สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

พัฒนาจากเซลล์มาเป็นคน

ขั้นตอนของการพัฒนาการ
สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการผสมพันธุ์ของแม่กับพ่อจะพัฒนาไปอีกมากมายหลายขั้น วงการศึกษาจึงตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตนั้นให้สอดคล้องตามลักษณะชีวภาพ เป็นศัพท์จำเพาะให้วงการศึกษาเข้าใจตรงกัน ทั้งใช้ชื่อเหล่านั้น ระบุเวลาขั้นตอนของพัฒนาการ ผู้เขียนขอใช้ชื่อเหล่านั้นทับศัพท์ภาษาอังกฤษต่อไป เพื่อมิให้สับสนกับภาษาที่ใช้ในวงกว้างทั่วไป ตำราจิตวิทยาทุกเล่มกล่าวไว้ตรงกันเป็น 3 ขั้น คือ

ขั้นตอนที่ 1 : Zygote
พอสเปิมและไข่ผสมกัน พัฒนาการเริ่มเกิดขึ้นคือ เซลล์แบ่งตัวทวีจำนวนอย่างเร็วมาก ทางวิชาการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตนั้นว่า Zygote มันแบ่งเซลล์ขยายตัวเร็วจนมีสภาพของชีวิตแปลกไปมาก ชั่วระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ มีการตั้งชื่อระยะเวลาช่วงนี้ว่า Germinal period

ขั้นตอนที่ 2 : Embryo
ต่อจากขั้นตอนที่ 1 จนถึงประมาณสิ้นสัปดาห์ที่ 8 (ประมาณ 2 เดือนนับตั้งแต่ Conception: ไข่ผสมกับสเปิม) เรียกระยะนี้ว่า Embryonic period เป็นช่วงที่สำคัญมากช่วงหนึ่ง เพราะลักษณะต่างๆ ของ
มนุษย์มากมายจะถือกำเนิดช่วงนี้    และจะวางรากฐานเป็นลักษณะพัฒนาการในอนาคตตลอดชีวิต ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ตัวอ่อน ซึ่งในระยะนี้เรียกว่า Embryo จะเริ่มได้รับการปกป้อง พิทักษ์รักษาจากระบบต่างๆ และเนื้อเยื่อต่างๆ (ของแม่)เป็นอย่างดียิ่ง การพิทักษ์ปกป้องจะดำเนินไปจวบจนคลอดออกจากครรภ์มารดา ระยะนี้จะมีการพัฒนาด้านโครงสร้างของอวัยวะต่างๆ ตลอดจนรูปลักษณ์ของ Embryo เมื่อสิ้นสุดระยะนี้เราจะเห็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้มีแขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้า รูปหน้า หัวใจเริ่มเต้น เห็นส่วนสมอง ปอด และอวัยวะที่สำคัญอื่นๆ

ขั้นตอนที่ 3 : Fetus
ต่อจากขั้นตอนที่ 2 จนถึงเดือนที่ 9 เรียกตัวอ่อนระยะนี้ว่า”Fetus”ช่วงเวลาระยะที่ 3 เรียกชื่อว่า Fetal period พัฒนาการเด่นของระยะนี้คือระบบต่างๆ ส่วนอวัยวะและกล้ามเนื้อที่พัฒนาในระยะที่ 2 จะเริ่มทำหน้าที่ของมันในระยะนี้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับจะใช้งานได้ทันทีเมื่อคลอดออกจากครรภ์มารดา จะได้กล่าวถึงพัฒนาการที่เด่นๆ ประจำช่วงเวลาแต่ละช่วงอย่างสังเขปดังต่อไปนี้

ภาพข้างล่างนี้แสดงพัฒนาการช่วงเวลา Germinal period อย่างแจ่มแจ้ง จึงใช้ประกอบคำบรรยายต่อไปข้างหน้า
health-0065
พัฒนาการช่วง Germinal period (ภาพจาก Schell & Hall, 1979 หน้า 75)
ซีกซ้ายแสดงมดลูก และส่วนที่เกี่ยวข้อง ประกอบภาพความเป็นไปใน Germinal period ซีกขวาแสดงไข่ที่กำลังพัฒนาไปในช่วงเวลานี้

ศัพท์เกี่ยวกับกายวิภาคที่ไม่ค่อยคุ้นหู ซึ่งกล่าวในคำบรรยายมีปรากฏอยู่ในภาพนี้ด้วย

