สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความปกติและผิดปกติทางจิต

(Normality and Abnormality of Mind)

ในการแพทย์ฝ่ายกาย ความปกติหรือผิดปกติ หมายถึง ความมีสุขภาพดีหรือเจ็บป่วย ซึ่ง ๒ สภาวะนี้มีลักษณะแตกต่างกันมาก สามารถแยกจากกันได้ชัดเจนจากอาการหรือความผิดปกติที่ตรวจพบ คนซึ่งไม่ป่วย คือคนที่มีสุขภาพดี หรือปกติ ส่วนคนที่ป่วยก็คือคนที่ผิดปกติ

แต่ในทางจิตเวชและจิตวิทยา เรามิได้ใช้หลักอย่างฝ่ายกาย แค่ใช้หลักเกณฑ์หลายอย่างในการตัดสิน โดยปกติเราพิจารณาเรื่องพฤติกรรมเป็นสำคัญ ความปกติหรือผิดปกติไม่ได้ หมายถึงการมีสุขภาพจิตดี หรือการป่วยทีเดียว แต่มีความหมายกว้างกว่า ความปกติมีความหมายตั้งแต่การไม่ป่วย จนถึงการมีสุขภาพจิตดี และความผิดปกติก็กินความกว้างกว่าคำว่าป่วย เพราะการป่วยดูคล้ายจะหมายถึงความผิดปกติรุนแรง หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงในตัวเขาอย่างชัดเจน ความปกติและผิดปกติทางจิตใจอาศัยหลักเกณฑ์หลายอย่างเป็นเครื่องตัดสิน ดังนี้

๑. มีความสามารถรับผิดชอบ หรือไม่มีความสามารถรับผิดชอบ (พิจารณาในแง่กฎหมาย) คนวิกลจริตหรือคนปัญญาอ่อน จัดอยู่ในพวกที่ไม่มีความสามารถรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นถือว่ามีความผิดปกติทางจิต

๒. ดี หรือ เลว (พิจารณาในแง่คุณธรรม) บุคคลอันธพาลชอบกระทำความผิด และขาดความสำนึกในการกระทำของคน จึงจัดว่าผิดปกติ

๓. มีพฤติกรรมเหมือน หรือต่างไปจากที่คนส่วนใหญ่ประพฤติ (พิจารณาในแง่สถิติ) เช่น ครูผู้หญิงทุกคนสวมกระโปรงไปสอนนักเรียน แค่มีครูผู้หญิงคนหนึ่งสวมกางเกง ครูผู้หญิงคนนั้นก็จัดว่าผิดปกติ ผู้ชายทั่วไปไม่แต่งหน้า ถ้าชายใดแต่งหน้า (ยกเว้นนักแสดง)ก็ถือว่าผิด ปกติเช่นกัน

๔. มีพยาธิสภาพ หรือไม่มีพยาธิสภาพ เช่น อัจฉริยะ และปัญญาเสื่อมอย่างรุนแรง (idiot) เป็นลักษณะที่เบี่ยงเบนไปจากปกติทั้งคู่ ก็ควรจะเป็นความผิดปกติทั้ง ๒ อย่าง แต่เรา ถือว่าปัญญาเสื่อมอย่างรุนแรงเท่านั้นที่ผิดปกติ

พฤติกรรมจะปกติหรือผิดปกติมีส่วนเกี่ยวข้องกับ สังคม ขนบ ธรรม เนียมประเพณี วัฒนธรรมและศาสนา ตลอดจนยุคสมัยด้วย ตัวอย่างเช่น ชาวเขาในภาคเหนือของประเทศไทยสูบฝิ่นเป็นประจำมาชำนาญ พวกเขาไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ ในขณะที่คนไทยอื่น ๆ ถือว่าการติดฝิ่น เป็นการติดยาเสพติด ชาวเอสกิโมบางเผ่าถือว่าการให้ภรรยาไปนอน(ร่วมเพศ) กับแขกที่มาเยือน เป็นการต้อนรับที่ดี ในขณะที่คนชาติอื่นเขาไม่ทำกัน การเปลี่ยนสามีหรือภรรยากันเป็นครั้งคราว ในวันสุดสัปดาห์หรือในระยะหยุดพักผ่อนในสังคมบางกลุ่มของชาวยุโรปและอเมริกา พวกเขาก็ไม่ถือว่าผิดปกติ พฤติกรรมนี้สามารถกระทำได้อย่างเบิดเผย จะเห็นได้จากบางครั้งมีการโฆษณาแจ้งความประสงค์ในหนังสือพิมพ์เสียด้วยซ้ำ ในเมืองไทยเราก็เริ่มจะมีการหาคู่ทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ ไม่ทำกัน แต่ยังไม่ถูกเพ่งเล็งว่าผิดปกติ

ในคนบางเผ่าที่อาศัยอยู่แถบหมู่เกาะทะเลใต้ โดยเฉพาะพวกหัวหน้าเผ่าหรือกษัตริย์ ถือว่าการแต่งงานในระหว่างพี่น้องหรือเครือญาติใกล้ชิดเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสืบสายเลือดหรือตระกูลของตน เขาไม่ถือว่าผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ชาวโลกส่วนใหญ่รังเกียจ และในวิชาจิตเวชศาสตร์ ก็ถือว่าพฤติกรรมนี้เป็นโรค แสดงให้เห็นว่าความปกติหรือผิดปกติ แม้จะวัดโดยการเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่แล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่นสังคมของคน ๆ นั้นยอมรับพฤติกรรมนั้นแค่ไหน และวัฒนธรรมของคน ๆ นั้นเป็นอย่างไร

