สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

วัยเด็กตอนต้นกับพัฒนาการทางสังคม

ลักษณะทั่วๆ ไปของพัฒนาการทางสังคม
พัฒนาการทางสังคมได้เริ่มแล้วตั้งแต่วัยทารก แต่ในระยะวัยเด็กตอนต้นนี้ มีลักษณะผิดแผกจากวัยทารก มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับลักษณะพัฒนาการทางสังคมของเด็กในวัยนี้หลายประการ เช่น

1. ระยะวัยทารก บุคคลอื่นเป็นฝ่ายเข้าหาเด็ก เด็กเป็นฝ่ายคอยรับ และคอยตอบสนองเสียเป็นส่วนมาก พอถึงวัยเด็กตอนต้นนี้ เพราะความอยากเป็นตัวของตัวเอง เพราะสมรรถภาพทางภาษา ความสามารถทางกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส และความสามารถในการใช้เหตุผล ทำให้เด็กเริ่มรู้จักเข้าหาผู้อื่นบ้าง ไม่คอยแต่เป็นฝ่ายรับการเข้าหาจากผู้อื่น

2. เด็กเริ่มเบื่อหน่ายที่จะคบผู้ใหญ่เป็นเพื่อน เริ่มแสวงหาเพื่อนร่วมวัย เด็กส่วนใหญ่เข้าโรงเรียนก่อนวัยเรียนหรือโรงเรียนอนุบาลแล้ว ปรัชญาของสถาบันการศึกษาระดับนี้ประการหนึ่งคือ หัดให้เด็กเรียนรู้การอยู่กับเพื่อนร่วมวัย และผู้ใหญ่อื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว รู้ระเบียบวินัยและกฎเกณฑ์ในสังคม

3. เด็กคบกับเพื่อนร่วมวัยยังไม่ราบรื่นดีนัก เพราะยังต้องการให้ผู้อื่นสนใจตนมากกว่าตนสนใจผู้อื่น (Self-center) ยังไม่มีประสบการณ์สังคม ยังไม่รู้จักออมชอม ยังไม่รู้จักการให้และการรับ ฉะนั้น เด็กจึงรวมกลุ่มไม่ติด ทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย แต่เด็กก็ไม่สู้จริงจังกับการทะเลาะกัน ประเดี๋ยวประด๋าวก็ลืมแล้วดีกันง่ายๆ การทะเลาะของเด็กแสดงออกหลายอาการ เช่น เตะ ต่อย หยิก ข่วน ฟ้อง ร้องไห้ ร้องกรี๊ด ฯลฯ

4. แม้ว่าระยะนี้จะรวมกลุ่มกันไม่สู้จะได้ และการคบเพื่อนของเด็กมีลักษณะแบบก่อนรวมกลุ่มแท้จริง (Pre-gang age) แต่เด็กก็มีกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่สู้จะยั่งยืน เมื่อมีกลุ่มก็มักจะมีผู้นำ ซึ่งอาจอายุมากกว่าเพื่อนๆ และฉลาด ตำแหน่งผู้นำเปลี่ยนบ่อยตามความรู้สึกของสมาชิกในกลุ่มส่วนมาก เด็กบางคนเพื่อนไม่ชอบให้เข้ากลุ่มเลย เพราะสาเหตุเช่น ช่างฟ้อง งอแง ชอบรังแก ติดพ่อแม่ ฯลฯ เด็กที่เพื่อนชอบมักเป็นเด็กที่ตามใจเพื่อน ไม่ดูดาย ฯลฯ

5. เพื่อนของเด็กยังจำกัดทั้งจำนวนและประเภท นอกจากเพื่อนที่เป็นบุคคลจริงๆ แล้ว เด็กยังมีเพื่อนอีกประเภทหนึ่ง คือ เพื่อนสมมติ (Imaginative friends) ซึ่งเด็กทุกคนต้องประสบพบผ่าน ทั้งนี้เพราะเป็นระยะที่เด็กอยากมีเพื่อน แต่ยังไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนได้ จึงสร้างเพื่อนสมมุติขึ้น ซึ่งเด็กจะบันดาลให้เป็นไปตามใจตัวเองอย่างไรก็ได้ การสร้างเพื่อนสมมุติอาจมาจากสาเหตุอื่นๆ อีกเช่น เลียนแบบชีวิตจริงที่เด็กได้พบเห็นและอยากเลียนแบบ เพื่อนสมมุติให้ทั้งคุณ และโทษ คือ อาจช่วยลดความตึงเครียดในด้านประสบการณ์สมาคม แต่ถ้าเด็กเพลินกับเพื่อนสมมุติเกินไป ก็อาจจะนำให้เด็กเพ้อฝัน เข้าใจชีวิตจริงๆ หรือพฤติกรรมในสังคมจริงๆ ได้ช้า หรือผิดไปจากความเป็นจริง หรือเด็กอาจนำวิธีการที่ใช้กับเพื่อนสมมุติไปใช้กับเพื่อนจริงๆ ซึ่งอาจทำให้สร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนอย่างราบรื่นไม่ได้ ระยะที่เด็กสร้างเพื่อนสมมุติมากที่สุดอยู่ระหว่างอายุ 2 ขวบ ครึ่งถึง 4 ขวบครึ่ง

