สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นสูง

(ชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์)
จิตบำบัดชั้นสูงมีอยู่หลายชนิดและหลายทฤษฎี แต่ในฐานะที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์ในการทำจิตบำบัด ชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ตามสมควร ผู้เขียนจึงขออนุญาตบรรยายจิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้เพียงอย่างเดียว

จิตบำบัดชั้นสูง ชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Psychoanalytically Oriented Psychotherapy นี้ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพราะว่า การทำ “จิตวิเคราะห์” ตามแบบดั้งเดิมของฟรอยด์นั้น เป็นการสิ้นเปลืองเวลา เงินทอง พลังงาน และความมานะ อุตสาหะอย่างยิ่งของผู้รักษาและคนไข้ เพราะฉะนั้น จึงมีผู้ดัดแปลงวิธีการจากของดั้งเดิม เพื่อให้สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายน้อยลง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม จิตบำบัดชนิดนี้ ก็ยังไม่สามารถลดความสิ้นเปลืองเวลา และค่าใช้จ่ายลงได้เท่าที่ควร แต่ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีผู้ใดสามารถทำจิตบำบัดชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ให้สั้น และสิ้นค่าใช้จ่ายน้อยลงไปกว่านี้ได้ โดยให้คงประสิทธิภาพในการรักษา ให้ได้ผลเท่าเดิมได้ จริงอยู่ได้มีผู้พยายามทำในสิ่งที่เรียกว่า Brief Psychotherapy หรือ “จิตบำบัดอย่างสั้นๆ” ชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ แต่จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า “จิตบำบัดอย่างสั้นๆ” นี้ ถึงแม้จะใช้ได้ผลดีในบางราย แต่ หาได้มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทดแทน จิตบำบัดชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ตามแบบเดิม ที่จะกล่าวต่อไปนี้ได้ไม่

วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของการทำจิตบำบัดชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์นี้ คือ ช่วยให้ผู้ป่วย หาย หรือ ดีขึ้น หรือประคับประคอง ไม่ให้อาการของโรคจิตเวชกำเริบ หรือ “ทรุดตัว” เร็วเกินไป  นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริม หรือพัฒนาบุคลิกภาพของคนไข้ให้เจริญเติบโตทางอารมณ์สมบูรณ์ขึ้น มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น และสามารถแสวงหาความสุขให้กับตนเอง โดยวิธีที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมีมนุษย¬สัมพันธ์ที่ถูกต้อง และเหมาะสมแก่สถานการณ์ต่างๆ ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการทำจิตบำบัดนั้น ไม่ได้กว้างขวาง หรือเป็นการ “ชุบชีวิต” คน ขึ้นมาใหม่ อย่างที่น้กจิตบบำบ้ดผู้หัดใหม่ส่วนมากต้องการ อย่าลืมว่า งานจิตบำบัดเป็นงานซ่อมแซม ของอะไรก็ตามที่ได้รับการซ่อมแซม ย่อมจะไม่ดีเท่าของใหม่ ซึ่งนักจิตบำบัดอาวุโสทั้งหลายได้ตระหนักดี เพราะฉะนั้น นักจิตบำบัดที่หัดใหม่ ไม่ควรตั้งเป้าหมายหลอกลวงตัวเองว่า จะทำให้คนไข้เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ เหมือนเป็นคนเกิดใหม่ทางอารมณ์ คือ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “psychological Rebirth”

เหตุผลที่การทำจิตบำบัด ไม่สามารถทำให้เหมือนกับการ “เกิดใหม่ทางอารมณ์” นี้ ก็เพราะว่า มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายประการ ประการแรก ขอใช้คำว่า “ภูมิเดิม” หรือ Constitution Factors ประการที่สอง ขึ้นอยู่กับหน้าที่ฃอง Ego ว่ายังมีความสามารถในการปรับตัวแค่ไหน ประการที่สามได้แก่ความบอบช้ำ และการสะเทือนอารมณ์ในวัยทารก หรือ Infantile Trauma และประการสุดท้าย คือสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ว่ามีการเอื้ออำนวย หรือบั่นทอนต่อผลการรักษาอย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้น นักจิตบำบัดที่หัดใหม่ มักจะไม่สบายใจนัก เมื่อทราบข้อมูลเหล่านี้ นอกจากนี้ การทำจิตบำบัดชนิดนี้ ยังมีหลักเกณฑ์ทั่วไปว่า จะรักษาเฉพาะส่วนที่ไม่ดีของบุคลิกภาพ ที่ทำให้เกิดอาการป่วยเท่านั้น บุคลิกภาพส่วนอื่นของคนไข้ ถึงแม้ว่าจะผิดปกติ แต่ถ้าเป็น Ego-Syntonic คือ เข้ากันได้กับผู้ป่วย  และไม่สร้างปัญหาให้กับผู้ป่วย เราจะไม่แตะต้องเลย เว้นไว้เสียแต่ว่า Ego-Syntonic นี้ เป็นตัวการที่ทำให้ไม่สบาย หรือสร้างปัญหาให้แก่ผู้ป่วย เราจึงจำเป็นจะต้องรักษาและแก้ไข

