สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ยารักษาโรคหืด

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืด ควรประกอบด้วย

1. ยาขยายหลอดลม      

2. ยาขับเสมหะ

3. ยากล่อมประสาท

ยาขยายหลอดลมที่ใช้กันอยู่ทั่วไปคือ ยาในกลุ่มของ อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline) และยาที่กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเธติค เช่น อะดรีนาลีน ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้นอกจากจะมีผลขยายหลอดลมแล้ว ยังทำให้หัวใจเต้นเร็วอีกด้วย นอกจากนี้ยังมียาบางชนิดซึ่งมีผลขยายหลอดลม โดยมีผลต่อหัวใจน้อย เช่น

ซาลบิวทามอล (Salbutamol) หรือในชื่อการค้า เวนโทลิน (Ventolin)

ออร์ซิโปรเตอรีนอล (Orciproterenol) ชื่อการค้า คือ อะลูเพ้นท์ (Alupent)

เทอร์บิวทาลีน (Terbuialine) ชื่อการค้าคือ บริคานิล (Bricanyl)

เมื่อผู้ป่วยมีอาการหอบหืดอย่างเฉียบพลัน ควรจะฉีด อะดรีนาลีน เขาใต้ผิวหนัง ในขนาด 0.3-0.5 มิลลิลิตร ในผู้ใหญ่ และ 0.2-0.3 มิลลิลิตรในเด็ก อาการจะทุเลาภายใน 3-5 นาที ถ้าไม่ดีขึ้น อาจฉีดซ้ำได้อีก 1-2 ครั้ง โดยให้มีระยะห่างจากการฉีดแต่ละครั้งประมาณ 15-20 นาที ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ทุเลาลง ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ยาที่อาจมีผลขยายหลอดลมได้ในระยะหอบแบบเฉียบพลันคือ การฉีด อะมิโนฟิลลีน เข้าหลอดเลือดดำโดยตรง การให้ยาตัวนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง กล่าวคือต้องเจือจางในกลูโคสก่อน และให้ช้าๆ อย่างน้อยต้องไม่เร็วกว่า 5 นาที เพราะถ้าฉีดเร็ว จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะความดันเลือดต่ำ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ เนื่องจากการเกิดอาการพิษค่อนข้างสูง จึงแนะนำให้ใช้เฉพาะในกรณีที่เห็นว่าจำเป็นเท่านั้น

ขนาดและวิธีใช้

ในระยะแรกควรให้ 5-6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ ต่อจากนั้นก็ให้ผสมน้ำเกลือ (ส่วนใหญ่ใช้ในรูป 5% D/W) และกะให้ได้ขนาดยา 0.9 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง ยกตัวอย่างเช่น ในคนที่มีน้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัมขึ้นไป ควรจะให้ยา อะมิโนฟิลลีน 250 มิลลิกรัมผสมกลูโคส ฉีดเข้าหลอดเลือดดำให้หมดในเวลาไม่เร็วเกินกว่า 5 นาที และให้ผสมในน้ำเกลือ 500 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1000 มิลลิลิตร และคำนวณให้ในอัตราที่จะหมดภายใน 12 ชั่วโมงต่อไป จนกว่าจะดีขึ้น

ในภาวะนอกโรงพยาบาลทั่วๆ ไป คารฉีดให้เฉพาะอะดรีนาลีนเท่านั้น ในกรณีที่มีอาการหอบหืดเฉียบพลัน

หลังจากฉีดอะดรีนาลีนแล้วดีขึ้น ให้ยาขยายหลอดลมไปกินที่บ้าน ที่ใช้กันบ่อยๆ คอ อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline) ชื่อการค้าเช่น เทดรอล (Tedral) ฟรานอล (Franol) ฯลฯ ขนาดผู้ใหญ่ 1 เม็ด 3 เวลา

ข้อควรทราบเกี่ยวกับยาขยายหลอดลมที่ใช้กิน

ยาพวกนี้ไม่ได้ผลในการรักษาอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน ถ้ามีอาการมากจะต้องฉีดยาเสมอจึงจะดีขึ้น ยกเว้นในกรณีที่มีอาการแน่นหน้าอกไม่มาก เมื่อกินยาก็พอจะทุเลาอาการได้

การใช้ยาขับเสมหะหรือให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ก็จะช่วยทำให้เสมหะหลุดออกไปได้ง่ายขึ้น อันจะเป็นผลให้การอุดตันของหลอดลมลดน้อยลงบ้าง

ในบางรายผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการเกิดขึ้น ในภาวะที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ การใช้ยากล่อมประสาท เช่น พวก ไดอะซีแพม (Diazepam) ก็อาจมีผลทำให้ลดอาการหอบหืดอย่างเฉียบพลันลงได้

ยาที่มีผู้นิยมใช้รักษาโรคหืดคือ ยาขยายหลอดลมแบบพ่น ซึ่งก็อาจจะมีการดูดซึมทางหลอดลมได้มากจนเกิดอาการพิษเช่นอาจออกมาในรูปของหัวใจเต้นผิดจังหวะ จนบางครั้งถึงกับเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อาการพิษอาจเกิดขึ้นได้บ่อย เนื่องจากผู้ป่วยมักจะใช้ยาพ่นติดต่อกันบ่อยๆ ในปริมาณที่สูง ถ้าจะใช้ยานี้ ก็ควรที่จะต้องระมัดระวังอย่าใช้พร่ำเพรื่อ ในกรณีที่พ่นติดต่อกัน 2-3 ครั้งแล้วไม่ได้ผลก็ควรต้องหยุดใช้ยาพ่น และผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

สรุปเรื่องยารักษาโรคหืดควรที่จะใช้ยาขยายหลอดลมเป็นหลัก ไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์ และในแง่ของการเลือกใช้ยาขยายหลอดลม ควรที่จะใช้ยาเพียงชนิดเดียวมากกว่าที่จะใช้ในรูปยาผสม ยาในกลุ่มอะมิโนฟิลลีนจะมีผลเสริมฤทธิ์กับยาในกลุ่มที่กระตุ้นระบบประสาทซิมพาเธติค แต่ยาในกลุ่มเดียวกันไม่มีผลเสริมฤทธิ์กัน และอาจทำให้เกิด อันตรายจากยามากขึ้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า