ช่วงเวลา Germinal period (ตั้งแต่ผสมพันธุ์ถึงสัปดาห์ที่สอง)
หลังจากเกิดการผสมพันธุ์ไม่กี่ชั่วโมง Zygote ก็เริ่มแบ่งตัวขยายจำนวนเซลล์ ชั่วโมงที่ 36 กลายเป็นสิ่งมีชีวิตสองเซลล์ ชั่วโมงที่ 48 สี่เซลล์ ชั่วโมงที่ 72 สามสิบสองเซลล์ อีกหนึ่งวันต่อมามีเจ็ดสิบเซลล์ ระหว่าง เพิ่มทวีจำนวนเซลล์ก็เคลื่อนที่ตามท่อ Fallopian tube มาถึงมดลูกภายใน 3-4 วัน พอถึงที่นั่นรูป Zygote ก็เปลี่ยนเป็นลูกกลมมีของเหลวบรรจุข้างในเรียกว่า Blastocyst ลอยเรื่อยเฉื่อยอยู่ในมดลูกหนึ่งหรือสองวัน เซลล์บางตัวเกาะกันเป็น Embryonic disk นี่คือมวลของเซลล์ที่หนาแน่น ซึ่งจะเป็นตัวทารกต่อไป มวลเซลล์นี้จำแนกตัวเองทีแรกเป็น 2 ชั้น

1. ชั้นบนเรียกว่า Ectoderm จะแปรเป็นอวัยวะชั้นบน เช่น ผิวหนัง เล็บ ผม ฟัน เครื่องรับสัมผัสระบบประสาทรวมทั้งสมองและไขสันหลัง
2. ชั้นล่างเรียกว่า Endoderm จะกลายเป็นระบบย่อยอาหาร ตับ ตับอ่อน ต่อมไทรอยด์ ระบบหายใจ ปอด ต่อมต่างๆ และท่อประสาท (Neural tube) ซึ่งเป็นการเริ่มระบบประสาทและสมองในขั้นต้นต่อมาก็เกิด:-
3. ชั้นกลางเรียกว่า Mesoderm ซึ่งจะพัฒนาเป็นหนังชั้นใน กล้ามเนื้อ โครงกระดูก ระบบไหลเวียนโลหิต

ส่วนหนึ่งของ Blastocyst พัฒนาไปเป็นรก สายสะดือ และถุงน้ำครํ่า

เซลล์ชั้นนอกของ Blastocyst มีชื่อว่า Trophoblast ผลิตโครงสร้างรูปร่างเป็นเส้นใยแทรกเข้าในผนังมดลูก ฉะนั้น Blastocyst จึงฝังตัวแน่นอยู่ในที่อบอุ่นโดยมั่นคง ซึ่งมันจะเจริญงอกงามต่อไปในที่นี้อีกแปด เดือนครึ่ง ขณะเมื่อพร้อมจะฝังตัวเข้ากับผนังมดลูก Blastocyst มีเซลล์ประมาณ 150 ตัว ตรงกลางเป็นโพรง เมื่อมวลของเซลล์ฝังตัวติดกับมดลูกเรียบร้อยแล้วก็ได้ชื่อว่า Embryo (เข้าขั้นตอนที่ 2 ดังกล่าวข้างต้นนี้)

ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าสงสัยคือ เซลล์สามารถจำแนกหน้าที่ของมันได้อย่างไร เช่น เซลล์พวกหนึ่งแยกไปเป็นเส้นประสาท พวกอื่นไปเป็นกล้ามเนื้อไขมันและเลือดเป็นต้น นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดคะเน ว่าเซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มีลักษณะกลางๆ หรือยังไม่แบ่งแยกว่าเป็นเซลล์อะไร ครั้นเซลล์กลางๆ เหล่านี้ไปอยู่ ณ ที่ใดที่ต้องการตัวมัน โดยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเป็นเพราะคุณสมบัติทางเคมี มันจึงกำหนดหน้าที่ตัวเองให้เหมาะกับความต้องการใช้ ยกตัวอย่างเช่นการมีบาดแผลที่มือ เซลล์กลางจะถูกส่งมาที่แผล มันจะแปรรูปไปเหมือนผิวหนังเฉพาะที่นั้น โดยสารทางเคมีที่ส่งมาจากเยื่อใต้ผิวหนังตรงนั้น ถ้าแผลไม่ลึกเซลล์ใหม่แปรตัวของมันให้เหมือนเซลล์เดิมเกือบสมบูรณ์ ก็ไม่มีรอยแผลเป็น ถ้าแผลนั้นลึกทำลายเยื่อใต้ผิวหนังที่ว่ามานี้ ร่างกายซ่อมไม่ได้บริบูรณ์เลยเกิดแผลเป็น ฉะนั้นอาจเป็นได้ว่าพัฒนาการของเซลล์ที่เกิดใน Fetus อาจเป็นการแปรรูปของเซลล์กลางๆ ทำนองนี้

