สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก(Burns)

เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มักมีอาการปวดแสบปวดร้อนพอทนได้และหายไปเองถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย แต่มักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ถ้าเป็นมากๆแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

สาเหตุ
สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ ความประมาท หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่พบเห็นได้บ่อย เช่น

1. ความร้อน เช่น น้ำร้อน น้ำมันที่ร้อนๆ หรือวัตถุที่ร้อน
2. ไฟฟ้าช็อต
3. สารเคมี เช่น กรด หรือด่าง
4. รังสี เช่น แสงแดด รังสีเรเดียม รังสีโคบอลต์ รังสีนิวเคลียร์ ระเบิดปรมาณู เป็นต้น

อาการ
อาการส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับขนาด ความลึก และตำแหน่งของบาดแผล

1. ขนาด ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่กินบริเวณกว้างก็จะมีอันตรายกว่าแผลขนาดเล็ก เพราะจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ โปรตีน และเกลือแร่ ทำให้เกดภาวะช็อกได้ และอาจถึงตายได้ถ้าติดเชื้อจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ

การประเมินขนาดกว้างของบาดแผล มักคิดเป็นเปอร์เซ็นจากพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย อาจคิดโดยประมาณเอาว่า แผลขนาดหนึ่งฝ่ามือเท่ากับ 1%ของผิวหนังทั่วร่างกาย เป็นต้น ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ไว้เป็นมาตรฐานในการคิดคำนวณแล้ว

2. ความลึก ผิวหนังมีชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ ซึ่งแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกจะแบ่งออกเป็น 3 ขนาดดังนี้

บาดแผลดีกรีที่ 1 เป็นบาดแผลที่มีการทำลายของเซลล์หนังกำพร้าชั้นผิวนอกเท่านั้น หนังกำพร้าชั้นในยังสามารถเจริญมาแทนที่ได้ ผู้ป่วยจึงมีโอกาสหายได้สนิทและไม่มีแผลเป็น เว้นแต่ในรายที่มีการติดเชื้ออักเสบ

ภาวะนี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากการถูกแดดเผา ถูกน้ำร้อน ไอน้ำเดือด หรือวัตถุที่ร้อนเพียงเฉียดๆ และไม่นาน ทำให้ผิวหนังส่วนที่เป็นบาดแผลแดงบวมเล็กน้อย ปวดแสบปวดร้อน แต่ไม่มีตุ่มพองหรือหนังหลุดลอกเช่นเดียวกับรอยแดดเผา

ไม่ต้องคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังที่เกิดบาดแผลในบาดแผลดีกรีที่ 1 เพราะไม่มีการสูญเสียน้ำหรือโปรตีน ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใดและมักจะหายได้เอง

บาดแผลดีกรีที่ 2 เป็นบาดแผลที่หนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น และหนังแท้ส่วนตื้นๆ ถูกทำลาย แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้จึงหายได้เร็วและไม่มีแผลเป็น ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อ ภาวะนี้มักเกิดจากการถูกเปลวไฟ หรือถูกของเหลวลวก ลักษณะของบาดแผลจะแดงและพุเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็กและใหญ่ ผิวหนังอาจหลุดลอกจนเห็นเนื้อแดงๆ มีน้ำเหลืองซึม เจ็บปวด อาจทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ โปรตีนและเกลือแร่ และเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย

บาดแผลดีกรีที่ 3 เป็นบาดแผลที่หนังกำพร้าและหนังแท้ถูกทำลายทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อ ขุมขนและเซลล์ประสาท ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด เกิดการหลุดลอกของผิวหนังทั้งชั้นจนเห็นเป็นเนื้อแดงๆ หรือแดงสลับขาว หรือไหม้เกรียม สาเหตุมักเกิดจากไฟไหม้หรือถูกของร้อนนานๆ หรือไฟฟ้าช็อต ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนติดเชื้อรุนแรง หรือภาวะขาดน้ำ เกิดขึ้นได้ แผลของผู้ป่วยมักจะเป็นแผลเป็นเนื่องจากรักษาให้หายยาก

ในคนเดียวกันอาจเกิดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่มีความลึกขนาดต่างๆ กัน ในบางครั้งอาจแยกบาดแผลดีกรีที่ 2 และ 3 ออกจากกันได้ไม่ชัดเจนในระยะแรก ทั้ง 2 ชนิดนี้ควรคิดเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังที่เกิดบาดแผลเพราะถือเป็นบาดแผลที่มีอันตรายรุนแรง

3. ตำแหน่ง อาจทำให้เป็นแผลเป็นและเสียโฉมได้มากถ้าเกิดบาดแผลบนใบหน้า หรืออาจทำให้ตาบอดได้ถ้าถูกบริเวณตา หรืออาจทำให้ข้อนิ้วมือและข้อต่างๆ มีแผลเป็นดึงรั้งทำให้เหยียดออกไม่ได้ถ้ามีแผลที่มือและตามข้อพับต่างๆ หรืออาจทำให้เยื่อบุของทางเดินหายใจอักเสบกลายเป็นหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ และอาจรุนแรงจนหายใจไม่ได้ จนต้องเสียชีวิตถ้าผู้ป่วยมีการสูดควันไฟเข้าไปในปอดระหว่างเกิดเหตุขึ้น

การรักษา
1. ถ้าเป็นเพียงบาดแผลดีกรีที่ 1 ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วยครีมสตีรอยด์ หรือเจลว่านหางจระเข้ขององค์การเภสัชกรรมบางๆ หรือทาด้วยวาสลินหรือน้ำมันมะกอก ถ้ารู้สึกปวดก็ให้ยาแก้ปวด

