สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วิธีการหย่านมแม่

เกี่ยวกับการให้นมแม่ที่ว่าควรจะให้นานเท่าใด ก่อนที่ลูกจะเกิดคุณแม่อาจมีแนวคิดของตนอยู่แล้ว ทัศนคตินี้อาจได้มาจาก พ่อ แม่ เพื่อน หนังสือ และสื่อต่างๆ เป็นความคิดที่หลากหลาย จะให้ทารกจะหย่านมเมื่อใดส่วนใหญ่ก็เป็นความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ความคิดระหว่างผู้ใหญ่และทารกจะแตกต่างกันหากให้ทารกเป็นผู้เลือกเวลาหย่านมแม่เอง โดยการให้ทารกกินนมแม่ตามความต้องการของเขาและให้เขาเลิกกินนมแม่ไปเอง

จะพบว่าทารกในปีแรกจะดูดนมแม่ทั้งกลางวันและกลางคืน หากแม่มีเวลาอยู่กับลูกอย่างเต็มที่ และการให้นมแม่ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ลูกได้ดูดนมแม่ตามต้องการเมื่อหิว แม้ในขวบปีที่สองที่เริ่มเดินเตาะแตะแล้วก็ยังกลับมาดูดนมแม่อีกเมื่อรู้สึกหิว หรือต้องการการปลอบโยนเมื่อหกล้มจนร้องไห้ เด็กจะค่อยๆ หมดความสนใจในการดูดนมแม่เมื่ออายุระหว่าง 2-3 ปี ที่เริ่มมีอิสระมากขึ้นแล้ว ในช่วงนี้ก็จะหย่านมไปเองในที่สุด

แม่จะมีเวลาอยู่กับลูกน้อยลงในสังคมปัจจุบันที่มีความเจริญมากขึ้น ลูกจึงได้รับนมแม่ในเวลาเพียงสั้นๆ แม่ที่ให้นมจนลูกเดินได้กลับเป็นเรื่องแปลกของสังคมและไม่ยอมรับ ความจริงแล้วกลับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับลูกเสียอีก ไม่ได้เสียหายอะไร กล่าวคือ

-ในส่วนประกอบของนมแม่จากการศึกษาพบว่า เมื่อลูกโต อิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อจะมีปริมาณมากขึ้น เมื่อลูกกินนมแม่น้อยลง ระบบผลิตน้ำนมจะเพิ่มความเข้มข้นของสารภูมิต้านทานและสารอาหารที่ลูกยังต้องการอยู่มาชดเชย

-นมแม่มีสารอาหารสำคัญในยามที่ลูกป่วย และเพื่อเป็นการปลอบประโลมลูกได้ด้วย

-การให้นมแม่เป็นเหมือนการเติมพลังความเชื่อมั่นให้กับเด็กที่เริ่มหัดเดิน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับโลกภายนอก

แต่เด็กวัยหัดเดินนี้จะได้รับอาหารหลักเป็นข้าว 3 มื้อ เหมือนผู้ใหญ่แล้ว การให้นมแม่ในวัยนี้จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นแล้ว อาจเป็นเพียงอาหารเสริมไปเท่านั้น

การหยุดให้นมแม่ด้วยการหย่านม จะหย่านมเมื่อไร หรือหย่าอย่างไรนั้น ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแน่นอน การหย่านมอาจจะเร็วกว่าที่คุณและลูกจะพร้อม ด้วยแรงกดดันของสภาพแวดล้อมรอบตัวก็ได้ หรือแรงกดดันอาจทำให้คุณให้นมลูกนานกว่าที่คุณจะอยากทำก็ได้

เมื่อปี 2533 ได้มีการประชุมที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และมีคำประกาศเกี่ยวกับระยะเวลาที่ควรให้นมลูก (INNOCENTI DECLARTION) ว่า
“เพื่อให้สตรีทุกคนได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 4-6 เดือน จะต้องให้ความสนับสนุนอย่างจริงจัง(อนุญาตให้ได้เฉพาะยา วิตามิน และเกลือแร่เท่านั้น) จนเด็กทุกคนมีอายุถึง 4-6 เดือน ให้กินนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น หลังจากนี้ให้อาหารอื่นที่เหมาะสมตามวัย และให้นมแม่ต่อ จนกระทั่งถึงขวบปีที่สอง หรือนานมากกว่านั้น”

การให้นมแม่แก่ลูกนานก็จะมีผลดีต่อลูกมาก มีรายงานลงใน Lancet ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 ในประเทศอังกฤษจากโรงพยาบาล 5 แห่ง ว่าได้ศึกษาเด็กคลอดก่อนกำหนด 300 ราย พบว่า เด็กอายุ 7 ปีครึ่ง ถึง 8 ปี ที่กินนมแม่มีไอคิวสูงกว่าเด็กที่กินนมผสม 8.3 จุด

