สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ทฤษฎี Psychosexual stages ของฟรอยด์

Hall & Lindzey (1981) กล่าวว่าบางทีฟรอยด์อาจเป็นนักจิตวิทยาท่านแรกที่ได้ศึกษาพัฒนาการมนุษย์ ตามลำดับขั้นตอน ทฤษฎีของฟรอยด์เรียกว่า “Psychosexual Stage” เขาแบ่งพัฒนาการของมนุษย์บนฐานของแรงขับ 2 ประเภท คือ แรงขับเพื่อการอยู่รอด และแรงขับเพื่อการแสวงหาความพึงพอใจทางเพศ ซึ่งหมายรวมถึงความพึงพอใจอื่นๆ เช่น ความรักใคร่ชอบพอ ซึ่งท่านให้ชื่อว่า “Sexuality” แหล่งของพลังงานที่เป็นพลังผลัก Sexuality นี้ท่านเรียกว่า “Libido”

พัฒนาการของมนุษย์ในการแสวงหาความพึงพอใจทางเพศและการมีชีวิตรอดเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการด้านชีววิทยาตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น (ประมาณอายุ 20 ปี) การแบ่งขั้นของการพัฒนาการขึ้นอยู่กับ Zone ของร่างกายที่เป็นจุดเด่นของความพึงพอใจ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการเจริญเติบโต

Psychosexual ในที่นี้จึงหมายความว่าบุคคลย่อมแสวงหาความสุขความเพลิดเพลิน เพื่อเจริญเติบโตและเอาชีวิตรอดด้วย มีที่ตั้งอยู่ ณ จุดหนึ่งของร่างกาย เปลี่ยนแปรตามขั้นตอน กำหนดได้ด้วยวัย หากการแสวงหาความพึงใจนั้นยังไม่ได้รับผลสมใจเต็มที่ ผู้นั้นมีใจติดข้องอยู่กับแบบวิธีหาความพึงใจขั้นนั้น ดังศัพท์บัญญัติเรียกภาวะติดข้องอยู่ดังนี้ว่า “Fixation” ถึงแม้บุคคลนั้นมีอายุล่วงเลยพ้นขั้นนั้นๆ ไปถึงขั้นอื่นๆ แล้วก็ตาม ภาวะความติดข้องอยู่ก็ไม่สิ้นสุด จะเหนียวแน่นขนาดไหนขึ้นอยู่กับความมากน้อยของความไม่ได้รับความพอใจสมใจปรารถนา

ฟรอยด์ แบ่งขั้นตอนพัฒนาการออกเป็น 5 ลำดับดังนี้
1. ขั้นแสวงหาความสุขจากอวัยวะปาก (Oral stage) ช่วงนี้กินเวลาประมาณตั้งแต่คลอดจนถึง 1 ขวบ ทารกมีความสุขในชีวิตโดยทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยปาก เช่นการดูด เคี้ยว กัด เล่นด้วยเสียง ผู้ที่พัฒนาการขั้นนี้ ไม่สมบูรณ์ในช่วงอายุ 1 ขวบ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ยังคงชอบแสวงหาความสุขด้วยปากอยู่อีก เช่นชอบกินจุบจิบ ชอบพูดคุย ชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง ชอบนินทา ชอบสูบบุหรี่ ฯลฯ

2. ขั้นแสวงหาความสุขจากอวัยวะ ทวารหนัก (Anal stage) ช่วงนี้อยู่ในเวลาประมาณตั้งแต่ 1 ถึง 2 ขวบ เป็นช่วงที่ทารกหาความสุขโดยทำกิจกรรมที่ใช้ทวารหนัก หากช่วงเวลานี้มีพัฒนาการไม่สมบูรณ์ ทารกนั้นจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพเป็นคนเจ้าระเบียบ จู้จี้พิถีพิถัน รักความสะอาดอย่างมาก

3. ขั้นแสวงหาความสุขจากอวัยวะเพศปฐมภูมิ (Phallic stage) ช่วงนี้อยู่ในเวลาประมาณตั้งแต่ 3 ถึง 5 ขวบ เด็กมีความพึงใจทำกิจกรรมที่เนื่องด้วยอวัยวะเพศ เช่นเล่นกับอวัยวะเพศของตน กิจกรรมนี้อาจทำให้พ่อแม่ตกใจ ควรทำความเข้าใจเสียว่าเป็นการเล่นขั้นหนึ่งในธรรมชาติ เมื่ออายุผ่านพ้นไปแล้วเด็กก็เลิกเล่น การเล่นอวัยวะเพศมีผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ได้แก่ การสำนึกรู้ถึงเพศของตนอย่างลึกว่าตนเป็นหญิง หรือชาย ต่อไปก็เลียนบทบาททางเพศ คือ เด็กเลียนแบบผู้ใหญ่เพศเดียวกับตน ซึ่งตนรู้สึกรักใกล้ชิดสนิทสนม ถ้าตัวแบบนั้นเป็นพ่อแม่ของตนจะเป็นยุคเด็กชาย “ติดแม่” และ “เอาอย่างพ่อ” เป็นพิเศษ ในเพศกลับกัน เด็กหญิง “ติดพ่อ” และ “เอาอย่างแม่” เป็นพิเศษเช่นเดียวกัน ช่วงเวลานี้ฟรอยด์เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤต (Critical period) สำหรับเลียนบทบาททางเพศให้คล้อยตามเพศของตนเอง เด็กหญิงเด็กชายที่ละเลยการเลียน แบบให้ถูกแนวในระยะเวลานี้ จะโตเป็นหญิงสาวชายหนุ่มที่นิยมแบบบทบาททางเพศ ตรงข้ามกับเพศทางกายจริงของตน ฟรอยด์ยังเชื่อว่า การรู้จักผูกรักกับเพศตรงข้ามมีต้นกำเนิดในช่วงเวลานี้เช่นกัน และเขายังอธิบาย ปมเอดิปัสไว้อย่างพิศดารว่าพัฒนาขึ้นในระยะเวลานี้

