สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อต้องทำงานนอกบ้าน

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลายคนอาจสงสัยว่าจะไปกันได้กับการทำงานนอกบ้านอย่างไร จริงอยู่ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องให้นมแม่ด้วยในขณะที่ต้องทำงานนอกบ้าน แต่ก็มีผู้ที่ทำสำเร็จมาแล้ว เพียงแต่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าและมีความตั้งใจจริง การให้นมแม่ก็จะอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

จะคุ้มหรือไม่ถ้าต้องให้นมแม่เมื่อกลับไปทำงาน
คุณแม่บางท่านยังตัดสินใจไม่ได้ว่าถ้าให้นมแม่ต่อไปแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าต้องกลับไปทำงานนอกบ้าน แต่ก็มีความตั้งใจที่จะให้นมแม่แก่ลูกต่อไป ทั้งๆ ที่ภาระในชีวิตประจำวันก็ต้องใช้ความพยายามอย่างยากลำบากพอสมควรอยู่แล้ว ดังนั้น คุณแม่ควรพิจารณาจากเหตุผลต่อไปนี้ดู

1. หากคุณแม่ต้องนำลูกไปฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กในเวลากลางวันที่คุณแม่ต้องไปทำงาน ลูกอาจมีโอกาสติดเชื้อหวัดได้ง่ายเพราะในที่นั้นมีเด็กอยู่รวมกันหลายคน แต่ถ้าคุณแม่ให้ลูกกินนมแม่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ลูกก็จะได้รับภูมิคุ้มกันจากนมแม่ไม่ทำให้ลูกเจ็บป่วย หากติดหวัดก็จะเป็นไม่รุนแรงและเป็นอยู่ไม่นานก็หายได้

2. สายสัมพันธ์ทางใจ ระหว่างคุณกับลูกจะผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น ถ้าได้ให้นมลูกต่อไป ในช่วงที่คุณแม่กลับไปทำงาน ในตอนเย็นหลังเลิกงานเมื่อคุณได้อุ้มและโอบกอดลูกระหว่างการให้นมแม่ จะทำให้คุณมีความสุขช่วยคลายความเครียดจากการงานได้เป็นอย่างดี

แม่ที่ทำงานนอกบ้านทุกคน จะมีความกังวลและภาระมากมายอยู่ในใจลึกๆ ที่ต้องเป็นทั้งแม่และภรรยา รวมทั้งบทบาทในฐานะลูกจ้างหรือนายจ้างอีกด้วย ไหนจะภาระเกี่ยวกับงานบ้านอีก แต่คุณแม่จะมั่นใจและมีชีวิตชีวาได้มากทีเดียวจากความสุขความพึงพอใจที่ได้รับจากลูก

3. ลูกจะอยู่กับพี่เลี้ยงมากกว่า หากแม่ต้องไปทำงานนอกบ้าน คุณแม่ก็กลัวว่าลูกจะจำแม่ไม่ได้ แต่แม่มีความพิเศษที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ลูกจะจำคุณได้ถ้าคุณให้นมลูกต่อไป ซึ่งไม่มีใครทำหน้าที่นี้แทนคุณได้

วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อต้องกลับไปทำงานนอกบ้าน
ในแต่ละครอบครัว คุณแม่จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป การตัดสินใจทำอะไรจึงไม่สามารถตัดสินแทนกันได้ คุณจะเป็นผู้ที่หาวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับครอบครัว

1. ทางเลือกที่อยู่ในอุดมคติ คือ คุณควรอยู่บ้านเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าคุณคิดดูแล้วว่าเงินเดือนที่ได้รับจากการทำงานไม่คุ้มกับค่าจ้างที่ให้คนอื่นมาเลี้ยงลูกแทน คุณควรลาออกจากงานสักพักหนึ่งเพื่อจะได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แล้วค่อยไปหางานใหม่ หรือในขณะที่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้านก็อาจหาช่องทางทำงานอยู่กับบ้านไปพร้อมๆ กันด้วย

