สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ครู้ป (Croup/Laryngotracheobronchitis)

ครู้ปหรือคอตีบเทียม คือ การอักเสบของเยื่อยุผิวของทางเดินหายใจตั้งแต่กล่องเสียงลงไปที่ท่อลม หลอดลม ทำให้เวลาไอมีเสียงก้อง เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาการไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ คอตีบเทียม

พบบ่อยในเด็ก 6 เดือนถึง 3ปี พบได้สูงสุดในช่วงอายุ 1-2 ปี ในเด็กอายุเกิน 6 ปีพบได้น้อย แต่บางครั้งก็อาจพบในเด็กโต 12-15 ปี เป็นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ ไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (parainfluenza) และอาจเกิดจากไวรัสอะดีโน(adenovirus) อาร์เอสวี(respiratory syncytial virus/RSV) ไวรัสหัด เป็นต้น

พบบ่อยในเด็กอายุ 3-7 ปี จากไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (influenza A) ซึ่งมักทำให้เกิดอาการที่รุนแรง

โรคนี้ติดต่อโดยทางเดินหายใจแบบเดียวกับไข้หวัด

อาการ
มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ ประมาณ 1-2 วัน ต่อมาเสียงจะแหบและไอเสียงก้อง ได้ยินเสียงฮื้ดเมื่อหายใจเข้ามักเกิดหลังอาการไอ อาการหายใจลำบากจะมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค อาการเหล่านี้เป็นอย่างฉับพลันและเป็นมากในช่วงกลางคืนประมาณ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า อาการจะทุเลาในช่วงกลางวัน บางรายเป็นมากจนต้องสะดุ้งตื่น
ในเด็กอาการมักไม่รุนแรง จะหายได้เองใน 3-7 วันหรืออาจนานถึง 2 สัปดาห์

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ 38-39 องศาเซลเซียส ไอเสียงก้อง ได้ยินเสียงฮื้ดเมื่อมีการเคลื่อนไหวเช่นเมื่อเด็กวิ่งเล่น บางรายขณะอยู่นิ่งๆ ก็มีเสียงฮื้ด มีการหายใจลำบากเล็กน้อย

อาจตรวจพบเสียงวี้ด(wheezing) เสียงอึ๊ด(rhonchi) เสียงกรอบแกรบ(crepitation) ในรายที่มีการอักเสบของหลอดลมร่วมด้วย

อาการไอถี่ๆ มีเสียงฮื้ดชัดเจนขณะอยู่นิ่งๆ หายใจลำบาก ซี่โครงและลิ้นปี่บุ๋ม เสียงหายใจเข้าเบากว่าปกติเมื่อตรวจด้วยเครื่องฟังปอด ปากเขียว เล็บเขียว ซึมไม่ค่อยรู้สึกตัวซึ่งจะเกิดในรายที่เป็นรุนแรงแต่จะพบเป็นส่วนน้อย

ภาวะแทรกซ้อน
มักจะไม่พบภาวะแทรกซ้อน หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียจะกลายเป็นปอดอักเสบ ท่อลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ อาจพบภาวะปอดบวมน้ำ และปอดทะลุ

การรักษา
1. หากมีอาการเพียงเล็กน้อยโดยที่เด็กยังร่าเริง กินอาหารได้ตามปกติ ไม่อาเจียน ก็ให้รักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้พาราเซตามอลเมื่อมีไข้ ให้ดื่มน้ำมากๆ ให้ความชื้นโดยการวางอ่างน้ำไว้ข้างตัวเด็ก หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
ถ้าอาการกำเริบให้เด็กสูดไอน้ำอุ่น จากการเอาผ้าจุ่มน้ำอุ่นแล้วนำมาจ่อใกล้ปากและจมูก หรือเปิดน้ำอุ่นในห้องน้ำขณะปิดประตูอยู่ แล้วนำเด็กเข้าไปอยู่ในห้องน้ำนาน 10 นาที สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่มักหายได้เองใน 3-7 วัน

2. ถ้าหายใจลำบาก ซี่โครงและลิ้นปี่บุ๋ม ปากเขียว เล็บเขียว กลืนลำบาก กินไม่ได้ เกิดภาวะขาดน้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม มีเสียงฮื้ดแม้จะนั่งอยู่นิ่งๆ ให้รีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว

ส่วนใหญ่มักจะวินิจฉัยโรคจากอาการเป็นหลัก แต่บางครั้งอาจต้องเอกซเรย์ ตรวจกล่องเสียง ตรวจเชื้อก่อโรค ตรวจเลือด ซึ่งเป็นการตรวจพิเศษเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไป

ในรายที่มีอาการรุนแรง ต้องให้การรักษาโดยให้ออกซิเจนพ่นฝอยละอองน้ำเพื่อให้ความชื้น ให้ยาสตีรอยด์ชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อลดการอักเสบและการบวมของเยื่อบุกล่องเสียง เช่น

-ฉีดเดกซาเมทาโซน ขนาด 0.6 มก./กก. เข้ากล้ามครั้งเดียว หรือให้กินขนาด 0.15 มก./กก.ครั้งเดียว ขนาดยาทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 10 มก./ครั้ง
-ให้กินเพร็ดนิโซโลนขนาด 1 มก./กก. ทุก 12 ชม. ไม่ควรเกิน  60 มก./วัน จนถึง 24 ชั่วโมงหลังอาการดีขึ้นหรือถอดเครื่องช่วยหายใจออกแล้ว
-ใช้สตีรอยด์ชนิดพ่น เช่น budosenide แทนชนิดกินหรือฉีด หรือจะให้ยาอะตรีนาลินชนิดพ่น(nebulized adrenaline) ก็ได้
ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนถึงจะมีการให้ยาปฏิชีวนะ
จำเป็นต้องใส่ท่อหายใจ เครื่องช่วยหายใจในรายที่หายใจลำบาก ปากเขียว มีภาวะขาดออกซิเจน
โรคนี้ส่วนใหญ่มักหายได้เอง มีน้อยรายที่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ซึ่งอัตราการตายจากโรคนี้มีต่ำมาก

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยที่หายใจหอบมีเสียงฮื้ด(stridor) เนื่องจากมีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น และยังอาจเกิดจากโรคคอตีบ สำลักสิ่งแปลกปลอม กล่องเสียงบวมจากการแพ้ สปาสโมดิกครู้ป ฝากล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน
2. เด็กที่เคยเป็นโรคครู้ปชนิดรุนแรง อาจเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคหืดเมื่อโตขึ้นได้

การป้องกัน
อย่าสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เสมอๆ และปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า