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเป็น Homosexual และมีอาการหวาดกลัวที่เรียกว่า Phobia เกิดขึ้น ผู้ป่วยต้องการรักษาอาการหวาดกลัว แต่ไม่ต้องการเปลี่ยนเป็น Heterosexual ผู้รักษา ก็จะจัดการรักษาเฉพาะอาการ Phobia เท่านั้น หรือในรายที่ผู้ป่วยเป็นคนเคร่งศาสนา และมีอาการวิตกกังวลเกิดขึ้น ผู้ป่วยต้องการรักษาเฉพาะอาการวิตกกังวล แต่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงท่าทีในเรื่องศาสนา ในกรณีเช่นนี้ ผู้รักษามีหน้าที่แต่เพียงรักษาอาการวิตกกังวลเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ชักชวน หรือชักนำให้คนไข้เปลี่ยนท่าทีในเรื่องศาสนา

แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้วอาจ “เปลี่ยนใจ” ต้องการแก้ไขอาการที่เป็น Ego-Syntonic ด้วย ในกรณีอย่างนี้ ผู้รักษาจึงจะช่วยรักษาในเรื่องเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่ยกเป็นตัวอย่างนี้ เป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์เดิมของการรักษา

คำว่าหายจากโรค คำว่า หายจากโรค หรือ Cure ในการทำจิตบำบัดชนิดนี้ ถ้าหมายถึงหายจากอาการป่วยด้วยโรคจิตเวชแล้ว ก็เป็นความหมายที่ถูกต้อง แต่ถ้าการหายจากโรค หมายความว่า ผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานต่อโรคจิตเวชไปจนตลอดชีวิตแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และเป็นเพียงความเพ้อฝัน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคประสาทที่มีอาการเศร้า เมื่อได้รับการรักษา และหายจากอาการเศร้าแล้ว ก็ถือว่าหายแล้ว แต่ก็อาจจะเป็นอีกในโอกาสต่อไปได้ ข้อนี้ หมายความว่า จิตบำบัดนั้นไม่ใช่เครื่องรับประกันอนาคตของคน ที่เรียกว่า Psychological Prophylaxis ได้ จริงอยู่ ผู้ที่ได้รับการทำจิตบำบัดชนิดนี้ จะสามารถปรับตัวแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเดิมก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ป่วยอีกจนตลอดชีวิต ประการสุดท้าย คือ การทำจิตบำบัดชนิดนี้ ไม่ได้ทำให้คนไข้เป็น Superman หรือบุคคลตัวอย่างที่เรียกว่า Ideal or Model Man มนุษย์ทุกคนจะต้องเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา และความเครียดทางอารมณ์ของตนเอง การตั้งเป้าหมายไว้ว่า คนที่ได้รับการทำจิตบำบัดแล้ว หรือตัวนักจิตบำบัดเอง จะต้องเป็นคน สงบ เยือกเย็น วางเฉยได้ทุกกรณี เป็นคนน่ารัก น่านับถือ อารมณ์ดี และไม่มีความรู้สึกว่า ได้กระทำผิด หรือ Guiltless ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ต้องทนได้เสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นความเพ้อฝันและหลอกลวงอย่างยิ่ง ซึ่งทั้งนักจิตบำบัดเอง และผู้ป่วย ไม่ควรตั้งความหวังไว้เช่นนั้น ตามความเป็นจริงแล้ว มีความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสหลายอย่างหลายประการ ในโลกนี้ ซึ่งจิตบำบัดไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้เลย จิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ แก้ปัญหา “ภายใน” บุคลิกภาพของคนไข้เท่านั้น ส่วนการแก้ไขเหตุการณ์จากภายนอกหาใช่หน้าที่ของจิตบำบัดชนิดนี้ไม่!

