สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การเล่น/การเรียนของเด็กทารก

สำนวนพูดว่า “ทำอะไรเล่นๆ” มีความหมายโดยนัยว่า ทำกิจที่สำคัญอย่างเหลาะแหละ ไม่ตั้งใจหวังผลจริงจัง การเล่นที่จะกล่าวในที่นี้ไม่มีนัยเช่นนั้น ตรงกันข้ามกลับเป็นกิจที่มีสาระประโยชน์ มีความสำคัญยิ่งสำหรับพัฒนาคุณภาพมนุษย์ นั่นคือการเล่นของเด็กทารก ซึ่งมีความสำคัญและคุณประโยชน์แก่ชีวิต ไม่น้อยกว่าการเล่นของเด็กในวัยที่เติบโตกว่า เพราะว่าทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยทารกตอนปลาย คือประมาณ 2 ขวบกว่าๆ ก็ชอบเล่นเหมือนเด็กวัยอื่น และเป็นเครื่องหมายของความเจริญเติบโตสมวัยของตัวทารกที่ไม่รู้จักเล่นนั้นผู้ปกครองจะต้องรีบแก้ไขโดยด่วน เพราะนั่นเป็นสัญญาณบอกว่ามีพัฒนาการผิดธรรมชาติเกิดขึ้นแล้วการเรียนรู้ของเด็กทารก

ทารกมีประสาทสัมผัสพร้อมแล้วตั้งแต่แรกเกิด สิ่งแวดล้อมรอบตัวของทารก ตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดา ล้วนเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด ที่จะต้องสำรวจด้วยประสาทสัมผัสที่มี เพื่อ “เรียนรู้” ว่าจะต้องปรับปรุงตัวอย่างไรจึงจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ การเรียนรู้เหล่านี้เราผู้ผ่านพ้นวัยทารกมาแล้ว มองเห็นว่าเป็นภาระหนัก แต่ก็น่าประหลาดที่ทารกมักจะเรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลินและรู้สึกสนุก จนเราเรียกกิจกรรมนั้นๆ ว่า เป็นการเล่นของทารกก็ได้เพราะเหตุนี้ในวงการจิตวิทยาวัยทารกจึงมีคำกล่าวว่า “การเล่นคือการเรียน” เช่นเดียวกับวัยเด็กช่วงอื่นๆ ข้อความต่อไปนี้ได้เสนอวิถีทางการเล่น/เรียนของทารก ซึ่งกระทำด้วยองค์ประกอบทางกายด้านต่างๆ ตลอดทั้งเสนอว่าทารกได้ประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านั้นมากน้อยเพียงไร ตามความเหมาะสม

เล่น/เรียนด้วยสายตา
ประสาทสัมผัสของทารกประเภทที่สำคัญยิ่งก็คือ ประสาทสัมผัสการเห็น ถ้าจะเปรียบกับอวัยวะ สัมผัสอื่นๆ แล้ว อวัยวะสำหรับเห็นคือดวงตา นับว่าเด่นที่สุด ทั้งในด้านรับสัมผัส และปฏิบัติการเคลื่อนไหว หน้าที่อันซับซ้อนของดวงตาได้มีการวางรากฐานไว้แล้วตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การศึกษาถึงพัฒนาการของดวงตาตั้งแต่แรกเริ่ม จนนำมาใช้ได้ในโลกภายนอกแม้เพียงแรกเกิด ตามที่นักค้นคว้าเป็นอันมากได้รวบรวมไว้เป็นตำรานั้น ถ้าได้อ่านโดยพิสดารแล้วจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องอันน่าอัศจรรย์ใจ ราวกับเทพนิยายทีเดียว ในที่นี้จะนำมากล่าวถึงอย่างรวบรัดที่สุด พอเป็นการนำไปสู่วัตถุประสงค์ของหัวข้อนี้

เมื่อลูกน้อยปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ รูปร่างของลูกน้อยเหมือนเครื่องหมายจุลภาค (,) ที่เราใช้ในการเขียนหนังสือ คือมีปุ่มกลมประดุจหัวและมีหางเรียวต่อกันออกไป ทั้งนี้ยาว ราว 5 มิลลิเมตร พอถึงสัปดาห์ที่ 5 ภายในปุ่มมีสมองเล็กๆ เซลล์ของดวงตางอกติดกับสมองแสดงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างอวัยวะทั้งสองนี้มาตั้งแต่ต้น ก่อนที่ลูกน้อยจะมีแขนขา รูปร่างเป็นมนุษย์ (ซึ่งเพิ่งจะสมบูรณ์ในเดือนที่ 3 หลังจากปฏิสนธิ) ในระหว่างหลายสัปดาห์หลังจากเริ่มมีเซลล์ของดวงตา เซลล์เหล่านี้ขยายจำนวนขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ในระยะ 24 สัปดาห์นับแต่ปฏิสนธิเซลล์¬ประสาทตาของลูกน้อย มีประมาณ 10 ถึง 12 พันล้านเซลล์ มีใยประสาทนับล้านติดต่อกับสมอง ในสัปดาห์ที่ 24 นี้เองลูกน้อยลืมตาได้ กลอกตาทั้งสองไปทางเดียวพร้อมๆ กันได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีแสงสว่างให้มองเห็นอะไร ฉะนั้นเมื่อลูกน้อยออกจากครรภ์มองเห็นโลกเป็นครั้งแรก ก็คือแสงสว่าง; เป็นของแปลกใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยนี้เป็นเครื่องชี้บอกถึงความมีคุณภาพทางสมองอย่างหนึ่งของคน เราเคยทราบว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด (เช่น หมา แมว) ออกจากท้องแม่แล้วยังลืมตาไม่ได้ ต้องมีพัฒนาการในโลกภายนอกครรภ์อีกนานวันจึงลืมตาได้ อย่างไรก็ดี ทารกน้อยจะมีการพัฒนาอวัยวะต่างๆ เกี่ยวกับการเห็นอีกหลายสัปดาห์ จึงจะใช้ได้สมบูรณ์ดี

ทารกใช้สายตาเมื่อวันแรกๆ ของชีวิต ด้วยธรรมชาติแห่ง
ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ เริ่มด้วยจับจ้องดูสิ่งแวดล้อมตนด้วยสายตา (แม้ยังไม่เห็นกระจ่างชัดนักก็ตาม) แต่พัฒนาการของดวงตาก็ก้าวหน้าไปอย่างเร็วรุด มีการฝึกฝนกล้ามเนื้อตาให้ทำงานคล่องแคล่ว มีการนำผลจากการเห็นเข้าไปสู่สมอง เพื่อสร้างความรับรู้และกระตุ้นอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูหน้าคน มีหน้าของคุณแม่และผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด เป็นต้น มีผู้ได้ศึกษาค้นคว้ามากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอนำมาเสนอต่อไปนี้พอเป็นตัวอย่าง จากข้อเขียนของ ประมวญ ดิคคินสัน (2520, หน้า 130)

เพียเจท์ อ้างรายงานของ Preyer (1966) ว่า เขาสังเกตลูกของตนแล้วรายงานว่า ในวันแรกเกิดนั้นเอง ทารกมีสีหน้าแสดงความพอใจเมื่อเห็นแสงนวลๆ ของดวงไฟ และนับตั้งแต่วันที่ 6 หลังคลอด ทารกมองแสงสว่างที่เข้ามาทางหน้าต่าง เมื่อถูกอุ้มห่างออกมาก็หันศีรษะตามแสงสว่างนั้น

