สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปอดทะลุ/ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด(Pneumothorax)

หมายถึงภาวะที่มีลมรั่วออกจากถุงลมเข้าไปขังอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด เมื่อลมเพิ่มมากขึ้นก็จะดันให้เนื้อปอดแฟบลงทำให้หายใจลำบาก อาจเกิดภาวะช็อกถึงตายได้ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักปอดทะลุ

สาเหตุ
ปอดทะลุจากการบาดเจ็บ เช่นถูกยิง ถูกแทง รถชน เป็นต้น
หรือปอดทะลุที่เกิดขึ้นเองเพราะมีการแตกของถุงลมที่ผิดปกติ มักพบในผู้ป่วยถุงลมปอดโป่งพอง โรคหืด ปอดอักเสบ ภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด วัณโรคปอด หรือผู้ที่สูบบุหรี่

อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เองในไม่กี่วันถ้ามีลมรั่วไม่มาก แต่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากมีลมรั่วออกมาก มีอาการหอบอย่างรุนแรง หรือให้การช่วยเหลือไม่ทันเวลา

อาการ
อาการแสดงต่างๆ ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยและปริมาณลมที่รั่ว บางรายจะรู้สึกเจ็บหน้าอกแปลบขึ้นมาทันทีและเจ็บร้าวไปที่ไหล่ หรือแขนข้างเดียวกัน และรู้สึกหายใจหอบในเวลาต่อมา

ในบางรายอาจมีไอแห้งๆ ร่วมด้วย

บางรายอาจมีอาการคล้ายกับเยื่อหุ้มปอดอักเสบคือ รู้สึกแน่นอึดอัดในหน้าอก หรือเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว

หากมีลมรั่วออกมาเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการรักษาจนดันให้เนื้อปอดแฟบ ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมาก ชีพจรเต้นเร็ว และความดันต่ำ

สิ่งตรวจพบ
จะไม่ได้ยินเสียงหายใจหรือได้ยินค่อยมากเมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอด หน้าอกข้างที่เจ็บเคาะโปร่งกว่าอีกข้างหนึ่ง ท่อลมเบี้ยวไปด้านตรงข้าม

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือช็อกได้ถ้าเป็นขั้นรุนแรง

การรักษา
1. แพทย์มักวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์ปอด ทำการเจาะระบายลมออกเมื่อมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอดโดยใช้เข็มต่อกับกระบอกฉีดยาเจาะที่ช่องใต้ซี่โครงซี่ที่ 2 ถ้าพบมีลมดันในกระบอกฉีดยา และให้การรักษาตามสาเหตุที่ชัดเจนร่วมด้วย

2. ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นโดยใช้เข็มต่อเข้ากับสายน้ำเกลือให้แน่น ปล่อยปลายสายน้ำเกลืออีกข้างหนึ่งจุ่มในขวดหรืออ่างใส่น้ำ มีระดับสูง 15-20 ซม. แล้วแทงเข็มเข้าที่ช่องใต้ซี่โครงที่ 2 พอให้ทะลุผนังหน้าอกจะพบมีฟองอากาศผุดให้เห็นในกรณีที่ไม่สามารถส่งโรงพยาบาลได้ทันทีและผู้ป่วยมีอาการหอบมากมีอาการท่อลมถูกดันให้เบี้ยวไปด้านตรงข้าม ระหว่างนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลต้องคอยระวังอย่าให้ปลายสายน้ำเกลือโผล่พ้นน้ำเป็นอันขาด อาจเอาเข็มออกได้เมื่อเห็นว่าฟองอากาศออกน้อยและอาการดีขึ้นแล้ว

ข้อแนะนำ
ควรงดสูบบุหรี่เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบซ้ำ ประมาณร้อยละ 50 อาจมีอาการของโรคปอดทะลุกำเริบขึ้นได้จากผู้ป่วยที่มีภาวะปอดทะลุที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อรักษาหายแล้ว

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า