2. เอาลูกไปเลี้ยงในที่ทำงานด้วยเมื่อต้องกลับไปทำงาน ในกรณีที่ที่ทำงานของคุณมีสถานรับเลี้ยงเด็กในตอนกลางวัน ซึ่งในช่วงพักกลางวันและตอนเย็นก่อนกลับบ้าน คุณก็สามารถแวะไปให้ลูกกินนมแม่ได้ แต่ในการนำลูกไปยังที่ทำงาน ก็ควรคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางด้วย ว่าระยะทางไกลหรือไม่ บางรายอาจย้ายมาเช่าบ้านอยู่ใกล้ที่ทำงานชั่วคราวในระยะนี้

คุณแม่ควรพูดคุยกับหัวหน้างาน กรณีในที่ทำงานไม่มีสถานรับเลี้ยงเด็ก ว่า พอจะมีห้องว่างๆ สำหรับเอาลูกมาเลี้ยงได้หรือไม่ โดยในช่วงเวลาทำงานคุณจะมีพี่เลี้ยงมาคอยดูแลลูก และในช่วงพักคุณแม่ก็จะได้มาให้นมแม่แก่ลูก หรืออาจต้องเนิร์สเซอรี่ที่ใกล้ที่ทำงานที่สุดในกรณีที่ไม่มีห้องว่างให้

3. อีกทางเลือกคือ ในช่วงเวลากลางวันควรหาพี่เลี้ยงหรือให้ญาติผู้ใหญ่มาอยู่กับลูกที่บ้าน ในตอนเช้าคุณแม่ก็ควรบีบน้ำนมแม่ไว้เพื่อจะได้ป้อนให้กับลูกตอนที่คุณแม่ไม่อยู่ เมื่ออยู่ที่ทำงานในตอนกลางวันคุณแม่ต้องบีบน้ำนมออก เพื่อให้เต้านมมีการสร้างน้ำนมใหม่ สำหรับให้ลูกได้ดูดในตอนเย็น

4. ในตอนพักกลางวัน คุณอาจกลับมาให้ลูกดูดนมแม่ได้ ถ้าคุณมีบ้านใกล้ที่ทำงาน

ความพร้อมก่อนกลับไปทำงานและให้นมแม่ต่อ
เมื่อต้องกลับไปทำงาน และคุณแม่ก็ตัดสินใจแล้วว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อ ในช่วงที่ลาคลอดก็ต้องมีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว ถ้ามีการวางแผนไว้ล่วงหน้าคุณสามารถทำได้แน่นอน แม้วันลาคลอดจะไม่เหมือนกันทุกคน ซึ่งบางคนอาจลาได้ 12 สัปดาห์ แต่บางคนก็ได้แค่ 6 หรือ 8 สัปดาห์ เท่านั้น

4 สัปดาห์แรกหลังคลอด
ในช่วงนี้ สิ่งแรกที่คุณแม่ต้องพยายามทำให้สำเร็จคือ ทำให้น้ำนมแม่มีมากพอสำหรับลูก เพื่อให้การให้นมแม่เป็นไปอย่างราบรื่นคุณแม่กับลูกก็ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน การให้ลูกดูดนมบ่อยๆ จะทำให้ยิ่งมีการสร้างน้ำนมขึ้นมากพอสำหรับลูก ให้อุ้มลูกมาดูดนมทันทีเมื่อรู้สึกคัดเต้านม ใช้เวลากับลูกอย่างมีความสุขตัดความกังวงเรื่องอื่นออกไปให้หมด รับประทานอาหารที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ และดื่มน้ำมากๆ

เมื่อเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5
ควรเริ่มฝึกหัดบีบนมแม่ใส่ขวด ความชำนาญจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าใช้เวลาฝึกหัดบีบนมแม่บ่อยๆ

เมื่อลูกอายุ 6-8 สัปดาห์
ตอนคุณไปทำงานก็เริ่มให้ผู้ที่เลี้ยงลูกป้อนนมแม่ที่บีบใส่ขวดไว้ให้ลูกหัดดูด ถ้าเริ่มนมขวดเร็วกว่านี้ ทารกอาจจะสับสนได้ง่ายเพราะลูกยังเรียนรู้การดูดนมแม่อยู่ อาจจะไม่กลับมาดูดนมแม่อีกก็เป็นได้ หรือถ้าเริ่มนมขวดช้ากว่านี้ ทารกอาจไม่ยอมดูดนมจากขวดอีกเลย เวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะหัดให้ลูกดูดนมจากขวดโดยไม่มีปัญหา ก็อยู่ในช่วง 6-8 สัปดาห์นี้

ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ(UNICEF) แนะนำให้ป้อนน้ำนมแม่ที่บีบไว้แล้วด้วยแก้ว แม้แต่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดและมีกลไกการกลืนดีแล้ว ก็สามารถป้อนด้วยแก้วได้โดยไม่สำลัก คุณแม่ก็ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะติดการดูดนมขวดอีกต่อไป

ข้อดีจากการป้อนนมด้วยแก้วคือ ป้อนได้เร็ว ภาชนะก็ทำความสะอาดได้ง่าย และเด็กจะไม่ติดขวดไปจนโต ป้องกันการขึ้นของฟันที่ซ้อนกัน วิธีการป้อนนมจากแก้วทำได้โดย จับตัวเด็กให้เอนขึ้นนั่งจนเกือบตรง ใส่นมแม่ในแก้วเล็กๆ ค่อยๆ เทใส่ปากเด็กที่ละนิด การกลืนนมของทารกจะเป็นจังหวะ ไม่ควรจ่อให้น้ำนมไหลเข้าปากตลอดเวลา เพราะเขาจะไม่กลืนแต่กลับใช้ลิ้นเลียแทน

เมื่อลูกอายุได้ 10-12 สัปดาห์
เป็นเวลาก่อนกลับไปทำงาน 1-2 สัปดาห์ การดูแลลูกควรให้พี่เลี้ยงเข้ามาช่วย ให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนเมื่อให้นมแม่จนอิ่มแล้ว แล้วค่อยเพิ่มเวลาให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงมากขึ้นเรื่อยในช่วงกลางวัน จนเท่ากับเวลาที่คุณต้องออกไปทำงาน บอกพี่เลี้ยงถึงความสำคัญของการให้นมแม่ สอนวิธีการอุ่นนมที่นำออกมาจากตู้เย็น และ 1 ชั่วโมงก่อนที่คุณจะกลับมาบ้านไม่ควรให้นมแม่จากแก้วแก่ลูก เพราะเมื่อคุณกลับมาถึงบ้านเขาจะหิวและดูดนมจากเต้าคุณโดยตรง

กรณีเอาลูกไปฝากเนิร์สเซอรี่ก็ทำเช่นเดียวกับการมีพี่เลี้ยงที่บ้าน

เมื่อเริ่มกลับไปทำงาน คุณแม่ควรทำเฉพาะงาน และกลับไปอยู่กับลูก ไม่ควรทำกิจกรรมอื่นๆ ก่อน งานบ้านก็หาคนมาช่วยทำไปก่อน รับประทานอาหารที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ ให้ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้เป็นระยะๆ ขณะที่นั่งทำงาน และควรดื่มน้ำ 1 แก้วเสมอก่อนให้นมลูกทุกครั้ง

การบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกกิน
การบีบเพื่อกระตุ้นกลไกน้ำนมพุ่ง เริ่มด้วยการนวดเบาๆ บริเวณเต้านม วางหัวแม่มือไว้บนลานหัวนม ให้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางอยู่ด้านล่าง นิ้วทั้งด้านบนและด้านล่างห่างจากหัวนมประมาณ 1 ½ นิ้ว บริเวณด้านล่างจะเป็นท่อน้ำนม ให้เลื่อนนิ้วหัวแม่มือลงมาข้างหน้าแล้วกดนิ้วทั้งสองเข้าหากัน ให้น้ำนมไหลออกมาจากท่อน้ำนม รองรับน้ำนมไว้ด้วยขวดนมที่นึ่งหรือต้มจนปลอดเชื้อแล้ว

จะต้องอาศัยกลไกน้ำนมพุ่งร่วมด้วยถ้าต้องการให้น้ำนมออกมาก เมื่อมีน้ำนมพุ่งเพื่อไล่น้ำนมในกระเปราะน้ำนมทุกกระเปราะ ก็ให้เปลี่ยนตำแหน่งที่บีบไปรอบๆ ลานหัวนม ในเต้านมอีกข้างหนึ่งก็บีบในลักษณะเดียวกันนี้

การใช้มือบีบน้ำนม จะมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนน้อยกว่าการใช้ปั๊ม และเพื่อลดรอยช้ำถลอกจากการบีบนม ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้วางนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ที่ขอบนอกของลานหัวนม แล้วกดทั้งสองนิ้วเข้าหาลำตัวเล็กน้อย พร้อมกับบีบนิ้วทั้งสองเข้าหากัน