รายงานนี้แสดงให้เห็นได้ว่า แสงสว่างเป็นสิ่งเร้าที่น่าสนใจต่อทัศนาการครั้งแรก ในวันแรกๆ นั้น ตาทั้ง 2 ข้างยังทำงานไม่ประสานกันดี ยังไม่สามารถเพ่งสายตาทั้ง 2 ข้างไปสู่วัตถุเดียวกันได้ จนกระทั่งอายุเต็ม 2 เดือน ทารกแรกเกิดมองเห็นของใกล้ๆ ได้เพียง 7 ถึง 20 นิ้วฟุต ไกลจากนั้นก็พร่ามัว สีที่เห็นในวันแรกๆ นั้นดูเหมือนจะเป็นสีดำ ขาว และเทา ภายในสัปดาห์ที่ 3 ทารกจึงรู้จักแยกสี สีแรกที่เห็น คือสีน้ำเงิน แล้วก็สีแดง สีเหลือง สีเขียว ทารกมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วเต็มที่ ดวงตาแสวงหาแสงสว่าง เงาผู้คน วัตถุสีจัดๆ หรือวัตถุที่สะท้อนแสง การกระทำในวัยนี้พ้นระยะเวลาทำปฏิกิริยารีเฟลกซ์แล้ว กลายเป็นการกระทำด้วยเจตนา เพราะพัฒนาการของทารกเป็นไปตามแนวนี้ พ่อแม่ผู้ฉลาดจึงมักหาของที่มีสีสันสดสวยมาแขวนไว้เพื่อเป็นของเล่น (ด้วยสายตา) สำหรับทารกได้ สังเกตดูสี ทั้งสังเกตดูการแกว่งไกวของของเล่นนั้น เป็นการฝึกกล้ามเนื้อในดวงตา ที่จะกลอกไปมา หรือชำเลืองขึ้นลง เป็นการเรียนที่สำคัญยิ่งด้วยการเล่นของเล่น และมีรายงานการทดลองว่า ทารกจะเล่นกับของที่แขวนนี้ด้วยการยิ้มแย้มและออกเสียงพอใจ (Craig, 1980)

เล่น/เรียนด้วยมือ
มือเป็นอวัยวะสำคัญเพียงไรสำหรับคนวัยสูงกว่าทารก ไม่จำเป็นต้องพรรณนาในที่นี้ จะจำกัดการพิจารณาความสามารถที่ทารกอายุประมาณ 2 ขวบ ใช้มือเล่นและ/หรือเรียนรู้โลกของเขาอย่างไรบ้าง

เมื่อลูกน้อยอยู่ในครรภ์เพียง 3 เดือน ก็มีแขน มือ เท้า บริบูรณ์ครบเป็นตัวคน ซึ่งมีขนาดยาวราว 3 นิ้วฟุต พอถึง 5 เดือนก็รู้จักกำมือแน่นและออกแรงดิ้นได้ ความสามารถของนิ้วและมือมีติดมากับตัว ตั้งแต่แรกเกิด ครั้นเมื่อคลอดออกจากครรภ์แล้ว ก็ใช้มือทั้งสองได้ตามธรรมชาติแห่งปฏิกิริยารีเฟลกซ์ ต่อมากิจกรรมทุกชนิดทำด้วยแรงรีเฟลกซ์และโดยตั้งใจเจตนาทำ แม้กระทั่งในขณะทารกดูดนมแม่ ทารกจะใช้มือประคองเต้านม แล้วขยับนิ้วและฝ่ามือด้วยความเบิกบานใจ เราอาจ นับว่านี่เป็นการเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน หรือการเรียนรู้เพื่อบังคับกล้ามเนื้อและมือของทารกได้ทั้ง 2 แง่ เมื่อทารกรู้จักเรียนรู้เพื่อบังคับกล้ามเนื้อนิ้วมือและมือตามเจตนา นั่นแสดงว่าสมองของทารกกำลัง พัฒนา

เล่น/เรียนด้วยตาและมือ
ข้างต้นได้กล่าวถึงการเล่น/เรียนของทารกด้วยการใช้สายตาบ้างแล้ว ต่อไปนี้จะขยายความกล่าวถึงทารกใช้ตานำการเคลื่อนไหวทั้งหลาย รวมทั้งการใช้มือควบการใช้สายตา สถาบันเกเซลล์ได้ใช้เวลาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะเป็นเวลาถึง 2 ปี (1948-1950) ด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ครบครัน และด้วยการอุทิศตนของเกเซลล์และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เขาได้เผยแพร่งานค้นคว้าของเขา มีรายละเอียดพิสดารมากมาย แต่จะเลือกนำมาเสนอในที่นี้ตามความเหมาะสม

ทารกอายุ 12-16 สัปดาห์ (3-4 เดือน) ถูกอุ้มนั่งสบายใจแล้วเริ่มสำรวจโลกด้วยสายตาทันที ผู้ทดลองใช้ลูกบาศก์สีแดงขนาดหน้ากว้าง 1 นิ้วฟุตเป็นเครื่องทดลองครั้งแรกใช้ลูกบาศก์ลูกเดียว ต่อไปใช้หลายลูก เมื่อผู้ทดสอบวางลูกบาศก์บนโต๊ะ ทารกจ้องดูลูกบาศก์แล้วจ้องดูมือผู้ทดสอบแล้วเปลี่ยนมาจ้องหน้าผู้ทดสอบ แสดงให้เห็นว่า 3 สิ่งนี้แตกต่างกัน ครั้นแล้วทารกเอามือของตนวางบนโต๊ะ มองมือ มองลูกบาศก์แล้วกลับมองมืออีก วนเวียนไปมาเช่นนั้นพักใหญ่ ทำท่าเอื้อมมือไปยังลูกบาศก์แต่ยังแตะต้องไม่ได้ แกว่งแขนดูมือไปมาบนโต๊ะ ตามองลูกบาศก์แล้วมองมือ นั่นแสดงว่าความจงใจที่จะนำมือไปสู่วัตถุเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร พอทารกเจริญวัยถึงสัปดาห์ที่ 20 (5 เดือน) จึงมีความสามารถใช้แขนและมือเอื้อมไปตะปบลูกบาศก์ด้วยอุ้งมือนี้เป็นขั้นแรก ต่อไปใช้นิ้วกลางกับอุ้งมือ รู้จักเอาหัวแม่มือมาร่วมงาน ขั้นสุดท้ายใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้ ต้องใช้เวลาจนถึงอายุ 1 ปีเศษ จึงเกิดทักษะคล่องแคล่ว

พอรู้จักใช้มือหยิบของเล่น พรมแดนของการเล่นก็ขยายกว้างขวาง พ่อแม่ผู้เลี้ยงทารกที่ฉลาดจึงเลือกของเล่นให้ทารกหยิบฉวยเพื่อความเพลิดเพลิน พร้อมกับสนองการพัฒนาทางประสาทสัมผัสตา
หู อวัยวะ มือ และนิ้ว กับทั้งพัฒนาปัญญาการเรียนรู้ของทารกไปพร้อมๆ กัน มีรายงานจาการค้นคว้า การเล่นลูกบาศก์ของทารกว่า เมื่อทารกอายุประมาณ 7 เดือน ทารกหยิบลูกบาศก์มาถือไว้ได้แล้ว ก็ เปลี่ยนไปใส่มืออีกข้างหนึ่ง ซึ่งนับว่าทารกเริ่มรับรู้เกี่ยวกับระยะทางและวัตถุ มีความสัมพันธ์กับสถานที่และกับตนเองอย่างไร (ควรระลึกด้วยว่า วัยนี้ทารกเริ่มจะเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นคนคนหนึ่งแตกต่างจากสิ่งแวดล้อมที่เขาเห็น) เมื่อทารกอายุประมาณ 8 เดือน ได้ลูกบาศก์ถือไว้ลูกหนึ่งแล้วยังเอื้อมไปหยิบลูกที่สอง นี้แสดงความก้าวหน้าที่อาจเรียกว่า “มีแล้วก็อยากได้อีก” ประมาณอายุ 9 เดือน รู้จักเอาลูกบาศก์ ในมือทั้ง 2 ข้างๆ ละ 1 ลูก มาบรรจบกันประมาณ 10 เดือน ถ้าลูกบาศก์อยู่ในถ้วย ทารกจะรู้จักหยิบออก อายุ 11 เดือน เมื่อผู้ทดสอบเอาลูกบาศก์หลายลูกวางบนโต๊ะ ทารกจะรู้จักหยิบลูกหนึ่งออกมาวางไว้และหยิบลูกอื่นมาวางต่อกันไป นี้คือการเริ่มรู้จักว่าสิ่งของใดๆ ย่อมมีจำนวน เราจะสันนิษฐานว่าแนวคิดทางคณิตศาสตร์เริ่มที่จุดนี้ก็ได้ (ประมวญ ดิคคินสัน, 2520, หน้า 142-145)