6. พร้อมๆ กับเพื่อนสมมุติ เด็กจะสร้างโลกสมมุติหรือเรื่องสมมุติขึ้น (Imaginative world or Imaginative play) การสร้างโลกสมมุติเป็นการเล่นชนิดหนึ่งของเด็กในวัยนี้ การเล่นสมมุติเป็นการเล่น เลียนชีวิตจริง เช่น เล่นขายของ เล่นเป็นแม่ เล่นเลียนละครที่ดูจากโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เด็กมักจะมีของเล่น อุปกรณ์การเล่นประเภทต่างๆ ประกอบการเล่นสมมุติ เช่น ดินน้ำมัน ไม้ท่อนแท่ง ลูกปัด ตุ๊กตา ดินสอสี กรรไกร สีน้ำ ใบไม้ ฯลฯ การเล่นสมมุติบางอย่าง อาจเลียนชีวิตจริงบางส่วนเท่านั้น ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับเทวดา นางฟ้า ยักษ์ ฯลฯ บุคคลเหล่านี้เป็นเพื่อนสมมุติของเด็ก ซึ่งเด็กบางคนรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมมากกว่าเพื่อนในชีวิตจริงๆ ของเขาเสียอีก

7. การเล่นเป็นพฤติกรรมสำคัญสำหรับพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก เพราะช่วยให้เด็กได้พัฒนาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ช่วยส่งเสริมความเข้าใจสิ่งแวดล้อม ช่วยให้รู้จักเล่นและผูกมิตรกับเพื่อน เป็นทางออกของอารมณ์ตึงเครียด ลักษณะการเล่นและเรื่องราวที่เด็กเล่น เป็นเครื่องชี้ให้ ทราบถึงสติปัญญา บุคลิกภาพ ลักษณะอารมณ์ และความสนใจของเด็ก พื้นฐานของครอบครัว และเพศ การเล่นเกมส์จะเริ่มเมื่อเด็กพอจะเข้ากลุ่มกันได้ยั่งยืนบ้างแล้ว คือ เมื่อเด็กอายุประมาณ 4-5 ขวบ

8. เด็กต้องการสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมวัยมากกว่าสร้างกับผู้ใหญ่ แต่เพราะเด็กยังไม่มีความสามารถสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมวัยได้อย่างราบรื่น เด็กจึงยังคงต้องการความรัก ความสนใจจากผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กมีวิธีการหลายอย่างเพื่อให้บรรลุถึงความต้องการดังกล่าวนี้ เป็นต้นว่าเคล้าเคลีย ออดอ้อน ซักถาม เรียกร้องให้ดู เมื่อใดเด็กเริ่มรู้สึกว่าตนได้รับการยอมรับจากเพื่อนรุ่นเดียวกันเป็นที่น่าพอใจแล้ว เด็กจะเริ่มขัดขืนและดื้อดึงกับผู้ใหญ่

9. พัฒนาการทางสังคมตามแนวคิดของแอริคสัน ในระยะวัยเด็กตอนต้นคือความคิดริเริ่มแย้งกับความรู้สึกผิด (Initiative vs guilt) ซึ่งขยายความได้ว่า ในระยะนี้เด็กเริ่มพัฒนาความสามารถเฉพาะตัวในด้านต่างๆ มีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังทำอะไรไม่ได้เต็มที่สมตามที่ตนปรารถนา ยังคงมีความต้องการที่จะได้รับการอุ้มชูดูแล อยากได้ความสุขสบาย ซึ่งได้มาจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่อยู่ด้วย การผ่อนปรนความขัดแย้งทางใจของเด็กในด้านความคิดริเริ่มแย้งกับความรู้สึกผิดนี้จะยากลำบาก สำหรับเด็กที่พ่อแม่ทนุถนอมมากเกินไป เด็กกลุ่มนี้มักขาดโอกาสที่จะเป็นตัวของตัวเอง และภาคภูมิในตนเอง เพราะพ่อแม่มักตีกรอบความประพฤติไว้ให้มาก (Lefrancois, 1990)

