สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วัยเด็กตอนต้นในโลกสมัยใหม่

สถานที่รับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน
ปัจจุบันนี้แม่ส่วนใหญ่ ในแทบทุกมุมโลกทำงานนอกบ้าน ครอบครัวส่วนใหญ่หมดสภาพที่จะฝากลูกเล็กกับปู่ ย่า หรือญาติผู้ใหญ่ หรือผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ ดังนั้นเมื่อเด็กพ้นวัยทารก และยังไม่สามารถเช้าโรงเรียนที่เป็นกิจลักษณะได้ จึงต้องนำไปฝากเลี้ยงกับสถานที่รับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ กัน บางแห่งก็มีลักษณะเป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กในเวลากลางวัน (Day care)

บางแห่งก็มีลักษณะรับเลี้ยงเด็กในบ้าน บางแห่งก็เป็นไปในรูป “เตรียมเด็กเข้าโรงเรียนอนุบาล” “เตรียมความพร้อม ฯลฯ” แต่ไม่ว่าจะเรียกด้วยชื่ออะไรๆ ก็ตาม สถานที่นั้นเป็นสถานที่ดูแลเด็กในตอนกลางวันเมื่อพ่อแม่ต้องไปทำงานนอกบ้าน

ได้มีการศึกษาถึงความแตกต่างของพัฒนาการระหว่างเด็กที่เลี้ยงดูในบ้านโดยมีพี่เลี้ยงในตอนกลางวัน กับเด็กที่เลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็กจำนวนมาก ผลการศึกษามีรายงานต่างๆ กัน ยังนำไปใช้อธิบายภาพรวมๆ ของเด็กส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ ประชากรที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบก็มักเป็นประชากรกลุ่มที่พ่อแม่มีการศึกษาสูง มีฐานะทางเศรษฐกิจดีตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป แต่อาจสรุปได้กลางๆ ว่า สถานที่รับเลี้ยงเด็กที่ถูกวิธีนั้น มีคุณต่อเด็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยมีฐานะทางเศรษฐกิจ นักวิจัยให้ความเห็น ว่าสถานที่รับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กไม่แตกต่างจากที่พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูเองมากนัก ลักษณะของสถานที่รับเลี้ยงดูเด็กที่ด้อยคุณภาพ ให้โทษต่อพัฒนาการเด็กโดยประการต่างๆ ส่วนลักษณะ “คุณภาพ” ที่สำคัญสำหรับเด็กๆ คือความสะอาด การมีที่ให้เด็กได้วิ่งเล่น การมีผู้ดูแลที่มีความรู้เรื่องพัฒนาการของเด็ก จำนวนสัดส่วนผู้ดูแลเด็กกับเด็กไม่มากเกินไป มีการจัดกิจกรรมให้แก่เด็กตามวัยได้อย่างเหมาะสม (Lefrancois, 1990, หน้า 307-309)

แท้จริงปัญหาผู้เลี้ยงดูบุตรแทนพ่อแม่เป็นปัญหาที่พ่อแม่ที่มีบุตรเล็กทุกคน ได้ตระหนักรับรู้ ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในวัยทารก แต่ทางออกของการเลี้ยงดูบุตรเล็กอย่างถูกวิธีดีที่สุดสำหรับพ่อแม่และเด็กนั้น คงไม่มีคำตอบใดที่ตายตัว เพราะพ่อแม่ของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างในลักษณะสังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและลักษณะรูปแบบครอบครัว อย่างไรก็ดีปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยของชีวิตครอบครัว ในลักษณะสมัยใหม่ เมื่อเด็กอยู่ในวัยเข้าโรงเรียนอนุบาลได้แล้ว จึงเป็นระยะเวลาที่พ่อแม่เริ่มรู้สึกปลอดโปร่งใจขึ้น ในด้านการดูแลบุตรในตอนกลางวัน เมื่อตนต้องไปทำงานนอกบ้าน เพราะเด็กได้เข้าโรงเรียนที่มีแบบแผน (Formal education) แล้ว

สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน
โรงเรียนอนุบาล
สมัยเมื่อไม่นานนักมีความเชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลคือ โรงเรียนก่อนวัยเรียน แต่ปัจจุบันนี้ โรงเรียนอนุบาลคือโรงเรียนที่ให้การเรียนการสอนเยี่ยงโรงเรียนประถมศึกษา    ซึ่งบางแห่งผนวกอยู่กับโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนอนุบาลหลายโรงเรียนสอนเด็กให้อ่าน เขียน เรียนหนังสือ อย่างเอาจริงเอาจัง นักจิตวิทยาเด็กได้แสดงความคิดเห็นว่า การแข่งขันกันเรื่องสัมฤทธิผลด้านต่างๆ ของผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ใหญ่ทุกวันนี้เร่งรัดเด็กอนุบาลมากเกินไป เราควรมองให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างเด็กเสียเด็ก (Spoiled child) ที่ไม่ยอมโต กับเด็กที่ถูกเร่ง (Hurried child) เด็กทั้งสองประเภทเป็นเด็กไม่มีความสุข เด็กประเภทหลังไม่ค่อยได้มีโอกาสเล่นสนุก คิดฝัน ทำอะไรแผลงๆ แบบเด็กๆ เพราะต้องไปนั่งอ่าน เรียน เขียน นับเลข วันละหลายๆ ชั่วโมง ทำให้เขากลายเป็นเด็กที่กลัวความล้มเหลวและเร่งรัดตัวเองให้ประสบความสำเร็จ เขามักกลัวว่าจะไม่ได้นั่น ไม่ได้นี่ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็เร่งถีบตัวเองให้ได้อะไรเร็วๆ ง่ายๆ กลัวว่าจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ช้าไป หรือตํ่าไปจาก มาตรฐานที่ตนเองและครอบครัวคาดหวัง หรือสังคมคาดหวัง กลายเป็นคนไร้ความสุขที่สำลักความสำเร็จ หรือมีบุคลิกภาพที่กลวงข้างใน (Empty personality) ซึ่งอาจแยกประเภทออกไปได้อีกมากมาย (Lefrancois, 1990, หน้า 313) แต่เหนืออื่นใดในหลายๆ ครอบครัว ปรากฏว่าการกลัวความล้มเหลวของทั้งพ่อแม่และเด็ก และการเร่งรัดให้เด็กพบความสำเร็จ ก่อให้เกิดการทำโทษเด็กอย่างรุนแรง เกินเหตุ (Child abuse) และเกิดข้อขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับเด็ก ซึ่งอาจสืบเนื่องไปอีกในระยะยาว

ข้อควรคิดสำหรับสังคมไทยก็คือ ปรากฏว่าการเร่งลูกของพ่อแม่ตั้งแต่ชั้นอนุบาลดำรงอยู่จนลูกเข้าโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย เด็กต้องใช้เวลาเพื่อกวดวิชา สอบเทียบ สอบเข้า จนหมดโอกาสที่จะชื่นชมวัยเด็ก ชื่นชมกับสิ่งที่ตนเองต้องรู้ต้องเรียน และเมื่อสอบผ่านเข้าเรียนได้หรือจบออกไป ก็เป็นคนขาดภูมิความรู้แท้จริง ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ เพราะถูกรีบเร่งให้โต ความเป็นเด็กจึงถูกปลดเปลื้องไปได้ไม่หมด เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

ความกลัวโรงเรียน (School phobia)
ในลักษณะสังคมเศรษฐกิจปัจจุบัน วัยเข้าโรงเรียนมิใช่วัยเด็กตอนปลายสำหรับเด็กส่วนมากอีกต่อไป ไม่ว่าเราจะเรียก “โรงเรียน” ในความหมายอะไรๆ ก็ตาม เด็กวัยเด็กตอนต้นในโลกปัจจุบัน ต้องไปโรงเรียน การไปโรงเรียนของเด็กหลายๆ คนไม่ใช่ประสบการณ์ที่รื่นรมย์ มีเด็กจำนวนมาก ไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งเราเรียกอาการนี้ว่า “กลัวโรงเรียน” ความกลัวโรงเรียนเป็นเรื่องที่จะต้องจัดการแก้ไข เพราะการไปโรงเรียนเป็นความจำเป็นของคนในโลกปัจจุบัน สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกกลัวโรงเรียน อาจจะต้องทำความเข้าใจสาเหตุที่ลูกกลัวโรงเรียนเสียก่อน จึงจะสามารถแก้ไขความกลัว โรงเรียนของลูกได้ (Janzen et al, 1989 a)

นักจิตวิทยาได้ศึกษาสาเหตุของความกลัวโรงเรียนว่ามีหลายประการ อาทิ
1. ติดแม่ (หรือผู้เลี้ยงดู) และกลัวการพลัดพรากจากแม่ (Separation anxiety)

2. ในมุมกลับ แม่(หรือผู้เลี้ยงดู) อาจติดลูกซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก ซึ่งอาจแสดงออกมาโดยคำพูด การกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเด็กสามารถรับรู้ได้ (เนื่องจากเด็กมักรับรู้อารมณ์ของผู้ใหญ่ได้ไว)

