สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง(Chronic obstructive pulmonary disease/COPD) หลอดลมอักเสบเรื้อรัง(Chronic bronchitis) ถุงลมปอดโป่งพอง(Emphysema)

ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจต่อเนื่อง เกิดจากโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจ มีหลายโรคที่สำคัญได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง มักพบร่วมกันใน 2 โรคนี้ ทำให้การไหลเวียนของลมหายใจผ่านปอดขณะหายใจออกลดลงมีอากาศคั่งค้างในปอดมาก มีออกซิเจนในเลือดต่ำมีคาร์บอนไดออกไซด์สูง จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยหอบเหนื่อยได้ง่ายปอดอุดกั้นเรื้อรัง

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง  การอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเรื้อรังเนื่องจากถูกสารพิษในสิ่งระคายเคืองทำให้ขนอ่อนทำงานได้ไม่ปกติ เมื่อเยื่อบุหลอดลมอักเสบเรื้อรังก็จะทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดลมมีจำนวนมากและหนาขึ้น ต่อมเมือกบวกโตและหลั่งเมือกมากกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะอุดกั้นการหายใจเนื่องจากทางเดินหายใจแคบลง ในกรณีที่ผู้ป่วยไอมีเสมหะมากติดต่อกันทุกวันปีละ 3 เดือนขึ้นไป ติดต่อกัน 2 ปี แพทย์จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

ถุงลมปอดโป่งพอง  หมายถึง ภาวะที่ถุงลมในปอดพิการอย่างถาวร ถุงลมเป็นถุงอากาศเล็กตรงปลายสุดของปอดมีนับล้านๆ ถุง มีเลือดหุ้มอยู่โดยรอบ ถุงลมปกติจะหดและขยายตัวได้คล้ายฟองน้ำเพื่อแลกเปลี่ยนอากาศเข้าออกของก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ผู้ที่เป็นโรคถุงลมปอดโป่งพองผนังถุงลมจะยืดหยุ่นไม่ปกติและเปราะง่าย มีการแตกทะลุทำให้ถุงลมเล็กๆ รวมตัวกันกลายเป็นถุงลมที่โป่งพองและพิการและทำหน้าที่ได้ลดลง ทำให้หอบเหนื่อยได้ง่ายจากการที่ออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง

หลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพองมักเกิดร่วมกันจนแยกไม่ออก ผู้ชายจะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้หญิง
หลอดลมอักเสบเรื้อรังพบมากในอายุ 30-60 ปี
ถุงลมปอดโป่งพองพบมากในอายุ 45-65 ปี
ส่วนใหญ่จะเป็นกับผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน 10-20 ปีขึ้นไป หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศเป็นพิษและหายใจเอาสารระคายเคืองเข้าสู่ปอดเป็นประจำ

สาเหตุ
พบว่าประมาณร้อยละ 15-20 ของผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะเกิดภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ไปทำลายเยื่อบุหลอดลมและถุงลมในปอด และลุกลามจนเกิดความพิการอย่างถาวร

ส่วนที่เกิดจากมลพิษในอากาศพบได้น้อย แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย

การใช้ฟืนหุงต้มหรือการก่อไฟที่อากาศไม่ถ่ายเทก็อาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยสูดควันเข้าไปเป็นประจำจนเกิดเป็นพิษต่อทางเดินหายใจได้

ผู้ที่เป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้ และสูบบุหรี่จะมีความเสียงต่อการเกิดภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังมากกว่าปกติ

ยังพบการเกิดภาวะพร่องสารต้านทริปซิน(alpha1-antitrypsin ซึ่งเป็นโปรตีนป้องกันไม่ให้ถุงลมปอดถูกสารพิษทำลาย) แต่พบได้น้อย มักเกิดในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 40-50 ปี ภาวะนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้

อาการ
หลอดลมอักเสบเรื้อรังอาจเริ่มในช่วงอายุ 30-40 ปี มีอาการไอเป็นเสมหะเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปีทุกวัน มักมีเสมหะในคอหลังตื่นนอนตอนเช้าประจำเหมือนเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้สนใจรักษา ต่อมาจะไอถี่ขึ้นมีเสมหะมากขึ้น แรกๆ จะมีเสมหะสีขาว และกลายเป็นสีเหลืองหรือเขียวในเวลาต่อมา อาจมีไข้หรือหอบเหนื่อยบ้างจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อน

หากผู้ป่วยยังสูบบุหรี่จนมีโรคถุงลมปอดโป่งพองตามมา นอกจากอาการไอเรื้อรังแล้ว จะมีอาการเหนื่อยหอบง่ายเวลาออกแรงมากและเมื่อมีโรคแทรกซ้อน และจะหอบเหนื่อยมากขึ้นแม้เวลาพูด เดิน หรือทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ และเมื่อนานๆ เข้าก็จะรู้สึกหอบเหนื่อยแม้จะเฉยๆ เพราะการหายใจแลกเปลี่ยนอากาศออกซิเจนเข้าไปไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

เมื่อมีการติดเชื้อแทรกซ้อนอาจมีอาการกำเริบหนักเป็นครั้งคราว ทำให้มีไข้ ไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว หอบเหนื่อย ตัวเขียว หรือมีภาวะหัวใจวายแทรกซ้อน

หากเป็นขั้นรุนแรง ผู้ป่วยมักเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หอบเหนื่อยตลอดเวลา มีอาการทุกข์ทรมาน และรู้สึกท้อแท้