10. เด็กเรียนพฤติกรรมทางสังคมด้วยการเลียนแบบ การเลียนแบบพฤติกรรมทางสังคมที่เด่น ประการหนึ่งของเด็กสมัยปัจจุบันในระยะนี้คือ เด็กเรียนและเลียนแบบการร่วมมือและการแข่งขันเชิงสังคม (Cooperative vs competition) มีผู้ทำการวิจัยพบว่า เด็กในชนบทและในสังคมที่ไม่ซับซ้อน มักเรียนรู้จักที่จะร่วมมือกันมากกว่าที่จะแข่งขันชิงดีชิงเด่น ในขณะที่เด็กในสังคมเมืองและสังคมไฮเทคไม่ค่อยเรียนรู้ที่จะร่วมมือเชิงสังคมมากนัก แต่มุ่งที่จะแข่งขันชิงดีชิงเด่นมากกว่า (Lefrancois, 1990, หน้า 285)

ความตระหนักเรื่องเพศ – การเรียนและเลียนบทบาททางเพศ
พฤติกรรมทางสังคมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในระยะวัยเด็กตอนต้น ซึ่งน่ารู้น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม ได้แก่การที่เด็กหญิงและเด็กชายเริ่มมองเห็นความแตกต่างระหว่างเพศ (Sex difference) เริ่มตระหนักว่าตนเป็นเพศหญิงหรือชาย และควรจะประพฤติตนอย่างไรจึงจะสมเป็นผู้หญิงสมเป็นผู้ชาย (Sexual typing) การเรียนรู้เหล่านี้นอกจากเด็กจะเรียนด้วยอาศัยการสังเกตและเลียนแบบแล้ว ยังถูกอบรมแนะนำจากผู้ใหญ่และจากการเล่นด้วย    การเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เป็นรากฐานของความประพฤติตนอย่างชายหนุ่มหญิงสาว หรือบทบาทอย่างอื่นสำหรับเฉพาะชายหรือหญิงในภายภาคหน้า เช่น บิดา สามี มารดา ภรรยา ฯลฯ สาเหตุที่ทำให้ผู้ใหญ่บางคนประพฤติตนผิดไปจากลักษณะบทบาทของเพศของตนที่สังคมไม่ยอมรับ (เช่น กะเทย, รักร่วมเพศ ฯลฯ) นั้น สาเหตุหนึ่งก็คือประสบการณ์ และการเรียนรู้ของเขาในวัยนี้ ผิดทางเป็นเบื้องแรกในระยะนี้นี่เอง

การเลียนแบบบทบาททางเพศเกิดขึ้นเมื่อ
ก. มีบุคคลที่เป็นเพศเดียวกับตน
ข. บุคคลนั้นเป็นผู้ที่เด็กมีสัมพันธภาพที่ดี
ค. บุคคลนั้นประพฤติตนตามบทบาททางเพศ

สองข้อข้างต้น มีความสำคัญที่จะทำให้มีการเลียนบทบาททางเพศเกิดขึ้น ส่วนข้อสุดท้ายนั้นเป็นตัวกำหนดว่า ลักษณะการเลียนแบบนั้นจะเป็นไปในแบบใดระดับใด

พร้อมๆ กับการเลียนแบบบทบาททางเพศ เด็กจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลเพศตรงข้ามกับตน ซึ่งในระยะนี้คือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับเด็ก เนื่องจากครอบครัวส่วนมากมักมีบิดามารดาใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด Freud จึงอธิบายว่าระยะนี้เด็กหญิงรักพ่อเลียนบทบาททางเพศจากแม่ เด็กชายรักแม่ เลียนบทบาททางเพศจากพ่อ

ถ้าเด็กหญิงและเด็กชายไม่ได้รับการสนองความต้องการเลียนแบบบทบาททางเพศจากผู้ใหญ่ ที่เป็นเพศเดียวกับตน และสร้างสัมพันธภาพกับผู้ใหญ่ต่างเพศกับตน เมื่อเด็กยังอยู่ในระยะวัยเด็กตอนต้น เด็กจะเกิดปมของอารมณ์ความต้องการนี้ติดตัวไปภายหน้า เป็นลักษณะ Fixation ทำให้มีพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งอาจผิดแผกไปจากที่สังคมส่วนมากยอมรับหลายอย่าง เช่นรักร่วมเพศ ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างเพศได้ ฯลฯ จะเป็นแบบใดหรือรุนแรงอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของประสบการณ์ของชีวิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ในระยะวัยเด็กตอนต้น

