สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การใช้ WORKING THROUGH ของนักจิตบำบัด

WORKING THROUGH
คือ ระยะของการรักษาที่นักจิตบำบัดใช้ Interpretation ให้คนไข้ทราบความหมายของพฤติกรรมของตนเอง ที่เรียกว่า Insight แต่คนไข้จะยังไม่สามารถนำ Insight ที่ได้รับมาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในทันที คนไข้ยังต้องการเวลาอีกระยะหนึ่ง จึงจะสามารถนำ Insight ไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ ระยะเวลาดังกล่าว คือ Working Through

การที่คนไข้จะใช้ระยะเวลาของ Working Through ยาวนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของคนไข้ อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปีก็ได้ Wolberg (1977) กล่าวว่า การที่จะมีสุขภาพจิตดีนั้น เป็นสิ่งที่ต้องพยายามต่อสู้ดิ้นรน และบางครั้งก็อาจผิดหวัง และเจ็บปวดด้วย แม้แต่ในการทำจิตบำบัดชั้นต้นและชั้นกลาง คนไข้ก็ยังพยายาม “เกาะแน่น” กับอาการที่เป็นอยู่ ไม่สามารถสลัดออกไปได้ง่ายๆ

ในการทำจิตบำบัดชั้นสูง คนไข้ยิ่งจะต่อสู้ดิ้นรนมากขึ้น บางครั้ง อาจมีอาการกำเริบขึ้นด้วย การใช้ Interpretation ที่ถูกต้องนั้น ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อ Neurotic Conflict ของคนไข้ เพราะฉะนั้น คนไข้จะต้องต่อต้านอย่างสุดฤทธิ์ ผู้ป่วยจะรู้สึกวิตกกังวลจิต เนื่องจากการกระทบกระเทือนที่กล่าวมานี้ ผู้ป่วยจะค่อยๆ เอาชนะความวิตกกังวลนี้ อย่างช้าๆ เมื่อความวิตกกังวลสงบลงตามสมควรแล้ว ผู้ป่วยจึงจะค่อยๆ เลิกใช้ Neurotic Defenses ของตนเอง

แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และบุคลิกภาพของผู้ป่วยนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยยังจะมีอาการกำเริบกลับไปกลับมาอีก และในบางครั้ง ก็อาจมี Resistances เพิ่มขึ้นอีกด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจจะกลับไปใช้ Resistances ที่รุนแรง และเหนียวแน่นกว่าเมื่อตอนป่วยเสียอีก เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักจิตบำบัดที่จะต้องศึกษา Defenses ของผู้ป่วยอย่างละเอียดถี่ถ้วน การที่ผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้นอีกเป็นครั้งคราว ก็เท่ากับว่า มีความวิตกกังวลเกิดขึ้นมาอีก ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ผู้ป่วยหวนกลับไปใช้วิธีเดิมหรือ Neurotic Patterns เพื่อจัดการกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น

ปรากฏการณ์ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะเลวลงอีก แต่เป็นเพราะว่า Insight ที่ได้รับมานั้น กำลังถูก “ทดสอบ” และค่อยๆ รวมตัวขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนไข้ในระยะยาว ตามปกติคนไข้ต้องการเวลา และประสบการณ์ในการทดสอบ Insight จนกว่าเขาจะมีความเชื่อมั่นว่า Insight ที่ได้รับมานี้ มีประโยชน์ต่อเขาจริงๆ

ในขณะที่ผู้ป่วยกำลังทดสอบอยู่นั้น บางครั้งก็อาจมีความวิตกกังวล และกลับไปใช้ Neurotic Patterns อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ หรือหมดกำลังใจเลยก็ได้ แต่ถ้านักจิตบำบัดเข้าใจธรรมชาติของสิ่งนี้ ช่วยเหลือประคับประคองผู้ป่วยให้ดีๆ ผู้ป่วยจะสามารถเอาชนะความรู้สึกดังกล่าวได้รวดเร็วกว่าตอนที่เริ่มใช้ Interpretation ครั้งแรกๆ เมื่อผู้ป่วยใช้ Insight มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน แต่ก็ยังอาจจะแกว่งไปมาได้อีก ถ้าการรักษาดำเนินไปอย่างถูกต้อง การแกว่งไปมานี้ จะลดลงและสั้นเข้าเรื่อยๆ จนในที่สุด ผู้ป่วยจะมั่นใจ และใช้ Insight ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะเลิกใช้ Neurotic Patterns อย่างเด็ดขาด

นักจิตบำบัดหัดใหม่มักจะไม่มีความ “อดทน” เพียงพอ หรือ “ใจร้อน” เกินไป เมื่อใช้ Interpretation แล้ว คนใช้ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทันใจ นักจิตบำบัดบางคน อาจจะรู้สึกผิดหวัง หรือหมดห่วง ในเมื่อเห็นคนไข้มีอาการกำเริบกลับไปกลับมา นักจิตบำบัดบางคนอาจจะถึงกับโกรธคนไข้ เมื่อคนไข้มีอาการกำเริบอีก และถ้านักจิตบำบัดแสดงปฏิกิริยาในลักษณะที่ส่อว่าหมดหวังแล้ว คนไข้ก็จะถือว่าตนเองหมดหวัง และรักษาไม่ได้หรืออาจคิดว่า นักจิตบำบัดหมดความสามารถที่จะช่วยคนไข้ได้ เพราะฉะนั้น นักจิตบำบัดจึงไม่ควรแสดงความท้อแท้หมดหวัง ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการกลับไปกลับมาอีก

วิธีหนึ่งที่จะช่วยเหลือนักจิตบำบัดได้ ก็คือ จะต้องทราบว่าธรรมชาติของการรักษาชนิดนี้ มันจะต้องเป็นไปเช่นนี้ คือ ผู้ป่วยจะต้องมีอาการกลับไปกลับมาอยู่ระยะหนึ่ง ไม่มีผู้ป่วยคนไหนเมื่อใช้ Interpretation แล้วจะสามารถนำไปปฏิบัติได้ภายในวันสองวัน ผู้ป่วยแต่ละคนมี “ขีดความสามารถ” ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แตกต่างกัน, จะเร่งรัดการรักษาให้เร็ว “ทันใจ” นั้น ไม่ได้ !