เล่น/เรียนด้วยปาก
ใครๆ ย่อมสังเกตได้ว่า พอทารกหยิบอะไรได้สักอย่าง ก็มักเอาเข้าปาก แม้ว่าสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่อาหารที่เขารู้จักและคุ้นเคย บางอย่างก็เป็นวัตถุสิ่งของซึ่งกินไม่ได้ น่าคิดว่า ทารกทำเช่นนั้นเพื่ออะไร พวกเราย่อมทราบจนเจนใจว่า ปากนั้นใช้สำหรับเป็นอวัยวะมีหน้าที่รับอาหารเข้าไปเคี้ยว และเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในการใช้ออกเสียง นักจิตวิทยานับตั้งแต่รุ่นแรกๆ เช่น ซิกมันด์ ฟรอยด์ (1856-1939) เป็นต้น ได้เพิ่มความสำคัญแก่ปากขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ เป็นอวัยวะทำให้เกิดความสุข นักจิตวิทยารุ่นหลังมา ได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับหน้าที่และความสำคัญของปากต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ยิ่งพิสดารกว้างขวางออกไป มีรายงานการศึกษาค้นคว้าเป็นอันมากเกี่ยวกับเรื่องปาก แต่จะเลือกนำมาเสนอเฉพาะเรื่องที่ตรงกับความมุ่งหมายตามความเหมาะสม

ประมวญ ดิคคินสัน (2520) ได้อ้างถึงการศึกษาของเพียเจท์ว่า เขาสังเกตลูกของเขาเอง 2 คน แล้วบันทึกรายงานใจความว่า ลูกคนหนึ่งภายใน 15 นาที และอีกคนหนึ่งภายใน 30 นาทีหลังคลอด ทำมือไขว่คว้าไปโดนปากตัวเอง รีบดูดนิ้วทันที การสังเกตอีกครั้งหนึ่งเมื่อหลังคลอดแล้ว 1 วัน ผู้ใหญ่ เอาหัวนมจ่อที่ปาก รีบดูดทันที บังเอิญหัวนมเลื่อนหลุดออกจากปาก ก็ใช้ปากควานหาจนเจอแล้วดูดต่อไป (Rooting reflex)

ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการดูดนมเพื่อเป็นอาหารเท่านั้น แต่ทารกได้ใช้วิธีดูดนี้เป็นการเล่น เพื่อหาความสุขใส่ตัวโดยแท้ ที่ง่ายที่สุดก็คือดูดนิ้วมือตัวเอง ทารกน้อยบางคนถึงแก่งอเท้าขึ้นดูดนิ้วเท้าก็มี เด็กบางคนนำของอื่นๆ มาดูดตามสะดวก เช่น มุมเบาะ มุมผ้าห่ม การดูดนิ้วหัวแม่มือมักถือว่าสกปรก จึงมีผู้ทำหัวนมปลอมสำหรับให้เด็กดูดเล่นออกจำหน่าย เมื่อการเอาของเข้าปากเป็นการเล่นเพื่อความสุขของทารกดังนี้ ผู้เลี้ยงเด็กจะห้ามขาดทีเดียวก็ไม่ควร ต้องผ่อนปรนบ้างโดย ระมัดระวังอันตรายที่จะมีขึ้น เช่น ของเล่นของทารกในวัยชอบเอาของใส่ปากนี้ควรเป็นสิ่งของที่ไม่เล็ก หรือของที่ไม่แตกเป็นชิ้นเล็กจนทารกกลืนได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทางเดินอาหาร หรือร้ายกว่านั้นมีขนาดกลืนผ่านเข้าไปติดอยู่ที่คอ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะเป็นอันตรายร้ายแรงยิ่ง ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งคือ ของเล่นนั้นๆ ไม่ควรทาสีผสมสารตะกั่ว สารนี้เป็นวัตถุเคมีที่มีอันตราย และข้อควรระวังสำคัญอีกข้อคือ ของเล่นไม่ควรมีเหลี่ยมหรือแข็งจนอาจทำให้เหงือกและช่องปากเป็นรอยถลอกมีบาดแผล

โดยเฉพาะเมื่อฟันเริ่มงอก ทารกจะไม่พอใจเพียงขั้นดูดเท่านั้น แต่จะกัดด้วยเหงือก บางทีดูดนมแม่อยู่ดีๆ ก็กัดนมแม่ พี่เลี้ยงอุ้มอยู่ก็กัดที่หัวไหล่ ผู้ถูกกัดโปรดอภัยให้ว่านี้เป็นขั้นตอนของการพัฒนา ไม่ใช่ทำ ด้วยความคิดในแง่ร้ายประการใด ทางที่ดีควรส่งเสริมให้มีของเล่นที่นิ่มและเหนียวสำหรับทารกหัดกัดเล่นด้วยซ้ำไป ทารกที่ฟันเริ่มงอกไม่ควรให้กัดของแข็งๆ ถ้ากัดบ่อยๆ ฟันอาจงอกผิดรูปที่ถูกต้อง

ตำราจิตวิทยาสมัยใหม่ไม่ค่อยตำหนิการดูดนิ้วหัวแม่มือของทารก โดยเชื่อว่าจะหายไปเองเมื่อประมาณในวัย 3 ขวบ อย่างไรก็ดี ใคร่เสนอข้อสังเกตว่า การแสวงหาความสุขด้วยปากนี้ยังสืบเนื่องไปอีก แม่ในวัยผู้ใหญ่ เช่น มีการเคี้ยวหมากพลูในชนชาติต่างๆ มีการอมเมี่ยงของชาวไทยภาคเหนือ ที่ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยก็มีการเคี้ยวหมากฝรั่ง สูบบุหรี่ สูบกล้องยาเส้น การผิวปาก และเล่นดนตรี ประเภทใช้ปากเป่า ก็อาจเป็นพัฒนาการทางสายเดียวกัน ซึ่งมีในทุกชาติทุกภาษา

เล่น/เรียนด้วยเสียง-ภาษา-สังคมเพื่อน
ในหัวข้อใหญ่ว่าด้วยปฏิกิริยารีเฟลกซ์ได้กล่าวถึงการเปล่งเสียงร้องของ
ทารกเริ่มกำเนิดว่าเป็นกระบวนการที่ธรรมชาติกระตุ้นให้อวัยวะเปล่งเสียงเริ่มทำงานตามหน้าที่ ในชั้นแรกก็ทำเสียงได้อย่างที่เรียกว่าร้องไห้ ต่อมาเมื่อทารกมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ได้พบบ่อยๆ เช่นคนเลี้ยงดูใกล้ชิด ผู้มาช่วยให้ทารกรู้สึกสบายกายสบายใจเมื่อได้รับความเดือดร้อน ผู้เลี้ยงดูนั้นได้ออกเสียงให้เขาฟัง ความสามารถทางโสตประสาทแยกแยะได้ในไม่ช้าว่า เสียงของผู้ทำให้เขารู้สึกสบายนั้น ไม่ดัง
สะเทือนเลื่อนลั่นเหมือนเสียงสะท้อนความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ แต่เป็นกระแสเสียงแห่งภาษาอันนุ่มนวลอ่อนหวานน่าฟัง ชวนให้ทารกอยากออกเสียงเช่นนั้นบ้าง แต่ความสามารถที่ทารกทำได้คือปฏิกิริยารีเฟลกซ์ ไม่ช่วยให้ทารกทำเสียงเป็นภาษาได้ตามต้องการ ทารกจำต้องเรียนทดลองฝึกหัดหลายกระบวนการ เราจะเรียกว่าเป็นการเริ่มใช้สมองในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ก็คงไม่ผิด เพราะเห็นได้ว่า ทารกมองดูหน้าผู้พูดกับตน ดูปาก และท่าทีทั่วไป แล้วก็เลียนแบบ ขยับริมฝีปาก ขยับลิ้นจะทำให้มีเสียง ลองผิดลองถูกอยู่นานมาก เป็นการค้นคว้าหาทางที่จะพูดให้เป็นภาษา ผู้เคยเลี้ยงดูทารกวัยนี้ย่อมสังเกตได้ว่า เขาจะทำริมฝีปากเป็นรูปแบบต่างๆ แล้วพ่นลมออกมา บางทีก็มีน้ำลายออกมาด้วย ในที่นี้ขอเสนอบันทึกของเพียเจท์ จากการศึกษา
ลูกของเขาเอง (ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบดูว่า ทารกชาวสวิสต่างจากทารกไทยหรือไม่)

เพียเจท์บันทึกไว้ว่า พอย่างเข้าเดือนที่ 3 ลูกของเขาซึ่งเริ่มเล่นลิ้นมาตั้งแต่อายุ 1 เดือนโดยการแลบลิ้น เอาลิ้นเลียริมฝีปากล่าง ดูดลิ้นมีเสียงดัง แล้วก็มีการฝึกเพิ่มขึ้นคือ เล่นน้ำลาย: มีการเป่านํ้าลาย ทำเสียง “บรรรร” ระหว่างริมฝีปาก แรกสังเกตเห็นเมื่ออายุ 2 เดือน 18 วัน และปฏิบัติเรื่อยๆ มา (ประมวญ ดิคคินสัน, 2520)

