สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปวดศีรษะคลัสเตอร์(Cluster headache)

เป็นโรคปวดศีรษะข้างเดียวที่มีอาการรุนแรงมาก เป็นๆ หายๆ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอันตราย พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบได้บ่อยในช่วงอายุ 20-40 ปี มักพบโรคนี้ในผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์จัดปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์

สาเหตุ
การปวดศีรษะเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของหลอดเลือดมีแรงกดดันต่อประสาทสมองเส้นที่ 5 ที่ไปเลี้ยงบริเวณรอบตาและใบหน้า ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค แต่เชื่อว่าอาจเกี่ยวกับการที่สมองส่วนไฮโพทาลามัส ทำงานผิดปกติทำให้หลอดเลือดและเซลล์ประสาทสมองเส้นที่ 5 และระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบนใบหน้าเกิดการเปลี่ยนแปลง

สาเหตุกระตุ้นทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนไม่หลับ การใช้ยาไนโตรกลีเซอรีน การสัมผัสสารไฮโดรคาร์บอน ในบางรายอาจมีอาการกำเริบบางฤดูกาลของทุกปี

อาการ
มักเกิดอาการปวดขึ้นอย่างฉับพลัน เริ่มแรกจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ข้างจมูกหรือหลังเบ้าตา และจะปวดรุนแรงขึ้นจนทนไม่ได้ บริเวณเบ้าตา ใบหน้าซีกหนึ่ง อาจร้าวไปถึงคอ ท้ายทอย และแนวหลอดเลือดแดงที่ลำคอ จะรู้สึกเหมือนถูกแท่งน้ำแข็งเสียบผ่านลูกตาหรือเทน้ำกรดผ่านรูหูเข้าไปในศีรษะคล้ายลูกตาถูกดันให้หลุดจากเบ้า มักปวดตอนเข้านอนกลางคืนแต่บางรายก็ปวดในตอนกลางวัน ปวดจนต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมา ทำให้นอนไม่หลับ อาจเจ็บปวดจนร้องครวญคราง ลุกขึ้นเดินพล่าน นั่งโยกตัวไปมา โขกศีรษะกับกำแพง จะปวดวันละ 2-3 ครั้ง ตรงเวลาเดิมทุกวัน ในแต่ละครั้งจะปวดอยู่นาน 15นาที ถึง 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง แล้วจะหายไปเลย อาจเว้นช่วงเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันจึงเริ่มปวดใหม่อีก มักปวดทุกวันประมาณ 2-12 สัปดาห์แล้วจึงหาย ใช้เวลาเป็นเดือนหรือปีถึงจะเริ่มกำเริบใหม่ ในหนึ่งปีอาจจะเป็น 1-2 ครั้ง ผู้ป่วยมักปวดข้างเดิมทุกรอบที่ปวดสลับข้างพบได้น้อย

ขณะปวดศีรษะข้างเดียวผู้ป่วยจะมีอาการตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม หนังตาตก รูม่านตาหดเล็ก คัดจมูก น้ำมูกไหลเป็นกับตาข้างเดียวกับที่ปวดศีรษะ ใบหน้าข้างที่ปวดจะแดง ข้างที่ไม่ปวดจะไม่มีเหงื่อออก อาจมีอาการคลื่นไส้ กลัวแสง กลัวแสงคล้ายไมเกรนร่วมด้วยในบางราย

สิ่งตรวจพบ
ตรวจพบอาการตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม หนังตาตก รูม่านตาหดเล็กจากตาข้างที่ปวดศีรษะ

การรักษา
แพทย์มักวินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นหลัก หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อค้นหาสาเหตุที่ชัดเจนของโรค ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง เช่น เนื้องอกสมอง หลอดเลือดสมองโป่งพอง ก็ได้ หากไม่แน่ใจควรรีบส่งโรงพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและอันตรายที่จะเกิดขึ้นจะดีกว่า ซึ่งแพทย์มักจะให้การรักษาดังนี้

1. เมื่ออาการปวดกำเริบเฉียบพลัน แพทย์จะให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ทางจมูกในอัตรา 6-8 ลิตร/นาที อาการปวดจะทุเลาได้ใน 15 นาที หรือด้วยวิธีการฉีดซูมาทริปแทน 6 มก.ใต้ผิวหนัง หรือไดไฮเออร์โกตามีน 1-2 มก. เข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำ

2. แพทย์จะให้ยากินป้องกันถ้ามีอาการปวดทุกวัน แต่ถ้าปวดไม่บ่อยจะให้กินยาระยะสั้นๆ เช่น เพร็ดนิโซโลน 40-60 มก. วันละครั้งนาน 5 วัน และลดยาลงทีละน้อยจนหยุดยาภายใน 2-4 สัปดาห์ แพทย์จะให้เออร์โกตามีน 0.5-1 มก.สวนทางทวารหนักก่อนนอน หรือให้กินขนาด 2 มก./วัน สำหรับรายที่ปวดตอนกลางคืน ในรายที่ต้องกินยาป้องกันระยะยาวแพทย์จะให้เวราพามิล 240-480 มก./วัน หรือให้ ลิเทียมคาร์บอเนต อะมิทริปไทลีน ฟลูออกซีทีน โพรพราโนลอล ไซโพรเฮปตาดีน ไดวาลโพรเอต โทพิราเมต คาร์บามาซีพีน เป็นต้น มักต้องใช้ร่วมกัน 2 ชนิดจึงได้ผลดี

3. ในรายที่เป็นเรื้อรังข้างเดิมและใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจผ่าตัดทำลายเส้นประสาทที่เป็นต้นเหตุในการรักษา เช่น การใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุ การผ่าตัดด้วยรังสีแกมมา การผ่าตัดฝังอิเล็กโทรดกระตุ้นด้วยไฟฟ้าในสมองส่วนไฮโพทาลามัส เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มักปวดศีรษะข้างเดียวคล้ายไมเกรน แต่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ปวดรุนแรงกว่าแต่ระยะปวดสั้นกว่า ปวดเว้นระยะเป็นช่วงๆ แต่ทุกวันอาจหลายวันหรือหลายสัปดาห์ มักไม่มีคลื่นไส้ อาเจียน กลัวแสง กลัวเสียง แต่มักมีอาการตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม หนังตาตก รูม่านตาหดเล็ก

2. ถ้ามีอาการครั้งแรก ควรแยกออกจากสาเหตุร้ายแรงทางสมองให้ชัดเจนด้วยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เสียก่อน

3. โรคนี้จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ทั้งสิ้นแม้จะปวดรุนแรงและเรื้อรัง แต่มักมีผลต่อจิตใจ เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน และการออกสังคม

4. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด เช่น การอดนอน การงีบหลับช่วงบ่าย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ สารไฮโดรคาร์บอน ยาและอาหารที่มีสารไนเตรต เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า