ตามปกติ ผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ หรือ “โครงสร้างของจิตใจ” เป็นบางส่วนก่อน แล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพทั้งหมดในภายหลังหมายความว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไป ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

การที่คนไข้เริ่มเข้าใจ Insight ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น มีผลต่อบุคลิกภาพ และพฤติกรรมทั้งหมดน้อยมาก นักจิตบำบัดจะต้องช่วยให้คนไข้เข้าใจพฤติกรรม และบุคลิกภาพ ในเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ก่อประโยชน์

ในกรณีที่นักจิตบำบัดต้องการให้คนไข้เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพทั้งหมดนั้น เป็นขบวนการที่ใช้เวลานานมาก ในบางครั้ง เราพบว่านักจิตบำบัดจะต้องทำงานอย่างหนัก แต่คนไข้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย หรือผิวเผินเท่านั้น เมื่อพบเหตุการณ์เช่นนี้ นักจิตบำบัดจำนวนไม่น้อยจะ “ยอมแพ้” โดยอาจเปลี่ยนเป้าหมายของการรักษามาเป็นเพียงจิตบำบัดชั้นต้นหรือชั้นกลาง และในบางรายอาจจะถึงกับ “เลิก” การรักษาไปเลยก็มี แต่ถ้านักจิตบำบัด มีความเข้าใจธรรมชาติของการรักษา และมี “ความอดทน” เพียงพอแล้ว การรักษาก็จะประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานมากก็ตาม ต่อไปเป็นตัวอย่างของการรักษาในระยะ Working Through

ผู้ป่วยเป็นชาย มารับการรักษากับจิตแพทย์ เพราะว่า หย่อนความสามารถทางเพศ เมื่อศึกษาผู้ป่วยอย่างละเอียดแล้ว จิตแพทย์พบว่า ผู้ป่วยมีความเข้าใจ และใช้เพศสัมพันธ์ผิดวัตถุประสงค์ของธรรมชาติ มีความผิดปกติของบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์

เมื่อการรักษาได้ดำเนินมาถึงตอนนี้แล้ว การที่ผู้ป่วยมีความกลัวเรื่องเพศสัมพันธ์ ได้รับการนำมาพูดจากันอย่างเปิดเผย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความคิดเห็นและจินตนาการของผู้ป่วย

ผู้ป่วยพูดว่า “ผมได้พบกับ ก. หลังจากที่ได้พูดกับคุณหมอแล้ว ผมรู้สึกว่าเราสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ดีกว่าเดิมมาก เราทั้งสองได้มีอารมณ์ถึงจุดสุดยอด มันเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ผมสามารถมีความสุขอย่างนี้ เรารู้จักกันมาตั้งหกเดือนแล้ว แต่ไม่เคยรู้สึกเป็นสุข อย่างนี้มาก่อนเลย”

จิตแพทย์จึงกล่าวว่า “ก่อนนี้ คุณเคยพูดว่า ถ้าคุณสามารถมีความสุขทางเพศอย่างสมบูรณ์เหมือนกับที่คุณมีกับ ก. แล้ว คุณจะต้องสบายดีทุกอย่าง และหมดปัญหาเดี๋ยวนี้ คุณมีความสามารถแล้ว แต่กลับไม่เหมือนอย่างที่คุณเคยคิดไว้”

ผู้ป่วยกล่าวว่า “ผมคิดว่า ผมยังไม่เข้าใจตัวเองดีพอ บางครั้ง ผมเคยคิดว่า ผมจะต้องจัดการกับเรื่องนี้ เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับตัวผม แต่ผมก็แปลกใจว่า เมื่อผมได้สิ่งที่ผมต้องการมากที่สุดแล้ว กลับไม่เห็นว่ามันจะดีขึ้นกว่าเดิมตรงไหน ผมเคยคิดว่า ถ้าผมมีความสุขทางเพศได้ดี ผมก็จะหมดปัญหา แต่เดี๋ยวนี้กลับรู้สึกว่า การมีความสุขทางเพศ
ได้ ไม่ใช่การแก้ปัญหา และก็เป็นเพียงครั้งแรกที่ผมทำได้สำเร็จ ยังต้องพิสูจน์ต่อไปอีกหลายครั้ง จนกว่าจะเกิดความมั่นใจ แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ยังคิดว่าไม่เพียงพอ”

หมายเหตุ
ผู้ป่วยเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วว่า ความสำเร็จในเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด

จิตแพทย์จึงอธิบายว่า “ผมคิดว่า การที่คุณไม่มีความสามารถทางเพศมาก่อนนั้น อาจจะเป็นเพราะว่า คุณใช้เรื่องเพศเพื่อสร้างความภูมิใจให้กับตัวคุณเองมากกว่าที่จะใช้แสวงหาความสุขตามธรรมชาติ”

หมายเหตุ
นักจิตบำบัดใช้ Interpretation ให้ผู้ป่วยทราบว่า การที่ผู้ป่วยใช้เรื่องเพศเมื่อแต่ก่อนนั้นเป็น Neurotic Defense ของผู้ป่วย

ผู้ป่วยตอบว่า “คงจะจริงอย่างที่คุณหมอพูด แต่เดี๋ยวนี้ ผมเปลี่ยนความคิดแล้ว ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญมาก”

จิตแพทย์พยักหน้ารับทราบ แต่ไม่พูดอะไร

ผู้ป่วยจึงเล่าต่อไปว่า “ผมเคยคิดว่า ถ้าผมสามารถมีความสุขกับผู้หญิงที่ผมติดพันอยู่ทั้ง 3 คน จะทำให้ผมรู้สึกสบาย และหมดปัญหา แต่ ผมคิดขึ้นมาใหม่ว่า การกระทำดังกล่าว อาจจะเป็นการสร้างปัญหา มากกว่าความสุขที่จะได้รับ”

จิตแพทย์จึงกล่าวเสริมว่า “ผมคิดว่า แต่ก่อนนี้ คุณใช้เรื่องเพศในการสร้างความภูมิใจให้แก่ตนเอง และใช้ความสุขทางเพศเป็นเครื่องวัดความสำเร็จ แต่เดี๋ยวนี้ คุณเริ่มจะเห็นว่า อาจจะเป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่อีก คุณคิดถึงเรื่องนี้อย่างไร?”

ผู้ป่วยตอบว่า “ผมเข้าใจตามที่คุณหมอพูด เพราะว่า การมีความสุขทางเพศอย่างเดียวไม่ได้หมายความว่า ผมจะเป็นผู้ชายมากขึ้นกว่าเดิม เหมือนกับว่า ถ้าเรากินอาหารจานเดียวอิ่ม หรือกินหลายๆ จานอิ่ม ก็ไม่ได้แสดงว่า จะดีกว่ากันที่ตรงไหน คิดดูแล้ว น่าหัวเราะ ทำไมเมื่อก่อนผมจึงมีความคิดไม่เข้าท่าอย่างนั้น”

จิตแพทย์จึงพูดว่า “แต่ผมรู้สึกว่า แม้ขณะนี้ คุณก็ยังสองจิตสองใจอยู่”
ผู้ป่วยถามว่า “คุณหมอหมายความว่า ผมยังไม่อยากเลิกประพฤติอย่างเดิมหรือ?”
จิตแพทย์พยักหน้า แต่ไม่พูดอะไร
ผู้ป่วยพูดว่า “อาจจะจริง เรื่องอย่างนี้ พูดง่าย ทำยาก และรู้สึกว่าจะเป็นต้นตอของปัญหาของผมด้วย และอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทั้งหมดของผม จริงอยู่ เรื่องเพศเป็นเรื่องหนึ่งละ แต่ผมก็มีปัญหาในเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งแต่ก่อนนี้ ผมคิดว่าผมมีปัญหาในเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ ผมคิดว่า จะต้องแก้ไขเรื่องอื่นๆ ด้วย ผมเริ่มรู้ตัวว่าอะไรผิด อะไรถูก ผมจะทำอย่างไรกับชีวิตของผม ผมคิดว่าคนส่วนมาก ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงมีปัญหา แต่เดี๋ยวนี้ ผมเริ่มเข้าใจว่า อะไรเป็นอะไร”