ในบางศาสนา เช่นศาสนาฮิบรู และศาสนาคริสต์ ถือว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำและผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ศาสนาอื่น เช่นศาสนาพุทธ ไม่มีข้อห้ามในเรื่องนี้ ศาสนาฮินดูถือว่าการร่วมเพศระหว่างประจำเดือนเป็นบาป ดังนั้นชาวอินเดียจึงไม่กระทำ แต่คนในศาสนาอื่นไม่ถือว่าเป็นของผิด และบางคนอาจชอบกระทำด้วยซ้ำเพราะเป็นระยะที่ปลอดภัยจากการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดีการที่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมร่วมเพศในระยะนี้ก็เพราะว่าสกปรก หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของหญิง

ยุคสมัยหรือเวลา ก็มีความสำคัญต่อความปกติหรือผิดปกติทางจิต พฤติกรรมรักร่วมเพศที่ถือว่าปกติในสมัยกรีกและโรมัน กลับกลายเป็นความผิดปกติในยุคคริสฅศาสนา และในปัจจุบันเริ่มจะหันมาถือว่าเป็นสิ่งปกติอีกแล้ว ในสมัยก่อนคริสตศ่ตวรรษที่ ๑๗ ความผิด ปกติทางจิตใจหมายถึงเฉพาะโรคจิตอย่างเดียว คนที่ป่วยด้วยโรคนี้ถูกเรียกว่า คนบ้า คนคลั่ง หรือคนวิกลจริต โรคจิตหมายถึงการป่วยที่ทำให้คนๆ นั้นขาดเหฅุผล และประพฤติแปลกไปจากคนอื่น หรือบางครั้งอาจเกิดกับคนปกติซึ่งได้รับสิ่งที่เป็นอันตรายภายนอกบางอย่าง เช่น เชื้อ ซิฟิลิส ยุคต่อมาความผิดปกติทางจิตใจได้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการศึกษาเรื่องของจิตใจกันอย่างกว้างขวาง และเริ่มรู้จักโรคประสาท เวลายิ่งผ่านไปขอบเขตของความผิดปกติก็ยิ่งแผ่ขยายไปอีก คือรวมความผิดปกติในบุคลิกภาพบางอย่างเข้าไปด้วย เช่นบุคลิกภาพแบบหวาดระแวง ย้ำคิด ฮิสทีริคอล ซึมเศร้า หรือรักตัวเองมากเกินไป เพราลักษณะเหล่านี้อาจทำให้คน ๆ นั้นมีความสุขน้อยลง หรือเสียความสมบูรณ์แห่งชีวิตไป

ปัจจุบันความผิดปกติทางจิตยังรวมไปถึงความผิดปกติทางร่างกายบางอย่างซึ่งมีสาเหตุ จากจิตใจ โดยอาจจะมีหรือไม่มีอาการทางจิตใจร่วมด้วยเลย เช่นโรคหอบหืด โรคแผลในกระเพาะอาหาร และโรคปวดศีรษะข้างเดียว เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า โรคจิตสรีระแปรปรวน (psychosomatic disorders)

จะเห็นว่า ความหมายของความปกติและผิดปกติทางจิตใจนั้นกว้างขวางมาก ทั้งยังขาดความชัดเจนและแน่นอนในบางโรค เพราะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้น ยังขึ้นกับบรรยากาศทางการเมืองและสภาพของสังคมในขณะนั้นว่าสามารถทนต่อการเบี่ยงเบนของพฤติกรรมได้เพียงใด ถ้าทนไม่ได้ พฤติกรรมนั้นก็ถือว่าผิดปกติ ต้องรีบจัดการแก้ไขโดยวิธีใด วิธีหนึ่ง เช่นการข่มขืนกระทำชำเรา บางระยะถูกละเลยไม่ได้รับความสนใจในแง่ว่าป่วย แค่ บางระยะก็มีการตื่นตัวให้มีการรักษาหรือกักกันผู้ประพฤติไว้ และสุดท้ายยังขึ้นกับความเที่ยงตรง และความยุติธรรมของจิตแพทย์ด้วย เพราะความปกติส่วนใหญ่ วัดด้วยการรู้จักตน (insight) ของคน ๆ นั้น กล่าวคือ ถ้าใครคิดว่าตนปกติขณะที่จิตแพทย์คิดว่าป่วย หรือคิดว่าตนป่วยในขณะที่แพทย์คิดว่าเขาไม่ป่วย แสดงว่าคน ๆ นั้นผิดปกติ การวินิจฉัยด้วยความรู้สึกส่วนตัว (personal impression) เช่นนี้จึงไม่น่าเชื่อถือนัก

ด้วยเหตุนี้การจะบอกให้แน่นอนว่า อะไรคือ “ความปกติ” และอะไรคือ “ความผิดปกติ” ทางจิตเวชจึงยังเป็นปัญหาอยู่ในหลายกรณี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า