อาจจะได้น้ำนมไม่มากเท่าไรในระยะแรกๆ ที่ฝึกหัด ในขณะที่ลูกหลับ หรือเมื่อรู้สึกคัดเต้านมก็ให้ฝึกหัดไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ในตอนเช้าอาจจะมีน้ำนมมากกว่าตอนบ่าย เมื่อน้ำนมถูกบีบออกร่างกายก็จะมีการสร้างขึ้นมาใหม่ทันที จึงไม่ต้องห่วงว่าบีบออกไปแล้วนมจะหมด ยิ่งบีบออกมากก็ยิ่งมีการสร้างขึ้นใหม่มากเช่นกัน ลูกจะได้รับนมในปริมาณมากกว่าใช้มือบีบออกมาหากคุณให้ลูกดูดจากเต้าโดยตรง

การเก็บรักษาน้ำนมแม่
คุณแม่ต้องเก็บรักษานมที่บีบออกมาแล้วด้วยความระมัดระวัง เพราะนมที่บีบออกมาใหม่ๆ จะมีเซลล์ที่หยุดยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้หลายชั่วโมง นมแม่จึงบูดเสียได้ช้ากว่านมผสม

ควรเป็นภาชนะพลาสติกที่ปราศจากเชื้อในการที่จะใช้บรรจุน้ำนมแม่ น้ำนมแม่ที่แช่ในตู้เย็น หรือในกระติกน้ำแข็ง โดยไม่ได้แช่แข็งจะเก็บไว้ได้นาน 48 ชั่วโมงหรือสองวัน และจะเก็บได้นานถึง 2-4 สัปดาห์หากแช่ไว้ในช่องแช่แข็ง และเก็บได้นานถึง 6 เดือน ถ้าเก็บในตู้แช่แข็งที่ 0 องศาฟาเรนไฮน์ แต่ถ้านำนมแช่แข็งมาทำให้ค่อยๆ อุ่นและละลายแล้ว จะนำกลับไปแช่แข็งอีกไม่ได้ ดังนั้น ควรเก็บนมแม่แช่แข็งในปริมาณที่คิดว่าลูกจะกินหมดใน 1 มื้อและใส่ไว้ในภาชนะคนละใบกัน ทารกเล็กๆ ต่อมื้ออาจจะกินนมแม่แค่ 2-3 ออนซ์ก็ได้คุณค่าทางอาหารเพียงพอแล้ว เพราะสามารถดูดซึมสารอาหารจากนมแม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นนมผสมก็ต้องได้ในปริมาณมากกว่านี้

การละลายนมแม่แช่แข็ง ก็โดยการนำมาเปิดน้ำให้ไหลผ่านภาชนะที่บรรจุ ต่อจากนั้นก็แช่ภาชนะในน้ำอุ่นจนนมละลาย หากต้องการทำให้ร้อน ให้วางขวดนมในหม้อที่ใส่น้ำอุ่น เปิดไฟอ่อนๆ ให้น้ำในหม้อร้อนขึ้นที่ละน้อย ไม่ควรให้ร้อนเกินอุณหภูมิของร่างกายหรือ 37 องศาเซลเซียส

ไม่ควรต้มนมแม่ให้ได้รับความร้อนโดยตรง หรือใช้เตาไมโครเวฟ เพราะจะไปทำลายภูมิคุ้มกันที่มีประโยชน์ในน้ำนมแม่ได้ถ้าใช้ความร้อนมากเกินไป และนมที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟตรงส่วนกลางจะมีความร้อนมากกว่าบริเวณอื่น แม้จะจับขวดนมดูว่ามีความอุ่นพอดี แต่ความร้อนในน้ำนมจะมีสูงกว่านั้น และอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ถ้าให้ดื่มเข้าไป

ในที่ทำงานถ้าคุณแม่สะดวก ก็ให้บีบน้ำนมใส่ขวดนมแล้วแช่ตู้เย็นไว้ ก่อนนำกลับบ้านก็แช่น้ำนมไว้ในกระติกน้ำแข็ง เอาไปแช่ตู้เย็นที่บ้านต่อ และเก็บไว้ให้ลูกกินในวันรุ่งขึ้นได้

