สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลมพิษ(urticaria)

 

ลมพิษ คืออะไร

ลมพิษเป็นปฏิกิริยาของหลอดเลือดในผิวหนังชั้นบน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้เกิดผื่นมีลักษณะจำเพาะ คือ มีผื่นแดงนูนขึ้นจากผิวหนังมีขอบเขตชัดเจน รูปร่างมักกลม รีๆ ขอบอาจเรียบหรือหยักนูนได้ ที่สำคัญคือมีอาการคันมาก เป็นมากๆ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บตึงได้ ส่วนมากมักขึ้นทั้งตัว แต่บางรายเป็นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย บางคนเป็นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็หายไป แต่บางคนยุบแล้วขึ้นเกือบทุกวันนานเป็นปีๆ ก็ได้ โดยทั่วไปแล้วคนที่เป็นเกิน 6 สัปดาห์ มักถือว่าเป็น “ลมพิษเรื้อรัง”

โรคนี้เป็นได้ทั้งในเด็กจนถึงคนชรา พบมากสุดในวัยผู้ใหญ่ เคยมีการศึกษาแล้วพบว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั่วไปเคยเป็นลมพิษในช่วงหนึ่งของชีวิต

บางคนมีลมพิษร่วมกับอาการบวมนั้นเป็นอย่างไร

การบวมที่เกิดร่วมกับลมพิษนั้นเรียก “แองจิโออีดีมา” (Angioedema) ก็คือ ปฏิกิริยาของหลอดเลือดในชั้นใต้ผิวหนังนั่นเอง เพราะบางคนมีอาการแพ้ รุนแรง จะมีปฏิกิริยาของหลอดเลือดทั้งในชั้นบนของผิวหนังและชั้นใต้ผิวหนัง อาการบวมมักบวมเฉพาะที่ เช่น ปาก หน้า เท้า (บางรายมีอาการบวมทั่วตัวแต่พบน้อย) การบวมอาจพบอย่างเดียวโดยไม่มีลมพิษก็ได้ (ซึ่งพบประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วย) บางคนมีลมพิษอย่างเดียว (ซึ่งพบประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วย) และประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีทั้งลมพิษร่วมกับอาการบวม

สาเหตุที่สำคัญของลมพิษเกิดจากอะไร

สารที่สำคัญทำให้เกิดลมพิษคือ ฮีสตามีน ซึ่งหลั่งออกภายหลังจากมีสิ่ง กระตุ้นมากมาย แต่โดยทั่วไปแล้วสาเหตุของลมพิษพอที่จะค้นพบในผู้ป่วยแต่ละรายน้อยมาก เพียงประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่อาจหาสาเหตุได้ ยิ่งลมพิษเรื้อรัง (เป็นมากกว่า 6 สัปดาห์) แล้วจะหาสาเหตุได้น้อยกว่ามาก

สาเหตุสำคัญที่สามารถทำให้เกิดลมพิษได้ คือ

1. อาหาร การแพ้อาหารพบเป็นสาเหตุของลมพิษได้บ่อย เพราะสังเกต ง่าย อาหารที่สำคัญมักเป็นอาหารประเภทโปรตีน โดยเฉพาะอาหารทะเล เช่น  หอย ปู ปลา นอกจากนั้น ไข่ นม ถั่ว ชอกโกแลต ก็พบได้บ่อย ผลไม้บางอย่าง อาจทำให้มีการหลั่งสารฮีสตามีนได้โดยตรง เช่น สตรอเบอรี่

เป็นต้น ทำให้เกิดลมพิษได้บ่อย

สีปรุงแต่งอาหารและขนม โดยเฉพาะสีเหลืองซึ่งเป็นประเภท Tartrazine กับในขนมพวกสลิ่ม ฟักเชื่อม ชาจีน ขนมชั้น ฝอยทองกรอบ วุ้นหวานอบ อมยิ้ม ฯลฯ สีตัวนี้เป็นสาเหตุลมพิษได้บ่อย จึงควรให้สังเกตไว้ด้วย อาหารเครื่องดื่มที่มียีสต์ เช่น เหล้า, เบียร์ ก็พบเป็นสาเหตุบ่อยเช่นกัน

2. ยา ยาเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของลมพิษ ถ้าลมพิษเกิดขึ้นทันทีทันใดหลังได้รับยานั้นก็สังเกตง่าย แต่บางรายอาจกินเวลานาน 7-10 วันจึงเกิดลมพิษก็สังเกตได้ยาก ยาที่เป็นสาเหตุได้บ่อยได้แก่ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเพนิซิลลิน ซัลฟา นอกจากนั้นยาแก้ปวดพวกแอสไพริน ยานอนหลับ มอร์ฟีน โคเคอีน สารทึบแสงที่ใช้ในการตรวจทางเอ็กซเรย์ ก็พบได้ ยาที่ทำจากซีรั่มของสัตว์ เช่น ที่ใช้รักษาพิษบาดทะยัก หรือโรคคอตีบ ผู้ป่วยอาจแพ้เกิดลมพิษได้