การเริ่มต้นเช่นนี้ มีอยู่ในทารกทุกชาติทุกภาษาแล้วค่อยพัฒนามาตามวัย จนเป็นภาษาพูดที่ใช้สื่อความหมายได้ เมื่อการใช้เสียงเป็นภาษาพัฒนามากขึ้นเพียงไร การเล่นเพื่อความเพลิดเพลินก็กว้างขวางขึ้นตามส่วน เช่น มีเพื่อนเล่นด้วย ชวนคุยด้วย ผู้ที่เป็นเพื่อนคุยเล่นคนแรกๆ ก็คือพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด การคุยกับทารกในขั้นแรกๆ นั้น ไม่ต้องกังวลว่า เสียแรงเปล่า ทารกแม้ไม่รู้ศัพท์ (คือความหมายของภาษา) แต่ทารกก็ได้ยินเสียงซึ่งทำให้เป็นสุขใจ และได้ใช้ตามอง การใช้สายตามองดูตาผู้พูดเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการหัดพูดภาษาของทารก    ทารกจะมองดูหน้า ดูปาก ดูท่วงทีพูดจาของผู้พูดด้วย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบทเรียนที่มีคุณค่ากระตุ้นให้ทารกเลียนแบบ ทารกในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ พัฒนาการทางภาษาพร้อมกับทางสมองได้เร็ว ในทางตรงกันข้าม ผู้เขียนจิตวิทยาทารกแทบทุกเล่มไม่เว้นที่จะให้ความเห็นซึ่งตรงกันหมดว่า เด็กที่ได้รับ การเลี้ยงดูในสถาบันเลี้ยงเด็ก มีพัฒนาการทางภาษาช้าเพราะขาดแคลนคนชวนพูดคุยด้วย เราจึงกล่าวได้ว่าการชวนทารกพูดเล่นหัวเพื่อบันเทิงใจ กับการสอนให้ทารกรู้จักฟังเข้าใจภาษาและหัดพูดภาษา เพื่อใช้เป็นสื่อในสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์เป็นกิจกรรมอันเดียวกันนั่นเอง

การเล่นด้วยการออกเสียงนี้ ในระยะที่เริ่มพูดได้บางคำ บางทีก็เล่นด้วยการพูดกับตัวเอง พูดกับตุ๊กตา และของเล่นอื่นๆ ถือได้ว่าเป็นการซ้อมภาษาพร้อมๆ กับการใช้ความคิดคำนึง มีตัวอย่างจากการบันทึกของเพียเจท์ (ประมวญ ดิคคินสัน 2520, หน้า 172) ว่า

เพียเจท์สังเกตลูกสาวของเขา อายุ 1 ปี 6 เดือน 2 วัน มีของเล่นรูปปลา หงส์ และกบ เอามาเล่นโดยวิธีเอาใส่กล่องแล้วหยิบออก แล้วใส่กล่องอีก ฯลฯ ตอนหนึ่งหากบไม่เจอ เอาหงส์และปลาใส่กล่องแล้วมองหากบ เที่ยวรื้อของใกล้ๆ แถวนั้น (เช่น ในฝากล่องใหญ่ๆ ใต้พรม ฯลฯ)หลังจากค้นหาอยู่นานก็เริ่มพูดว่า “อีนีน อีนีน” (เด็กหมายความถึงกบ แต่พูดไม่สู้ถูกต้องดีนัก)

การเล่นด้วยเสียงและภาษาที่เริ่มเรียนรู้นี้มักจะสนุกยิ่งขึ้น ถ้าได้เล่นกับเพื่อนหรือคนเลี้ยงใกล้ชิด เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ (การหายไปและการปรากฏขึ้นใหม่) ทารกชอบเล่นวิธีนี้ในวัยราว 8 เดือน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาความรู้สึกว่า “เราเป็นคนคนหนึ่ง” ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า การเล่นเป็นการสนองตอบต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ ตามวัยของทารก

การเล่นเรียนด้วยเสียงและภาษา ซึ่งต้องมีเพื่อนเล่นด้วยจึงจะเป็นการเล่นที่สมบูรณ์นั้น เป็นการเปิดทางไปสู่การเล่นประเภทใหญ่มาก ตามที่ตำราจิตวิทยาเรียกว่า “การเล่นเชิงสังคม” (Social play) นับว่าเป็นบทเรียนขั้นต้นของทารกที่จะก้าวหน้าไปสู่สังคมในอนาคต ทารกวัยไม่เกิน 2 ขวบมักมีเพื่อนเล่นเป็นผู้ใหญ่ แต่ถ้าให้โอกาสเขาได้เล่นกับเพื่อนร่วมวัย (Peer) เขาก็จะแสดงลักษณะนิสัยใจคอในการสมาคมได้ ดังมีการทดลองและสังเกตการณ์ของนักจิตวิทยารายงานไว้ไม่น้อย ผู้เขียน ได้คัดเลือกผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้จากเครก (Craig, 1980, หน้า 190-191) มาประกอบเป็นตัวอย่างดังนี้

รายที่อายุทารกน้อยที่สุดในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เด็กอายุเพียง 2 เดือน ชอบสังเกตความเคลื่อนไหวของทารกที่นอนในเตียงติดกัน มีผู้สังเกตว่า ทารกอายุ 9 เดือน ซึ่งแม่นำไปเยี่ยมเพื่อนของเธอ ซึ่งมีลูกอายุ 9 เดือนเช่นกัน เขาทั้งสองเล่นด้วยกันสิบครั้งอย่างสนิทสนมมากกว่าเอาใจใส่กับแม่หรือของเล่น การทดลองต่อไปคือพาทารกที่กล่าวแล้วนี้เพียงคนเดียวให้ไปเล่นกับทารกอื่นที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเขาก็เล่นด้วยกันเป็นอย่างดี

เมื่อครบ 1 ขวบ ทารกจะรู้สึกว่าเพื่อนเป็นคู่เล่นสนุกด้วยกันอย่างมาก แบ่งของเล่นกัน บางทีก็ทะเลาะแย่งของกัน แต่เดี๋ยวก็ดีกันมาเล่นด้วยกันอีก ของเล่นกลายเป็นสื่อสัมพันธ์อย่างสำคัญ ในระยะปีที่สองการเล่นเชิงสังคมยิ่งกว้างขวางขึ้น เพราะกำลังซนด้วยกัน และใช้ภาษาสื่อสารกันได้ดีขึ้นกว่าก่อน อย่างไรก็ดีการเล่นเชิงสังคมยังไม่จริงจังอะไรนัก

นอกเหนือจากการคบเพื่อนร่วมวัยแล้ว ทารกวัยนี้อยากเล่นกับสัตว์เลี้ยงในบ้านและนอกบ้าน เป็นพัฒนาการการสำรวจโลกของเขาที่รู้จักว่าในสิ่งแวดล้อมตัวเขานั้น นอกจากคนเหมือนเขาแล้วยังมีสัตว์อีกด้วย

ตุ๊กตารูปสัตว์ทำด้วยวัสดุนุ่มๆ เป็นของเล่นที่ไม่มีทารกคนไหนไม่ชอบ (บางคนติดนิสัยชอบเล่นของเล่น ที่เป็นรูปสัตว์จนเติบโตเป็นหนุ่มสาว)

เล่น/เรียนด้วยการได้ยิน
หัวข้อนี้นับว่าเป็นการต่อเนื่องกับการเล่น/เรียนด้วยเสียงที่กล่าวมาข้างต้น เพราะเมื่อมีการออกเสียงก็ต้องมีการได้ยินเป็นคู่กัน การที่แยกออกมาเป็นหัวข้อต่างหากนี้เพราะการได้ยินได้รับการค้นคว้าศึกษามาก จนเป็นเรื่องราวใหญ่และน่าสนใจยิ่งเรื่องหนึ่ง ในการศึกษาประสาทสัมผัสของมนุษย์

ถ้าใครคิดว่าประสาทสัมผัสของคนเรา เริ่มมีขึ้นเมื่อออกจากครรภ์มารดาแล้ว ก็นับว่าเป็นการเข้าใจผิด เพราะคนเราแม้อยู่ในครรภ์ก็เป็นสิ่งมีชีวิต ได้พัฒนาองค์ประกอบของความเป็นคนทีละน้อย ทั้งในส่วนร่างกายและในส่วนประสาทสัมผัส จนพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งแวดล้อมในโลกนอกครรภ์มารดาแล้วจึงคลอดออกมา ดังมีรายงานการศึกษาตัวอ่อนในครรภ์มารดา ซึ่งขอนำเสนอในที่นี้ตามสมควร

