สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จมน้ำ(Drowning)

อาจเกิดจากการตกน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและภาชนะกักเก็บน้ำภายในบ้าน จมน้ำจากอุบัติเหตุ เช่น รถคว่ำ เรือชน เมาเหล้า โรคลมชัก โรคหัวใจวาย เป็นลม เป็นต้น เป็นภาวะที่พบได้บ่อย และมีความรุนแรง มักทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที มักเกิดกับเด็กเล็กและผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็นจมน้ำ

ผู้ที่จมน้ำมักจะสำลักน้ำทำให้ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตลง หรืออาจตายเนื่องจากภาวะเกร็งของกล่องเสียงทำให้หายใจไม่ได้ ผู้ที่จมน้ำมักจะตายภายใน 5-10 นาทีจากสาเหตุเหล่านี้

ผู้ที่จมน้ำแล้วมีชีวิตรอดมาได้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลังและอาจถึงตายได้ เช่น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของปอดอักเสบ การเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่ในร่างกาย ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะปอดไม่ทำงาน เป็นต้น หรืออาจเป็นสมองพิการได้ในรายที่ขาดอากาศหายใจนานๆ ภาวะเหล่านี้มักเกิดขึ้นไม่ต่างกันมากนักทั้งในผู้ที่จมน้ำจืดหรือน้ำทะเล รวมทั้งอาการแสดงและการรักษาก็ไม่ต่างกันมากเช่นกัน
แต่น้ำจืดจะมีความเข้มข้นน้อยกว่าเลือดหากมีน้ำในปอดจำนวนมากก็จะดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ทันทีทำให้ปริมาตรการไหลเวียนของเลือดมากขึ้นส่งผลให้เกลือแร่ในเลือดลดลง อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจวายได้ และอาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ด้วย

ส่วนน้ำทะเลมีความเข้มข้นมากกว่าเลือดน้ำทะเลที่สำลักเข้าไปในปอดจะดูดซึมน้ำเลือดจากกระแสเลือดเข้าไป ทำให้เกิดภาวะปอดบวมน้ำ ระบบไหลเวียนเลือดมีปริมาตรลดลง ระดับเกลือแร่ในเลือดสูงขึ้น จึงทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวาย หรือเกิดภาวะช็อกได้

แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่จมน้ำมักจะเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่และปริมาตรของเลือด

อาการ
มักจะมีอาการหมดสติและหยุดหายใจในผู้ที่จมน้ำ หรืออาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้นร่วมด้วยในบางราย แต่ถ้ายังไม่หมดสติก็อาจมีอาการปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก อาเจียน กระวนกระวาย หรือไอมีฟองเลือดเรื่อๆ หรืออาจตรวจพบภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันต่ำหรือภาวะช็อกในบางราย

การรักษา
ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการหนักเบาเพียงไรแพทย์มักจะรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลทุกรายเพื่อสังเกตอาการและหาทางป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น โดยแพทย์มักจะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับแก๊สในเลือดและหาความเข้มข้นของเกลือแร่ หรือดูว่ามีอาการของปอดอักเสบหรือปอดแฟบหรือไม่ด้วยการเอกซเรย์ หรืออาจตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม

ในการรักษาแพทย์มักจะให้ออกซิเจนแก่ผู้ที่จมน้ำ ต่อเครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ พลาสมาหรือเลือด หรือให้ยาขับปัสสาวะและยารักษาโรคหัวใจถ้ามีภาวะหัวใจวาย หรือให้ยาปฏิชีวนะและสตีรอยด์ถ้ามีปอดอักเสบ

ข้อแนะนำ
1. วิธีการเป่าปากเป็นวิธีผายปอดให้แก่ผู้ป่วยที่จมน้ำที่แนะนำให้ทำในปัจจุบันนี้ ควรทำให้เร็วที่สุดไม่ควรเสียเวลาอยู่กับการจับแบกพาดบ่าเพื่อเอาน้ำออกจากปอดเหมือนสมัยก่อน และไม่แนะนำให้ทำการผายปอดด้วยมือ เช่น วิธีของซิลเวสเตอร์ หรือวิธีของโฮลเกอร์นีลเซน เป็นต้น เพราะมักจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร

2. ผู้ป่วยที่จมน้ำทุกรายควรพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อย 24-72 ชั่วโมง ไม่ว่าจะหมดสติหรือหยุดหายใจหรือไม่ก็ตาม เพื่อเฝ้าระวังอาการและหาทางป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมา

การป้องกัน
1. ควรระวังไม่ให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ในบริเวณใกล้กับน้ำตามลำพัง เช่น แม่น้ำลำคลอง บ่อน้ำ สระน้ำ หรือแม้แต่โอ่งใส่น้ำ ถังใส่น้ำ ภาชนะกักเก็บน้ำภายในบ้าน เป็นต้น

2. ควรส่งเสริมให้เด็กว่ายน้ำเป็น

3. ควรเตรียมเสื้อชูชีพไว้ให้พร้อมเสมอเมื่อต้องลงเรือหรือออกทะเล

4. ห้ามลงเล่นน้ำในผู้ที่เมาเหล้า หรือเป็นโรคลมชัก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า