ตัวอย่างที่สอง
ผู้ป่วยเป็นชาย มาพบจิตแพทย์ เพราะว่ากลัวการร่วมเพศ และมีปัญหากับภรรยา ผู้ป่วยได้รับการรักษามาถึงขั้น Working Through ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับภรรยา เริ่มดีขึ้นมาก ความกลัวในเรื่องเพศลดน้อยลงไป ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในตัวเองมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจน ดังนี้

ผู้ป่วยพูดว่า “เมื่อวันอังคารที่แล้ว ผมซื้อดอกไม้มาฝากภรรยา ผมรู้สึกตื่นเต้น และแปลกใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะว่าภรรยาดีกับผมเหลือเกิน ต้อนรับผมดีเกินคาดหมาย เธอดีใจมาก แล้วผมก็เล่าเรื่องงานที่ทำอยู่ให้เธอฟัง เธอบอกว่า ผมทอดทิ้งเธอโดยเอาเรื่องงานมาอ้าง ผมบอกว่า ผมไม่มีเจตนาอย่างนั้น และสัญญาว่า จะใช้เวลาอยู่กับเธอและลูกๆ ให้มากขึ้น ผมรู้สึกสบายใจมาก เมื่อพูดกับเธอรู้เรื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ มีแต่เถียงกัน ทะเลาะกัน เดี๋ยวนี้ เราเข้าใจกันดี เวลาผมอยู่กับบ้านผมสบายใจมากกว่าแต่ก่อน ผมคิดว่า ยังมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขอีก แต่ว่าคงจะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร ภรรยาของผมก็มีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม”

จิตแพทย์พูดว่า “ผมคิดว่า คุณอาจจะมีความสุขมากขึ้นไปอีก ล่าคุณเข้าใจความคิด และพฤติกรรมของคุณอย่างแจ่มแจ้ง ในทุกๆ เรื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ คุณไม่เคยทราบว่า อะไรทำให้คุณเป็นคนอย่างนี้”

ผู้ป่วยพยักหน้า แล้วพูดว่า “ครับ ผมก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ก่อนนี้ ผมมองดูสิ่งต่างๆ หรือปัญหาของผม ตามความรู้สึกของผมเอง ไม่ได้มองในสภาวะความเป็นจริง ผมจึงมีปัญหาอยู่เรื่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภรรยา แต่ก่อน ผมมองด้านเดียว เมื่อทะเลาะกับภรรยา ผมจะต้องดื้อรั้นแบบหัวชนฝา คิดว่า ผมเป็นฝ่ายถูกอยู่เสมอ ภรรยามาก้าวก่ายในเรื่องงานของผม แต่เดี๋ยวนี้ เราเข้าใจกันดีขึ้น ผมมีความสุขทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน ก่อนนี้ผมทำงานซังกะตายไปวันๆ เมื่อกลับบ้าน ก็ต้องทะเลาะกับภรรยาอีก ผมจึงทั้งเบื่อ ทั้งเซ็ง ไม่อยากทำอะไรเลย เดี่ยวนี้ ภรรยาเข้าใจผมดีในวันสุดสัปดาห์บางครั้งผมก็ไปกินเหล้ากับ เพื่อนๆ บ้าง เธอก็ไม่ว่าอะไร เพราะผมอยู่บ้านมากกว่าแต่ก่อน”

จิตแพทย์จึงพูดว่า “ตอนนี้ คุณสบายขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ยังมีอีกบางเรื่อง ที่คุณอาจจะต้องแก้ไข คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?”

ผู้ป่วยยิ้ม และตอบว่า “ผมก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน อาการเจ็บป่วยไม่สบายต่างๆ ก็หายไปหมดแล้ว เรื่องเพศ ผมก็ประสบความสำเร็จมากขึ้น ผมคิดว่า ผมสบายดีมาก”

จิตแพทย์จึงถามว่า “แล้วเรื่องทื่คุณจะสามารถยืนบนขาของตนเองได้ล่ะ คุณคิดถึงเรื่องนี้อย่างไร?”
ผู้ป่วยตอบว่า “ผมยังไม่ได้แก้ไขอะไรในเรื่องนี้ ผมยอมรับว่า ยังมีปัญหาอยู่ ผมจะต้องแก้ไขปัญหานี้อีก ถ้าคุณหมอเต็มใจช่วยเหลือผม แต่อย่างไรก็ตาม เดี๋ยวนี้ ผมสบายมากแล้ว สำหรับปัญหาที่เหลืออยู่ ก็จะพยายามแก้ไขต่อไปอีก เพราะอาจจะทำให้ผมไม่สบายอีกก็ได้”

การที่จะสังเกตว่า คนไข้ดีขึ้นหรือไม่นั้น ให้ดูจากการที่คนไข้สามารถปรับตัวได้ดีขึ้น มีชีวิตในลักษณะก่อประโยชน์ และอาการของโรคทุเลาหรือหายไป

การที่คนไข้รู้พฤติกรรมของตนเอง หรือ Insight นั้น ไม่ได้หมายความว่า คนไข้จะดีขึ้นเสมอไป ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่อีกหลายอย่าง

ประการแรก คือ คนไข้มีความจริงใจ ที่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองซึ่งเนื่องมาจากอาการที่เขาไม่สบาย ที่เรียกว่า Ego-Alien ทำให้คนไข้ต้องทนทุกข์ทรมาน

ประการที่สอง คือ ผู้ป่วยไม่สามารถแสวงหาความสุขได้ตามที่ควรจะเป็น และไม่สามารถทำงานได้ตามความสามารถที่มีอยู่

นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวว่า ตนมีความผิดปกติในบุคลิกภาพ ก็จะเป็นแรงผลักดันที่มีอิทธิพล ในการทำให้ผู้ป่วยต้องการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของตนเองด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเหตุผลชั้นต้นเท่านั้น ในการรักษาคนไข้จริงๆ แล้ว มักมีปัญหาสลับซับซ้อนกว่านี้ ตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ต้องพึ่งคนอื่นเสมอ หรือ Compul¬sive Dependency เป็นต้น การที่คนไข้ “เข้าใจ” ตนเอง หรือ Insight จะไม่ทำให้คนไข้ “ยอม” ละทิ้งพฤติกรรมของตนได้ คนไข้ยังจะ “ดื้อดึง” ใช้พฤติกรรมเดิม ซึ่งเป็น Defenses ต่อไปอีก คนไข้จะยังรู้สึกว่าตนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งจะทำให้คนไข้รู้สึกเสียหน้า และเสียความภูมิใจในตัวเอง นักจิตบำบัดจะต้องศึกษาพิจารณาสาเหตุของเรื่องเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ นักจิตบำบัดยังจะต้องพิจารณาศึกษาเหตุการณ์ในปัจจุบัน ที่ทำให้คนไข้เกิดความรู้สึกดังกล่าว

ในกรณีเช่นนี้ นักจิตบำบัดจะต้องศึกษาประวัติคนไข้ ตั้งแต่เด็กเป็นต้นมา โดยศึกษาความสัมพันธ์กับ Authorities เพื่อที่จะหาทางแก้ไขทัศนคติ ที่คนไข้มีต่อบุคคลดังกล่าว แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีความรู้สึกว่า ตนช่วยตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่นตลอดไปแล้ว ผู้ป่วยจะไม่สามารถละทิ้ง Defenses อันเดิมได้ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกถึงความผิดปกติของตนเอง แต่ว่าเป็นการรู้ไม่ลึกซึ้ง รวมทั้งมี Secondary Gain อีกด้วย ผู้ป่วยจึงใช้แต่เหตุผลเข้าข้างตัวเอง หรือ Rationalization เพราะฉะนั้น นักจิตบำบัดจะต้องทราบล่วงหน้าว่า จะมีคนไข้อยู่จำนวนหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมี Insight แล้ว ก็ยังชอบหวนกลับไปใช้ Defenses อันเดิมต่อไปจนตลอดชีวิต !!!