การเล่น
ในช่วงวัยทารก ได้กล่าวถึงการเรียน/เล่นเป็นหัวข้อใหญ่ การเล่นคือการเรียนยังเป็นพฤติกรรมที่เด่นมากของเด็กในวัยเด็กตอนต้น การเล่นช่วยเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กนานัปการ เช่น พัฒนาการทางกาย ทักษะความสามารถด้านประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส ความสนุกสนานรื่นเริงมีชีวิตชีวา พัฒนาการทางความคิดด้านเข้าใจตนเอง เข้าใจสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ความคิดเชิงภูมิปัญญา พัฒนาทักษะในการสัมพันธ์กับเพื่อน การรู้จักเคารพกฎเกณฑ์และอื่นๆ อีกมาก การเล่นในช่วงวัยเด็กตอนต้น เป็นการเล่นแบบไม่มีรูปแบบซับซ้อนมากนัก เด็กเล่นทั้งคนเดียว และเล่นร่วมกันเป็นกลุ่ม การเล่นบางอย่างเป็นการเล่นที่ผนวกความฝันปนกับความจริง เพราะยังไม่ สามารถแยกแยะโลกแห่งจินตนาการออกจากข้อเท็จจริงได้อย่างเด็ดขาด

เราอาจกล่าวได้ว่าการเล่นของเด็กเป็นธรรมชาติที่เป็นไปอย่างทั่วถึง เด็กทุกชาติ ทุกชั้นทางสังคมต้องการเล่นของเล่นและเกมส์การเล่นของเด็กอาจแตกต่างไปตามลักษณะสังคมและวัฒนธรรม แต่ก็มีการเล่นหลายประเภทที่เด็กนานาชาติเล่นเหมือนๆ กันเช่น การเล่นซ่อนหา เล่นตั้งเต เล่นหมากเก็บ เล่นขายของ เล่นกระโดดเชือก เล่นปาลูกบอลล์ ฯลฯ

การเล่นประเภทต่างๆ : ตัวอย่าง
การเล่นของเด็กในวัยนี้มีความหลากหลายมากกว่าวัยทารก ซึ่งอาจจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายแนวคิด ในที่นี้ขอจำแนกเป็น 7 ประเภท

ตามความเป็นจริงแล้ว การเล่นของเด็กไม่สามารถจะแยกแยะเป็นประเภทๆ ต่างกันชัดเจน เพราะลักษณะการเล่นของเด็กส่วนมากมักปนๆ กันไปหลายแบบ เช่น เล่นสมมุติเรื่องเดียวอาจเป็นการเล่นเชิงสังคม เล่นแบบฝึกฝนกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสพร้อมๆ กันก็ได้ ต่อไปนี้ขอเสนอประเภทการเล่นบางประเภท.

1. เล่นคนเดียว :
เด็กเล่นคนเดียวกับของเล่น เช่น เล่นกับตุ๊กตา เล่นต่อบล๊อก เล่นตัดกระดาษ เล่นสมมุติ ฯลฯ

2. เล่นสมมุติ:
โลกของการเล่นสมมุติเป็นการเล่นที่โดดเด่นมากของเด็กวัยเด็กตอนต้น สำหรับเด็กการเล่นชนิดนี้เป็นโลกแห่งความจริง เด็กมักลอกเลียนโลกสมมุติจากเรื่องราวในชีวิตจริงที่ได้พบเห็น เช่น เป็นครู นักเรียน พ่อ แม่ ทำกับข้าว ขายของ พี่ น้อง ประกวดนางงาม ฯลฯ หรือบางครั้งก็ลอกเลียนจากเรื่องราวที่ตนได้ยินได้ฟังจากนิทาน โทรทัศน์ เพื่อน ฯลฯ
health-0177 - Copy
ชัยรัตน์  วิบูลมลคล ๑๐ ปี (หม้อข้าวหม้อแกง)
(ภาพการเล่นสมมุติ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2529, หน้า 157)

