นแล้วผู้ป่วยต้องบริหารกล้ามเนื้อ พยายามใช้แขนขาเพื่อให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ถ้านอนอยู่เฉยๆ กล้ามเนื้อจะลีบ ข้อจะแข็ง การรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยวิธีกายภาพบำบัด เช่น ฝึกพูด ฝึกเขียน จะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเป็นสำคัญ

4. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยพิการตลอดไป หรือฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งผลการรักษาจะได้ผลดีขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นสำคัญ แต่สติปัญญาของผู้ป่วยยังคงดีเป็นปกติ สมาชิกในครอบครัวไม่ควรรังเกียจและคอยให้กำลังใจ แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยไม่ควรเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อยและควรรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

5. เพื่อป้องกันมิให้อาการกำเริบซ้ำผู้ป่วยควรกินยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำ ควรงดแอลกอฮอล์ และบุหรี่

6. เพื่อป้องกันอาการอัมพาตกำเริบซ้ำในรายที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง จึงควรดูแลรักษาโรคนี้อย่างจริงจัง
การป้องกัน
1. เพื่อป้องกันมิให้มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวเร็วผู้ป่วยควรงดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ลดอาหารที่มีไขมันมาก ลดน้ำหนัก หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ

2. ถ้ามีภาวะผิดปกติจากความดันโลหิต เบาหวาน ภาวะไขมัน ควรรักษาเป็นประจำอย่าได้ขาดเพราะหากควบคุมภาวะนี้ได้แล้วก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพาต

3. ควรรีบปรึกษาแพทย์และกินยาแอสไพริน หรือยาต้านการจัดตัวของเกล็ดเลือดตามแพทย์สั่งอย่าให้ขาดหากเคยมีอาการอัมพาตชั่วคราวจากสมองขาดเลือดชั่วขณะ

4. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันมิให้เกิดลิ่มเลือดที่หัวใจแล้วหลุดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดสมอง ด้วยการกินยาแอสไพริน หรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจรูมาติก ผู้ป่วยผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า