ในรายที่ลูกในครรภ์อายุน้อยมาก คือ 13 สัปดาห์ (โปรดระลึกว่าเมื่ออายุ 12 สัปดาห์ ตัวอ่อนในครรภ์มีร่างกายเป็นคนครบทุกส่วนแล้ว สามารถเคลื่อนไหวร่างกายสนองตอบสิ่งเร้า    รู้จักดูดและกลืน) จากการทดลองแสดงว่า เมื่อมีคนถือแผ่นกระดาน 2 แผ่น ตบกันจนมีเสียงดัง และมีระฆังดังๆ ข้างครรภ์มารดา ตัวอ่อนในครรภ์แสดงกิริยาผวาทั้งตัว คุณแม่เสมียนพิมพ์ดีดคนหนึ่ง รายงานว่า ตัวอ่อนดิ้นมาก เมื่อหล่อนดีดพิมพ์ดีด คุณแม่อีกคนหนึ่งมีรสนิยมทางดนตรีสูง ต้องงดไปฟังดนตรี เพราะว่าเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมของคนฟังดนตรี ทำให้ตัวอ่อนดิ้นแรงมาก จนหล่อนทนไม่ได้ การทดลองอื่นได้พบว่าตัวอ่อนในครรภ์แสดงกิริยาต่างๆ กัน ตอบสนองต่อเสียงดังที่ไม่เท่ากัน แสดงว่าตัวอ่อนนั้นรู้จักแยกแยะขนาดของความดังจากเสียงที่ได้ยิน เขาได้ทดลองทุกๆ สัปดาห์ก่อนคลอด 2 เดือนครึ่ง (นั่นคือตัวอ่อนในครรภ์อายุ 6 เดือนครึ่งเป็นต้นไป) เขาให้มารดาได้ยินเสียงดังในระดับต่างๆ ตัวอ่อนในครรภ์แสดงกิริยาตอบต่อเสียงนั้น ด้วยการดิ้น และหัวใจ เต้นถี่ขึ้นมากและน้อยตามขนาดความดังของเสียง การทดลองที่ละเอียดลงไปอีกได้ความรู้ว่า เมื่อผู้ทดลองได้เริ่มให้เสียงเร้าภายใน 30 วินาที ตัวอ่อนแสดงกิริยาตอบโต้ คือหัวใจเต้นเร็วขึ้น

เนื่องจากตัวอ่อนในครรภ์สามารถได้ยินเสียงตามพรรณนามาข้างต้นนั้น จึงอาจมีข้อน่าวิตกว่า ตัวอ่อนในครรภ์ ไม่รู้สึกเดือดร้อนรำคาญใจบ้างหรือจากการได้ยิน การศึกษาของนักจิตวิทยาเด็ก รายงานว่า ไม่ต้องเป็นห่วงมากนัก ตัวอ่อนจะตื่นตกใจเฉพาะเสียงดังผิดปกติใกล้ครรภ์มารดาเท่านั้น ตามธรรมดาเมื่อโสตประสาทของตัวอ่อนใช้การได้ดีแล้วจะได้ยินเสียงตุบ ตุบ ตุบ รอบตัวสมํ่าเสมอ ดังอยู่ในกายของมารดา เสียงนั้นเกิดจากโลหิตสูบฉีดแล่นทั่วไปในผนังมดลูกที่ห่อหุ้มตัวอ่อนอยู่ ตามจังหวะหัวใจมารดาเต้น (ปกตินาทีละ 80 ครั้ง) ช่วยกลบเสียงดังขนาดปกติจากภายนอก ฉะนั้นเสียงปกติไม่ทำความรำคาญให้แก่เขา

บัดนี้ จะศึกษาดูว่าเมื่อลูกน้อยคลอดจากครรภ์แล้ว โสตประสาทมีประสบการณ์อะไรบ้าง เสียงแรกที่ได้ยินคงจะเป็นเสียงร้องจ้าของเขาเอง ในขณะแรกนั้น ในช่องหูอาจมีน้ำที่หล่อเลี้ยงตัวเขาในมดลูกค้างอยู่บ้าง แต่เมื่อได้รับการทำความสะอาดทั่วตัวแล้ว ก็สามารถใช้ได้ดีในการรับเสียงที่แวดล้อม นักทดลองได้ทดลองให้ทารกเกิดใหม่ได้ยินเสียงดังมาก ระดับ 100 เดซิเบล (เดชิเบลเป็นมาตราวัดความดัง ในกรณีไม่มีเครื่องวัดประมาณได้จากการฟังตามปกติอย่างคร่าวๆ คือ เสียงรถบรรทุกขนาดใหญ่แล่นห่างจากผู้ฟัง 25 ฟุต ดังราว 90 เดซิเบล เสียงสนทนาตามธรรมดาดัง 60 เดซิเบล) ดังน้อยขนาด 85, 70, 55 เดซิเบล ทารกแสดงการตอบโต้การได้ยินด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นการเต้นของหัวใจมากน้อยตามระดับความดังมากน้อยเช่นกัน (Papalia & Olds, 1975)

ทารกเกิดใหม่แสดงปฏิกิริยาเมื่อได้ยินเสียงผิดปกติ หันหน้าไปทางด้านต้นเสียง แสดงอาการ อยากฟัง และหยุดทำการอย่างอื่น มีการทดลองสนับสนุนข้อเท็จจริงนี้ โดย Papalia & Olds (1975) ได้รายงานว่า มีผู้ทำการทดลองทารก 33 คน อายุตั้งแต่ 2 ชั่วโมง ถึง 8 วัน และอีก 10 คน อายุ 1 ถึง 5 เดือน เขาให้ทารกได้ฟังเสียงออร์แกน เสียงเครื่องดนตรีฮาโมนิก้า เสียงเป่านกหวีด และเสียงเคาะด้วยดินสอคราวละ 1 อย่าง ครั้งแรกพอได้ยิน ทารกหยุดดูดนม จนเสียงหยุดจึงดูดนมต่อ เขาให้ทารกได้ยินเสียงเดียวกันนี้ซ้ำอีกหลายครั้ง ครั้งหลังๆ นี้ ทารกไม่หยุดดูดนม พอผู้ทดลองเปลี่ยนเสียง ทารกหยุดดูดนมฟังอีก ได้ผลการทดลองเหมือนการได้ฟังเสียงครั้งแรก

ฉะนั้นเราเชื่อได้ว่า ตั้งแต่อายุน้อยทีเดียว ทารกรู้จัก เล่น/เรียน หาความเพลิดเพลินด้วยการ ฟังเสียง นอกจากนี้ ทารกระงับความขุ่นข้องหมองใจที่กำลังแสดงด้วยการร้องไห้เมื่อได้ยินเสียงปลอบ ก็รู้จัก และหยุดร้อง (ประมวญ ดิคคินสัน, 2520)

ทารกจำเสียงที่คุ้นเคยได้เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ จำเสียงได้เร็วกว่าสายตาสามารถจำหน้าคนเสียอีก มีการทดลองที่แสดงว่าทารกอายุ 9 สัปดาห์แยกเสียงที่ได้ยินว่าเป็นเสียงของแม่ตนหรือเสียงผู้หญิงคนอื่น ในวัยอายุ 11 สัปดาห์ ทารกได้ดูภาพสไลด์หน้ามารดาของตนกับผู้หญิงอื่น เขาแยกไม่ออกว่า ใครเป็นแม่ พอผู้ทดลองให้เขาได้ยินเสียงเขาจึงจำได้ (Craig, 1980)

ทารกเล่นเลียนเสียงมีความสัมพันธ์กับการได้ยินใกล้ชิดมาก เคเกน (1971)รายงานการทดลองความสัมพันธ์นี้ว่า เขาทดสอบทารกอายุ 8 เดือน โดยวิธีแต่งประโยคขึ้น 4 ประโยคมีลักษณะต่างกัน คือ 2 ประโยคใช้ถ้อยคำที่พ่อแม่พูดให้ทารกได้ยินบ่อย เช่น “ยิ้ม” “คุณพ่อ” มีเนื้อความเป็นเรื่องราว อีก 2 ประโยคมีถ้อยคำที่ไม่เป็นเรื่อง เขาจัดให้มีคนพูดให้เด็กฟังจากเสียงที่คุ้นหู ทารกเล่นเลียนเสียง 2 ประโยคที่มีเนื้อความเป็นเรื่องราว มากกว่าเลียนเสียงประโยคที่ไม่เป็นเรื่อง เขาเอาผู้ชายที่ทารกไม่คุ้นกับเสียงมาอ่านให้ฟัง ผลการทดลองออกมาเหมือนที่กล่าวมาแล้ว