3. ท่าทีของพ่อแม่ต่อการไปโรงเรียนของลูก เช่น ความหวาดระแวงว่า ส่งลูกเข้าเรียนเร็วไปหรือเปล่า โรงเรียนที่ส่งลูกไปเรียนจะมีครูที่เข้าใจลูก เอาใจใส่ลูกดีพอเพียงไหม ความสำนึกผิดว่า ปล่อยลูกออกจากอกเร็วไปหรือไม่ ฯลฯ ท่าทีของพ่อแม่เช่นนี้ที่ทำให้ลูกเกิดกลัวโรงเรียน โดยที่พ่อแม่มักนึกไม่ถึง

คำแนะนำที่นักจิตวิทยาเด็กมักเสนอแนะอีกข้อหนึ่งก็คือ ถึงแม้เด็กจะกลัวโรงเรียน ก็ต้องพยายามชักจูงให้เด็กไปโรงเรียนให้ได้ พ่อแม่อาจต้องจัดการหลายๆ อย่าง เช่น แก้ไขสาเหตุแท้จริง จัดสิ่งแวดล้อมให้เด็กอยากไปโรงเรียน ฯลฯ (Janzen et al, 1989 a)

การกระตุ้นในวัยเยาว์ (Early stimulation) สำหรับเด็กช้าและเด็กปัญญาอ่อน
เมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยเด็กตอนต้น พ่อแม่ผู้ปกครองผู้เลี้ยงดูเด็ก จะเริ่มสังเกตเห็นอย่างค่อนข้างแน่ใจว่า เด็กในปกครองของตนเป็นเด็กช้ากว่าปกติมากๆ จนถึงปัญญาอ่อนหรือไม่ เกณฑ์ง่ายๆ สำหรับพิจารณา คือ

1. พัฒนาการการเคลื่อนไหวและประสาทสัมผัสเจริญช้ากว่าวัย และคุณภาพด้อยกว่าที่ควรเป็น

2. ภาษาที่ใช้สื่อสารทั้งภาษาท่าทางและภาษาถ้อยคำ พัฒนาได้ช้าและน้อยกว่าปกติธรรมดามาก

3. ช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้ ข้อที่พึงสังเกต เช่น ใส่เสื้อผ้าเองไม่ได้ คุมการขับถ่ายไม่ได้ แม้ว่าอายุล่วงเลยเข้าสู่วัยเด็กตอนต้นมากแล้ว

4. ความสามารถเชิงสังคมตํ่า เช่น ติดแม่อย่างรุนแรง ไม่เล่นกับเด็กอื่นๆ เลย

ความปกติหรือไม่ปกติขึ้นอยู่กับระดับของคุณภาพในการพัฒนา ถ้าระดับตํ่ากว่าเกณฑ์ปกติอย่างมาก ถือได้ว่าเด็กพัฒนาช้า หรืออาจมากถึงระดับปัญญาอ่อน

ผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รายงานผลตรงกันว่า ผู้ปกครองที่สามารถทำใจยอมรับว่าเด็กในความปกครองของตนเป็นเด็กช้าหรือ/และปัญญาอ่อน แล้วนำเด็กมาขอความช่วยเหลือจากองค์กรทางสังคมที่เกี่ยวข้องและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะช่วยบรรเทาอาการพัฒนาช้าหรือ/และปัญญาอ่อนได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งมาขอความช่วยเหลือในระยะยังเยาว์วัยมากเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น (Hallahan & Kauffman, 1986, อลิสา พงษ์ศักดิศรี, 2536)

ความก้าวหน้าทางการแพทย์และความรู้เรื่องพัฒนาการเด็ก ทำให้เกิดวิธีการช่วยเหลือเด็กแบบหนึ่งที่เรียกว่า “การกระตุ้นในวัยเยาว์ (Early stimulation)” เด็กที่มีลักษณะดังกล่าวที่ได้มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือโดยวิธีนี้ จะมีพัฒนาการกระเตื้องขึ้นทั้งในแง่ความเร็วและคุณภาพของการพัฒนาในด้านต่างๆ (Hallahan & Kauffman, 1986) “ยิ่งเยาว์ยิ่งแก้ปัญหาได้มาก” แต่ปัญหาที่มักพบเสมอๆ ก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครองมักทำใจยอมรับไม่ได้ว่า บุตรของตนเป็นเด็กช้ากว่าวัยอย่างมาก หรือเป็นเด็กปัญญาอ่อน หรือบางกรณีก็ทราบปัญหาของบุตร แต่ไม่มีเวลาหรือผู้ช่วยเหลือ ในการนำบุตรมารับการรักษา เพราะผู้ปกครองที่มีบุตรเช่นนี้ ต้องให้เวลาเอาใจใส่ดูแลเด็กมากเป็นพิเศษยิ่งกว่าบุตรที่มีการพัฒนาการตามปกติธรรมดา สำหรับประเทศไทยเราเป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันมีบริการดังกล่าวหลายแห่ง ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