สิ่งที่ต้องสังวรไว้สำหรับนักจิตบำบัดที่หัดใหม่ในการทำจิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้ ก็คือ นักจิตบำบัดไม่มีหน้าที่ให้คำแนะนำสั่งสอนแก่คนไข้ว่า ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร จึงจะมีความสุข เป็นต้น เหตุผลก็คือ คำแนะนำสั่งสอนเหล่านี้ ผู้ป่วยได้เรียนรู้มาแล้วจากบิดามารดา ครู อาจารย์ ญาติมิตร ผู้นำศาสนา ฯลฯ อาจารย์ของผู้เขียนท่านหนึ่งกล่าวกับผู้เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “I never tell people what to do.” เหตุผลก็คือ ในเมื่อผู้ป่วยได้รับการแนะนำสั่งสอนในสิ่งเหล่านี้มาแล้ว แต่ใช้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยจึงมาพบนักจิตบำบัด และถ้านักจิตบำบัดจะไปทำอย่างเดียวกันอีก จะมีผลได้อย่างไร !! (ที่กล่าวมานี้ หมายถึงการทำจิตบำบัดชั้นสูง ชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ส่วนในการทำจิตบำบัดชั้นต้นและชั้นกลางนั้น นักจิตบำบัด อาจจะให้คำแนะนำ สั่งสอน แนะแนว ชี้ทางได้

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ป่วยจะมารับการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดชั้นสูงชนิดนี้ และต้องการถามผู้รักษาว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ จะต้องผิดหวัง เพราะว่าจิตบำบัดชนิดนี้ เป็นการรักษาโรคจิตเวชโดยวิธีชั้นสูง หาใช่เป็นสถานที่อบรมสั่งสอนแก่ประชาชนไม่ !

ทฤษฎีหลัก เนื่องจากจิตบำบัดชนิดนี้ ใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เป็นหลักเกณฑ์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้อ่านจะต้องมีความรู้ในเรื่องทฤษฎีจิตวิเคราะห์ขั้นมูลฐานมาก่อนจึงจะทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะสรุปทฤษฎีจิตวิเคราะห์โดยย่อดังนี้

ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้ตั้งทฤษฎีโครงสร้างของจิตใจ โดยแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ Id, Ego and Superego

Id คือแรงผลักดันของจิตใจซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แรงผลักดันทางเพศ และแรงผลักดันในทางก้าวร้าวรุกราน

Ego คือ ส่วนของจิตใจที่มีหน้าที่ควบคุม Id ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมภายนอก และทำงานผสมผสานกับ Superego

Superego คือ ส่วนที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับศีลธรรม มโนธรรม จริยธรรม ศาสนา กฎหมาย ฯลฯ Superego มีหน้าที่ช่วย Ego ควบคุมแรงผลักดันของ Id และในหลายครั้งก็ขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อ Ego เสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ Superego เกรี้ยวกราด หยาบกระด้างมากๆ นอกจากนี้ ตลอดชีวิตของคนเรา ยังอาศัยประสบการณ์เรียนรู้ ตั้งแต่เรายังเป็นเด็กทารก จนถึงเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ วิธีการเรียนรู้ของมนุษย์เรานั้น ส่วนมากเรียนรู้จากสิ่งที่เรียกว่า Reward and Punishment คือ การได้รับรางวัลหรือชมเชย และการลงโทษจากบิดามารดาหรือผู้ใหญ่ นับเป็นพันๆ ครั้ง ตั้งแต่เป็นเด็กทารก จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ความต้องการของ Id นั้น นิยมเรียกเสียใหม่ว่า Wish หรือความปรารถนา เมื่อมี Wish เกิดขึ้น จะทำให้เกิคสิ่งที่ฟรอยด์เรียกว่า Internal Tension-Producing Stimulus ขึ้น หมายความว่าเกิดความเครียดขึ้นภายในจิตใจ เพราะแรงกระตุ้นจาก Id เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นหน้าที่ของ Ego ที่จะต้องจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น ถ้า Ego ตอบสนองความเครียดเรียกว่า Tension Discharge ถ้าปฏิเสธไม่ยอมตอบสนอง เรียกว่า Tension Bound ถ้าตอบสนองเป็นบางสวน และปฏิเสธเป็นบางส่วนเรียกว่า Partially Discharged and Partially Bound

กลไกที่ Ego ให้จัดการกับ Wish เรียกว่า Defenses ถ้าจะกล่าวโดยย่อ Wish Impulse จะถูกควบคุมโดย Ego’s Defenses และ Superego ด้วย