2. ถ้าเป็นบาดแผลดีกรีที่ 2 หรือ 3
ก. ในกรณีต่อไปนี้ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
-บาดแผลดีกรีที่ 3 มีขนาดมากกว่า 2 ฝ่ามือ
-บาดแผลดีกรีที่ 2 ในเด็กมีขนาดมากกว่า 10 ฝ่ามือ ในผู้ใหญ่ 15 ฝ่ามือ
-บาดแผลที่ตา หู ใบหน้า มือ เท้า อวัยวะเพศ ตามข้อพับต่างๆ
-บาดแผลในทารก เด็กเล็กและผู้สูงอายุ
-สูดควันไฟเข้าไประหว่างเกิดเหตุ
-มีภาวะช็อกเกิดขึ้น และควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย

ข. ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรักษาโดย
-ชะล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่

-ไม่ควรใช้เข็มเจาะ ถ้ามีตุ่มพองเล็กๆ เพียง 2-3 ตุ่ม ที่ฝ่ามือ ให้ทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสดแล้วปิดด้วยผ้าก๊อซ ภายใน 3-7 วัน ตุ่มนั้นก็จะค่อยๆ แห้งและหลุดล่อนไปเอง

-ถ้าที่แขนขา หลังมือ หลังเท้ามีตุ่มพอง หลังจากทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่แล้วให้ใช้มีดหรือกรรไกรที่ปลอดเชื้อเจาะเป็นรูแล้วใช้
ผ้าก๊อซ กดซับน้ำเหลืองให้แห้ง แล้วทาด้วยโพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสดแล้วพันด้วยผ้ายืดให้ผิวที่พองกดแนบสนิท แล้วหนังที่พองจะหลุดล่อนไปเองภายใน 2-3 วัน

-ถ้ามีตุ่มพองบริเวณกว้าง ให้ขริบเอาหนังที่พองออกด้วยกรรไกรที่ปลอดเชื้อ แล้วล้างด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วยครีมซัลฟาไมลอน ขี้ผึ้งแบกตาซิน น้ำยาโพวิโดนไอโอดีน ครีมซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีน หรือพ่นด้วยสเปรย์พรีเดกซ์

ให้ใช้ผ้าพันถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขา
ให้เปิดแผลไว้ถ้าเป็นที่หน้าหรือลำตัว ควรล้างแผลและใส่ยาวันละ 1-2 ครั้ง แล้วค่อยทำห่างออกไปเมื่ออาการดีขึ้น

-บรรเทาอาการปวดด้วยพาราเซตามอล และฉีดยาป้องกันบาดทะยัก

-ควรส่งผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลถ้าภายใน 1-2 สัปดาห์บาดแผลยังไม่ดีขึ้น หรือมีการติดเชื้อ หรือมีไข้สูง หรือเบื่ออาหาร แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนังถ้าบาดแผลลึกมาก

ข้อแนะนำ
1. การใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบทันทีหลังเกิดเหตุเป็นการปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่แนะนำให้ใช้ในปัจจุบัน ไม่ควรทาด้วยยาสีฟัน น้ำปลา หรือยาหม่อง

2. ควรแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกรายในเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกเพราะอาจมีอันตรายมากกว่าที่พบในคนหนุ่มสาวแม้จะมีขนาดไม่กว้างมากนัก

3. อาจทำให้เกิดแผลเป็นดึงรังข้อต่อให้คดงอได้ในบาดแผลที่ข้อพับ จึงควรใช้เฝือกดามข้อในบริเวณนั้นตั้งแต่แรกเพื่อเป็นการป้องกัน

4. ในระยะ 2-3 วันแรกของโรคนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ คือ ภาวะขาดน้ำและช็อก แพทย์จะให้สารน้ำ ได้แก่ ริงเกอร์แล็กเทต ถ้ามีบาดแผลกว้าง อาจให้ขนาด 4 มล./กก. ต่อเนื้อที่บาดแผล 1%ในวันแรก โดยใน 8 ชั่วโมงแรกจะให้เพียงครึ่งหนึ่ง และในอีก 16 ชั่วโมงต่อมาก็ให้ส่วนที่เหลือ และอาจต้องให้น้ำเกลือและพลาสมาในวันต่อมา

หลังจากมีบาดแผล 2-3 วันไปแล้วอาจเกิดการติดเชื้อขึ้น และมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงได้ถ้าบาดแผลมีขนาดกว้าง ซึ่งบาดแผลที่ถือว่ารุนแรงรักษายากและมักจะมีอัตราตายสูงก็คือบาดแผลดีกรีที่ 2 ที่มีขนาดมากกว่า 30% และบาดแผลดีกรีที่ 3 ที่มีขนาดมากกว่า 10%

5. ร่างกายมักมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางบาดแผลในผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ผู้ป่วยจึงควรกินอาหารที่มีโปรตีนให้มากๆ เช่น เนื้อ นม ไข่ และถั่วต่างๆ

6. ถ้ามีบาดแผลถูกกรดหรือด่างก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลควรให้การปฐมพยาบาลโดยรีบชะล้างแผลด้วยน้ำก๊อกนาน 5 นาทีเป็นอย่างน้อย ซึ่งต่อมาแพทย์มักจะให้การรักษาแบบเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก

การป้องกัน
-ไม่ควรให้เด็กเล็กเล่นในห้องครัว
-ไม่ควรวางสิ่งที่เป็นอันตรายไว้ใกล้มือเด็ก เช่น กาน้ำร้อน หม้อน้ำแกง กระติกน้ำร้อน ตะเกียง ไม้ขีดหรือวัตถุอื่นๆ ที่มีความร้อน
-ไม่ควรวางบุหรี่ ตะเกียง ใกล้ผ้าห่ม มุ้ง หรือสิ่งที่อาจติดไฟได้ง่าย

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า