สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การบำบัดรักษาด้วยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ(Myofascial Release Therapy)

เป็นวิธีการใช้มือในการประเมินและบำบัดที่โครงสร้างของมนุษย์ เพื่อให้กล้ามเนื้อที่อ่อนนุ่มเป็นอิสระจากการจับกุมอย่างตึงแน่นผิดปกติของเนื้อเยื่อยึดต่อ หรือเส้นเอ็น หรือที่เรียกว่า คอนเน็คทีฟ ทิสชู(connective tissue)

วิธีการบำบัดรักษาแบบนี้ คำในภาษาอังกฤษที่นำมาใช้คือ คำว่า ไมโอ(Myo) ในภาษากรีก แปลว่า “กล้ามเนื้อ” วิธีการนี้ถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและปรับปรุงการทำงานของร่างกาย การปลดปล่อยกล้ามเนื้อเส้นเอ็นโดยทั่วไปมักจะทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อเหยียดออกอย่างนุ่มนวลและแผ่วเบา มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย

ระบบกล้ามเนื้อยึดต่อหรือเส้นเอ็น เป็นแผ่นเนื้อเยื่อที่พันร้อยกันไปมาอย่างแน่นหนา เนื้อเยื่อยึดต่อจะบุและคลุมกล้ามเนื้อเอาไว้เกือบทุกส่วน รวมทั้งกระดูก ประสาท เส้นโลหิต และอวัยวะภายในทั้งหมด รวมทั้งหัวใจ ปอด สมอง และไขสันหลังด้วย

มันเป็นโครงสร้างๆ หนึ่งแท้ๆ ที่ยืดจากส่วนบนสุดของศีรษะมาจรดปลายนิ้วเท้า ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่มาปกคลุมอวัยวะเป็นส่วนๆ โดยแยกกัน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันประกอบไปด้วยเส้นใยสองประเภท คือ เส้นเอ็นชนิดเหนียว และมีความสามารถในการยืดน้อย กับเส้นใยชนิดยืดหยุ่นที่สามารถเหยียดยืดออกไปได้มากกว่า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนร่างกาย

เนื้อเยื่อยึดต่อของเราจะผ่อนคลายและมีความสามารถในการเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วเมื่อสุขภาพอยู่ในภาวะที่ดีเป็นปกติ แต่ถ้าเนื้อเยื่อยึดต่อหรือเส้นเอ็นของเราสูญเสียความสามารถในการยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับแต่งตัวเองไป จากการที่ร่างกายประสบกับการอักเสบ เป็นโรค หรือได้รับความเจ็บปวด อย่างเช่น เกิดการเคล็ดขัดยอก ผ่านการผ่าตัดมา หรือวางท่ายืนนั่งไม่ถูกต้องจนเป็นนิสัย ผลกระทบที่เกิดกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันก็จะสั่งสมไปเรื่อยๆ จนทำให้มันหนาและแข็งขึ้น เมื่อเนื้อเยื่อยึดต่อหดตัวมันก็จะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความตึงไปทั่วร่างกาย ความตึงที่เกิดขึ้นก็อาจจะส่งผลให้เกิด “ปม” กับกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเจ็บปวด ทำให้ขอบเขตการเคลื่อนไหวจำกัดลง ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และยังอาจเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อยึดต่อและเส้นเอ็นทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรงได้ด้วย ในวิชาศัลยกรรมกระดูก(orthopedics) ถือว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า ไฟโบรไมโอไซทิส(fibromyocytis)

เนื่องจากทั่วทุกบริเวณของร่างกายมีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อยึดติดอยู่เต็มไปหมด และมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน ความตึงที่เนื้อเยื่อยึดต่อจึงสามารถเดินทางจากต้นกำเนิดดั้งเดิมของมันไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย ทั้งในส่วนที่อยู่ติดกันและห่างไกลออกไป จนทำให้เกิดการอักเสบขึ้นที่บริเวณเนื้อเยื่อยึดต่อบริเวณใหม่ขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น การปวดบั้นเอวอย่างเรื้อรังอาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดที่คอหรือศีรษะได้ เนื่องจากความตึงที่เกิดขึ้นมาทีละน้อยๆ ของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ

ความสำคัญของระบบเนื้อเยื่อที่เป็นเส้นเอ็นเพิ่งมาตระหนักกันเมื่อไม่นานนี้หลังจากที่ถูกมองข้ามมานาน แต่ขณะนี้ความสำคัญของบทบาทระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีต่อความเจ็บปวด และต่อการทำงานที่ผิดปกติของร่างกายก็ได้มีการบันทึกจัดทำอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ที่ห้องแล็บวิจัยด้านกลไกชีวภาพ(biomechanical) ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน

เทคนิคการผ่อนคลายกล้ามเนื้อนี้ นักกายภาพบำบัดจะใช้ในแบบที่ต่างๆ กันไป โดยใช้แรงกดและดึงเหยียดให้เบามืออย่างที่สุดไปที่บริเวณของร่างกายที่ตรวจพบว่าเคลื่อนไหวไม่ได้คล่องอย่างที่ควร เพื่อแก้ไขไปสู่ความสำเร็จของการบำบัดรักษาแบบนี้

การดึงอย่างหนักแน่นจะก่อให้เกิดการตอบสนองของกล้ามเนื้อ แต่สำหรับเนื้อเยื่อยึดต่อ หรือเส้นเอ็นที่ยึดอวัยวะและกล้ามเนื้อต่างๆ มิได้เป็นเช่นนั้น และมีการแสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อผู้ให้การบำบัดใช้แรงกดเพียงเล็กน้อย และหลังจากออกแรงกดไว้สักระยะหนึ่งก็จะทำให้เนื้อเยื่อยึดต่อนุ่มและเริ่มคลายตัวได้

เพื่อบำบัดรักษาอาการปวดที่หลังและคอ อาการปวดศีรษะ อากรที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาการกระดูกสันหลังโค้งคด และปัญหาอื่นๆ วิธีการผ่อนคลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพันนี้ก็ได้ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า