ช่วงเวลา Embryonic period (ตั้งแต่สัปดาห์ที่สองถึงที่แปด)
ระหว่างช่วงเวลานี้ Embryo โตเร็ว เพราะระบบต่างๆ ในร่างกายพัฒนามาก (เกิดระบบหายใจ ทางเดินอาหาร เส้นประสาท) ความพิการแต่กำเนิดเช่น เพดานแหว่ง แขนขากุด ตาบอด หูหนวก ฯลฯ มักปรากฏในช่วงเวลาวิกฤต 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ Embryo ที่ไม่สมบูรณ์อย่างมากมักไม่มีชีวิตรอดพ้น 3 เดือนแรกนี้ และจะแท้งตามธรรมชาติ

ใครๆ อาจสังเกตเห็น Embryo มีโครงสร้างเริ่มแรกที่คล้ายหางและเหงือก (ของปลา) ส่วนที่คล้ายหาง จะพัฒนาเป็นกระดูกสันหลัง ที่ดูคล้ายเหงือกปลาจะพัฒนาเป็นแก้ม คาง ขากรรไกร และหูชั้นนอก

ช่วงเวลา Fetal period (ต่อจาก Embryonic period จนคลอด)
เมื่อเริ่มปรากฏเซลล์กระดูกเป็นครั้งแรกประมาณสัปดาห์ที่แปด ส่วนต่างๆ ของร่างกายจะพัฒนาในทุกด้านจนเข้ารูป ตำราเรียกตัวอ่อนในช่วงนี้ว่า Fetus

ตามกล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นการบรรยายลักษณะรวมๆ กว้างๆ ในหน้าต่อไปแสดงภาพให้เห็นภาพรวมของพัฒนาการชีวิตในครรภ์ ตั้งแต่เริ่มสัปดาห์ที่หนึ่งถึงเวลาครบกำหนดคลอดตามปกติ ในสัปดาห์ที่สามสิบแปด

ภาพรวมของพัฒนาการชีวิตในครรภ์ (ภาพจาก McGraw, 1987, หน้า 140)
health-0068

ลักษณะพัฒนาการตามลำดับเดือนโดยสังเขป
เดือนแรก
ระหว่างเดือนแรกชีวิตใหม่โตเร็วมากในอัตราเร็วกว่าช่วงใดๆ ในชีวิต จะมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อเป็น Zygote นับหมื่นเท่า บัดนี้ชีวิตใหม่มีกายยาววัดได้ 6.25 ถึง 12.5 มิลลิเมตร มีเลือดไหลในเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงเล็กๆ หัวใจขนาดจิ๋วเต้นนาทีละ 65 ครั้ง พร้อมที่จะตั้งต้นมี สมอง ไต ตับ และเส้นทางระบบย่อยอาหาร สายสะดือเส้นทางต่อชีวิตกับแม่เริ่มทำงาน มองดูให้ละเอียดด้วยกล้องจุลทัศน์ อาจเห็นปุ่มหลายปุ่มบนศีรษะ ซึ่งจะกลายเป็นตา หู ปาก จมูก ยังไม่รู้ว่าเพศอะไร
health-0069 - Copy
พัฒนาการเดือนแรก (ภาพจาก Craig, 1980, หน้า 63)
(a)สิ่งมีชีวิต 2 เซลล์ แยกตัวครั้งแรกหลังจากปฏิสนธิแล้ว 30 ชั่วโมง
(b)ในช่วง Germinal 3 วันครึ่ง ยังไม่มีการจำแนกหน้าที่ของเซลล์ แม้ว่ามีการแยกตัว 4 ครั้งหรือมากกว่าเกิดขึ้นแล้ว
(c) Embryo อายุ 28 วัน โตเร็วมากแต่ละวันๆ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อและรูปทรง

เดือนที่ 2
Embryo ในเดือนที่ 2 นี้รูปคล้ายเด็กขนาดเล็กที่ได้สัดส่วน ตัวสั้นกว่า 2.5 เซ็นติเมตร แต่ส่วนศีรษะโตมากเท่ากับครึ่งของความยาวทั้งตัว