ในคนปกตินั้น จะสามารถสร้างความสมดุล และสามารถปรบตัวให้ความสัมพันธ์ ระหว่าง Wishes and Defenses เป็นไปอย่างราบรื่นและเหมาะสม รวมทั้งได้พฤติกรรมที่ถูกต้องด้วย ส่วนในผู้ป่วยโรคประสาทนั้น ไม่สามารถที่จะกระทำดังกล่าวได้ ฟรอยด์เรียกว่ามี Neurotic Conflict เกิดขึ้น คือ ความขัดแย้งภายในจิตใจ ที่ทำให้เกิดอาการของโรคประสาท ตามธรรมดาเราจะพบว่า Neurotic Conflicts ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีเพียงอย่างเดียวหรือเรื่องเดียว แต่จะพบหลายๆ อย่างหรือหลายๆ เรื่อง ในผู้ป่วยคนเดียวกัน แต่เพื่อให้ง่ายแก่การอธิบาย จึงนิยมพูดถึงเรื่องนี้ครั้งละหนึ่งอย่างหรือหนึ่งเรื่อง

ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ถือว่า Neurotic Conflicts เหล่านี้ผู้ป่วยจะ “ไม่รู้สึกตัว” ว่ามีอยู่ ทั้งนี้เพราะว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในระดับ “จิตไร้สำนึก” ตามความเห็นของฟรอยด์ และนักจิตวิเคราะห์ทั้งหลายถือว่า Neurotic Conflicts เหล่านี้ มีอิทธิพลอย่างยิ่ง ต่อจิตใจของผู้ป่วย

Neurotic Conflicts นี้ ฟรอยด์และนักจิตวิเคราะห์ทั้งหลายกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการขัดแย้งระหว่าง Id กับ Ego โดยมี Superego เข้าช่วยข้างใดข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการทำจิตบำบัดชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์นี้ ก็คือ การพยายาม รักษาสมดุลของ Conflictual Wish-Defense System หมายความว่า ทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ให้กลับเข้าสู่สภาวะสมดุลใหม่นั่นเอง

เนื่องจากความต้องการของ Wishes นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่มีติดตัวมนุษย์เราทุกคน มาตั้งแต่กำเนิดเป็นเรื่องของธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข Defenses เท่านั้นเอง ในการทำจิตวิเคราะห์แบบดั้งเดิมนั้น นักจิตวิเคราะห์จะทำลาย Pathological Defenses ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในการทำจิตบำบัดชนิดที่จะกล่าวถึงนี้ จะกำจัด ดัดแปลง แก้ไข หรือทำลาย Defenses เพียงเท่าที่จำเป็น ไม่ทำลายอย่างมากมายเหมือนการทำจิตวิเคราะห์แท้ๆ นอกจากนี้ ยังพยายาม ส่งเสริมหรือสนับสนุน Defenses บางอันที่เป็นประโยชน์ด้วย เมื่อสามารถปรับปรุง ดัดแปลง และกำจัด Defenses ที่ไม่ถูกต้องแล้ว ผลก็คือทำให้ความเครียดน้อยลง หรือหายไป ก็เท่ากับว่า หายจากโรค

วิธีการโดยย่อของการทำจิตบำบัดชนิดนี้ คือ ให้ผู้ป่วยเป็นฝ่ายเล่า หรือพูดถึงเรื่องราวต่างๆ ของตัวเอง โดยนักจิตบำบัดจะตั้งใจฟัง พยายามติดตามความคิดของคนไข้ว่า สิ่งที่คนไข้เล่านี้ มีความหมายว่าอย่างไร นอกจากนี้ ยังพยายามเก็บข้อมูลต่างๆ พินิจพิจารณาเรื่องราวจากความคิด ความรู้สึก ความทรงจำ จินตนาการ อารมณ์ พฤติกรรมต่างๆ รวมทั้งอาการของคนไข้ด้วย เพื่อที่จะหา Neurotic Conflict หรืออาจพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้นว่า หา Group of Neurotic Conflicts ของคนไข้ นักจิตวิเคราะห์บางท่านนิยมใช้คำว่า พยายามศึกษา Wish-Defense System ของคนไข้ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคขึ้น เมื่อทราบข้อมูลแน่นอน และเพียงพอแล้ว นักจิตบำบัดก็จะช่วยให้คนไข้เข้าใจความขัดแย้งภายในจิตใจของคนไข้เอง ซึ่งก่อนหน้านี้คนไข้ไม่ทราบ และไม่เข้าใจ เพราะว่าอยู่ในระดับจิต “ไร้สำนึก”

ในรายที่ Ego ของผู้ป่วยทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร ผู้ป่วยจะเป็นคนเลือกเองว่า Defenses อันไหนบ้างที่ต้องการจะกำจัดหรือทิ้งไป และอันไหนจะเก็บไว้ วิธีการที่นักจิตบำบัด ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองนี้ เรียกว่า Interposition และ Interpretation