ผู้เขียนใคร่จะเสนอแนะว่า พ่อแม่ผู้ปกครองคนใด หรือแม้แต่คุณครู หากท่านเห็นว่าเด็กในความปกครองของท่านมีลักษณะพัฒนาการดังกล่าว โปรดอย่าได้นิ่งนอนใจ ดูแลเด็กไปตามมีตามเกิด เพราะการกระทำดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มปัญหาให้แก่เด็กและตัวท่านเองเมื่อเขายิ่งเจริญวัย การช่วยเหลือเมื่อพ้นวัยเด็กไปแล้ว จะให้ผลช้าและได้ผลโดยยาก การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาเช่นนี้ ยิ่งอายุน้อยเท่าใดยิ่งจะได้รับผลดีมากเท่านั้น การศึกษาและการวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับเด็กประเภทนี้รายงานผลว่าเด็ก “บางคน” ที่ได้รับการดูแลรักษาแต่ต้นมืออาจสามารถทำการรักษาจนหายขาดได้ (Hallahan & Kauffman, 1988)

สรุป
เมื่อสิ้นสุดวัยทารก เด็กมีความพร้อมที่จะใช้สมรรถภาพทางกายในแทบทุกๆ ด้าน ระยะวัยเด็กตอนต้นเป็นระยะที่เด็กต้องการใช้กำลังกายและทักษะต่างๆ ทางกายในแง่ประสานสัมพันธ์กัน เด็กจึงชอบวิ่งเล่น ฝึกฝนทักษะทางวาดเขียน เล่นการเล่นประเภทต่างๆ เด็กที่มีโอกาสได้เล่นพอเหมาะแก่วัย จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาการด้านต่างๆ แทบทุกด้าน

ในด้านอารมณ์  เด็กมีอารมณ์ประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก อารมณ์ไม่สู้จะหนักแน่นมั่นคง หัวดื้อ ไม่ค่อยยอมใครง่ายๆ

ในด้านสังคม เป็นระยะที่เด็กเริ่มความสัมพันธ์กับเพื่อนและผู้ใหญ่อื่นๆ แต่เด็กก็ยังอยู่ในโลกของความฝันปนความจริง จึงเล่นกับเพื่อนไม่สู้จะได้ยั่งยืน ทะเลาะกันบ่อยแต่เป็นการทะเลาะที่ไม่จริงจังมากนัก เด็กจึงชอบเล่นคนเดียว เล่นสมมุติ และเล่นเชิงสังคม เด็กทั้งอยากเป็นตัวของตัวเอง และอยากอยู่ใต้ความรักใคร่ของพ่อแม่ เด็กเรียนรู้บทบาททางเพศจากพ่อแม่และจากการเล่น เด็กเริ่มรู้จักร่วมมือและแข่งขันจากการเลียนแบบผู้ใหญ่ในสังคม

ภาษาพัฒนาเต็มที่ในระยะนี้ เด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาดี มักช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางความคิดประเภทต่างๆ พัฒนาการทางความคิดของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย หลายลำดับขั้น แต่ก็ยังเป็นลักษณะ Egocentric มีความจำดีขึ้นมากกว่าในวัยทารก

ศิลปะด้านการขีดเขียนมีความสำคัญยิ่ง ต่อการพัฒนาการทางความคิดและอารมณ์ของเด็ก ซึ่งควรได้รับปลูกฝัง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกซาบซึ้งในสุนทรียภาพ ซึ่งจะติดตัวเด็กไปจนเป็นผู้ใหญ่ตลอดชีวิต

เด็กวัยเด็กตอนต้นในโลกปัจจุบันเป็นเด็กวัยเข้าโรงเรียน หรือสถาบันเลี้ยงเด็กอย่างใดอย่างหนึ่ง พ่อแม่ผู้ปกครองควรคำนึงถึงคุณภาพของสถาบันต่างๆ ที่รับดูแลเด็กแทนบทบาทของพ่อแม่ ปู่ ย่า ตายาย ในอดีต โรงเรียนของเด็กวัยเด็กตอนต้น ไม่ควรรีบเร่งเด็ก เพื่อให้เรียนรู้วิชาต่างๆ เร็วเกินไป ถ้าเด็กคนใดมีความกลัวโรงเรียน ควรได้รับการแก้ไข

พัฒนาการทางศีลธรรมจรรยาควรเริ่มพัฒนาได้แล้วในระยะนี้    แต่การสอนเรื่องนี้แก่เด็กควรสอนโดยทางอ้อมและสอนโดยเป็นตัวแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า