สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ลมพิษและแองจิโออีดีมา (Urticaria & Angioedema)

ลมพิษในเด็ก
Urticaria หรือลมพิษ มีลักษณะเป็นผื่นสีแดง นูน คัน ขอบเขตชัดเจน ส่วนประกอบจะเป็นรอยหยักนูน ตรงกลางมักมีสีซีด เกิดจากปฏิกิริยาของเส้นเลือดที่ผิวหนังในชั้นตื้นๆ หากมีอาการเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่า เป็นลมพิษเรื้อรัง (chronic urticaria)

Angioedema เป็นการบวมเฉพาะที่ เกิดจากปฏิกิริยาเช่นเดียวกับลมพิษ แต่เกิดในชั้น subcutaneous และ submucosal tissue ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการบวมเฉพาะที่หรือมีอาการของ abdominal cramping จากมีการบวมของผนังลำไส้ อันตรายจะเกิดจาก laryngeal edema ซึ่งทำให้ถึงแก่ความตายได้

สาเหตุ
มีมากมาย แต่ส่วนใหญ่มักได้แก่ อาหารและยา นอกจากนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และปรสิต โดยเฉพาะพยาธิในลำไส้ ซึ่งพบบ่อยมากในเด็กไทย บางรายอาจเกิดภายหลังแมลงกัดต่อย หรือจาก physical agents เช่น ความร้อน, ความเย็น, แสงแดด, เหงื่อ นอกจากนั้นอาจเกิดร่วมกับ systemic disease เช่น SLE, malignant neoplasm

การวินิจฉัยโรค นั้นง่าย แต่การหาสาเหตุยากมาก ควรดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

1. ซักประวัติ การ expose กับสาเหตุดังกล่าวข้างต้น

2. ตรวจร่างกาย หาอาการแสดงของโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อปรสิต ในเด็กควรตรวจดูคอ ฟัน หู เพราะอาจพบแหล่งของการติดเชื้อได้

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

-CBC อาจพบเม็ดโลหิตขาวสูงในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย จำนวน อีโอสิโนฟิลในเลือดสูงได้ ถ้ามีพยาธิหรือเป็นลมพิษจากยา
-การตรวจปัสสาวะ อาจพบลักษณะของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
-การตรวจอุจจาระ อาจพบพยาธิและไข่พยาธิได้

การวินิจฉัยแยกโรค
1. Papular urticaria เกิดจากแมลงกัด เช่น ยุง, หมัด, ไร, ผื่นจะอยู่ เป็นกลุ่ม และมักเป็นบริเวณแขนขามากกว่าลำตัว

2. Henoch-Schonlein purpura ลักษณะเป็นจุดเลือดออก (purpura) กระจายอยู่บริเวณขาและก้น

3. Erythema multiforme ลักษณะผื่นจะเห็นเป็น iris lesion เมื่อหายแล้วมักมีรอยสีดำเหลืออยู่

การรักษา
1. หลีกเลี่ยงสาเหตุ ถ้าเกิดจากการติดเชื้อก็ให้การรักษาการติดเชื้อนั้น

2. การรักษาตามอาการ

2.1 ในรายที่เป็นลมพิษมากทั้งตัว หรือมีแองจิโออีดีมาร่วมด้วย ควรให้ Adrenalin 1 : 1 ,000 ขนาด 0.01 มล./กก. ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous)

2.2 Antihistamine เช่น chlorpheniramine หรือ hydroxy¬zine (AtaraxR)

2.3 ยาทา เช่น lotion calamine จะช่วยระงับอาการคันได้ชั่วคราว

2.4 Corticosteroid ไม่นิยมใช้ ยกเว้นรายที่เป็นลมพิษจากยา หรือจากอาหารอย่างรุนแรง อาจใช้ได้ในระยะสั้นๆ

3. รับไว้ในโรงพยาบาล เมื่อมีอาการลมพิษร่วมกับแองจิโออีดีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่มี laryngeal edema ร่วมด้วย

ที่มา:อารียา  เทพชาตรี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า