สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วุฒิภาวะทางกายและจิตใจ

วุฒิภาวะทางกาย (Maturation)
McGraw (1987) กล่าวว่าคนแต่ละคนมี ยีน อันเป็นมรดกทางกรรมพันธุ์รับจากพ่อแม่ เป็นปัจจัยเริ่มแรกสร้างลักษณะทางกายภาพ ยีน มีความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนา เพราะเป็นตัวตั้งหมายกำหนดโครงสร้างร่างกายให้เปลี่ยนแปรไปต่างๆ ตามวัย การเปลี่ยนแปรนี้คือความเติบโตของส่วนในร่างกาย จนบรรลุถึงความพร้อมที่จะทำงานตามหน้าที่ให้สำเร็จเป็นพฤติกรรมใหม่ขึ้น การบรรลุถึงความ พร้อมดังนี้เรียกว่า วุฒิภาวะ ถือกันว่าภาวะนี้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับการฝึกฝนเลย คำว่ากายใน ที่นี้ไม่แคบเพียงกระดูกและกล้ามเนื้อ ขอให้หมายถึงระบบประสาทที่สั่งการให้อวัยวะและกล้ามเนื้อทำงานด้วย เพราะว่าระบบประสาทได้ขึ้นต้นด้วยการเกิดเซลล์สมองในตัวอ่อนในครรภ์ ตั้งแต่เดือนแรกของการปฏิสนธิและเจริญเร็วยิ่งในช่วง 3 เดือนก่อนคลอด แม้ในวัยเป็นตัวอ่อนในครรภ์ก็ยังบรรลุถึงวุฒิภาวะบางประการ เช่น สามารถใช้ศอกถอง ใช้เท้าถีบ ซึ่งแม่ผู้อุ้มครรภ์รู้สึกได้ถนัด เมื่อจวนถึงเดือนคลอด ตัวอ่อนก็สามารถหันหกทั้งร่างกายกลับศีรษะลงล่าง เพื่อสะดวกแก่การเลื่อนตัวลงมาตามช่องคลอด ครั้นเมื่อมีการเติบโตในโลกนอกครรภ์ พัฒนาการก็ดำเนินรวมกันไปทั้งสมองและอวัยวะต่างๆ บรรลุถึงวุฒิภาวะเป็นอย่างๆ ไปโดยลำดับ เช่น สามารถยกหน้าอกได้เองจากท่านอนควํ่า เมื่ออายุราว 2 เดือนเป็นต้น ขอนำผลการทดลองของ เกเซลล์ (1941) มาเสนอเสริมความเข้าใจความหมายของวุฒิภาวะ ดังต่อไปนี้

ผู้ทดลองเตรียมทารกที่จะให้รับการทดลองมา 2 คน เป็นเด็กฝาแฝดประเภท Identical twins ทารกแบบนี้เกิดจากไข่ของมารดาฟองเดียว แบ่งตัวเป็น 2 คน ฉะนั้นฝาแฝดเช่นนี้มีความเหมือนกันมากในยีน ซึ่งเป็นตัวรับและถ่ายทอดลักษณะคุณสมบัติต่างๆ จากพ่อแม่ และมีเพศเดียวกัน ฉะนั้นความสามารถพื้นฐานพันธุกรรมของทารกทั้ง 2 นี้เท่ากัน เขาได้สมมติชื่อเรียก ซึ่งขอถอดเป็นชื่อไทยว่า พ่อหนู ฝ (ฝึก) และพ่อหนู มฝ (ไม่ฝึก)

เมื่อฝาแฝดนั้นอายุ 46 สัปดาห์ (เกือบ 11 เดือน) เขาหัดให้พ่อหนู ฝ ไต่ขึ้นกระไดทุกวัน วันละ 10 นาที เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ พ่อหนู ฝ ใช้เวลา 2 สัปดาห์แรก กไต่ขึ้นกระได 5 ขั้น ที่ทำขึ้นเพื่อทดลองได้