4. ขั้นแสวงหาความสุขจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว (Latency stage) ช่วงนี้อยู่ระหว่างอายุประมาณ 6 ถึง 12 ขวบ ซึ่งเป็นระยะเวลาพักพัฒนาทักษะใหม่ (ศัพท์วิชาจิตวิทยาพัฒนาการเรียกว่าระยะ Plateau) พัฒนาการส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นไปอย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ระยะเวลานี้เด็กเริ่มพัฒนาชีวิตสังคม นอกครอบครัว ดังนั้น จึงแสวงหาความพึงพอใจจากการติดต่อกับผู้คนรอบตัวและเพื่อนร่วมวัย เพื่อนสนิท เป็นคนเพศเดียวกันมากกว่าคนต่างเพศ ทั้งนี้เป็นการสืบเนื่องจากการเลียนและเรียนบทบาททางเพศต่อออกไปจากขั้นที่ 3 ข้างต้นนี้

5. ขั้นแสวงหาความสุขจากแรงกระตุ้นของทุติยภูมิทางเพศ (Genital stage) เด็กอายุประมาณ 13 ถึง 20 ปี ย่างเข้าสู่วัยรุ่นและเริ่มเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะทุติยภูมิทางเพศบรรลุวุฒิภาวะสมบูรณ์ทำงานได้เต็มที่ (เช่นเด็กหญิงมีระดู หน้าอกขยายตัว รังไข่ผลิตไข่เพื่อสืบพันธุ์ เด็กชายถึงวัยผลิตน้ำอสุจิ ฯลฯ) เด็กทั้งสองเพศ มีความพอใจคบหาสมาคม รักใคร่ผูกพันกับเพื่อนต่างเพศ ขณะเดียวกันก็พยายามประพฤติตนให้สมบทบาททางเพศ โดยเลียนแบบคนเพศเดียวกันที่ตัวนิยม ระยะนี้มักเห็นแจ่มแจ้งว่าเด็กคนใดแสดงบทบาททางเพศผิดปกติ พวกนี้ได้แก่ผู้นิยมแสดงบทบาททางเพศตรงข้ามกับเพศจริงของตน อีกพวกหนึ่งคือเด็กที่ไม่มีเยื่อใยต้องใจบุคคลต่างเพศ หรือเป็นเด็กเลียนแบบบทบาททางเพศจากคนต้นแบบที่ผิด (เด็กที่แสดงบทบาททางเพศผิดๆ ที่เรียกว่า ทอม ดี ตุ๊ด นั้นมีสาเหตุอย่างไร เป็นเรื่องยืดยาวเกินที่จะบรรยายได้ในที่นี้)

ผู้มีอายุตอนปลายในขั้นตอนนี้ ถ้าไม่ติดพันกับการศึกษาหรือการเริ่มอาชีพแล้ว มักแสวงหาคู่ครอง แต่งงาน และมีครอบครัว

ฟรอยด์ย้ำว่า เมื่อเด็กพัฒนาถึงขั้นนี้แล้ว มิได้หมายความว่าเลิกหาความสุขจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่นทางปาก ทางทวารหนัก ที่ผ่านมาแล้วในวัยต้น ยังอาจแสวงหาความสุขแบบนั้นต่อไป แต่ลดความติดใจ และความเข้มข้นลง ผู้ที่พัฒนาตามขั้นไม่สมบูรณ์ก็เกิดภาวะติดข้องอยู่ ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมแอบแฝง รูปต่างๆ หรือเปลี่ยนเป็นรูปแบบอย่างอื่นทางอ้อม แต่แรงจูงใจที่เป็นพื้นฐานคือ ภาวะติดข้องอยู่

ฟรอยด์เสนอแนวคิดขั้นตอนพัฒนาการ เฉพาะตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย โดยเก็บข้อมูลมาจากผู้ป่วยโรคจิต โรคประสาทในคลีนิกของเขา ในสมัยประมาณ 100 ปีล่วงแล้วมา แม้ทฤษฎีของ ฟรอยด์มีจุดบกพร่องบางจุด ซึ่งมีผู้ไม่เห็นด้วย แต่ก็มีแง่เงื่อนข้อเท็จจริงหลายประการที่คนปัจจุบันไม่สามารถปฏิเสธหรือล้มล้างได้ ทฤษฎีของเขาจึงยังคงเป็นที่นับถือว่าเป็นทฤษฎีระดับคลาสสิค

สำหรับแนวคิดอื่นๆ ของฟรอยด์ เช่น โครงสร้างบุคลิกภาพ กลไกป้องกันตัว ก็มีส่วนสำคัญกับกระบวนการพัฒนาการของมนุษย์ แต่ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องเหล่านี้มีผู้กล่าวถึงมากแล้วในหนังสือจิตวิทยาบุคลิกภาพ จึงไม่ขออภิปราย

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า