3. โรคติดเชื้อ โรคติดเชื้อสามารถก่อให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน พยาธิในลำไส้ เช่น พยาธิไส้เดือน เป็นสาเหตุพบได้บ่อยในวัยเด็ก เชื้อราในช่องคลอด สตรี พบเป็นสาเหตุของลมพิษเรื้อรังได้ในผู้ใหญ่ ไวรัสบางชนิดพบมีลมพิษเกิดร่วมได้บ่อย ฟันผุบางรายก็เป็นสาเหตุของลมพิษ การถอนฟันผุออกในบางรายอาการลมพิษหายไป

4. แมลง แมลงทำให้เกิดลมพิษได้บ่อย ทั้งจากการสัมผัส เช่น ไรไก่ ไรสุนัข ไรนก ริ้น บุ้ง หรือจากการถูกกัดโดยแมลง เช่น ยุง ริ้น เรือด แต่ที่สำคัญคือ พวกแมลงต่อย เช่น ผึ้ง แตน ต่อ มดคันไฟ มดตะนอย อาจมีปฏิกิริยาลมพิษทั้งตัว และบางคนถึงกับเสียชีวิตก็มี เพราะนํ้าพิษของแมลงพวกนี้มีสารประเภทฮีสตามีนอยู่ด้วย

5. สารที่มาสัมผัส ผู้ป่วยบางรายสัมผัสกับหญ้า ฝุ่น ทำให้มีอาการคัน ลมพิษขึ้น บางคนเล่นกับสุนัข แมว โดนรังแคสัตว์ อาจลมพิษขึ้น

6. ความเย็น ผู้ป่วยบางรายแพ้ความเย็นจัด ทำให้เกิดลมพิษได้ เช่น เวลา อาบนํ้าเย็น ในต่างประเทศเวลาหิมะตก ผู้ป่วยพวกนี้เวลาถูกหิมะ จะเกิดลมพิษ บางรายรับประทานนํ้าแข็งเกิดอาการบวมบริเวณลำคอ หายใจลำบาก ผู้ป่วยพวกนี้อาจเป็นกรรมพันธุ์ หรือเป็นแบบเกิดขึ้นเองก็ได้ การทดสอบโดยเอาก้อนนํ้าแข็งมาวางไว้บริเวณหน้าแขนสัก 2-3 นาทีแล้วเอาออก จะมีผื่นนูนเกิดขึ้นเป็นรอยก้อนนํ้าแข็งที่วาง

7. แสงแดด พบได้น้อย แต่ก็เกิดได้เมื่อผู้ป่วยบางรายแพ้แสงแดดบางคลื่นของแสงแดด พบในหญิงมากกว่าชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุระหว่าง 30-40ปี เมื่อถูกแสงแดดแล้วเกิดลมพิษขึ้น ซึ่งอาจแก้โดยการหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือใช้ยาทากันแสงแดด

8. ลมพิษภายหลังการออกกำลัง หรือเวลามีเหงื่อมาก ลมพิษชนิดนี้เกิด เมื่อร่างกายได้รับความร้อน หรือออกกำลังมีเหงื่อ อาจเกิดขึ้นเวลาแช่นํ้าอุ่นเวลาไข้ ลักษณะของลมพิษแตกต่างจากชนิดอื่นๆ คือชนิดนี้มีขนาดของผื่นเป็น เม็ดเล็กๆ ขนาด 1-3 มม. กระจายทั่วตัวโดยมีรอยแดงรอบ ๆ

9. สาเหตุทางจิตใจ ผู้ป่วยบางรายมีลมพิษภายหลังมีอารมณ์ผิดปกติ เช่น โกรธ กังวล เครียด และมักเป็นแบบเรื้อรัง

10. รอยรัดและรอยขุด บางรายถูกอะไรขูดผิวหนัง หรือรอยรัด บริเวณนั้น จะขึ้นนูนแดงคันคล้ายลมพิษ เช่น รอยขอบกางเกงใน หรือการขีดข่วนต่างๆ จะขึ้นตามรอยขีดข่วนนั้นๆ

11. สาเหตุอื่นๆ สาเหตุอื่นๆ ที่พบเป็นสาเหตุของลมพิษในผู้ป่วยบางราย เช่น หลอดเลือดอักเสบ เบาหวาน มะเร็งของต่อมนํ้าเหลือง โรคของเนื้อเยื่อ บางรายแพ้นํ้าก็มี เช่น อาบนํ้าที่ไม่เย็นลมพิษก็ขึ้น ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยที่แพ้ความเย็น

จะเห็นได้ว่าลมพิษมีสาเหตุมากมาย ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องสังเกตอย่างละเอียด อาการลมพิษขึ้นนั้นสัมพันธ์กับอะไร มีสิ่งใดนำมาก่อน ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เป็น แต่รายมีส่วนน้อยที่ร่วมกับโรคร้ายแรง และขอเน้นว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ของลมพิษ สาเหตุไม่ค่อยพบ

