สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส(Contact dermatitis)

เกิดจาการสัมผัสถูกสิ่งกระตุ้นจากภายนอกร่างกายที่เป็นสารระคายเคืองหรือสารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ง่ายจนทำให้เกิดอาการผื่นคันขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นว่าผู้ป่วยจะต้องมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ซึ่งการเกิดผื่นอาจมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังนี้แพ้สายนาฬิกา

1. การระคายเคืองต่อผิวหนัง ผิวหนังเกิดการอักเสบเนื่องจากการถูกสารระคายเคือง เช่น กรด ด่าง สบู่ ผงซักฟอก ยางไม้ เป็นต้น เรียกว่า ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสเนื่องจากการระคายเคือง

2. การแพ้ ร่างกายจะกระตุ้นให้สร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมาเมื่อสัมผัสถูกสารแพ้ในครั้งแรก และเมื่อสัมผัสซ้ำอีกครั้งหนึ่งมักจะทำให้เกิดการแพ้ขึ้นมา ระยะห่างของการสัมผัสครั้งแรกกับครั้งหลังอาจเป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปีก็ได้

สารที่ก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่าย เรียกว่า ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสเนื่องจากการแพ้ เช่น โลหะ ยาทาเฉพาะที่ ปลาสเตอร์ เครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย ปูนซีเมนต์ สี สารเคมีต่างๆ เป็นต้น พบโรคนี้ได้บ่อยในผู้ที่สัมผัสถูกสารดังกล่าวเป็นประจำ

อาการ
จะพบผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสเล็กๆ มีอาการคันมากบริเวณที่สัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ ทำให้เห็นเป็นรอยตามลักษณะของสิ่งที่แพ้ เช่น รอยสายนาฬิกา สร้อยคอ ขอบกางเกง สายเสื้อชั้นใน สายรองเท้า เป็นต้น หรืออาจเป็นตุ่มน้ำใสต่อกันจนเป็นตุ่มพองใหญ่ เมื่อแตกออกจะมีน้ำเหลืองไหลและมีสะเก็ดเกรอะกรังในบางราย หรือผิวหนังอาจแห้งเป็นขุยและหนาตัวขึ้นชั่วคราวเมื่ออาการทุเลาลง หรือผิวหนังอาจคล้ำลงหรือเป็นรอยด่างข่าวชั่วคราว

ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้จากการเกา เช่น มีตุ่มหนอง แผลพุพอง หรือน้ำเหลืองไหล เป็นต้น

การรักษา
1. ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้อาการกำเริบ โดยสังเกตจาก

-ตำแหน่งที่เป็น เช่น อาจแพ้ยาย้อมผม แชมพู น้ำมันใส่ผมถ้าเป็นที่ศีรษะ หรืออาจแพ้ตุ้มหูถ้าเป็นที่หู หรืออาจแพ้เครื่องสำอางถ้าเป็นที่ใบหน้า อาจแพ้น้ำหอม สร้อยคอ ถ้าเป็นที่คอ หรืออาจแพ้เสื้อผ้า สบู่ถ้าเป็นที่ลำตัว หรืออาจแพ้ถุงเท้ารองเท้าถ้าเป็นที่ขาและเท้า หรืออาจแพ้สายนาฬิกาถ้าเป็นที่ข้อมือ หรืออาจแพ้ผงซักฟอก ปูนซีเมนต์ ถ้าเป็นที่มือและเท้า หรืออาจแพ้ยุง แมลง ถ้าเป็นที่แขนหรือขา เป็นต้น

-อาชีพ และงานอดิเรก อาจแพ้เบนซิน น้ำมันเครื่องในคนขับรถ อาจแพ้ผงซักฟอกในแม่บ้านหรือคนซักผ้า หรืออาจแพ้ปูนซีเมนต์ในช่างปูน เป็นต้น

2. รักษาผื่นคันโดย
-ชะล้างแผลด้วยน้ำเกลือแล้วเช็ดให้แห้ง

-ทาด้วยครีมสตีรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ และควรให้กินยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ไดเฟนไฮดรามีน หรือไฮดรอกไซซีน ครั้งละ ½ -1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งถ้าแพ้เป็นบริเวณกว้าง

-ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน ถ้ามีหนองหรือน้ำเหลืองไหล

3. ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องให้กินเพร็ดนิโซโลน นาน 10 วัน

4. ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อทำการทดสอบทางผิวหนัง โดยวิธี patch test ในรายที่เป็นเรื้อรัง เพื่อหาสาเหตุและหาทางป้องกัน

ข้อแนะนำ
การค้นหาสาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบจะทำให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งแพทย์มักจะวินิจฉัยจากการซักถามประวัติ และดูจากตำแหน่งที่เกิดอาการ หรือจากการทดสอบทางผิวหนัง อาการมักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือนถ้าหลีกเลี่ยงเหตุกำเริบได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า