ส่วนต่างๆ ที่ใบหน้าปรากฏชัดแล้ว มีลิ้นและปุ่มฟัน ที่แขนมีมือและนิ้ว ที่ขามีหัวเข่า ข้อเท้าและนิ้วเท้า มีเยื่อบางหุ้มผิวหนัง มีกระทั่งเส้นลายมือลายเท้า

สมองของ Embryo กระตุ้นให้มีการร่วมกันทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ อวัยวะเพศเริ่มพัฒนา หัวใจเต้น เที่ยงตรงดี

กระเพาะผลิตน้ำย่อยอาหาร ในตับก็มีเซลล์ของเลือด ไตกรองกรดยูริคออกจากเลือด ผิวหนังไวต่อสัมผัส อาจสังเกตความต่างของอัณฑะ (ชาย) กับรังไข่ (หญิง) ต่อมไร้ท่อเริ่มผลิตฮอร์โมน

เดือนที่ 3
ในเดือนที่ 3 Fetus พัฒนาเป็นคนครบทั้งตัวหนักประมาณ 28 กรัม ยาวประมาณ 7.5 เซ็นติเมตร มีเล็บนิ้วมือนิ้วเท้า มีเปลือกตา (แต่ยังปิดอยู่) มีหลอดเสียง ริมฝีปาก จมูกสูงขึ้น ศีรษะยังคงโตมากประมาณ 1/3 ของความสูงตลอดร่างกาย หน้าผากสูง เพศชายหรือหญิงเห็นได้ชัดระบบต่างๆ ทำหน้าที่ได้แล้ว ฉะนั้นเดี๋ยวนี้หายใจได้ น้ำครํ่าเข้า และออกจากปอด บางทีก็ถ่ายปัสสาวะได้ ซี่โครง และกระดูกสันหลังเป็นกระดูกอ่อน อวัยวะที่จะสืบพันธุ์ มีสิ่งซึ่งเป็นเบื้องต้นของไข่หรือสเปิม

Fetus สามารถแสดงการตอบสนอง โดยเฉพาะเรื่องได้หลายอย่างเช่น รู้จักขยับขา เท้า นิ้ว หัวแม่มือ และศีรษะ ปากอ้าและหุบ และกลืนเป็น ถ้าแตะที่เปลือกตา จะกลอกตา แตะที่ฝ่ามือจะทำท่ากำ แตะที่ริมฝีปากจะดูดปาก แตะที่ฝ่าเท้าจะกางนิ้วเท้า ปฏิกิริยาริuเฟลกซ์เหล่านี้มีอยู่จนกำเนิดแล้วค่อยหายไปในเดือนแรกๆ ของชีวิต

พัฒนาการมือและนิ้วมือ อายุ 5 ถึง 12 สัปดาห์
มือและนิ้วมือมีพัฒนาการสมบูรณ์เร็วมาก
ในราวสัปดาห์ที่ 5 และ 6 มือเริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกเป็นแผ่นมีปุ่มที่จะงอกเป็นนิ้ว
สัปดาห์ที่ 7 และ 8 นิ้วมือและหัวแม่มือ เป็นรูปร่างชัดเจน
ในเดือนที่ 3 มือและนิ้วได้รูปสมบูรณ์ดี

เดือนที่ 4
ในเดือนที่ 4 ร่างกายยาวออกจนทำให้ศีรษะมีสัดส่วนเป็นหนึ่งในสี่ของความสูงทั้งตัว และจะทรงอยู่จนคลอด ขณะนี้ Fetus ยาว 20 ถึง 25 เซนติเมตร หนักประมาณ 170 กรัม สายสะดือยาวเท่ากับ Fetus โดยจะยาวคู่กันต่อไป ในขณะนี้รกได้พัฒนาเต็มที่

แม่รู้สึกได้ว่าลูกดิ้นใช้เท้าถีบ ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ที่เริ่มมาแต่เดือนที่ 3 คล่องแคล่ว เพราะกล้ามเนื้อพัฒนาขึ้น