สิ่งตรวจพบ
สิ่งผิดปกติที่ชัดเจนอาจตรวจไม่พบในระยะแรกๆ
แต่ในระยะต่อมาอาจได้ยินเสียงอึ๊ด เสียงกรอบแกรบ เสียงวี้ด หรือเสียงหายใจออกยาวจากการฟังด้วยเครื่องตรวจปอด อาจมีไข้ร่วมด้วยในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน

เมื่อเป็นมากขึ้น อาจพบหายใจเร็ว หน้าอกมีอาการเคาะโปร่ง เสียงหายใจดังค่อยๆ เนื่องจากมีอากาศค้างในถุงลมเมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอด ลมหายใจจะเข้าออกได้น้อย จะพบหน้าอกมีลักษณะเป็นรูปถังทรงกระบอก เรียกว่า อกถัง หรือ อกโอ่ง หากมีอากาศค้างอยู่ในถุงลมมากๆ

ในระยะที่อาการรุนแรง จะพบว่าหายใจลำบาก ปากเขียว เล็บเขียว หรือภาวะหัวใจวาย

ภาวะแทรกซ้อน
ในระยะแรกๆ จะมีการติดเชื้อแทรกซ้อนเป็นครั้งคราว เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ มีอาการหอบกำเริบรุนแรงประมาณปีละ 1-2 ครั้ง และจะมีโอกาสติดเชื้อบ่อยเมื่อโรคถุงลมปอดโป่งพองเป็นรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ระยะรุนแรง จะมีภาวะหายใจล้มเหลวเรื้องรังร่วมด้วย มีภาวะหัวใจวายแทรกซ้อน มีอาการหอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ หลอดเลือดที่คอโป่ง เท้าบวม ตับโต หัวใจห้องขวาล่างโต

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดทะลุจากการแตกของถุงลมส่วนนอก การอักเสบของหลอดลมจากการไอเป็นเลือด มีภาวะเม็ดเลือดแดงมาก(polycythemia จนมีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด หรือ thrombosis) ไส้เลื่อนกำเริบจากการไอเรื้อรัง เป็นต้น

การรักษา
1. หากสงสัยว่าจะเป็นโรคจากภาวะเสี่ยงและอาการดังที่กล่าวแล้วควรเข้าตรวจเช็คร่างกายเพื่อสาเหตุของโรคต่อไป ในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำการตรวจประเมินความผิดปกติของภาวะเม็ดเลือดแดง ตรวจออกซิเจนในเลือด ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น อาจมีการตรวจหาระดับสารต้านทริปซินในเลือดในรายที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี

แนวทางในการรักษาหลักๆ มีดังนี้
-หลีกเลี่ยงมลพิษในอากาศ เลิกสูบบุหรี่ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับเสมหะ

-ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาขยายหลอดลม กลุ่มกระตุ้นบีตา 2 ไอพราโทรเพียมโปรไมด์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้ร่วมกัน ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาวนานมักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการหอบตอนดึก อาจใช้สตีรอยด์ชิดสูดร่วมกับยาข้างต้นในรายที่เป็นรุนแรง

-หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ร็อกซิโทรไมซิน ดอกซีไซคลีน หรือโคไตรม็อกซาโซล นาน 7-10 วัน

2. ในรายที่สงสัยเป็นปอดอักเสบ ปอดทะลุ หรือมีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง หรือภาวะหัวใจวาย ต้องส่งแพทย์โดยด่วน

ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค มักได้ผลดีโรคไม่ลุกลามรุนแรงหากเป็นในระยะแรก(FEV1 มากกว่า 50%ของค่ามาตรฐาน) และเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาด หากมีอาการรุนแรง(FEV1 น้อยกว่า 30%ของค่ามาตรฐาน) มักเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนภายใน 1-5 ปี เช่น ภาวะหายใจล้มเหลวปอดอักเสบ ปอดทะลุ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด เป็นต้น ผู้ป่วยทุกระดับของความรุนแรงมีอัตราการตายมากกว่าร้อยละ 50 หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกใน 10 ปี

ข้อแนะนำ
1. ผู้สูบบุหรี่จัดหากเริ่มมีอาการไอบ่อยทุกวันโดยไม่มีสาเหตุอื่นชัดเจนควรหมั่นพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ

2. ผู้ที่เป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะแรกควรเลิกบุหรี่เด็ดขาด เพื่อไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้น ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อหาทางเลิกบุหรี่ บรรเทาอาการ และประเมินสมรรถภาพของปอดและภาวะแทรกซ้อนเป็นระยะๆ

3. ผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยควรมีบทบาทในการดูแลรักษาในด้านต่างๆ และให้กำลังใจผู้ป่วยเพื่อลดความทุกข์ทรมาน ความท้อแท้ ทำให้การรักษาเกิดคุณภาพมากยิ่งขึ้น

4. โรคถุงลมปอดโป่งพองเริ่มมีอาการในคนอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัด ได้รับมลพิษทางอากาศมานาน มีการหอบเหนื่อยรุนแรงทีละน้อย หายใจได้ยินเสียงวี้ดคล้ายโรคหืด ส่วนโรคหืดมักเป็นในวัยเด็กและมีประวัติโรคหืดและโรคภูมิแพ้ในครอบครัว มีอาการกำเริบบ้างเป็นครั้งคราว หากพบในคนอายุมากอาจแยกได้ไม่ชัดเจนใน 2 โรคนี้ แต่มีวิธีการดูแลรักษาคล้ายกัน ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์เป็นหลัก

การป้องกัน
1. ไม่สูบบุหรี่
2. หลีกเลี่ยงที่ที่มีมลพิษในอากาศ
3. หลีกเลี่ยงการใช้ฟืนก่อไฟในบ้านที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
4. ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหากเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคหืด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า