โดยรับการช่วยเหลือนิดหน่อย ฝึกครบ 6 สัปดาห์ พ่อหนู ฝ อายุ 1 ขวบก็เป็น “นักไต่กระไดผู้เชี่ยวชาญ” พ่อหนู มฝ ก็อายุ 1 ขวบเท่ากัน ไม่ได้รับการฝึกอย่างนี้เลย ไม่กล้าขึ้นกระไดแม้มีคนคอยช่วย แต่อีกสัปดาห์หนึ่ง พ่อหนู มฝ มาที่กระได ก็ไต่ถึงขั้นสูงสุดได้โดยไม่ต้องมีคนช่วยและไม่ต้องฝึกเลย คราวนี้เขาจัดให้พ่อหนู มฝ หัดขึ้นกระได 2 สัปดาห์ แล้วเอาภาพยนตร์ที่ถ่ายกิริยาอาการของเด็กทั้ง 2 คนมาเทียบกัน ความสามารถของ ฝ เมื่ออายุ 52 สัปดาห์ (ฝึกมาแล้ว 6 สัปดาห์) กับความสามารถของ มฝ เมื่ออายุ 55 สัปดาห์ (ได้ฝึก 2 สัปดาห์) เก่งเท่าๆ กัน ทั้งที่ ฝ หัดก่อนตั้ง 7 สัปดาห์ และหัดนานกว่าถึง 3 เท่าตัว ผู้ทดลองสรุปได้ว่า อิทธิพลของวุฒิภาวะมีพลังนักหนาต่อกระสวนพฤติกรรม (คือการฝึกฝนก่อนเกิดวุฒิภาวะ ไม่มีอิทธิพลนัก)

วุฒิภาวะมีประโยชน์สำหรับการเตรียมพร้อมที่จะรับการเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น การเรียนเขียนหนังสือ สมองภาคที่ควบคุมการเขียนต้องบรรลุถึงวุฒิภาวะ สามารถบังคับกล้ามเนื้อที่แขน มือ และนิ้ว จับดินสอ ให้ขีดเขียนลงไป ณ จุดที่ต้องการ สมองภาคที่ควบคุมการเห็นต้องบรรลุถึงวุฒิภาวะ สามารถเล็งแล บังคับกล้ามเนื้อทั้งหมดที่จับดินสอ ให้เคลื่อนไปตามทิศทางที่ต้องการเป็นต้น

วุฒิภาวะทางจิตใจ (Maturity)
วุฒิภาวะของมนุษย์ดำเนินคู่กันทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิตใจเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก แต่วุฒิภาวะทางจิตใจไม่เกิดโดยวิสัยธรรมชาติ แต่เกิดโดยการเรียนฝึกฝน ปรากฏผลเป็นความงอกงามทางด้านการใช้เหตุผล รู้จักรับ ผิดชอบ รู้จักควบคุมอารมณ์ ฯลฯ ฉะนั้นคนอายุน้อยอาจมีวุฒิภาวะทางจิตใจสูงกว่าคนมีอายุมากก็ได้ วุฒิภาวะทางกายเจริญถึงขั้นสุดเมื่อสิ้นสุดวัยรุ่น ส่วนวุฒิภาวะทางจิตใจควรมีสูงเมื่อบุคคลพ้นวัยรุ่น เจริญเต็มที่ในวัยกลางคน แต่ก็อยู่ใต้อิทธิพลของสภาพแวดล้อม และประสบการณ์ ในบางสถานการณ์อาจส่อความเสื่อมถอยลงกว่าระดับที่เคยบรรลุถึงมาแต่ก่อน อย่างไรก็ดี ไม่สามารถมีหลักฐานอ้างอิงว่า วุฒิภาวะทางจิตใจบรรลุขั้นสูงสุดเมื่อใดและลักษณะใด จึงกล่าวได้ว่าเป็นขั้นสูงสุดของวุฒิภาวะทางจิตใจ

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า