สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ฝ้า(Melasma/Chloasma)

เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง พบได้มากในช่วงอายุ 30-40 ปีขึ้นไป และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายรักษาฝ้า

สาเหตุ
เกิดจากการกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีในชั้นหนังกำพร้าให้สร้างเม็ดสีมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยที่สำคัญ เช่น

-ฮอร์โมนเพศ หญิงขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 หรือกินยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนสำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน มักพบว่ามีฝ้าเกิดขึ้นและเมื่อหลังคลอดหรือหยุดยาผื่นก็จะจางลงไปเอง

-แสงอัลตราไวโอเลต พบว่ามีโอกาสเป็นฝ้าได้ง่ายขึ้นในผู้ที่ถูกแสงแดดบ่อยๆ

-กรรมพันธุ์ มักพบในผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน

ส่วนที่อาจเกิดจากการแพ้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารให้กลิ่นหอมหรือสี การใช้ยากันชัก-เฟนิโทอิน มักพบได้เป็นส่วนน้อย หรือในผู้ป่วยบางรายอาจมีฝ้ากำเริบขึ้นได้จากการกระตุ้นจากความเครียดทางจิตใจ

อาการ
บริเวณใบหน้าส่วนที่ถูกแสงแดดหรือแสงไฟมากๆ เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม บริเวณเหนือริมฝีปากและจมูก จะมีลักษณะเป็นรอยหรือปื้นสีน้ำตาลออกดำขึ้นอยู่ ฝ้ามักจะเกิดขึ้นที่ละน้อยอย่างช้าๆ และขึ้นทั้งสองข้างใบหน้าในลักษณะเหมือนๆ กัน หรืออาจพบเกิดขึ้นที่คอและแขนด้านนอกร่วมด้วยในบางราย

การรักษา
1. ควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดหรืออยู่ในที่กลางแจ้ง การอยู่ในที่ที่มีแสงไฟฟลูออเรสเซนต์ที่สว่างมาก การกินยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมน การใช้เครื่องสำอางที่แพ้ หรือภาวะความเครียด ซึ่งเหล่านี้มักเป็นสาเหตุทำให้เกิดฝ้าขึ้น

2. ลดการสร้างเม็ดสีและทำให้ฝ้าจางลงได้โดยการใช้ยาลอกฝ้า ได้แก่ ไฮโดรควิโนน ชนิด 2-4% ทาวันละ 2 ครั้ง ยานี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้จึงควรทดสอบยานี้โดยทาที่แขน แล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน ดูว่ามีผื่นแดงหรือไม่ ถ้ามีก็ควรหยุดใช้ และยานี้อาจใช้ผสมกับกรดเรติโนอิก ชนิด 0.01-0.05% และสตีรอยด์เพื่อทำเป็นครีมยี่ห้อต่างๆ ได้

3. ควรใช้ยากันแดดทาตอนเช้า หรือก่อนออกกลางแดด เช่น พาบา(para-aminobenzoic acid) ควรใช้ชนิดที่มีความสามารถในการกรองแสงมากกว่า 15 ขึ้นไป แต่ผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้แสบตา แสบจมูก เป็นสิว หรืออาการแพ้เกิดขึ้นได้

กว่าอาการจะดีขึ้นอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน และเพื่อป้องกันการกลับเป็นฝ้าอีกจึงต้องใช้ยากันแดดไปเรื่อยๆ

ควรปรึกษาแพทย์โรคผิวหนังถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 เดือน หรือแพ้ยาที่ทารักษาฝ้าหรือสงสัยเป็นโรคอื่น ซึ่งแพทย์อาจเปลี่ยนยาที่ใช้รักษาฝ้าเป็นชนิดอื่นแทน

ในบางกรณีแพทย์อาจให้การรักษาด้วยการลอกหน้าด้วยสารเคมี ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจนเกิดผิวหนังเป็นสีดำคล้ำจากการอักเสบ การติดเชื้อ หรือแผลเป็นได้ ซึ่งสารเคมีที่ใช้อย่างเช่น กรดไตรคลอโรอะซีติกชนิด 30% หรือกรดไกลโคลิก 50% หรือในบางรายอาจรักษาด้วยแสงเลเซอร์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ผลจากการรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำให้ผิวบางลงและเมื่อถูกแสงแดดก็อาจทำให้เกิดฝ้าขึ้นมาอีกได้

ข้อแนะนำ
1. ฝ้าที่เกิดจากการตั้งครรภ์ หรือกินยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนทดแทน หลังจากคลอดหรือหยุดใช้ยาฝ้าก็มักจะหายไปได้เอง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นสองเท่าของระยะเวลาที่กินยา

2. ยารักษาฝ้าบางชนิดอาจมีสารเคมีที่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี ทำให้หน้าขาววอกหรือเป็นรอยแดงหรือรอยด่างดูน่าเกลียด จึงไม่ควรซื้อยาลอกฝ้ามาใช้เอง ซึ่งยาลอกฝ้าที่เข้าสารปรอทอาจมีอันตรายจากการสะสมปรอทที่ผิวหนังและในร่างกายได้ แม้จะทำให้ฝ้าจางลงก็ตาม

3. อาจต้องใช้เวลานานเป็นแรมเดือนในการรักษาฝ้า หรืออาจไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ใช้ยากันแดดและยาลอกฝ้าไปเรื่อยๆ เมื่อหยุดยาอาการก็อาจกำเริบขึ้นมาได้อีก ส่วนใหญ่ฝ้าที่อยู่ตื้นๆ มักจะรักษาได้ผลดี แต่อาจได้ผลช้าหรือไม่ได้ผลเลยในฝ้าที่อยู่ลึก

4. สำหรับการลอกหน้า ขัดผิว มักจะไม่ได้ช่วยในการรักษาฝ้า และยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้อีก เช่น การแพ้สัมผัส

5. นอกจากฝ้าแล้วในอาการผื่นหรือปื้นแดงๆ คล้ำๆ ที่ใบหน้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้ เช่น เอสแอลอี ซึ่งมีผื่นแดงที่สองข้างแก้มเวลาถูกแดดร่วมกับอาการอื่นๆ หรือในโรคแอดดิสันซึ่งผิวหนังจะมีสีดำคล้ำในบริเวณที่มีรอยถูไถตามส่วนต่างๆ รวมทั้งที่ใบหน้า เป็นต้น จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดถ้าให้การรักษาฝ้าแล้วไม่ได้ผลหรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ อ่อนเพลีย เป็นลม ปวดข้อ ผมร่วง เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า