สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

คางทูม (Mumps/Epidemic parotitis)

คางทูมเกิดจากการอักเสบของต่อมน้ำลาย มักเป็นที่ต่อมน้ำลายข้างหู (parotid glands) มักไม่พบในเด็กต่ำกว่า 3 ปี และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี พบมากในเด็กราว 6-10 ปี มักเป็นกันมากในเดือนมกราคมถึงเมษายน และกรกฎาคมถึงกันยายน  ระบาดเป็นครั้งคราวคางทูม

สาเหตุ
คางทูมเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม paramyxovirus ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำลาย เสมหะจากการไอหรือจามของผู้ป่วยเข้าไป จากการสัมผัสมือ การใช้สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย จากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะแบ่งตัวในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนต้น แล้วเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะต่อมน้ำลายข้างหู ระยะฟักตัว 2-4 สัปดาห์ หรือเฉลี่ยประมาณ 16-18 วัน

อาการ
เริ่มจากมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดข้างแก้มใกล้ใบหู ปวดหู ซึ่งเวลาพูด เคี้ยว กลืน กินอาหารรสเปรี้ยว จะมีอาการมากขึ้น ต่อมาขากรรไกรบริเวณใต้หูและข้างหูจะบวมผู้ป่วยจะปวดมากขึ้นการพูด เคี้ยว กลืนอาหารจะลำบากขึ้น อาการปวดบวมมีมากใน 1-3 วัน แล้วจะลดลงและหายใน 4-8 วัน หรือถึง 10 วัน อาการไข้จะเป็นอยู่ราว 3-4 วัน  หรือ 1-6 วัน ในบางราย

ส่วนใหญ่ขากรรไกรมักบวมข้างเดียวก่อน อีกประมาณ 1-2 วันจึงบวมอีกข้าง ผู้ป่วยอาการบวมข้างเดียวมีประมาณร้อยละ 25

บางรายมีการบวมที่ใต้คางเนื่องจากต่อมน้ำลายใต้คาง และใต้ลิ้น มีการอักเสบร่วมด้วย

บางรายขากรรไกรบวมแต่ไม่มีอาการอื่น หรือมีไข้แต่ขากรรไกรไม่บวมก็ได้
ผู้ติดเชื้อคางทูมที่ไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้มีประมาณร้อยละ 30

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส
ขากรรไกรข้างเดียวหรือทั้งสองข้างบวมกดเจ็บ
อาจมีอาการบวมแดงของรูเปิดท่อน้ำลายในกระพุ้งแก้มเล็กน้อย
รายที่มีต่อมน้ำลายใต้ลิ้นอักเสบอาจพบอาการลิ้นบวม หรือ ในรายที่ต่อมน้ำลายใต้คางบวมจะพบอาหารหน้าอกตรงส่วนใต้คอบวม

ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและสามารถหายได้เอง น้อยมากที่มีอาการอื่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นการติดเชื้อคางทูมของเนื้อเยื่ออื่น อาจแสดงอาการก่อน ขณะ หรือหลังขากรรไกรบวม หรือไม่มีอาการขากรรไกรบวมเลยก็ได้

ภาวะที่พบบ่อย ได้แก่ อัณฑะอักเสบ(orchitis) ร้อยละ 30-38 มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดอัณฑะและบวมปวดมากใน 1-2 วันแรก มักเป็นหลังจากเป็นคางทูม 7-10 วัน อาจพบก่อนหรือพร้อมกับคางทูมก็ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นข้างเดียว น้อยรายที่จะเป็นหมัน ส่วนใหญ่พบในช่วงอายุ 30-40 ปี ในเด็กพบน้อยกว่าผู้ใหญ่

อาจพบรังไข่อักเสบ(oophoritis) ในวัยแตกเนื้อสาว จะมีอาการปวดท้องน้อยบางครั้งอาจทำให้เป็นหมันได้

ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งบุตรได้หากมีการติดเชื้อคางทูมในระยะนี้

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุจากเชื้อไวรัสที่พบได้มากที่สุด มีอาการเล็กน้อยและหายได้เอง ส่วนสมองอักเสบพบได้น้อยมากและไม่รุนแรง ภาวะแทรกซ้อนทางสมองหรือร้ายแรงถึงตายพบเป็นส่วนน้อย

อาจทำให้หูตึงหรือสูญเสียการได้ยินชั่วคราวหรือถาวรจากประสาทหูอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ไตอักเสบ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคติดต่อทางเดินหายใจ ข้ออักเสบ ตับอักเสบ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่พบได้น้อยมาก

การรักษา
1. ให้รักษาตามอาการโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะถ้าพบอาการขากรรไกรบวม มีประวัติและอาการแสดงเข้าได้กับโรคคางทูมโดยไม่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง หลีกเลี่ยงอาหารรสเปรี้ยว ประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน ใช้กระเป๋าน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบหากรู้สึกปวดมาก

ผู้ป่วยควรกินอาหารอ่อนหรือเคี้ยวง่ายเมื่อขากรรไกรบวม ปวด และอ้าปากลำบาก

ผู้มีอายุต่ำกว่า 19 ปีควรเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะเสี่ยงต่อโรคเรย์ซินโดรม ถ้ามีไข้สูงใช้พาราเซตามอล หากไม่มีไข้หรือมีไข้เล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องให้ยา

2. อัณฑะมีการอักเสบ ให้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ประคบด้วยน้ำแข็ง ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 1 สัปดาห์

ถ้าเกิดการอักเสบรุนแรง อาการไม่ทุเลาลงแม้ให้ยาแก้ปวดแล้ว อาจให้เพร็ดนิโซโลนเพื่อลดการอักเสบ  ผู้ใหญ่กินครั้งแรก 12 เม็ด  ต่อมาให้วันละครั้ง แล้วค่อยลดขนาดลงจนเหลือวันละ 5-10 มก. ภายในเวลา 5-7 วัน เด็กให้ขนาด 1 มก./กก./วัน

3. ให้นำส่งแพทย์โดยเร็วหากมีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก คอแข็ง ชัก ซึมไม่ค่อยรู้สึกตัว เพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ
4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำเมื่อต้องการวินิจฉัยโรคคางทูมให้แน่ชัด เช่น ทดสอบทางน้ำเหลืองหาระดับสารภูมิต้านทานโรค โดยตรวจจากน้ำลาย น้ำไขสันหลัง หรือปัสสาวะ

ข้อแนะนำ
1. คางทูมเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงมักหายเองใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องให้ยาใดๆ
2. ควรแยกผู้ป่วยให้พ้นจากระยะติดต่อตั้งแต่ 4 วันก่อนมีอาการจนกระทั่ง 9 วันหลังมีอาการ
3. ในผู้ใหญ่ควรเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด
4. โรคนี้เมื่อเป็นแล้วมักไม่เป็นซ้ำอีก
5. สาเหตุจากโรคอื่นก็สามารถทำให้มีอาการคางบวมได้ ควรตรวจร่างกายโดยเฉพาะในปากและลำคอให้ถี่ถ้วน หากรักษาตามอาการแล้ว 1 สัปดาห์อาการยังไม่ทุเลา ควรหาสาเหตุอื่นๆ ต่อไป เช่น เมลิออยโดซิส ต่อมน้ำลายอักเสบ

การป้องกัน
1. ควรฉีดวัคซีนรวมป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) เข็มแรกอายุ 9-12 เดือน และฉีดซ้ำเมื่ออายุ 4-6 ปี
2. หากมีคนใกล้ชิดป่วยหรือเกิดการระบาดให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า