สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ทฤษฎี Psychosocial Stage ของแอริคสัน

นักศึกษาจิตวิทยาพัฒนาการย่อมรู้จัก แอริค แอริคสัน ไม่เว้นคน เพราะทฤษฎีของท่านเป็นที่รู้จักกว้างขวาง มีผู้นำหลักการในทฤษฎีไปเป็นฐานเพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการและบุคลิกภาพของมนุษย์ในแง่ต่างๆ นับเป็นพันๆ เรื่อง เชื่อกันว่าทฤษฎีนี้เป็นต้นแบบของการขยายแนวความรู้วิชาจิตวิทยาพัฒนาการ ยิ่งกว่าทฤษฎีอื่นๆ (Hall & Lindzey, 1978)

เพื่ออำนายความสะดวกแก่การเข้าใจทฤษฎีนี้ ขอเสนอเนื้อหาในรูปตาราง ดังต่อไปนี้
health-0036

health-0037

health-0038

health-0039

ความแตกต่างระหว่างทฤษฎี Psychosocial stage และ Psychosexual stage มีหลายประการ จะยกมาอภิปรายเฉพาะประเด็นที่สำคัญๆ เช่น การแบ่งช่วงระยะเวลา 5 ขั้นตอนแรกของฟรอยด์และแอริคสัน คล้ายๆ กัน ในขณะที่ฟรอยด์เน้นการแสวงหาความสุขจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นจุดกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ เป็นขั้นๆ ตามลำดับนั้น แอริคสันเน้นลักษณะสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ทั้งครอบครัวและในสังคมกว้าง ว่าเป็นจุดกระตุ้น หรือต้นเหตุให้มนุษย์มีพฤติกรรมนานาประเภท ทำให้เกิดความพึงใจ หรือ/และความทุกข์ไม่สมหวัง ตลอดจนหล่อหลอมบุคลิกภาพของมนุษย์ให้เป็นไปในรูปแบบต่างๆ นานา ตามลักษณะสายสัมพันธ์ที่บุคคลคนนั้นมีต่อบุคคลอื่น และบุคคลอื่นมีต่อตัวเขา ทฤษฎีของแอริสันยังผิดกับทฤษฎีของฟรอยด์ ตรงที่ขั้นตอนของพัฒนาการของเขาได้ขยายยาวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ ในขณะที่ทฤษฎีของฟรอยด์ อธิบายเฉพาะช่วงวัยแรกเกิดจนถึงสิ้นสุดวัยรุ่นเท่านั้น

ด้วยเหตุที่แอริคสัน เน้นเรื่องกระบวนการทางสังคมว่าเป็นต้นเหตุของพัฒนาการนี้เอง เขาจึงเรียก ทฤษฎของเขาว่า Psychosocial stage

ทฤษฎี Psychosocial stage) มี 8 ขั้นตอน โดยแบ่งชีวิตมนุษย์เป็นตอนๆ ตามวัย 8 วัย ท่านอธิบายว่า ในแต่ละขั้นจะเกิดข้อขัดแย้งทางจิตใจซึ่งเกิดจากการสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่างๆ อย่างไร ข้อขัดแย้งทางจิตใจนี้เรียกตามศัพท์จิตวิทยาว่า Psychosocial crises เป็นคู่ๆ กัน ถ้าในแต่ละขั้นบุคคล สามารถแก้ภาวะสับสนขัดแย้งนี้ผ่านพ้นไปได้ ก็เข้าถึงชีวิตที่สมปรารถนาตามวัย และเข้าสู่วัยอื่นๆ ด้วยดี ตามลำดับ หากไม่สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งนี้ไปได้แต่ละขั้นๆ ก็จะเกิดความกังวลใจ ความขัดแย้งทางใจ ความไม่สมหวัง มีพัฒนาการไม่สมตามวัยเรื่อยๆ ไป มากน้อยตามความรุนแรงของขัดแย้งที่แก้ไม่ตก

ขอยกตัวอย่างข้อขัดแย้งทางจิตใจประกอบคำอธิบาย เช่น ในช่วงวัยรุ่นลักษณะข้อขัดแย้งทางจิตใจที่สำคัญ คือการค้นหาพบตัวเอง และการไม่พบตัวเอง วัยรุ่นเป็นช่วงกลางระหว่างความเป็นเด็กและเป็นผู้ใหญ่ เด็กกำลังละทิ้ง “ภาพของตนเองอย่างเป็นเด็ก” เพื่อเข้าถึง “ภาพของตนเองอย่างเป็นผู้ใหญ่” ดังนั้น เด็กจึงมีข้อขัดแย้งทางจิตใจเกี่ยวกับตนเองอย่างมากมาย เช่น ควรจะเชื่อพ่อแม่หมดทุกอย่าง หรือเชื่อตามเหตุผลของตนเอง ควรเอาอย่างเพื่อนทุกๆ อย่าง หรือควรเป็นตัวของตัวเอง ควรเป็นอิสรเสรีเต็มที่ หรือควรอยู่ในกรอบระเบียบอย่างเข้มงวด พัฒนาการที่พึงประสงค์คือ ความสมดุลระหว่างการรู้จักตัวเอง และการไม่รู้จักตัวเอง เด็กวัยรุ่นไม่สามารถรู้จักตัวเองได้ดีหมดทุกแง่ทุกมุม เพราะชีวิตเด็กช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนกาย เปลี่ยนวัย เปลี่ยนการดำเนินชีวิต เปลี่ยนค่านิยม เปลี่ยนอุดมคติ ฯลฯ ดังนั้นจึงมีบางแง่บางมุม ที่ตนรู้จักตัวเองไม่ดีพอ ถ้าเด็กวัยรุ่นคิดว่าตนรู้จักตนเองได้ดีมากทุกแง่ทุกมุม แสดงว่าเด็กวัยรุ่นผู้นั้น “หลงตัวเอง หรือ ยกตัวเอง” แต่ถ้าเด็กมองไม่เห็นภาพของตัว (Self) เอาเลย เด็กวัยรุ่นผู้นั้นก็มีบุคลิกภาพ หรือตัวตนอันสับสน (Self diffusion) การพัฒนาตนที่สมบูรณ์ของเด็กวัยรุ่น เมื่อสิ้นสุดวัยได้แก่ การเห็นโครงร่างหรือตัวตนของตนตามความเป็นจริง- เข้าใจจุดด้อย จุดเด่นของตน ความถนัด ความสนใจ ค่านิยม ปรัชญาชีวิตของตน ฯลฯ และยอมรับตนเองอย่างที่มีที่เป็นจริง

ตามทฤษฎีของแอริคสัน จุดศูนย์กลางของชีวิตทางสังคมในแต่ละขั้นตอนนั้น แตกต่างกันออกไป เช่น ในช่วงวัยทารก คือ แม่หรือผู้ทำหน้าที่แทน ช่วงวัยรุ่น คือ เพื่อนร่วมรุ่น (Peer group) ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น คือ คู่ชีวิต มิตรรัก ความหมายของคำว่าจุดศูนย์กลางของชีวิตทางสังคมนั้น ได้แก่กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลต่อบุคคลมากที่สุดเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ และการดำเนินชีวิต

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า