ทารกเอาความจำจากการได้ยินไปสัมพันธ์กับการเรียนภาษา ในเมื่อถึงขั้นหัดพูดเป็นคำๆ ได้ ประมวญ ดิคคินสัน (2520) ได้ยกตัวอย่างว่า เด็กอายุ 19 เดือนชมพระจันทร์อยู่ แม่ชี้บอก (เป็นภาษาอังกฤษ) ว่า “มูน” เด็กหัดพูดตามว่า “มูยี” ต่อมาแม่หนูเห็นขนมเค้กกลมๆ ก็เอาภาษาที่จำได้มาพูดเล่นเรียกว่า “มูยี” ลวดลายกลมๆ บนผ้าม่านหรือบนเพดานบ้าน แม้จนกระทั่งตัวหนังสือ 0 ก็เรียก “มูยี” ทั้งนั้น

ตัวอย่างข้างต้นแสดงว่า ทารกเอาความจำภาษาที่ได้ยิน ไปสัมพันธ์กับรูปอะไรที่กลมทุกอย่าง แต่ทารกมิได้จำเสียงที่ได้ยินกับรูปเท่านั้น ทารกยังนำเสียงที่ตนเรียนรู้จำได้ไปสัมพันธ์กับเสียงใหม่ๆ ด้วย
ประมวญ ดิคคินสัน (2520) ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หลานสาวของท่านอายุ 2 ขวบ ได้ฟังแม่อ่านหนังสือให้ได้ยิน มีคำว่า “ฟูมฟัก” แม่หนูพูดว่า “ฟูม” แล้วชี้ไปในครัวทีแรกไม่มีใครเข้าใจ พอเข้าไปดูในครัวจึงเข้าใจได้ เพราะในครัวมีลูก “ฟัก” ซึ่งแม่หนูเพิ่งเรียนรู้จักศัพท์นี้ก่อนหน้าเวลานั้นไม่กี่วัน

ทารกได้เอาอาการได้ยินไปเป็นส่วนสำคัญในการเล่น/เรียน มิใช่ฟังจากเสียงที่คนอื่นทำขึ้น แต่ยังสามารถสร้างเสียงเพื่อฟังเล่นด้วยตนเอง ดังที่เราย่อมได้พบเห็นกันว่า ถ้าเราเอาของเล่นที่ทำเสียง กรุ๋งกริ๋งได้ ใส่ให้ในมือทารกอายุราว 4 เดือน เขาจะกำด้ามของเล่นนั้นแน่น ตาจ้องมองดูแล้วสั่น ให้มันทำเสียงให้เขาฟังด้วยความพอใจ พอโตขึ้นอีกรู้จักจับฉวยอะไรได้แล้ว ก็มักเอาของที่จับฉวยไปโขก เคาะ ตี ขว้าง ให้มันมีเสียง

ความสนใจเล่น/เรียนด้วยการได้ยินพัฒนาไปตามวัย จนกลายเป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งตลอดชีวิต กล่าวคือ การได้ยินของมนุษย์นั้นไม่คมเฉียบว่องไวเหมือนการได้ยินของสัตว์มากมายหลายชนิด แต่ธรรมชาติก็ได้ทดแทนให้ โดยให้มนุษย์มีความไวในด้านการแยกความแตกต่างของเสียงได้ละเอียด ของขวัญจากธรรมชาตินี้มนุษย์เอามาใช้พัฒนาภาษาให้ความหมายกระชับแม่นยำ (ในเชิงสารคดี) ให้ความหมายซาบซึ้งอารมณ์ (ในเชิงวรรณคดี) ให้ความอ่อนหวานไพเราะของกระแสเสียงฟังเพลิน (ในเชิงขับร้อง) จากเสียงที่ให้ความสุข ที่สัมผัสด้วยหู ซึ่งทำขึ้นจากอวัยวะเปล่งเสียงของตนเอง ทำให้มนุษย์รู้จักสร้างเสียงจากวัสดุนานาชนิด เรียกรวมๆ กันว่าเครื่องดนตรี ฉะนั้นจึงขอสรุปว่า
ความซาบซึ้งในคุณค่าสุนทรียศิลป์สาขาสังคีตและดุริยางค์ เป็นผลของพัฒนาการจากการเล่น/เรียน ด้วยการได้ยินที่เริ่มมาตั้งแต่วัยทารกนี้เอง

พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูเด็กที่ฉลาด    ปรารถนาให้ทารกรู้จักเล่น/เรียนจากการได้ยินควรปฏิบัติในระหว่างเลี้ยงดูและจัดของเล่นที่เสริมการเรียนเล่นชนิดนี้ได้หลายประการ เช่น

1. แสดงความเบิกบานใจยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจากับทารกเสมอๆ แม้อายุน้อยยังฟังภาษาไม่เข้าใจ ให้ทารกได้เห็นหน้าตาของผู้พูด ดูตา ปาก เป็นตัวอย่าง (ทารกเรียนรู้อารมณ์ในระหว่างผู้ใหญ่พูดกับเด็กด้วย)

2. ให้ทารกมีของเล่นที่ส่งเสียงให้ได้ยิน ตั้งแต่แรกเริ่มทีเดียว เมื่อถึงวัยที่รู้จักใช้มือแล้ว ก็ควรให้มีของเล่นที่ทารกสามารถใช้มือของตัวทำเสียงด้วยของเล่น (เช่น เขย่า เคาะ โขก) และรู้จักใช้ปากเป่าของเล่นให้มีเสียง

3. เห่กล่อมหรือร้องเพลงให้ฟัง เช่น เวลาเข้านอน

4. สนับสนุนให้ทารกร้องเพลงเองเมื่ออวัยวะเปล่งเสียงของเขาสมบูรณ์ใช้การได้

5. เมื่อทารกหัดพูด ควรชมเชยให้กำลังใจ ช่วยแก้เมื่อพูดไม่ชัด เมื่อเข้าใจความหมายผิด จงช่วยแก้ไขให้ถูก

6. ใช้วิธีการและของเล่นอื่นๆ อีก ที่มีแนวส่งเสริมความมุ่งหมายที่จะให้ทารกมีความสุขจากการได้ยิน และการได้แสดงความสามารถของตัวทำเสียงได้เอง

เล่น/เรียนด้วยการเคลื่อนไหว
ในหัวข้อที่แล้วๆ มา ได้กล่าวถึงทารกเล่น/เรียนด้วยประสาทสัมผัสแยกเป็นส่วนๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงทารกเล่น/เรียนด้วยกายและพลังงานกล้ามเนื้อทั้งตัว    พร้อมด้วยเอาความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดทุกส่วนมาเล่น/เรียนร่วมกัน นั่นคือทารกใช้การเคลื่อนไหวเป็นศูนย์การเล่น/เรียน

รูปต่อไปนี้แสดงขั้นตอนพัฒนาการเคลื่อนไหวของเด็กทารก กำหนดอายุที่เขียนกำกับไว้นั้น เป็นกำหนดปานกลาง
health-0157 - Copy

รูปที่แสดงไว้ข้างต้นนี้ แสดงขั้นตอนพัฒนาการ ซึ่งได้ยินย่อลงไว้ที่ข้อพัฒนาการวัยทารกตอนปลาย ในที่นี้จะขยายความในแนววัตถุประสงค์ของหัวข้อนี้ ตามลำดับพฤติกรรมและวัยของทารก กล่าวคือ ภาพแรกที่มุมซ้ายบนแสดงทารกแรกเกิด ยังใช้กล้ามเนื้อคอและหลังไม่ได้ ภาพถัดมาทางขวา แสดงรูปทารกอายุ 1 เดือน ถูกวางนอนควํ่าจะยกศีรษะขึ้น อีกราว 1 เดือน ในท่านอนควํ่านั้นสามารถใช้กล้ามเนื้อยกหน้าอกขึ้น แล้วรู้จักเอาแขนค้ำยันตัว ถัดจากนั้นด้วยความพร้อมของกล้ามเนื้อตลอดลำตัว จากท่านอนหงายก็พยายามพลิกตัวควํ่าได้ หลังจากลองผิดลองถูก ไม่ได้รับความสำเร็จอยู่นาน

