สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

บำบัดทางจิตด้วยการช็อคไฟฟ้า

ในขณะที่ยาและการบำบัดทางจิตเวชอื่นกำลังเป็นที่นิยมใช้อย่างกว้างขวาง การช็อคด้วยไฟฟ้าก็ใช้น้อยลงทุกทีด้วยเหตุที่ไม่สะดวก สิ้นเปลืองมากกว่า และได้ผลดีไม่เท่ายา นอกจากนี้ยังทำให้มีการเสียหน้าที่ของสมองชั่วคราว หรืออาจจะถาวรในบางราย ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีข้อบ่งชี้ไม่มาก ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่การรักษาทางยาและวิธีอื่นไม่ได้ผล ในรายที่มีอารมณ์เศร้าอย่างรุนแรง (เพื่อป้องกันการพยายามฆ่าตัวตาย) หรือในรายที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การช็อคด้วยไฟฟ้าถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคจิตเภทเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๘ โดย Cerletti และ Bini กระแสไฟฟ้าที่ใช้เป็นกระแสสลับ ขนาด ๗๐-๑๓๐ โวลท์ และปล่อยกระแสไฟฟ้า

ผ่านสมองประมาณ ๐.๑-๐.๕ วินาที เพื่อทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชักทั้งตัวแบบเกร็งและกระตุก (grand mal) การทำครั้งแรกมักจะเริ่มด้วยกระแสไฟฟ้า ๘๐ โวลท์และปล่อยให้กระแสผ่าน ๐.๒ วินาที ถ้าไม่ชักก็เพิ่มเป็น ๙๐ หรือ ๑๐๐ โวลท์ และเพิ่มเวลาขึ้นด้วย ถ้าเพิ่มกระแสไฟฟ้า และ/หรือเวลาแล้วผู้ป่วยยังไม่ชัก เราก็มักไม่พยายามต่อไป ควรทำใหม่ในวันรุ่งขึ้น

เมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านสมอง ผู้ป่วยจะหมดสติทันที จากนั้นจึงตามมาด้วยการชัก ซึ่งประกอบด้วยการเกร็งประมาณ ๑๐ วินาที แล้วตามมาด้วยการกระตุกซึ่งนานกว่า และการหยุดหายใจ

ในปัจจุบันมีการใช้วิสัญญีช่วย จึงทำให้ความรุนแรงของการชักลดลงมาก ผู้ป่วยอาจแสดงอาการเกร็งและกระตุกเพียงเล็กน้อย หรือเห็นกระตุกเฉพาะที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าเท่านั้น แต่ จะต้องมีเครื่องช่วยการหายใจ เพราะยาที่ใช้ลดความรุนแรงของการชักทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หายใจเป็นอัมพาตชั่วคราว

ชนิดของการช็อคด้วยไฟฟ้า มี ๒ ชนิดคือ

๑. Bilateral ECT คือการช็อคด้วยไฟฟ้าโดยการวางขั้วไฟฟ้า (electrode) ไว้ที่ขมับ ทั้ง ๒ ข้าง ให้กระแสผ่านสมองทั้ง ๒ ซีก

๒. Unilateral ECT คือการช็อคด้วยไฟฟ้า โดยให้กระแสผ่านสมองซีกเดียว ซึ่งเป็นซีกที่ nondominant เพื่อลดอาการสับสน (confusion) และอาการลืมหลังทำ อย่างไรก็ดี แพทย์บางคนพบว่าผลไม่ดีเท่า bilateral ECT และยังพบว่า verbal learning จะเสียถ้าให้กระแสผ่านสมองซักที nondominant และ nonverbal learning เสียถ้าให้กระแสผ่านสมองซีกที dominant

วิธีทำคือ วางขั้วไฟฟ้าอันหนึ่งไว้ที่ตำแหน่ง ๓ เซนติเมตร เหนือจุดกึ่งกลางของเส้นที่ต่อระหว่าง lateral angle of the orbit กับ external auditory meatus ขั้วไฟฟ้าอีกอันวางที่ตำแหน่ง ๖ เซนติเมตรเหนือขั้วไฟฟ้าอันแรก และทำมุม ๗๐ องศากับเส้นตรงที่กล่าวแล้ว

ความถี่ในการทำ

ทำ ๓ ครั้งต่อสัปดาห์จนอาการดีขึ้น ซึ่งขึ้นกับชนิดของโรค อย่างน้อยที่สุดไม่ควรทำต่ำกว่า ๖ ครั้ง และมากที่สุดไม่เกิน ๒๕ ครั้ง เฉลี่ยประมาณ ๙ ครั้ง