Interposition หมายถึง การที่นักจิตบำบัด เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือกระทำการติดต่อกับผู้ป่วย เช่น ถามผู้ป่วย เปลี่ยนเรื่องที่กำลังพูดกันอยู่ แนะนำชักจูงผู้ป่วย เป็นต้น Interpretation นั้นคือ การแปลความหมายของความคิด อารมณ์ จินตนาการ พฤติกรรม ฯลฯ ให้คนไข้เข้าใจตนเอง

มีคำที่จะต้องเรียนให้ทราบในตอนนี้ อีก 2 คำ คือ Transference และคำว่า Resistance

Transference จะได้กล่าวโดยตรงต่อไป

Resistance หมายถึง Defense ของผู้ป่วยที่ต่อต้านการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาชนิดที่กล่าวถึงนี้ กล่าวโดยทางทฤษฎี Transference ก็คือ Resistance ชนิดหนึ่งนั่นเอง

มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า จิตบำบัดชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์นี้ แตกต่างจากการทำจิตวิเคราะห์แท้ๆ อย่างไร ซิกมันด์ ฟรอยด์ กล่าวว่า จิตบำบัดทุกชนิด ที่ใช้ Transference และ Resistance เป็นส่วนสำคัญในการรักษานั้น เป็นการทำจิตวิเคราะห์ ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม จิตบำบัดชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์นี้ มีส่วนที่แตกต่างจากการทำจิตวิเคราะห์แบบดั้งเดิมหลายประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก การทำจิตวิเคราะห์ที่แท้จริงนั้น ใช้เวลามากกว่า โดยมากผู้ป่วยจะต้องมาพบนักจิตวิเคราะห์ ประมาณสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง และใช้เวลาเฉลี่ยนานมาก คือ ประมาณ 5 ปี แต่จิตบำบัดชนิดที่กล่าวถึงนี้ ใช้เวลาน้อยกว่า คือ ผู้ป่วยจะมาพบผู้รักษา สัปดาห์ละ 1-3 ครั้ง และเวลาเฉลี่ยส่วนมากก็เป็นเพียงประมาณไม่เกิน 2 ปี (ยกเว้นในบางรายอาจใช้เวลาถึง 7 ปี หรือตลอดชีวิตก็ได้)

ประการที่ 2 ในการทำจิตวิเคราะห์ที่แท้จริงนั้น นักจิตวิเคราะห์มักจะใช้ “ความเงียบ” มากกว่าและจะพูดน้อยมากเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่จิตบำบัดชนิดอิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ นักจิตบำบัดจะพูดมากกว่า และใช้ความเงียบน้อยกว่า

ประการที่ 3 ในการทำจิตวิเคราะห์ ประสบการณ์ในวัยเด็กทั้งหมด จะถูกศึกษาอย่างละเอียด ความฝันจะถูกนำมาใช้แปลความหมายอย่างละเอียด แต่จิตบำบัดชนิดที่กล่าวถึงนี้ ชีวิตในวัยเด็ก จะได้รับการศึกษาละเอียดปานกลาง และการแปลความหมายของความฝันก็ไม่ละเอียดมากนัก

ประการที่ 4 ในการทำจิตวิเคราะห์นั้น นักจิตวิเคราะห์จะทำลาย Defenses ที่ผิดปกติทุกๆ อัน หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จิตบำบัดชนิดที่กล่าวถึงนี้ จะทำลาย Defenses เพียงบางอัน และยังส่งเสริมให้รักษา Defenses บางอันเอาไว้ด้วย

ประการที่ 5 Transference Neurosis จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่สุด ในการทำจิตวิเคราะห์ แต่การทำจิตบำบัดที่กล่าวถึงนี้ บางราย Transference Neurosis ก็จะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่จะไม่รุนแรงเท่าการทำจิตวิเคราะห์ สำหรับ Transference Neurosis คืออะไร จะได้กล่าวถึงต่อไป

ประการที่ 6 ในการทำจิตวิเคราะห์นั้น นักจิตวิเคราะห์จะใช้เก้าอี้ให้คนไข้นอน เรียกว่า Couch ส่วนจิตบำบัดชนิดที่กล่าวถึงนี้ ไม่นิยมใช้เก้าอี้นอน นิยมใช้การนั่งพูดจากัน

ประการสุดท้าย ผู้ที่จะเป็นนักจิตวิเคราะห์อย่างแท้จริง เมื่อจบการฝึกอบรมวิชาจิตเวชศาสตร์แล้ว ต้องไปฝึกอบรมวิธีทำจิตวิเคราะห์ต่อ อย่างน้อยอีก 5 ปี ส่วนการเป็นนักจิตบำบัดที่กล่าวถึงนี้ มักใช้เวลาอย่างมากไม่เกิน 3 ปี เท่านั้น

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า