ตารางเวลาของคุณแม่ที่ต้องทำงานและให้ลูกกินนมแม่
ถ้าลูกตื่นเช้าประมาณตี 4 ตี 5 ก่อนที่คนอื่นๆ ในบ้านจะตื่น ก็ให้ลูกดูดนมแม่มื้อเช้าบนเตียงก่อน ถ้าลูกตื่นสายกว่านี้ ในช่วงเช้ามืดคุณแม่ควรบีบน้ำนมไว้ให้ลูกกินในตอนกลางวัน หลังจากที่แม่ทำภาระกิจประจำวันเสร็จ ก่อนออกไปทำงานถ้าลูกตื่นขึ้นมาก็ควรให้นมมื้อเช้าแก่ลูกก่อนไป ถ้าฝากเลี้ยงลูกกับเนิร์สเซอรี่ ก็ควรให้นมแม่ที่นั่นก่อนออกไปทำงาน

ในตอนสาย และบ่ายๆ เมื่ออยู่ที่ทำงานก็ให้บีบน้ำนมออกบ้าง ในช่วงพักกลางวันถ้ามีเวลามากพอ ก็ควรบีบน้ำนมให้นานสักหน่อย หรือถ้าสะดวกที่จะบีบน้ำนมในตอนสายและบ่ายก็ขอแบ่งเวลาพักตอนกลางวันให้สั้นลง เพื่อจะได้มีเวลาในช่วงสายและบ่ายมากขึ้น ในระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำนมในสัปดาห์ต่อไป ก็ควรให้ลูกดูดนมจากอกแม่ทั้งกลางวันและกลางคืน

แม่ที่ทำงานนอกบ้าน จะพบได้บ่อยว่า แบบแผนการนอนของทารกจะมีการเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่แม่ไปทำงานเขาจะนอนนานขึ้น และจะตื่นตอนที่แม่กลับมา การปรับตัวเช่นนี้จะทำให้ลูกตื่นมาดูดนมถี่ในตอนเย็นและในช่วงกลางวันจะหลับยาว และยังคงได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ

คุณแม่บางรายอาจจะตั้งใจบีบนมแม่ให้ลูกจนกระทั่งลูกมีอายุได้ 6 เดือน แล้วค่อยให้นมผสมและอาหารอื่นหลังจากนั้น ในวันหยุดสุดสัปดาห์และในตอนกลางคืนคุณแม่ควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ถ้าไม่สามารถบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกได้ และให้ลูกกินนมผสมเมื่อต้องไปทำงาน แต่ก็จะทำให้นมแม่ออกน้อยลงได้บ้าง ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อที่ลูกจะได้รับจากน้ำนมแม่ก็ลดน้อยลงด้วย ในสัปดาห์แรกๆ ที่ไปทำงาน คุณแม่ควรบีบน้ำนมทิ้งบ้าง เพราะจะคัดเต้านมมาก

คุณแม่ย่อมมีความเหนื่อยล้า จนแทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ถ้าต้องทำงานเต็มเวลาไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงลูกอ่อน การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และระบายความรู้สึกกับเพื่อน จะทำให้ลดความเครียดเรื่องนี้ไปได้ ให้คิดเสียว่าคนอื่นๆ ก็เป็นเช่นเดียวกันถ้าอยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้

อาจจะทำให้น้ำนมออกน้อยลงบ้างในสัปดาห์แรกๆ ที่คุณแม่กำลังปรับตัวเข้ากับการกลับไปทำงาน แม่น้ำนมจะเริ่มสร้างอย่างอัตโนมัติในอีก 2-3 เดือนต่อมา จะมีน้ำนมให้เสมอเมื่อลูกดูด ควรดื่มน้ำให้มากๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเมื่อต้องทำงานและต้องให้นมลูกไปด้วย ชีวิตจะดำเนินไปอย่างราบรื่น คุณจะคุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวันมากขึ้น เมื่อลูกค่อยๆ โตขึ้นพ้นวัยทารก คุณจะรู้สึกว่าเวลาเริ่มหมุนเร็วไม่ช้าเหมือนแต่ก่อน คุณแม่จึงควรให้เวลาชื่นชมกับพัฒนาการของลูกที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละเดือนในช่วงนี้ด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า