ข้อบ่งชี้ในการทำ

๑. สภาวะซึมเศร้าจากสาเหตุภายใน (endogenous depression) จะให้ผลดีจากการรักษาด้วยการช็อคไฟฟ้ามากกว่าสภาวะอื่นๆ ที่ใช้บ่อยคือโรคจิตทางอารมณ์แบบเศร้า สภาวะ นี้จะได้ผลดีกว่าร้อยละ ๘๐ และได้ผลเมื่อทำประมาณ ๕-๑๐ ครั้ง

๒. โรคจิตทางอารมณ์แบบคลั่ง ที่มีอาการอย่างเฉียบพลัน

๓. โรคจิตเภทแบบ catatonic และแบบเฉียบพลันที่มีอาการทางอารมณ์เป็นอาการสำคัญ

๔. เป็น maintenance treatment ในโรคจิตเภทที่เป็นอย่างเรื้อรัง

ข้อห้าม

๑. ห้ามเด็ดขาดในโรคเนื้องอกของสมอง เพราะการชักจะเพิ่มความดันภายในกระโหลกศีรษะ

๒. โรคของหลอดเลือดและหัวใจเช่นโรค Myocardial infarction ที่เพิ่งเป็นใหม่ๆ ห้ามทำ ECT เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ (arrhythmia) ในขณะชัก และอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายมากขึ้น แต่ถ้าคลื่นหัวใจ (ekg) และระดับเอนไซม์ของหัวใจคงที่แล้วอาจ ทำ ECT ได้ แต่ต้องทำโดยความระมัดระวัง

๓. โรคของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง เช่น vertebral osteoporosis หรือ vertebral fracture ที่กระดูกติดดีแล้วก็ตาม สองสภาวะนี้เป็นข้อห้ามแต่ไม่ใช่ข้อห้ามเด็ดขาด

การเตรียมผู้ป่วย

๑. ต้องบอกผู้ป่วยและญาติว่าแพทย์จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีนี้ อธิบายวิธีการทำให้ฟัง และให้ลงชื่อยินยอมให้แพทย์ทำด้วย

๒. นอกจากการตรวจร่างกายแล้ว ควรจะต้องวัดความดันโลหิต ถ่ายภาพรังสีของทรวงอกและกระดูกสันหลัง ตรวจคลื่นหัวใจ และคลื่นสมอง

๓. งดยาที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำก่อนทำช็อค จิตแพทย์บางคนแนะนำให้หยุดยาแก้อารมณ์เศร้าด้วย เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันทำให้เป็นอันตรายแก่หัวใจ

๔. งดอาหารและน้ำทางปากอย่างน้อย ๒ ชั่วโมงก่อนทำให้ปัสสาวะก่อน และถอดฟันปลอมออก

๕. ฉีด atropine sulphate ๐.๖-๑ มิลลิกรัมเข้าใต้ผิวหนัง ๓๐ นาทีก่อนทำเพื่อลดน้ำลายและน้ำเมือกในหลอดลม รวมทั้งลดปัญหาแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อหัวใจ ให้ thio­pentone ๐.๒๕-๐.๕ กรัมฉีดเข้าหลอดเลือดดำให้ผู้ป่วยหลับ เมื่อผู้ป่วยหลับแล้ว ฉีด succinyl choline ๒๐-๓๐ มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดดำก่อนปล่อยกระแสไฟฟ้า เพื่อป้องกันการกระตุกอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อ

ควรจะใส่ไม้กดลิ้น หรือ mouth gag เพื่อป้องกันการกัดลิ้น วางขั้วไฟฟ้าที่ขมับแต่ละข้าง จัดกระแสไฟฟ้าและเวลาตามต้องการ เตรียมเครื่องดูดเสมหะ ออกซิเจน และ oxygen mask

๖. หลังการชักผู้ป่วยจะหยุดหายใจชั่วขณะ อันเป็นผลจากการชักและจากยาซึ่งทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หายใจเป็นอัมพาต เพราะฉะนั้นต้องให้อ๊อกซิเจนช่วย และในกรณีที่ฉีดยา succinyl choline ควรมีวิสัญญีแพทย์ช่วยดูแลด้วย นอกจากนั้นหลังจากฟื้นผู้ป่วยอาจสับสนหรือไม่ค่อยรู้สึกตัวอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จึงต้องมีผู้ดูแลจนกว่าจะรู้ตัวดี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า