สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลมหนาวกับไข้หวัดใหญ่

ในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ต้องระมัดระวัง และดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงที่อากาศเย็นลมพัดแรง ถ้าหากสุขภาพไม่แข็งแรง พักผ่อน ไม่เพียงพอ และรักษาความอบอุ่นให้ร่างกายไม่ดีพอก็อาจทำให้เป็นไข้หวัดหรือ ไข้หวัดใหญ่ได้

ไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ สาเหตุเกิดจากเชื้ออินฟลูเอนซ่า ไวรัส (Influenza Virus) เมื่อได้รับเชื้อนี้ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเร็ว ไข้สูงกว่าไข้หวัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างฉับพลัน

เชื้อไข้หวัดใหญ่จะติดต่อได้ง่าย สามารถติดต่อได้โดย

1.  เชื้อนี้สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง        โดยการหายใจได้รับนํ้ามูกหรือเสมหะของผู้ป่วยโดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูกและปาก

2.  การสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนเชื้อ        เช่น การใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว การใช้ช้อน แก้วนํ้า ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่ การจูบกับผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่

3.  การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วไปขยี้ตาหรือเอาเข้าปาก

ผู้ที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ไปแล้วภายใน 1 – 3 วัน จะมีอาการของโรคซึ่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

1 .ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่าง เฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตามแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบตา มีไข้สูง 39 – 40 องศาเซลเซียส เจ็บคอและคอแดง มีน้ำมูกใสไหล ไอแห้งๆ ตามตัวจะร้อน ตาแดง ตัวแดง อาจมีอาการอาเจียนและท้องเดิน จะมีไข้อยู่

2- 4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูก และแสบคอยังคงอยู่ โดยทั่วไปจะหาย ภายใน 1 สัปดาห์

2.  ไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อน จึงมักเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นด้วย เช่น อาจพบการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วย จะมีอาการเจ็บหน้าอก หรืออาการหัวใจวาย ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบ ในส่วนของระบบหายใจเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้อาจลุกลามไปที่ปอด มีการอักเสบของหลอดลม และปอดบวม ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอกและเหนื่อย หากพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย แทรกซ้อนอาจทำให้เกิดปอดบวม ฝีในปอด หนองในเยื่อหุ้มปอดได้ นอกจากนี้ อาจพบว่าผู้ป่วยบางรายมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศีรษะมากและซึมลง ในหญิงตั้งครรภ์หากเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรงและมีอาการมาก ก็อาจทำให้แท้งบุตรได้

การรักษาพยาบาล

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ โดยให้นอนพักผ่อนมากๆ ไม่ควรออกกำลังกายในช่วงนี้ ดื่มนํ้า นํ้าผลไม้ นํ้าซุป หรือ อาจดื่มนํ้าเกลือแร่ร่วมด้วย แต่ไม่ควรดื่มนํ้าเปล่าอย่างเดียว เพราะจะทำให้ขาด เกลือแร่ได้ ในด้านการรักษามักจะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาพาราเซตามอล ลดไข้ เมื่อมีไข้ ให้ยาแก้ไอหากไอมาก ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคออาจใช้นํ้า 1 แก้วผสมกับเกลือ 1 ช้อน อมบ้วนปากบ่อยๆ หากมีอาการคัดจมูกอาจจะใช้ไอนํ้าช่วย วิธีง่ายๆ คือต้มนํ้าร้อนอาจใส่ Vick หรือขิงลงไปแล้วสูดดมไอนํ้า จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะ และอย่าสั่งนํ้ามูกแรงๆ เพราะจะทำให้เชื้อลุกลาม

ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้แต่ถ้าหากมีอาการของโรคมากกว่า 10 วัน กินยาลดไข้แล้วไข้ยังสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียสหรือไข้สูงมาก พูดเพ้อ หายใจ เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียว ไอแล้วมีเสมหะปนเลือด หรือ มีอาการไข้และไอหลังจากที่อาการไข้หวัดใหญ่หายไปแล้ว อาการอ่อนเพลียมาก จากการขาดนํ้าและอาหาร หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์ และอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

กรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแต่จริงๆ แล้วหากเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดาผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะหายได้เองใน 2 – 3 วัน หากพักผ่อนเพียงพอและรักษาสุขภาพและความอบอุ่นของร่างกายดี ส่วนอาการไข้จะหายใน 7 วัน อาการอ่อนเพลียอาจจะอยู่ได้นาน 1 – 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยหมั่นล้างมือบ่อยๆ เมื่อออกนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปากหรือขยี้ตา หลีกเลี่ยงจากที่สาธารณะ เช่น โรงภาพยนตร์ ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ และควรงดใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วนํ้า ร่วมกับคนอื่น การป้องกันที่ดีคือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะฉีดปีละ 1 ครั้ง และจะมีภูมิคุ้มกันหลังฉีด 2 สัปดาห์ แต่การฉีดวัคซีนจะเลือกฉีดเฉพาะผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคเอดส์ ผู้สูงอายุ นักเรียนที่อยู่รวมกัน เป็นต้น

ท่านได้รับความรู้เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ และสามารถนำความรู้ไปดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ปลอดภัยจากไข้หวัดใหญ่ได้ ที่สำคัญหากตัวท่านเองเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดไหญ่ เวลาจามหรือไอควรปิดปาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อถึงผู้อื่นด้วย

 

นิภาวรรณ  สามารถกิจ

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า