ประมวญ ดิคคินสัน (2520, หน้า 149) นักวิจัยทางจิตวิทยาไทยผู้หนึ่ง เห็นความสำคัญของขั้นตอนนี้ ได้เขียนไว้อย่างน่าคิดว่า “การควํ่าได้นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ครั้งแรกในชีวิตของมนุษย์ จากการสังเกตของผู้เขียน ทารกควํ่าได้ครั้งแรกมีสีหน้าแสดงมีชัย ประดุจบุคคลผู้ปีนขึ้นสู่ยอดเขาหิมาลัยได้ฉะนั้น การควํ่าครั้งแรกต้องพยายามอยู่นาน ถ้าผู้ใหญ่กระดิกมือช่วยนิดเดียวคงสำเร็จ แต่โบราณห้ามมิให้ช่วย โดยตั้งข้อสังเกตว่าถ้าถูกช่วยตอนนี้ จะช่วยตัวเองไม่ได้ตลอดชาติ คนโบราณช่างสังเกตดีเสมอ”

การควํ่าได้เป็นต้นทางของการฝึกสมรรถภาพทางการ “เคลื่อนไหวร่างกายและการเรียนรู้” ตลอดจนการเล่นเพื่อหาความสุขในขั้นต่อไป คือเมื่อทารกควํ่าได้แล้ว เป็นธรรมดาที่จะเชิดคาง เชิดอกขึ้น มีเหตุผลที่พอทำให้เชื่อได้ว่า ทารกทำเช่นนั้นเสมอไป เพราะความปรารถนาแห่งสายตามีความต้องการเห็นอะไรๆ ให้กว้างออกไป เหตุที่ชวนให้เชื่อเช่นนี้เพราะมีกรณีทารกตาบอด แม้ควํ่าได้แล้วแต่หน้าฟุบอยู่กับพื้น แม้คลานได้แล้วศีรษะก็ตกไม่เงยหน้า เพราะไม่มีเป้าของสายตาที่จะดู เมื่อทารกตาดีควํ่าได้ เชิดอกขึ้นมองไปข้างหน้าย่อมเห็นสรรพสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็นเครื่องเร้าให้เข้าไปหาเพื่อเล่นสนุก ในท่านี้เมื่อน้อมศีรษะไปข้างหน้า ร่างกายท่อนบนจะควํ่าตรงไปข้างหน้าทีละน้อย นี้ก็คือการคืบนั่นเอง เมื่อทารกพบประสบการณ์เช่นนี้ย่อมเห็นเป็นความสนุกและสมใจปรารถนา ที่ได้เคลื่อนไปหาสรรพสิ่งที่ต้องการ หยิบจับสำรวจว่ามันเป็นอะไร การคืบนั้นหน้าอกพบการเสียดสีกับพื้น ทารกค้นพบด้วยวุฒิภาวะของกล้ามเนื้อว่า เอาแขนยันพื้น ยกอกขึ้น เอาหัวเข่าช่วย นอกจากจะไม่มีการเสียดสีกับพื้นแล้ว ยังเคลื่อนที่ไปได้เบาแรงและเร็วกว่า การค้นพบนี้คือการคลาน

เมื่อลูกน้อยคลานได้ ก็เป็นการเปิดยุคทองการเล่นในวัยทารกทีเดียว ก่อนเวลานั้นลานเล่นของทารกแคบอยู่ในบริเวณรอบตัว ของเล่นมีอยู่เท่าที่มีคนหยิบยื่นให้ พอบรรลุขั้นนี้ ลานใหญ่กว้างเท่าที่ทารกจะคลานไปถึง เวลาเล่นก็ยาวนาน คือตลอดเวลาที่ไม่หลับก็เป็นเวลาเล่นของเล่นมีมากล้นเหลือ คือทุกสิ่งที่มือน้อยๆ จะหยิบได้ เคยปรากฏว่าผู้เลี้ยงดูทารกต้องช่วยแคะเมล็ดน้อยหน่าออกจากรูจมูกของลูกน้อย เขาเป็นนักค้นคว้า นักสำรวจ และนักทดลองที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ! ลูกน้อยเอาประสาทสัมผัสทั้งหมดมาใช้ในการเล่นและเรียนโลกที่เขาจะอาศัยอยู่ ด้วยพละกำลังที่ไม่รู้หมด ไม่รู้เหนื่อยและไม่รู้จักคำว่าเกียจคร้าน จนคุณแม่ต้องเอ่ยด้วยความเหน็ดเหนื่อยว่า “ยังกะจับปูใส่กระด้ง” ผู้เขียนขอแสดงความเห็นใจคุณแม่นั้นๆ ว่า ถ้าจับปูใส่กระด้งแล้วมันอยู่นิ่งๆ นั่นคือปูตาย

เมื่อทารกคลานได้แข็ง กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงและทำงานประสานกันตามคำสั่งจากสมองได้ จากท่าคลานพอทารกเอาแขนยันให้ตัวตรงก็อยู่ในท่านั่งได้ โดยไม่ต้องมีคนช่วย เมื่อแขนมีพลังสามารถจับยึดตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ได้มั่นคง ก็สามารถเหนี่ยวรั้ง ยกตัวยืน

การยืนได้เป็นเรื่องที่ควรนำเสนอในที่นี้พอสมควร เราถือกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์สองเท้าคงจะยืนได้เป็นธรรมดา แต่ปรากฏว่าการยืนได้เป็นเรื่องของการเลียนแบบและต้องฝึก เพราะมีรายงานการค้นพบเด็กที่ไปตกอยู่ท่ามกลางฝูงสัตว์ป่าหลายรายในยุโรป แอฟริกา และอินเดีย เด็กเหล่านี้คลานสี่ขา ผู้เขียนขอเก็บใจความสำคัญของการค้นพบในอินเดียมาเสนอในที่นี้

เดือนตุลาคม ค.ศ.1920 ณ หมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากเมืองกัลกัตตาประเทศอินเดียประมาณ 110 กิโลเมตร หมอสอนศาสนาสามีภรรยาไปที่ถ้ำหมาป่า ได้พบเด็กหญิง 2 คน อายุประมาณ 8 ขวบ และขวบครึ่งที่หมาป่าเลี้ยงมาตั้งแต่เป็นทารก มีพฤติกรรมเหมือนหมาป่าทุกอย่าง หมอสอนศาสนาเอามาอุปการะ ตั้งชื่อว่า กมลา กับ อมรา เขาให้ความรักความเอาใจใส่และอดทนพยายามที่จะปลูกฝังคุณสมบัติและทักษะของความเป็นคนให้เด็กทั้งสอง ตอนแรกเด็กทั้งสองอยู่ในห้องก็คลานสี่ขา พอมีใครยื่นมือเข้าไปก็กระโจนใส่ ตอนกลางวันชอบห่อตัวอยู่ข้างฝาและงีบหลับอยู่ในห้องมืด พอตกกลางคืนก็เริ่มเห่าหอน ชอบกินเนื้อบูดและไก่เป็นๆ เด็กคนเล็กตายเมื่อมาอยู่ในหมู่มนุษย์ได้ 1 ปี เด็กคนโตใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะเดินได้ 2 ขาเหมือนคน แต่เวลาทำอะไรตามสัญชาตญาณก็ต้องใช้ 4 ขา แม้ว่ามาอยู่ในหมู่มนุษย์ได้ 9 ปีก็ตาม (ธีระ สุมิตร และพรอนงค์  นิยมค้า, 2528, หน้า 40)

ทารกเดินได้เมื่ออายุราว 1 ขวบ การเล่นก็ขยายวงกว้างออกไปพร้อมๆ กับพัฒนาการทางกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ตกถึงขั้นนี้ชอบเล่นการเล่นที่ใช้พละกำลังทวีขึ้น เช่น การปีนป่าย แกว่งไกว ตามลำดับของวัย การควบคุมกล้ามเนื้อและการทรงตัวดีมากขึ้นในราวอายุขวบครึ่ง ชอบวิ่งเต้น กระโดด และเตะลูกบอล และถ้ามีเพื่อนร่วมวัยก็ชอบเล่นกับเพื่อน การเล่นกับผู้ใหญ่ลดน้อยลงไปตามลำดับ การเล่นที่พัฒนาต่อไปเข้าอยู่ในช่วงวัยเกิน 2 ขวบ