3. เล่นเชิงสังคม :
เป็นการเล่นที่มีเด็กตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เล่นเชิงสังคมอาจรวมการเล่นประเภทอื่นๆ ด้วย (ยกเว้นการเล่นคนเดียว) เช่น เล่นกระโดดเชือก เล่นซ่อนหา เล่นอีตัก เล่นมอญซ่อนผ้า ฯลฯ
health-0178 - Copy
(เลเดลมา เอ. สุมาบัด)
ภาพการเล่นเชิงสังคมของเด็กไทย: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2529,

4. เล่น-ดูผู้อื่นเล่น :
เด็กดูผู้อื่นเล่น ไม่ร่วมเล่นด้วยแต่อาจจะถามคำถาม ให้คำแนะนำ ฯลฯ การดูผู้อื่นเล่นไม่ค่อยปรากฏบ่อยนักในวัยนี้

5. เล่นอย่างเดียวกันในที่เดียวกันแต่ไม่เล่นด้วยกัน (ต่างคนต่างเล่น) (Pararell play) : เช่นเด็ก 2 คนต่างนั่งเล่นตุ๊กตาของตัว พูดกับตุ๊กตา แต่ไม่ร่วมเล่นตุ๊กตาตัวเดียวกัน

6. เล่นร่วมกัน (Associative play) :
เมื่อเด็กโตขึ้นเด็กจะชอบเล่นร่วมกับเพื่อนมากกว่าเล่นคนเดียว หรือเล่นด้วยกันแต่ต่างคนต่างเล่น เด็กยังยอมรับกติกาการเล่นร่วมกันไม่ค่อยได้ จึงมักจะทะเลาะกันค่อนข้างบ่อยเมื่อเล่นร่วมกัน แต่การทะเลาะของเด็กเป็นลักษณะชั่วครู่ชั่วยาม

7. เล่นแบบร่วมมือกัน (Co-operative play) :
เด็กจะรู้จักเล่นด้วยกันอย่างมีกฎเกณฑ์การเล่นที่ไม่ซับซ้อน เมื่ออายุประมาณ 5-6 ขวบ

ความแตกต่างระหว่างเพศในการเล่นของเด็ก

เมื่อเด็กอายุประมาณ 5 ขวบ เด็กชายและเด็กหญิงจะเริ่มมีการเล่นที่เหมือนๆ กัน ตามที่ปรากฏความแตกต่างให้เห็นว่า เป็นการเล่นเฉพาะของเด็กชายหรือของเด็กหญิงนั้น มีสาเหตุส่วนหนึ่ง เกิดจากของเล่นและประเภทของการเล่นที่ผู้ใหญ่เลือกให้เด็กหญิงชายเล่นตามเพศของตน ส่วนหนึ่งเกิดจากความแตกต่างทางชีววิทยาระหว่างเด็กชายกับเด็กหญิง และส่วนหนึ่งเกิดจากการเลียนแบบบทบาททางเพศ ที่เด็กได้รู้เห็นจากชีวิตจริง จากนิทาน โทรทัศน์และหนังสือ

ตัวอย่าง : ในการเล่นสมมุติ
เด็กชาย : เลือกเป็นซุปเปอร์แมน, พ่อ, เจ้าชาย, พระมหากษัตริย์, พี่ชาย, พ่อมด

เด็กหญิง : เลือกเป็นนางพยาบาล, ครู, แม่, พี่สาว, เจ้าหญิง, พระราชินี, แม่มด, นางฟ้า

ตัวอย่าง : ของเล่น
เด็กชาย : เลือกรถถัง, เรือบิน, ปืน, ทหาร, รถยนต์
เด็กหญิง: เลือกจานพลาสติก, ช้อนส้อม, หม้อข้าวหม้อแกง, เสื้อผ้า, เตาหุงต้ม, บ้านตุ๊กตา

ตัวอย่าง : ลักษณะการเล่น
เด็กชาย : ชอบเล่นที่กว้างๆ ที่ต้องใช้พละกำลังมากๆ ชอบเล่นกลางแจ้ง ชอบเล่นแรงๆ ทำเสียงดังเอ็ดตะโร เช่น เป็นยักษ์ พ่อมด ผี สิงโต ทหาร ตำรวจ

เด็กหญิง : ชอบเล่นการเล่นที่ต้องให้การรักษาดูแล หรือตามบทบาทของเพศหญิง เช่น เป็นนางพยาบาล นางฟ้า แม่ แม่ครัว ช่างตัดเสื้อ นางงาม