Working Through นี้ เป็นงานหนักที่สุด สำหรับการทำจิตบำบัดชั้นสูง การที่จะให้คนไข้เอาชนะ Conflicts และเลิกใช้ Defenses เก่าๆ ที่เคยใช้มาเป็นเวลานาน รวมทั้ง เอาชนะความบอบช้ำทางจิตใจ หรือ Psychic Trauma ความหวาดกลัวในวัยเด็ก ความเกรี้ยวกราดหยาบกระด้างของ Superego จึงเป็นสิ่งที่ใช้เวลานานมาก ในบางกรณี อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ

เมื่อคนไข้เริ่มดีขึ้น เราจะสังเกตได้จากการที่ Ego มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีขึ้น มีความเคารพนับถือตนเอง หรือ Self-Respect มีความกล้าหาญ กล้าแสดงออก และป้องกันสิทธิของตนเอง หรือ Assertiveness มีความภูมิใจในตัวเอง หรือ Self-Esteem และประการสุดท้าย คือ เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง หรือ Self-Confidence เมื่อคนไข้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ก็จะทำให้สามารถต่อสู้กับปัญหาในชีวิตประจำวันได้

ขบวนการเจริญเติบโตของ Ego ในการทำจิตบำบัดชั้นสูงนี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ประการแรกจะต้องยินยอมให้ Ego ค่อยๆ ละทิ้ง Defenses เดิมทีละน้อยๆ ในบางคราว ก็ต้องยอมให้กลับไปใช้ Defenses เก่าๆ บ้าง คนไข้ในระยะนี้จะรู้สึกว่าตนเอง อ่อนแอ ท้อแท้ และหวาดกลัว เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ Conflicts ดั้งเดิมของตน การที่นักจิตบำบัดช่วยให้คนไข้เข้าใจแรงผลักดัน ในระดับจิตไร้สำนึกของคนไข้นั้น มักจะทำให้คนไข้ เกิดความวิตกกังวลมาก และคนไข้หลายๆ คน จะ ‘ทน” ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะว่า คนไข้ ได้พยายาม “เก็บกด” แรงผลักดันเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าโผล่ขึ้นมาในระดับที่รู้สึกตัวแล้ว Ego จะถือว่าเป็น “สภาวะอันตราย” จึงทำให้เกิด Signal Anxiety ขึ้นมา เมื่อเกิดความวิตกกังวลดังกล่าว คนไข้มักจะคิดว่า ไม่ใช่ “ของตน” (Ego-Alien) เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่หน้าที่ของ Ego ที่จะจัดการกับเรื่องนี้ นักจิตบำบัดต่างหากที่จะต้องรับผิดชอบ

เพราะฉะนั้น ในการรักษาระยะนี้ นักจิตบำบัดจะต้องค่อยๆ อธิบายให้คนไข้ทราบ ในระดับที่รู้สึกตัวหรือ Conscious Ego ว่า อาการวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่ถูก “เก็บกด” เอาไว้ ได้โผล่ขึ้นมาสู่ระดับที่รู้สึกตัว แต่ผู้ป่วยจะต่อต้านการอธิบายในเรื่องนี้เสมอ เพราะผู้ป่วยมีความรู้สึกว่า นักจิตบำบัดเป็น Authorities ผู้ป่วยจึงต่อต้านเช่นเดียวกับเมื่อตอนเป็นเด็กที่ผู้ป่วยเคยต่อต้านบิดามารดา

นักจิตบำบัดจะต้องค่อยๆ ประคับประคอง Ego ของผู้ป่วย ให้แข็งแรงขึ้น จนกระทั่งสามารถจะเข้าใจความแตกต่าง ระหว่างความรู้สึกตามความคิดเห็นของคนไข้ (ซึ่งถูกประสบการณ์ในอดีต “บิดเบือน” ไป) กับสภาวะความเป็นจริงของโลกภายนอกในปัจจุบัน รวมทั้ง ช่วยให้คนไข้ “เข้าใจ” ความกลัวของตน ในระดับจิตไร้สำนึกด้วย ความกลัวที่กล่าวมานี้ มีสาเหตุมาจากมนุษยสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ หรือ Authorities ในวัยเด็ก ซึ่งส่วนมากได้แก่บิดามารดา และญาติใกล้ชิดที่คลุกคลีกับคนไข้ เมื่อสมัยเป็นเด็กเล็กๆ

นักจิตบำบัดจะต้องค่อยๆ แก้ไขมนุษยสัมพันธ์ที่ผิดไปนี้ โดยอาศัยมนุษยสัมพันธ์ ระหว่างคนไข้ กับนักจิตบำบัดเป็นเครื่องมือ ส่วนปัญหาที่ว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนหายจากโรคได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง แต่ Franz Alexander (1948) เรียกสิ่งนี้ว่า Corrective Emotional Experience

จากประสบการณ์ เราพบว่า มนุษยสัมพันธ์ที่ดีและถูกต้อง ระหว่างผู้ป่วยกับนักจิตบำบัด จะทำให้เกิดสภาวะสมดุล ระหว่าง Ego ของผู้ป่วย กับ Superego ที่เกรี้ยวกราดหยาบกระด้าง และ Psychic Traumas ต่างๆ ในวัยเด็กด้วย ในที่สุด ผู้ป่วยก็จะมี Ego ที่แข็งแกร่งขึ้น ความเกรี้ยวกราดหยาบกระด้างของ Superego จะอ่อนตัวลงสู่ระดับที่ควรจะเป็น Psychic Traumas ต่างๆ ก็จะลดอิทธิพลต่อจิตใจลงไปด้วย Ego ก็จะสามารถทำหน้าที่ได้เหมือนคนปกติ นักจิตบำบัดบางท่านเชื่อว่า การที่คนไข้ดีขึ้นนี้ เนื่องมาจากคนไข้ มี Identification กับนักจิตบำบัด

จากประสบการณ์ เราพบว่า มนุษยสัมพันธ์ระหว่างนักจิตบำบัดกับคนไข้ ไม่ใช่จะเป็นสิ่งราบรื่นเสมอไป คนไข้บางคนยัง “กลัว” นักจิตบำบัด ทั้งระดับที่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว คนไข้บางคนอาจเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจจากนักจิตบำบัดมากเกินไป (Over-Demanding) บางคนอาจโกรธเคือง หรือโกรธแค้นนักจิตบำบัด บางรายเรียกร้องความรัก หรืออาจเลยเถิดไป จนต้องการมีเพศสัมพันธ์กับนักจิตบำบัดฯลฯ

สิ่งเหล่านี้เป็นการรื้อฟื้น “ความทรงจำ” ในอดีตของคนไข้ ซึ่งคนไข้เคยมีความรู้สึกเช่นนี้ กับบิดามารดา และญาติใกล้ชิด ที่เคยคลุกคลีกันมา ในทางปฏิบัตินั้น นักจิตบำบัดมักจะประสบปัญหามากมาย เพราะว่า ถึงแม้นักจิตบำบัดจะแสดงความจริงใจ “อย่างยิ่ง” ก็ตาม แต่เนื่องจากประสบการณ์ในวัยเด็กของคนไข้ ยังฝังลึก หรือมีรากลงมากในจิตใจของคนไข้ จึงทำให้คนไข้ “ไม่ยอม” ไว้วางใจใครง่ายๆ คนไข้จึง “ต้องทดสอบ” ความจริงใจ ของนักจิตบำบัด “ซ้ำแล้วซํ้าอีก” จนบางครั้งทำให้นักจิตบำบัดขาดความอดทน !!