ผู้ป่วยลมพิษต้องการตรวจพิเศษมากน้อยเพียงไร

โดยทั่วไปแล้วประวัติสำคัญที่สุดในการหาสาเหตุ การตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้นจำเป็นน้อย นอกจากรายที่เป็นเรื้อรังหรือมีอาการอื่นๆ ร่วม การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ควรทำ คือ การตรวจเลือด อุจจาระ อาจเอ็กซเรย์ในรายที่สงสัยโรคบางโรค เช่น มะเร็งต่อมนํ้าเหลือง  การใช้วัตถุทู่ขูดผิวหนังในรายที่สงสัยว่ามีเหตุจากรอยขีดข่วนอาจใช้นํ้าแข็งวางผิวหนังในรายสงสัยแพ้ความเย็น อาจใช้ผ้าชุบนํ้าอุณหภูมิกายมาห่อบริเวณผิวหนังในรายสงสัยว่าแพ้นํ้า อาจให้ผู้ป่วยออกกำลังในรายที่สงสัยแพ้ความร้อน ผู้ป่วยที่สงสัยมีหลอดเลือดอักเสบอาจต้องตัดผิวหนังไปตรวจพิเศษ เป็นต้น

สำหรับการทดสอบทางผิวหนัง เพื่อหาสาเหตุของการแพ้นั้นไม่ค่อยได้ประโยชน์มากนัก นอกจากพวกแพ้อาหารที่เกิดอาการเร็วภายหลังรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ การทดสอบจึงให้ผลบวก แต่ถ้าหากอาหารที่ก่อให้เกิดอาการช้า จะไม่สามารถบอกได้จากการทดสอบผิวหนัง สำหรับสารในอากาศนั้น ซึ่งการทดสอบผิวหนังบอกได้ค่อนข้างแม่นยำก็เป็นสาเหตุของลมพิษน้อย ดังนั้นการทดสอบผิวหนังจึงมักจะทำเมื่อสาเหตุจากการซักประวัติไม่ได้จริงๆ และไม่สู้มีประโยชน์มากนักสำหรับลมพิษ

หลักการรักษาลมพิษมีอย่างไร

การรักษาลมพิษก็คล้ายโรคภูมิแพ้อื่นๆ คือ ถ้าทราบสาเหตุก็ต้องหลีกเลี่ยง และต้องหลีกเลี่ยงอย่างจริงจังด้วย เช่น แพ้กุ้ง ไม่เพียงแต่หลีกเลี่ยงอาหารกุ้ง ที่เห็นอย่างชัดเจนเท่านั้น แต่อาหารที่ทำจากกุ้งที่สังเกตได้ยากต้องหลีกเลี่ยงด้วย เช่น นํ้าพริก แกง หรืออาหารที่ทำจากกุ้งแห้ง เป็นต้น คนที่แพ้นมนอกจากไม่ดื่มนมสดแล้ว ขนมที่ใส่นม ไอสครีม เนย ฯลฯ ต้องหลีกเลี่ยงด้วย ในรายที่หาอะไรไม่ได้แน่นอน ในระยะที่ผู้ป่วยมีอาการควรหยุดอาหารที่แพ้ง่ายๆ เช่น นม ชอกโกแลต ฯลฯ รวมทั้งยาที่กำลังรับประทานอยู่ด้วย

การใช้ยา ยาไม่ใช้เป็นการรักษาโรคให้หาย ยาเป็นเพียงระงับอาการไม่ให้ลมพิษขึ้นเท่านั้น ถ้าหยุดยาแล้วไม่กำจัดสาเหตุลมพิษอาจขึ้นใหม่ก็ได้ ยาที่ใช้ในลมพิษเป็นยาแก้แพ้ประเภทแอนตี้ฮีสตามีน ซึ่งมีมากมายหลายชนิด ควรเลือกชนิดที่มีอาการแทรซ้อนน้อย เช่น ไม่ค่อยง่วง บริเวณผิวหนังที่ลมพิษขึ้นอาจใช้พวกคาลาไมน์เพื่อระงับคัน สำหรับลมพิษชนิดไม่เรื้อรังมักไม่มีปัญหาในการรักษา สำหรับลมพิษชนิดเรื้อรังนั้นแพทย์ยังมียาหรือวิธีการในการรักษาอื่นๆต่อไป

สำหรับการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันในลมพิษไม่นิยม เช่น แพ้กุ้ง การค่อยๆ ฉีดสารสกัดกุ้ง เพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานได้ใหม่นั้นไม่นิยม เพราะได้ผลไม่ดี นอกจากนั้น การจัดขนาดของสารสกัดลำบาก การฉีดจำนวนมากเกินไปอาจมีอันตรายถึงกับช็อก หรือเสียชีวิตได้ และการแพ้อาหารชนิดหนึ่งชนิดใด ผู้ป่วยก็สามารถงดอาหารชนิดนั้นและหาอาหารชนิดอื่นทดแทนได้

,

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า