เล่น/เรียนด้วยการวาดเขียน
การ์ดเนอร์ (1973) ผู้เขียนตำราจิตวิทยาเด็กที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับการเล่นเชิงศิลป์ของเด็กว่า การเล่นเชิงศิลป์เป็นการเล่นชั้นสูงสุดของการเล่นทุกประเภท เพราะการเล่นเชิงศิลป์เป็นการเล่นที่ทำให้เด็กมีโอกาสได้พัฒนาในด้านต่างๆ ที่ประกอบเป็นมนุษย์ร่วมกัน เช่น ด้านความคิดนึก ด้านอารมณ์ ด้านการทำงานประสานร่วมกันของระบบต่างๆ ทางกาย (เช่น ตา มือ แขน ขา หู ปาก ฯลฯ) ศิลปะเด็กมีหลายรูปแบบ ผู้ใหญ่ส่วนมากมักมองข้ามการเล่นเชิงศิลป์ของทารก แท้ที่จริงแล้วทารกก็รู้จักเล่นเชิงศิลป์เช่นเดียวกับเด็กวัยอื่นๆ แต่เป็นไปในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน การเล่นเชิงศิลป์ของทารกมีหลายชนิด เช่น การร้องเพลงง่ายๆ การใช้มือ ป้ายสีเล่นไม่เป็นเรื่องเป็นราวอะไร แต่มีความหมายมากสำหรับทารกตัวน้อยๆ ในที่นี้ผู้เขียนไม่สามารถจะบรรยายถึงการเล่นเชิงศิลป์ของทารกโดยพิสดาร แต่จะขอกล่าวเฉพาะเจาะจงกับการ (เล่น) วาดเขียนของทารก

นักจิตวิทยาเด็กหลายท่าน (Craig, 1980; ธีระ สุมิตร และพรอนงค์ นิยมค้า, 2528) เชื่อว่า ผู้เลี้ยงดูทารกควรให้ทารกใช้ดินสอหรือสีเทียนเขียนอะไรเล่นๆ เมื่ออายุราว 8 เดือนเป็นต้นไป (ถ้าท่านผู้อ่านพลิกไปดูรูปภาพพัฒนาการใช้มือ ในข้อเล่น/เรียนด้วยมือ ก็จะสังเกตได้ว่า ในระยะที่กล่าวนี้ ทารกสามารถใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้หยิบจับของได้แล้ว) ในขั้นแรกๆ ทารถก็คงจะทำได้ แต่เส้นยุ่งๆ ลากไปลากมาไม่มีความหมายอะไรสำหรับผู้ใหญ่ แต่ผลสำหรับทารกนั้นมีมาก กล่าวคือ ทารกจะได้ฝึกนิ้วหยิบจับ ฝึกการลากเป็นเส้น ฝึกสายตามองดูเส้นที่เขาขีดขึ้น ฝึกตั้งความสนใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นรากเหง้าแห่งการเป็นนักสร้างสรรค์และความสามารถในการใช้มือทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในวันข้างหน้า พ่อแม่ผู้อบรมเด็กทารกควรสนใจส่งเสริมเพราะมีคุณค่าในการพัฒนาการด้านอื่นๆ ของทารกด้วย ตลอดจนเป็นการเริ่มปลูกฝังความรักในคุณค่าทางสุนทรีย์ ซึ่งจะมีคุณค่าติดตัวเด็กไปจนโต (Scarr, Weinberg & Levine, 1986)

สรุป
หลังจากทารกคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว ก็เรียกว่าเข้าสู่วัยทารกเพื่อสะดวกแก่การศึกษา และแบ่งแยกให้เห็นพัฒนาการที่ต่างกันอย่างชัดเจน จึงแบ่งเป็น 2 ตอน    คือ วัยทารกแรกเกิด และวัยทารกตอนปลาย

วัยทารกแรกเกิด กำหนดเวลาไว้ประมาณ 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดทารกต้องปรับตัวอย่างมากให้เข้ากันได้กับสิ่งแวดล้อมใหม่รอบตัวเขา เพื่อจะได้มีชีวิตรอดอยู่ได้ พัฒนาการทางกายมีไม่มากนัก เป็นเรื่องการปรับตัวเป็นส่วนใหญ่ อารมณ์มักจะมีเพียงไม่แจ่มใสกับอารมณ์ชื่นบาน บุคลิกภาพอาจปรากฏให้เห็นบ้าง

ในวัยทารกแรกเกิดนี้ ทารกยังไม่มีความสามารถเลือกกระทำพฤติกรรมเพื่อความอยู่รอดได้เอง จึงมีธรรมชาติติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่ต้องเรียนหรือรับการฝึกสอนก็ทำได้ เรียกว่าปฏิกิริยารีเฟลกซ์ มีอยู่หลายอย่าง เช่นปฏิกิริยารีเฟลกซ์เปล่งเสียงร้อง ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ดูดอาหาร ปฏิกิริยารีเฟลกซ์เกี่ยวกับการเดิน ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ค่อยๆ หายไป โดยทารกรู้จักทำพฤติกรรม ด้วยตั้งใจจะทำเข้ามาแทนที่

วัยทารกตอนปลายต่อจากวัยทารกแรกเกิด คือตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่สองหลังคลอดจนถึงอายุ 2 ขวบ หรือ 2 ขวบครึ่ง มีพัฒนาการช่วยตัวเองได้มากมาย และล้วนแต่สำคัญสำหรับชีวิตภายหน้ายิ่งนัก เช่นทางกายมีการพัฒนาโครงสร้างของร่างกาย และกล้ามเนื้อประสาทสัมผัส น้ำหนักและความสูงเพิ่มรวดเร็ว ต่อเนื่องจากพัฒนาการทางกายนี้ จึงพัฒนาความเคลื่อนไหวได้ตั้งแต่นอนควํ่าได้จนเดินได้แข็ง ในระยะปลายวัย ตลอดทั้งการใช้มือจับฉวยก็พัฒนาจากทำไม่เป็นเลย จนถึงจับฉวยสิ่งต่างๆ ได้ถนัด ในเวลาเพียงอายุ 5 เดือน พัฒนาการทางอารมณ์มีขึ้นได้หลายประเภท ตามประสบการณ์ที่ได้จากสภาพที่แวดล้อมตัวเขา ความสัมพันธ์กับแม่หรือผู้เลี้ยงดูมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการวางรากฐาน ลักษณะนิสัยเชิงสังคมของทารกในภายภาคหน้า ภาษาพัฒนาขึ้นจนสามารถใช้สื่อสารเรื่องธรรมดา ในชีวิตประจำวันได้ พัฒนาการทางความคิดและสติปัญญา ตั้งต้นเริ่มจากรู้จักคิดด้วยประสาทสัมผัส และกล้ามเนื้อ(Sensorimotor) โดยอาศัยวัตถุหรือเหตุการณ์ที่เกิดเฉพาะหน้าเป็นตัวกระตุ้น เมื่อภาษามีพัฒนาการเพิ่มขึ้น ก็จูงใจให้ความคิดและสติปัญญาก้าวหน้าตามไป จนไม่จำต้องอาศัยวัตถุ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า ได้แก่รู้จักคิดคาดการณ์ (Insight) ง่ายๆ ได้ โดยอาศัยภาษาสัญลักษณ์ ความเข้าใจตนเองว่าเป็นบุคคลคนหนึ่งพัฒนาเต็มขั้นเมื่อสิ้นสุดวัยทารก    ทารกที่มีพัฒนาการทางกาย สมอง และประสาทสัมผัสเป็นปกติ ย่อมเกิดความสนใจใคร่เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวเขา และฝึกฝน สมรรถนะทางกายด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งๆ ขึ้น การเรียนรู้ของทารก เราท่านย่อมเห็นว่าเป็นเรื่องสนุกๆ เล่นๆ การเรียนรู้ต่างๆ จึงเป็นการเล่นควบกันไป ทารกใช้สมรรถภาพทางกาย สมอง ประสาทสัมผัสต่างๆ เล่น/เรียน ด้วยสายตา มือ ปาก เสียง-การได้ยิน (ภาษา) และการ เคลื่อนไหว การเล่นของทารกส่งเสริมความเจริญเติบโตด้านต่างๆ ทุกด้าน เยี่ยงเด็กในวัยอื่นๆ

ที่มา:ศรีเรือน  แก้วกังวาน
สาขาจิตวิทยา คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า