วิธีแก้ไขเรื่องการที่คนไข้ “ต้องทดสอบ” ความจริงใจของนักจิตบำบัดนี้ ทำได้ยากมาก และต้องการความอดทนอย่างสูง ถ้านักจิตบำบัดแสดง “ความจริงใจ” มากเกินไป เช่น พยายามแสดงความรัก สนใจ ห่วงใย ดูแลเอาใจใส่ ฯลฯ เกินความพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมี Countertransference ในทางบวกแล้ว คนไข้จะรู้สึกว่าตนถูกนักจิตบำบัด “ยั่วยวน” และอาจคิดต่อไปว่า จะต้องถูกลงโทษในภายหลัง หรือจะต้องเป็นหนี้บุญคุณนักจิตบำบัดไปตลอดชีวิต ไม่อาจถอนตัวได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้านักจิตบำบัดแสดงความจริงใจ “น้อยเกินไป” จะทำให้คนไข้รู้สึกว่า นักจิตบำบัดเหมือนกับ Authorities ในวัยเด็ก เพราะฉะนั้น คนไข้ต้องระมัดระวังตัว จะไว้วางใจมากไม่ได้ ในบางราย อาจจะถึงขั้นหมดความไว้วางใจนักจิตบำบัดเลยก็ได้

ตามปกตินั้น ผู้ป่วยจะแสดงวิธีการที่เขาเคยกระทำกับคนอื่นๆ มา นำมาใช้กับนักจิตบำบัดด้วย ฟรอยด์ เรียกพฤติกรรมอย่างนี้ว่า Repetition Compulsion ความหมายว่า เขาเคยกระทำกับบุคคลอื่นๆ อย่างไร เขาก็จะกระทำกับนักจิตบำบัดเช่นเดียวกัน พฤติกรรมเช่นนี้ จะทำให้นักจิตบำบัดสามารถศึกษามนุษยสัมพันธ์ของผู้ป่วยได้ง่ายเข้า

ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าแสดงความใกล้ชิดกับนักจิตบำบัดมากเกินไป ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยกลัวว่าจะต้องผิดหวัง หรือเสียใจ เหมือนกับที่ผู้ป่วยเคยประสบมาในวัยเด็ก การที่นักจิตบำบัดจะรักษาผู้ป่วยประเภทนี้ได้จะต้องเป็น “นักจิตวิเคราะห์” หรือ “จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์” ที่มีความรู้และเข้าใจทฤษฎีจิตวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ เท่านั้น นักจิตบำบัดที่ไม่มีคุณลักษณะดังกล่าว จะรักษาคนไข้ประเภทนี้ไม่ได้ ! ! ทั้งนี้ ก็เพราะว่า การทำจิตบำบัดในคนไข้ประเภทนี้ จะต้องแก้ไขปัญหาผ่านทาง Transference Neurosis เพียงทางเดียวเท่านั้น จะแก้ไขโดยวิธีอื่นๆ ไม่ได้! !

การรักษาคนไข้ประเภทนี้ ต้องใช้เวลานานหลายเดือน หรือหลายปี จึงจะสามารถเอาชนะ Resistances ของคนไข้ได้ นอกจากนี้การที่นักจิตบำบัดมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ได้นั้น จะทำให้คนไข้ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ท่าทีของตนที่มีต่อนักจิตบำบัดนั้น เป็นสิ่งที่ “ไม่ถูกต้อง” และ “ไม่มีเหตุผล” คนไข้จะเรียนรู้ว่าตนเองได้เอา “อคติ” และ “ท่าที” ที่ตนมีอยู่กับบิดามารดา หรือญาติใกล้ชิดในวัยเด็ก (ซึ่งไม่ถูกต้อง) มา “ถ่ายทอด” กับนักจิตบำบัด เพราะฉะนั้น นักจิตบำบัดจะต้องค่อยๆ อธิบายให้คนไข้เขาใจเรื่องเหล่านี้ ทีละเล็ก ทีละน้อย ด้วยความอดทนและมานะพยายามอย่างยิ่ง บนรากฐานของความจริงใจ

เมื่อคนไข้มีความไว้วางใจนักจิตบำบัดอย่างสนิทใจแล้ว คนไข้ก็จะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด พร้อมทั้งสามารถเล่าให้นักจิตบำบัดฟัง “อย่างเปิดอกและเสรี” โดยไม่ต้องคอยระมัดระวัง หรือหวาดกลัวนักจิตบำบัดอีกต่อไป

ประสบการณ์เช่นนี้ เป็นประสบการณ์ “พิเศษ” สำหรับคนไข้ เพราะว่า เขาไม่เคยกล้าพูดอย่าง “อิสระเสรีและหมดเปลือก” กับผู้ใดมาก่อน นักจิตบำบัดจะทำหน้าที่คอยกระตุ้นให้คนไข้พูดออกมา โดยที่นักจิตบำบัดจะไม่ “แสดงความคิดเห็นส่วนตัว” คือ “ไม่สนับสนุน” และในขณะเดียวกันก็ “ไม่ดุด่าว่ากล่าว” การกระทำเช่นนี้ทำให้ผู้ป่วยทราบว่า นักจิตบำบัดจะทำตัว “เป็นกลาง” เสมอ ไม่เหมือนกับบุคคลอื่นๆ ที่ผู้ป่วยเคยมีประสบการณ์ด้วย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

เมื่อพบกับประสบการณ์เช่นนี้ ผู้ป่วยจะสามารถเล่าให้นักจิตบำบัดฟัง ในทุกแง่ ทุกมุม ทำให้ความปรารถนาและ Conflicts ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวัยเด็กของผู้ป่วย ได้มีโอกาสโผล่ขึ้นมาในระดับที่รู้สึกตัว แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ ทำให้คนไข้มีความวิตกกังวล นักจิตบำบัด จะต้องใช้ความพยายามอย่างประณีตกับผู้ป่วยโดยการใช้ Interpretation ในลักษณะที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ จึงจะเอาชนะอุปสรรคอันนี้ได้ มิฉะนั้น จะเกิดอันตราย ทั้งต่อคนไข้และนักจิตบำบัดเองด้วย

ขอเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งว่า นักจิตบำบัดที่จะทำการรักษาชนิดนี้ได้ จะต้องเป็นนักจิตวิเคราะห์ หรือจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ที่มีความรู้และประสบการณ์อย่างดีเยี่ยม ในเรื่องทฤษฎีจิตวิเคราะห์เท่านั้น