ก่อนจะกำหนดเวลาการหย่านม ควรคำนึงถึงความต้องการของคุณและลูกก่อนว่า กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของลูกหรือไม่ ระหว่างการให้นมแม่ ลูกจะโยงความสัมพันธ์เข้ากับความรัก ดังนั้น คุณควรทุ่มเทความรัก ความเอาใจใส่ต่อลูกให้มากขึ้นในระหว่างการหย่านมนี้ เพื่อให้หย่านมได้ง่ายขึ้น ไม่ร้องขอดูดนมเพียงเพื่อให้ได้อยู่ใกล้แม่ และลูกจะได้เข้าใจว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงการให้นมเท่านั้น ไม่ใช่เพราะคุณไม่รัก ในช่วงนี้คุณพ่อก็มีส่วนช่วยได้มากเมื่อได้ใกล้ชิดลูกมากขึ้น

การหย่านมแบบทันทีทันใด คือ คุณแม่งดนมแม่ทุกมื้อทันทีเมื่อคิดจะหย่านม ค่อนข้างเป็นการทำร้ายจิตใจของทั้งแม่และลูกจากการทำเช่นนี้ คุณไม่ควรงดนมแม่อย่างฉับพลัน ตราบใดที่ลูกยังมีความสุขอยู่กับการดูดนมแม่ และแม่ก็มีน้ำนมอยู่อย่างเพียงพอ

การหย่านม ควรค่อยๆ หย่าโดยความยินยอมของแม่และลูกให้เป็นไปตามธรรมชาติ การหย่านมควรเป็นการตัดสินใจของคุณและลูก เพราะคุณและลูกจะเข้าใจกันได้อย่างลึกซึ้ง ไม่มีความเห็นของใครจะมาสำคัญเท่า

การหย่านมตามธรรมชาติแบบค่อยเป็นค่อยไปนี้ เรียกว่า การหย่านมตามความต้องการของทารก(Baby-led weaning) คือ ให้ลูกหมดความต้องการที่จะดูดนมแม่ไปเอง ลูกจะค่อยๆ ดูดนมแม่น้อยลง และเลิกไปทีละมื้อเมื่อเขาโตขึ้น จนคุณอาจไม่ทันได้สังเกตว่าลูกกินนมแม่มื้อสุดท้ายเมื่อใด เพราะขบวนการนี้จะค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ วิธีการนี้ทำให้ลูกหย่านมได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยลดความต้องการไปทีละน้อย ไม่ร้อง ไม่เสียใจจากการที่ต้องเลิกดื่มนมแม่

ทารกโดยทั่วไปจะหย่านมไปเองเมื่ออายุเท่าไร คุณแม่หลายคนก็อาจสงสัยในข้อนี้อยู่ คำตอบก็คือ อยู่ในช่วงอายุ 1-3 ปี ซึ่งในทารกแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน จะขึ้นอยู่กับความต้องการของเขาเอง

เมื่อลูกโตจนเดินได้แล้ว บางครั้งคุณแม่ก็อยากที่จะให้ลูกหย่านมแม่ แต่ทุกครั้งที่ให้ลูกดูดนมก็ยังสองจิตสองใจอยู่ บางครั้งอาจรู้สึกรำคาญจนอยากให้เลิกดูดเสียที หากจะทำเช่นนี้และลูกพูดกันรู้เรื่องแล้ว คุณแม่ต้องช่วยแนะนำลูกโดยไม่บังคับ อธิบายให้เข้าใจว่าเด็กเล็กๆ เท่านั้นที่ดูดนมแม่ และชักชวนให้ลูกสนใจสิ่งอื่น เช่น เมื่อลูกขอดูดนมแม่ก็บอกให้ลูกรอสักครู่ แล้วหาของเล่นหรือหนังสือมาให้ และสัญญากับเขาว่าก่อนนอนจะให้ดูดนมแม่ ลูกจะค่อยๆ เลิกกินนมแม่ได้ทีละมื้อในช่วงกลางวัน หากทำเช่นนี้ และให้ลูกดื่มนมจากถ้วยแทน ให้สังเกตว่าเมื่อใดที่ลูกเริ่มหิว เพราะก่อนที่ลูกจะหิวจัดจะได้หาอาหารหรือนมมาให้ลูกก่อน เขาอาจจะขอดูดนมแม่ถ้าหิวมากๆ และจะทำให้เกิดศึกย่อยๆ ได้ถ้าคุณปฏิเสธในตอนนั้น แต่ถ้าทำอย่างไรแล้วลูกก็คงอยากจะดูดนมแม่อย่างเดียวคุณก็ควรให้นมแก่ลูก และรอให้ลูกพร้อมมากขึ้นกว่านี้อีกสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยเริ่มใหม่ก็ได้

มื้อก่อนนอนเป็นมื้อที่เลิกยากที่สุด ลูกมักจะดูดนมแม่จนหลับในมื้อนี้ คุณแม่ก็ควรให้เขาดูดนมในมื้อที่เขาชื่นชอบต่อไปก่อนได้ เพราะไม่ได้เป็นภาระหนักหนาสำหรับคุณแม่กับการที่ลูกดูดนมวันละมื้อ และนมมื้อสุดท้ายนี้เขาก็จะเลิกได้ในที่สุดเมื่อโตขึ้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า