โลกแห่งการละเล่นของเด็ก เป็นโลกแห่งความรื่นรมย์ อัศจรรย์ ลึกลับ สนุก หลากรสชาด น่าเสียดายว่าโลกนี้ได้สูญหายไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ใครๆ ที่ได้ผ่านโลกนี้มาอย่างพอเพียง ย่อมนึกถึงวัยเด็กช่วงนี้ด้วยความทรงจำอันปลาบปลื้ม เด็กคนใดขาดโอกาสสนุกเช่นนี้ ย่อมขาดความสุขที่ประทับใจไปอย่างน่าเสียดาย

เนื่องจากการเล่นมีความสำคัญต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กมาก การที่ผู้ปกครองคอยห้าม ไม่ให้เด็กวิ่งเล่น จะเป็นการสกัดกั้นการพัฒนาการที่พึงได้จากการเล่นโดยประการต่างๆ ช่างน่าเสียดายว่าชีวิตสมัยใหม่ได้เบนการเล่นของเด็กไปสู่วิธีการเล่นแบบลดหย่อนการวิ่งเล่น กลายเป็นเล่นเกมส์กดต่างๆ (หรือแม้แต่การนั่งดูทีวีและวิดีโอนานๆ) เด็กใช้เวลานั่งนานหลายชั่วโมง ใช้นิ้วมือกดแป้นในเกมส์ต่างๆ ขัดธรรมชาติตามวัย มีผลคือเด็กขาดโอกาสใช้จินตนาการของตนเองและใช้พละกำลังวิ่งเล่นตามวัย เมื่อหมดความเพลิดเพลินจากการนั่งนานๆ เด็กมีพลังเหลือใช้จึงมักอยู่ไม่สุข มีอารมณ์กดดัน บางคนกลายเป็นเด็กกวน ก้าวร้าว เรียกร้องความสนใจ เอ็ดตะโรไม่เป็นเรื่อง เป็นต้น

ข้อที่ควรคำนึงอีกประการหนึ่งสำหรับสังคมไทยคือ การพัฒนาบ้านเมือง มักลืมนึกถึงสนาม หรือที่สำหรับให้เด็กวิ่งเล่น เด็กในเมืองจึงต้องวิ่งเล่นตามถนน ตรอก ซอย ซึ่งเด็กบางคนพลาดพลั้งถึงกับเสียชีวิต สำหรับเด็กที่มิได้มีโอกาสได้วิ่งเล่นแม้แต่ตามถนนตรอกซอย กลายเป็นเด็กอยู่ไม่สุข ซุกซนไม่เป็นเรื่องเป็นราว ชอบรังแกเพื่อน หรือกลายเป็นเด็กเจ้าปัญหาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

พัฒนาการทางศีลธรรมจรรยา และค่านิยม
ความนึกคิดเกี่ยวกับอะไรถูก ผิด ดี ชั่ว นั้น เด็กยังคิดเห็นเป็นเหตุผลด้วยตนเองไม่ได้ ยังต้องอาศัยผู้อบรมเลี้ยงดูให้คำชี้แจงแนะนำ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคำชี้แจงแนะนำก็คือการทำเป็นแบบอย่างเพื่อให้เด็กเลียบแบบ จะได้ผลประทับใจเด็กโดยเด็กไม่รู้สึกตัว ผู้ปกครองเด็กจะต้องระมัดระวังด้วยว่าจะต้องไม่เน้นความถูก ผิด ดี ชั่ว มากเสียเหลือเกิน เพราะถ้าเป็นเช่นนี้ เด็กจะเกิดความรู้สึกเห็นไปว่าความผิด ซึ่งโดยธรรมดาไม่ใช่เรื่องร้ายแรง กลายเป็นเรื่องใหญ่โตร้ายแรง โดยไม่สมควรแก่เหตุผลไปได้ง่ายๆ ทำให้ให้อภัยตนเองและผู้อื่นยากในเรื่องดีชั่ว ซึ่งจะแสดงผลเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นลักษณะ Over super-ego (เชิดชูตัวหรือหลักการที่ตัวนับถือเกินความพอดี)

การปลูกฝังมโนธรรมให้แก่เด็กอาจทำได้อีก คือ แสดงออกมาในรูปนิทานและการเล่นสำหรับเด็ก เพราะเด็กวัยนี้นิยมเรื่องสมมุติและการเล่น ทั้ง 2 วิธีจะสร้างแบบเพื่อให้เด็กได้เลียนแบบ และรู้โดยซึมซับ โดยไม่มีการบังคับฝืนใจด้วย

อนึ่ง พัฒนาการทางศีลธรรมจรรยานี้เชื่อว่า เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า