เมื่อผู้ป่วยมีประสบการณ์มากขึ้น ผู้ป่วยจะเรียนรู้ว่า การที่ตนแสดงความโกรธ ก้าวร้าวนักจิตบำบัดนั้น นักจิตบำบัดไม่ได้แสดงอารมณ์โต้ตอบผู้ป่วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ป่วยจะสามารถทนต่อความวิตกกังวล ที่เกิดจากแรงผลักดัน ภายใต้อิทธิพลของจิตไร้สำนึกได้มากขึ้นเรื่อยๆ ระยะต่อมา ผู้ป่วยจะสามารถทนต่อความผิดหวัง และความไม่สบายใจต่างๆ มากขึ้นไปเรื่อยๆ การที่ผู้ป่วยมีความอดทนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจมากขึ้น มีความหวังมากขึ้น และพอใจในวิถีชีวิตใหม่ของฅตเองมากขึ้นด้วย ในที่สุด ผู้ป่วยจะ “สามารถทน” ต่อความปรารถนา และ Conflicts ในวัยเด็กได้ เช่นเดียวกับคน “ธรรมดา”

ในบางครั้ง Sexual Wishes และความผิดปกติทางเพศชนิดอื่นๆ รวมทั้งความก้าวร้าว ความโกรธแค้น ความปรารถนาร้ายต่อบิดามารดาในวัยเด็ก ฯลฯ อาจจะโผล่ขึ้นมาสู่ระดับที่ “รู้สึกตัว” รวดเร็วเกินไป เมื่อเป็นเช่นนี้ Ego ของผู้ป่วย จะถือว่าเป็น “สภาวะอันตราย” จึงทำให้เกิดความวิตกกังวลและความรู้สึกว่า ได้กระทำผิดขึ้น ความรู้สึกดังกล่าว อาจจะมีความรุนแรงสูงจนคนไข้ “ทนไม่ได้” เมื่อเป็นเช่นนี้ คนไข้ก็จะหวนกลับไปใช้ Defenses เก่าๆ อีก และอาจจะต่อต้าน Insight ที่ได้เรียนรู้มาจากนักจิตบำบัดอีก

เราจะสังเกตสิ่งนี้ได้ จากการที่คนไข้แสดงการต่อต้าน ความโกรธ และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งในชั่วโมงการรักษา และนอกชั่วโมงการรักษาด้วย คนไข้บางคน อาจจะดูหมิ่นความสามารถของนักจิตบำบัด ในรายที่เป็นมากๆ อาจจะตั้งตัวเป็นครู หรือคู่แข่งกับนักจิตบำบัดอย่างเปิดเผยเลยก็ได้

ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่แสดงพฤติกรรมเช่นนี้ แต่จะแสดงออกในรูปของความฝัน หรือจินตนาการ ในบางราย ความโกรธแค้นของผู้ป่วย อาจจะถูกปิดบัง หรือซ่อนเร้นไว้ แต่แปรรูปมาแสดงออกในรูปของ Sexual Impulse แทนก็ได้ ซึ่งถ้านักจิตบำบัดไม่เข้าใจดีพอ ก็จะเป็นผลเสียหายต่อการรักษา

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะโกรธแค้น และต่อต้านนักจิตบำบัดก็ตาม ในขณะเดียวกัน ก็ยังต้องการความรักและความช่วยเหลือจากนักจิตบำบัดอยู่เสมอ เมื่อมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อนักจิตบำบัดเช่นนี้ จึงทำให้ผู้ป่วยหวาดกลัวว่าจะถูก “แก้แค้น” หรือ “ทอดทิ้ง” เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ป่วยจะหันกลับไปใช้ Resistances ในการแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น พยายามปลีกตัวไม่ยอมสนิทสนมกับนักจิตบำบัด ไม่ยอมพูดกับนักจิตบำบัด ลืมเวลารักษา มาสาย และบางราย อาจจะบอกเลิกการรักษาเลยก็ได้

อันตรายอีกประการหนึ่งก็คือ Acting out ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่คนไข้ไม่ได้พูด หรือระบายความรู้สึกที่ลึกๆ ในจิตใจออกมา การที่คนไข้มี Acting out นั้น ถึงแม้จะทำให้คนไข้รู้สึกสบายขึ้นบ้าง แต่ก็เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ ในทางก่อประโยชน์ ผู้ป่วยส่วนมากจะ “ไม่รู้สึกตัว” ว่า ตนได้กระทำอะไรลงไป ถ้านักจิตบำบัด ไม่ทราบว่า พฤติกรรมเหล่านี้คือ Acting out ก็จะทำให้การรักษาล้มเหลว หน้าที่สำคัญของนักจิตบำบัดก็คือ ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจในพฤติกรรมของเขาเอง และสอนให้คนไข้พูด หรือระบายความรู้สึกที่อยู่ลึกๆ ทุกอย่างออกมาแทน Acting out

ถ้านักจิตบำบัดสามารถทำให้คนไข้เข้าใจพฤติกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว คนไข้ก็จะคอยจ้องสังเกตพฤติกรรมของนักจิตบำบัดบ้าง และถ้านักจิตบำบัดมี Countertransferences ในลักษณะที่เป็นอันตรายแล้ว คนไข้จะถือโอกาส “โจมตี” นักจิตบำบัดทันที การกระทำของคนไข้ดังกล่าวนี้ ทำให้นักจิตบำบัด “อ่อนหัด” เป็นจำนวนมาก ประสบกับความล้มเหลว

นอกจากนี้ คนไข้หลายคนจะยังรู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง แต่ความรู้สึกเช่นนี้ มักจะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก ซึ่งถ้านักจิตบำบัดทอดทิ้งหรือเลิกรักษา จะทำให้คนไข้ “หมดโอกาส” ที่จะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับคนทั่วไป

จากประสบการณ์ เราพบว่าคนไข้มักจะมีความรู้สึกต่อนักจิตบำบัด ในลักษณะที่ขัดแย้งกัน บางครั้งผู้ป่วยต้องการความรัก และการยกย่องสรรเสริญจากนักจิตบำบัด แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกลียดและอยากทำลายนักจิตบำบัดด้วย (เช่นเดียวกับเด็กเล็กๆ ที่มีความรู้สึกต่อบิดามารดา) ระยะนี้ เป็นระยะที่นักจิตบำบัดจะต้องใช้ “ความอดทน” มากเป็นพิเศษ เพราะว่า ถ้านักจิตบำบัดควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ เช่น โกรธเกลียดคนไข้ เป็นต้น จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งต่อนักจิตบำบัดเองและผู้ป่วยด้วย

งานของนักจิตบำบัดในระยะนี้ คือ ต้องพยายามอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่า ความคิด ความรู้สึก และจินตนาการในอดีตของคนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก กำลังถูก “รื้อฟื้น” ขึ้นมา และ “ถ่ายทอด” มายังนักจิตบำบัด การที่นักจิตบำบัดจะทำเช่นนี้ได้ ต้องอาศัย Transference Relationship เป็นเครื่องมือ เมื่อสามารถอธิบายให้คนไข้เข้าใจได้แล้ว นักจิต¬บำบัดจะต้องช่วยให้คนไข้ “ปลดปล่อย” ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม จินตนาการ และประสบการณ์ในอดีต ซึ่งแต่ก่อนนี้เคยถูก “เก็บกด” ไว้ ให้มีโอกาสโผล่ขึ้นมาในระดับ ที่รู้สึกตัว เมื่อผู้ป่วยค่อยๆ เข้าใจว่า ตนเองมีความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม และทัศนคติต่อนักจิตบำบัด “ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง” แล้ว ผู้ป่วยก็จะไว้วางใจนักจิตบำบัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะสามารถ “พูดหรือระบาย” ความรู้สึกที่มีอยู่ลึกๆ ภายในจิตใจออกมา ได้โดยสะดวกปราศจากอุปสรรค ซึ่งแต่ก่อนนี้ ผู้ป่วยไม่สามารถจะทำได้ เพราะยังไม่ไว้วางใจนักจิตบำบัดเพียงพอ