เดือนที่ 5
ในเดือนที่ 5 Fetus หนักประมาณ 340 ถึง 450 กรัม ตัวยาวประมาณ 30 เซ็นติเมตร เริ่มแสดงร่องรอยของบุคลิกภาพเฉพาะตัว มีแบบการหลับการตื่นแน่นอน มีท่าที่พอใจนอนในมดลูก มีความคึกคักมากขึ้น เช่น การถีบ การเหยียดขา บิดตัว แม้กระทั่งสะอึก ใครเอาหูแนบที่ท้องของแม่จะได้ยินเสียงหัวใจของ Fetus เต้น ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันเริ่มทำหน้าที่ ระบบหายใจยังไม่เพียงพอที่จะใช้หายใจรักษาชีวิต นอกมดลูก ถ้าคลอดในระยะนี้รอดชีวิตได้ยาก ขนหยาบๆ เริ่มงอกเป็น คิ้วและขนตา ผมละเอียดงอกบนศีรษะ มีขนขึ้นทั่วไปตามตัว แต่จะร่วง หล่นเมื่อคลอดแล้ว

เดือนที่ 6
ในเดือนที่ 6 อัตราความเติบโตช้าลงเล็กน้อย Fetus ตอนนี้ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร หนักประมาณ 567 กรัม มีชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ดวงตามีความสมบูรณ์ หลับและลืมได้ มองไปได้ทุกทิศ หายใจได้เป็นปกติตลอด 24 ชั่วโมง รู้จักร้องไห้ และกำมือได้แน่น ถ้าเกิดในระยะนี้มี โอกาสรอดน้อย เพราะอวัยวะหายใจยังไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ดีเคยมี Fetus ที่คลอดแล้วอยู่รอดได้บ้าง

เดือนที่ 7
ในเดือนที่ 7 Fetus ยาว 40 เซนติเมตรหนัก 1.3 ถึง 2.2 กิโลกรัม ปฏิกิริยารีเฟลกซ์พัฒนาเต็มที่ สามารถร้องไห้ หายใจ กลืน และดูดนิ้วหัวแม่มือ ขนตามตัวเริ่มหาย หรืออาจคงอยู่จนคลอดก็ได้ ผมบนศีรษะคงงอกงามต่อไป Fetus ที่หนักอย่างน้อย 1.6 กิโลกรัม ถ้าคลอดในระยะนี้ และได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นอันดีจะรอดชีวิต บางทีจะต้องเลี้ยงไว้ในตู้อบจนกระทั่งได้น้ำหนัก 2.2 กิโลกรัม

เดือนที่ 8
ในเดือนที่ 8 Fetus ตัวยาว 45 ถึง 50 เซ็นติเมตร หนักระหว่าง 2.2 ถึง 3.1 กิโลกรัม โตเร็วจนคับที่อาศัย การเคลื่อนไหว ขลุกขลักระหว่างเดือนนี้และเดือนถัดไป เกิดชั้นไขมันทั่วกาย Fetus เพื่อช่วยปรับตัวรับอุณหภูมิที่แตกต่างไปภายนอกมดลูก

เดือนที่ 9
ในเดือนที่ 9 ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนคลอดทารกหยุดเติบโต มีน้ำหนักเฉลี่ยมากกว่า 3.1 กิโลกรัมขึ้นไป ตัวยาวประมาณ 50 เซ็นติเมตร เด็กชายมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าและหนักกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย ชั้นไขมัน ยังคงก่อตัวต่อไป ระบบของอวัยวะทำงานมีประสิทธิภาพ อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ขับของเสียมากขึ้น ผิวหนังที่ค่อนข้างแดงจางลง

ตำราจิตวิทยาทั่วๆ ไป กำหนดตรงกันว่า Fetus จะอยู่ในครรภ์ 266 วัน แต่ก็ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะรู้ได้ว่าไข่และสเปิมผสมพันธุ์เมื่อวันใด ไม่รู้จะเริ่มนับวันไหน ก็ไม่อาจบอกวันครบกำหนดได้ จึงมักยอมรับวิธีการประมาณของแพทย์

แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา บอกว่า “ถ้าคุณอยากรู้กำหนดคลอด ต้องจำวันแรกของประจำเดือน ครั้งสุดท้ายให้ได้ และนับไปอีก 9 เดือน จากนั้นบวกกับอีก 7 วัน ส่วนมากจะคลอดใกล้เคียงกับวันที่เราคิด ถ้าคุณจำได้อย่างแม่นยำ”

โดยนัยนี้มักจะได้ผลลัพธ์ว่าการคลอดควรเกิดขึ้นเมื่อครบ 280 วัน นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ดีมีสาเหตุที่ทำให้คลอดเร็วหรือล่าช้ากว่ากำหนดได้ ซึ่งไม่ดีทั้ง 2 ทาง

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า