สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

แม่ที่ให้นมลูกกับยาที่ใช้

ยาที่รับประทานเพื่อรักษาโรคทั่วไปทุกชนิด เช่น หวัด เจ็บคอ ยาสำหรับแม่และลูกที่กินนมแม่มีความปลอดภัยเพียงพอ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะต่างๆ (แต่ยกเว้นยาที่ทำให้ฟันของทารกเปลี่ยนสีได้ เช่น เตตร้าซัยคลิน) ยาแก้ปวด และวิตามิน

ยาที่แม่กินเข้าไป ส่วนใหญ่จะถูกขับออกทางน้ำนมไม่เกิน 2% ของยาที่รับประทาน เพราะมีการผลิตน้ำนมอยู่ตลอดเวลา และมีการหลั่งออกมาเป็นระยะๆ ต่อมน้ำนมจึงไม่มีการเก็บสะสมยาเอาไว้ หากแม่กินยาในตอนเย็น ในกระแสเลือดและในน้ำนมจะไม่มียาเหลืออยู่เลยเมื่อถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น เพราะหลังจากรับประทานยาปฏิชีวนะเข้าไป 2-4 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดออกจากกระแสเลือดไป

แต่ยาที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ ยาที่ละลายได้ดีในไขมัน ยาที่ไม่จับกับโปรตีน และยาที่อยู่ในกระแสเลือดนาน จะผ่านสู่น้ำนมได้ง่าย เช่น หลังจากแม่รับประทานแอลกอฮอล์ซึ่งมีน้ำหนักโมเลกุล 100 เข้าไป ก็จะผ่านออกทางน้ำนมได้รวดเร็ว แต่ยารักษาโรคเบาหวานที่มีอินซูลินอยู่ กลับไม่ถูกขับออกทางน้ำนมเลย เพราะมีน้ำหนักโมเลกุลถึง 5,000 และยาชื่อ วอร์ฟาริน(warfarin) ที่ใช้ป้องกันการแข็งตัวของเลือดก็ไม่ถูกขับออกทางน้ำนมด้วย เพราะจะไปจับอยู่กับโปรตีนในกระแสเลือด

จะมีการสะสมของยาในลูกที่กินนมแม่ได้ ในกรณีที่แม่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาเป็นเวลานาน เช่น แม่ให้นมลูกที่ต้องรักษาข้ออักเสบเรื้อรัง ด้วยการกินแอสไพริน หลังจากที่รับประทานเข้าไป 10-20 นาที แอสไพรินก็จะถูกขับออกมาทางน้ำนมในปริมาณสูงสุด อาจเกิดอันตรายกับลูกได้จากการสะสมของแอสไพรินเพิ่มขึ้นทุกวัน

ขณะที่ให้ลูกกินนมแม่อยู่ หากคุณแม่ต้องกินยาชนิดใดนานๆ ก็ควรปรึกษากับแพทย์ที่รักษาด้วย เพื่อให้แพทย์พิจารณาเลือกใช้ยาที่ไม่มีผลเสียต่อลูก และสามารถขับออกทางน้ำนมได้น้อย

ไม่ควรให้ลูกกินนมแม่ หากคุณแม่ได้รับยาต่อไปนี้เป็นเวลานาน

-ลิเธียม(lithium) เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า จะมีผลต่อระบบประสาทของลูกได้หากได้รับยาเป็นเวลานาน เพราะยาตัวนี้จะถูกขับออกทางน้ำนมในระดับ 1/3 – ½ ของระดับยาในกระแสเลือดแม่

-ไซโคลสปอริน(cyclosporine) เป็นยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ และยาต้านมะเร็ง

-การรักษาด้วยสารกัมมันตรังสี เช่น ไอโอดีน 131

การใช้ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดโดยทั่วไป จากการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ จะไม่มีผลต่อการให้นมแก่ลูกจึงสามารถให้ลูกกินนมต่อไปได้ หลังจากที่ลูกกินนมแม่จนอิ่มให้แม่กินยาทันที จะทำให้ปริมาณยาผ่านสู่ลูกได้น้อยที่สุด เพราะหลังจากกินยาจะเว้นระยะห่างของมื้อนมได้ถึง 2 ชั่วโมง

ถ้าหากคุณหมอที่รักษาสั่งให้คุณแม่หยุดการให้นม เพราะต้องรักษาด้วยยาบางชนิด คุณแม่ควรสอบถามคุณหมอดูว่ามียาชนิดใดบ้างที่รับประทานแล้ว สามารถให้นมลูกได้ต่อไป เพราะคุณแม่ตั้งใจจะให้นมลูกต่อไปอีกระยะหนึ่ง มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรักษาโรคนี้ในตอนนี้ ถ้าให้นมลูกก่อนอีก 2-3 เดือนได้หรือไม่ หรือถามคุณหมอว่าต้องกินยานานเท่าไรหากจำเป็นต้องกิน ย่อมมีผลต่อลูกน้อยถ้ามีการกินยาเพียงครั้งเดียวหรือให้ยาในระยะสั้นๆ เพียง 2-3 วัน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า