ในที่สุด ผู้ป่วยจะเข้าใจ “อย่างแจ่มแจ้ง” ว่า การที่คนมีความคิด ความรู้สึก ฯลฯ ต่อนักจิตบำบัดในลักษณะดังกล่าวนั้น เป็นเพราะว่าคนเคยมีความคิด ความรู้สึก ฯลฯ อย่างเดียวกันนี้ กับบิดามารดา หรือบุคคลใกล้ชิดในวัยเด็ก

เมื่อผู้ป่วยเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดีแล้ว ผู้ป่วยก็จะเข้าใจนักจิตบำบัดเพิ่มขึ้นไปอีก พร้อมกับเรียนรู้ว่า นักจิตบำบัด ไม่ใช่ บุคคล “ที่เคย” ทำให้ผู้ป่วย ชอกช้ำใจ” มาก่อน หมายความว่า ผู้ป่วยเข้าใจนักจิตบำบัดตามสภาวะความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผู้ป่วย 2 ประการ คือ ประการแรก ผู้ป่วยเข้าใจแจ่มแจ้งว่า ความคิด ความรู้สึก จินตนาการ อารมณ์ และพฤติกรรมของตน ที่ “เคย” มีต่อบุคคลทั่วไปนั้น “ไม่ถูกต้อง” หรือ “ไม่ตรง” กับสภาวะความเป็นจริง ประการที่สอง คือ ผู้ป่วยสามารถ “ปรับตัว” ให้เข้ากับคนทั่วไปดีขึ้น เพราะว่าเข้าใจบุคคลและสิ่งแวดล้อมถูกต้องตาม “สภาวะ ความเป็นจริง” มากขึ้นกว่าเดิม (แต่ก่อนนี้ผู้ป่วยมอง “โลก” และเข้าใจบุคคลอื่นๆ ผิดไป เพราะว่าประสบการณ์ในวัยเด็กของผู้ป่วย “ไม่ถูกต้อง” จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจ “โลก” และบุคคลอื่น ๆ “บิดเบือน” ไปตามความรู้สึกของตน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากในวัยเด็ก)

นักจิตวิเคราะห์และนักจิตบำบัดชนิดที่อิงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ถือว่า Transference เป็น “หัวใจ” ของการรักษา ซึ่งจะได้อธิบายให้ท่านผู้อ่านทราบดังต่อไปนี้

การที่ผู้ป่วยสามารถเข้าใจสิ่งซึ่ง “ถูกเก็บกด” เอาไว้ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กนั้น ไม่มีผลเพียงพอที่จะทำให้หายป่วย ในขณะที่ได้รับการรักษาจนถึงขณะนั้นนี้ สิ่งที่ “ถูกเก็บกด” เอาไว้ อาจจะ “โผล่” ขึ้นมา ในระดับที่ผู้ป่วย “รู้สึกตัว” ก็จริง แต่ผู้ป่วยจะยังไม่สามารถเข้าใจ “ความหมาย” ของสิ่งเหล่านี้ได้ การที่มี Transference Relationship เกิดขึ้นกับนัก จิตบำบัดนั้น จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัว และเข้าใจความหมายของสิ่งที่ “ถูกเก็บกด” ได้ โดยอาศัยนักจิตบำบัดเป็นผู้อธิบายให้ทราบ และผู้ป่วยมีความรู้สึกเหล่านี้ “เกิดขึ้นมาจริงๆ” ในความสัมพันธ์กับนักจิตบำบัดเท่านั้น หมายความว่า ผู้ป่วยจะต้องมีความรู้สึก “เกิดขึ้นมาจริงๆ กับนักจิตบำบัดเสียก่อน” จึงจะสามารถ “เข้าใจ” ความรู้สึกของตนได้ การที่ผู้ป่วยมีความรู้สึก “จริงๆ” กับนักจิตบำบัดนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มี Transferences

นอกจากนี้ Transferences ยังอาจใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างอื่นอีก เช่น ใช้เป็นเครื่องมือในการสอนให้ผู้ป่วยทราบว่า เขาสามารถพูดและแสดงอารมณ์ได้ทุกอย่าง โดยไม่มีผล “กระทบกระเทือน” ต่อจิตใจของผู้ป่วยมาก เหมือนเมื่อก่อนได้รับการรักษา ประสบการณ์เช่นนี้เป็นกรณี “พิเศษ” และมีได้เฉพาะในความสัมพันธ์กับนักจิตบำบัดเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สามารถมีความรู้สึกเช่นนี้กับบุคคลที่เป็น “Authorities” ซึ่งผู้ป่วยเคยมีประสบการณ์ด้วยมาก่อน นักจิตบำบัดไม่เคยดุด่าว่ากล่าว หรือวิพากวิจารณ์ผู้ป่วยในทางเสียหาย ไม่แสดงความโกรธ หรือประสงค์ร้าย รวมทั้งมี “ความอดทน” มากกว่าบุคคลอื่นๆ ที่ผู้ป่วยเคยเกี่ยวข้องด้วย ผู้ป่วยจึงรู้สึกประทับใจมาก เพราะว่าทุกครั้งที่ผู้ป่วยโจมตี หรือ แสดงความประสงค์ร้าย นักจิตบำบัดไม่ได้แสดงอารมณ์โต้ตอบ ติเตียน ทอดทิ้ง หรือลงโทษผู้ป่วย

ประสบการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ป่วยค่อยๆ “กล้า” เผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า “inner Drives” และประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็ก ระยะต่อมา ผู้ป่วยจะเรียนรู้ว่า ตนเองเข้าใจ “โลก” ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะว่าได้เอาประสบการณ์ของตนเองเป็น “เครื่องวัด” ซึ่งที่แท้จริงนั้น “โลก” ไม่ได้เป็นอย่างที่ตนเคยคิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ป่วยก็จะ “ปรับตัว” ให้เข้ากับ “โลก” ได้ดีกว่าเดิม

จากประสบการณ์ เราพบว่า ก่อนที่ผู้ป่วยจะมารับการรักษานั้น ผู้ป่วยเคยมอง “โลก” ตามอิทธิพลของแรงผลักดัน ในระดับจิตไร้สำนึก หรือ Unconscious Fantasies รวมทั้งความรู้สึกเลวร้าย เจ็บปวด ขมขื่น และชอกช้ำทางจิตใจ ซึ่งผู้ป่วยเคยมีประสบการณ์มา ในอดีต เมื่อผู้ป่วยสามารถเข้าใจเรื่องนี้ผ่านทาง Transference Situations ผู้ป่วยจะเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพไปในลักษณะที่สร้างสรรค์ เหมือนกับคน “ปกติ” ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่า นักจิตบำบัดนั้น มีลักษณะเหมือนกับเป็น “เพื่อน” มากกว่าเป็น “Authority”

นอกจากนี้ การที่นักจิตบำบัดเป็นผู้อดทน “ฟัง” ผู้ป่วยได้ทุกเรื่อง รวมทั้งยังแสดงท่าทีจริงใจกับผู้ป่วยด้วยนั้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า นักจิตบำบัด “ปกป้อง คุ้มครอง และอุ้มชู” ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วย “กล้าหาญ” พอที่จะพูดถึงความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ความทรงจำ และจินตนาการต่างๆ ในวัยเด็ก โดยที่ไม่ต้อง “หวาดกลัว” อะไรอีกต่อไป ซึ่งแต่ก่อนนี้ ผู้ป่วย “ไม่กล้า” ทำ

เมื่อผู้ป่วยเข้าใจ Unconscious Drives จำเหตุการณ์และประสบการณ์ในอดีตได้ ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวว่า การที่ตนเอง “เคย” เข้าใจโลกภายนอก และบุคคลอื่นๆ ตามความรู้สึกของตนเองนั้น “ไม่ได้หมายความว่า” โลกภายนอกและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง จะเป็นอย่างที่ผู้ป่วย “เคยคิดเอาไว้” ผู้ป่วยจะรู้สึกได้ด้วยตนเองว่า “ความวิตกกังวล” และความรู้สึกว่าได้ “กระทำ ผิด” นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ป่วย “สร้าง” ขึ้นมาเอง ไม่เกี่ยวข้องกับ “โลกภายนอก” แต่อย่างใด

เมื่อถึงตอนนี้ ผู้ป่วยจะสามารถพูดถึงประสบการณ์ในอดีตได้อย่าง “หมดเปลือก” พร้อมทั้งมีความรู้สึกว่านักจิตบำบัดเป็นบุคคลผู้เดียว ที่เข้าใจผู้ป่วยอย่างแท้จริง โดยไม่ตำหนิ ติเตียน หรือลงโทษผู้ป่วย ในเมื่อผู้ป่วยต้องเล่าถึงความเลวและความผิดของตน ผู้ป่วยจึง “ไว้ใจ” นักจิตบำบัดอย่างสนิท เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างนักจิตบำบัดกับผู้ป่วย เป็นไปเช่นนี้แล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีนี้ จะค่อยๆ แผ่ขยายไปยังบุคคลอื่นๆ ด้วย โดยอาศัยความสัมพันธ์กับนักจิตบำบัด เป็นจุดเริ่มต้น นอกจากนี้ Superego ที่เคยเกรี้ยวกราด หยาบกระด้าง ก็จะเปลี่ยนแปลงไป ในลักษณะที่นุ่มนวล และมีเหตุผลมากขึ้น รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของ Defenses ของผู้ป่วย ในลักษณะที่มีเหตุผล และก่อประโยชน์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ขบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยใช้ Identification กับนักจิตบำบัด

การที่ผู้ป่วยใช้ Identification กับนักจิตบำบัดนี้ ทำให้ Ego Strength ของผู้ป่วยเข้มแข็งขึ้นด้วย ทำให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวต่อสู้ความเครียด ความวิตกกังวล และความรู้สึกว่าได้กระทำผิดได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็จะละทิ้ง “วิธีการเดิม” ที่เคยใช้มาก่อน (หมายถึง Defenses ที่เคยใช้มาก่อนการรักษา) โดยหันกลับมาใช้ “ความรู้ใหม่” หรือ “insight” ที่ได้รับมาจากนักจิตบำบัดแทน

เมื่อมาถึงระยะนี้ นักจิตบำบัดจะต้องพยายามประคับประคอง Insight หรืออาจเรียกอย่างหนึ่งว่า “Reality” เอาไว้อย่างสม่ำเสมอ เพราะว่าผู้ป่วยจะนำไปทดลองใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะล้มเหลวได้บ้างเป็นธรรมดา เมื่อนักจิตบำบัดคอยประคับประคอง “Reality” ไว้เป็นเวลานานตามสมควรแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถนำ “ความรู้ใหม่” ไปใช้ได้ตลอดไป

เมื่อ Superego ที่เคยเกรี้ยวกราดหยาบกระด้างได้ลดความรุนแรงลง จนกลายเป็น Superego ที่อ่อนโยนและมีเหตุผลแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถ “ระบาย” ความโกรธแค้น อาฆาตมาดร้ายที่อยู่ลึกๆ ภายในจิตใจออกมาได้หมด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยยิ่งรู้สึกสบายใจมากขึ้นไปอีก และยังเข้าใจด้วยว่า ความรู้สึกเหล่านี้ เกิดจากประสบการณ์ในอดีตของผู้ป่วย ซึ่งตามความเป็นจริงนั้น “โลก” ไม่ได้มีความโหดร้ายทารุณมาก อย่างที่ผู้ป่วยเคยคิดไว้ เมื่อผู้ป่วยเข้าใจซึ้งเช่นนี้ จะทำให้ผู้ป่วย “กล้าหาญ” ที่จะทำอะไรใหม่ๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองได้ (โดยที่แต่ก่อนนี้ผู้ป่วยไม่ “กล้าหาญ” พอที่จะทำ)

เมื่อการรักษาดำเนินมาถึงตอนนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจจะมองเห็นว่า นักจิตบำบัดเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผู้ป่วย และผู้ป่วยอาจจะต้องพึ่งนักจิตบำบัดไปจนตลอดชีวิต! เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยบางคนจึงหาทางออกด้วยการกลับไปใช้ Defenses เดิมอีก ทำให้เกิดอาการ กำเริบขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้นักจิตบำบัดทอดทิ้งตน ตอนนี้เป็นตอนที่ยากที่สุดตอนหนึ่งของการรักษา

นักจิตบำบัดจะแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยใช้ Professional Relationship เป็นเครื่องมือ และการที่ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองว่า การที่ตนมีความปรารถนาเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นักจิตบำบัดทำตัวเป็นเพียง “สะพาน” นำไปสู่ความรู้ใหม่ว่า ตลอดชีวิตของคนเรานั้น เราไม่ได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เราปรารถนา แต่เราก็ “ควรจะพอใจ” ในสิ่งที่เรามีความสามารถหามาได้ การที่ผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักจิตบำบัดนั้น เป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ แต่ก็หาเพียงพอไม่ นักจิตบำบัดก็เหมือนบุคคลอื่นๆ ที่เป็นของนอกกาย เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว ผู้ป่วยก็จะมี Sense of Reality มากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด ก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งนักจิตบำบัดอีกต่อไป

การที่ผู้ป่วยสามารถแยกตัวเป็นอิสระแก่ตนเองได้เช่นนี้ ก็เพราะว่า นักจิตบำบัด ได้สร้าง Professional Relationship แก่คนไข้เท่านั้น ถ้าหากทำอะไรเกินเลยไป เช่น สนิทสนมเป็นเพื่อนรัก คู่รัก มีความสัมพันธ์ทางเพศ ฯลฯ ก็จะ “สลัด” คนไข้ไม่ออก จะเกิดปัญหาที่แก้ไม่ตก ติดตามมาอย่างมากมายและคาดไม่ถึง !!

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า